เด็กปริญญาตรี ... เขียนไม่ได้


สวัสดีครับคุณครูสุขุมาล

ต่อจากที่ครู โพสต์ไว้ใน blog ของผม ผมเกรงว่าครูจะไม่ได้เข้ามาอ่านเลยตามมาโพสต์ถามเลยดีกว่าครับ ... ตรงถึงตัวของผู้รับสารเลย เข้าเรื่องนะครับ

ผมเห็นว่า เด็กปริญญาตรีเขียนหนังสือได้ครับ ... แต่เขียนกันไม่เป็นมากกว่าครับ เพราะไม่รู้ตัวเองเขียนอะไรออกไป  เขียนไปทำไม เขียนไปเพื่ออะไร ??

ที่ผมพูดอย่างนี้ ก็เพราะผลงานที่เด็กปริญญาตรีเขียนเป็นเพียงผลงานที่บอกว่า ตัวเองได้อะไร แต่ไม่เคยบอกว่า คนอ่านจะได้อะไร ... ไม่เคยบอกว่า มีความจำเป็นอะไรที่ตัวเองต้องเขียนนอกจากคะแนน หรือความพึงพอใจส่วนตัวแล้ว ... ลักษณะนี้เป็นงานเขียนที่ขาดความรับผิดชอบ ครับ ...

ผมก็เลยตัดสินใจเข้ามาเสนอครูดีกว่าครับ ... เพื่อเป็นประโยชน์กับครูไปใช้กับเด็กๆที่เรียน ที่จริงเด็กเขียนหนังสือกันได้ (หรือถ้าเขียนไม่ได้จริงๆ แสดงว่า การศึกษาที่ผ่านมาแย่มากๆเลยล่ะครับ) ... แต่เด็กเขียนกันไม่เป็นมากกว่า ... เพราะขาดการรักที่จะเขียน ขาดจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งที่เขียน (คนอ่านจะได้อะไร) ขาดการคิดเป็นก่อนทำเป็น ... ขาดเพียงข้อใดข้อหนึ่งก็ว่าแย่แล้ว ถ้าขาดทั้ง 3 ข้อ ... งานเขียนที่ออกมาเลยไร้คุณค่า ...

 สำหรับผม ... ถามว่า ผมเขียนหนังสือเป็นรึยัง ... ผมตอบได้เลยครับว่า "ยังครับ" ... แต่ผมกำลังฝึกฝนงานเขียนในแนวทางนี้ครับ รักที่จะเขียนก่อน ... อันนี้ผมมีแล้วครับ ... มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งที่เขียน ... อันนี้ผมยอมรับว่า มีบ้างครับ แต่ไม่เต็ม 100% เพราะผมยังไม่เคลียร์ในเรื่องที่ผมเขียน และมักหลงประเด็น กับเปิดประเด็นใหม่ๆ บ่อยๆ ทำให้คนอ่านสับสนอยู่เสมอ ... อันที่สาม คิดเป็นก่อนทำเป็น ... อันนี้ผมฝึกอยู่ครับ และใช้ควบคู่กับข้อ 2 เพื่อให้งานเขียนออกมาเป็นงานเขียนที่มีคุณค่า ...

เรื่องการเขียนเป็น ... ฝึกได้ครับ ถ้าฝึกถูกวิธี เหนื่อยครั้งเดียวครับ ... ต่อไปเค้าจะเดินต่อเองได้ ... ขอบพระคุณมากครับ ที่ครูอ่านจนจบ (ที่จริงผมกลัวว่า ครูหรือใครก็ตามที่เข้ามาอ่าน จะอ่านไม่จบ ด้วยเพราะไม่เห็นด้วยกับผม คงต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ)



ความเห็น (1)

ไม่มีความเห็น


คำตอบ (1)

แอมแปร์
เขียนเมื่อ

ขอบคุณที่แวะเข้ามาถามนะคะ คุณนายสติเรียนรู้เรื่องการใช้บล็อกเร็วกว่าดิฉันเยอะเลย ....  :-)

ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่ง  ว่าเด็กๆปริญญาตรีจำนวนหนึ่งยังเขียนไม่ใคร่เป็น  ต้องขอโทษเด็กๆที่อาจบังเอิญแวะเข้ามาอ่านด้วย เพราะการพูดแบบเหมารวม ก็อาจทำให้เกิดความไม่สบายใจที่จะรับสารค่ะ

ขอลองเล่าเรื่องปัญหาในการเขียน ให้ฟังโดยสรุปเป็นข้อๆ นะคะ 

1. การสะกดคำผิด  อันนี้หนักใจมากค่ะ  ต้องขอให้เขาทำแบบฝึกหัดเยอะหน่อย จะได้จำที่ถูกได้

2. การเลือกใช้คำ หรือวลี ผิดความหมาย และผิดหน้าที่ เข้าใจว่าคงเป็นผลมาจากการอ่านน้อย

3.  การเขียนที่ขาดความต่อเนื่อง  คือ นึกสิ่งใดได้ก็เขียนสิ่งนั้น  ครั้นนึกสิ่งใหม่ได้ก็เขียนในทันที  โดยมิได้คำนึงว่าตนต้องการเขียนถึงสิ่งใดเป็นสำคัญ   นี่ก็อาจเป็นผลมาจากการอ่านน้อยด้วย

4. การเขียนโดยไม่ตั้งจุดมุ่งหมาย  ไม่ศึกษาหาข้อมูล (เขียนแบบไม่ทำการบ้านมาก่อน) และเขียนโดยไม่ทันได้ตระหนักถึงคุณค่าของการเขียน (คือคุณค่าที่ผู้อ่านจะได้รับ  แบบที่คุณนายสติกล่าวไว้นะคะ)

เหล่านี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของปัญหาการเขียน ที่คุณครูภาษาไทยจะต้องเพียรพยายามหาทางช่วยลูกศิษย์ต่อไปค่ะ

ส่วนปัญหาการ เขียนไม่ได้ นั้น ยิ่งเร้าใจเข้าไปใหญ่ค่ะ  ดิฉันก็หนักใจว่าจะทำอย่างไรดี  หากการวัดผลยังใช้สัดส่วนปรนัยมากกว่าอัตนัย  ก็ตรวจสอบยากมากค่ะ  ดิฉันอธิบายไม่ใคร่ถูกเหมือนกันว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร  แต่ก็จะพยายามหาวิธีแก้ปัญหาให้ดีที่สุดค่ะ

 



ความเห็น (1)

การศึกษาที่ผมเรียนรู้อยู่ตอนนี้ เป็นการศึกษาที่เริ่มต้นที่จิตใจของตัวเองครับ ... ผมจึงมองการเขียนหนังสือให้เป็นนั้น ควรเริ่มต้นที่ ผู้อ่านจะได้อะไร ก่อนที่จะหาว่า มีคำผิดที่ไหนบ้างครับผม ... การเขียนคำให้ถูกนั้นแก้ไขได้ง่าย ไม่ยากนัก ... แต่การทำให้ผู้อ่านได้รู้ว่าจะได้อะไรจากงานเขียนของเรานั้นยากกว่ามากครับ ...

สำหรับการสอบ ผมเห็นด้วยกับการตอบแบบเขียนน่ะครับ (ไม่รู้ว่าเรียก ปรนัย หรือ อัตนัย ครับ) ... เพราะเราสามารถเห็นได้ว่า เด็กรู้อะไร และพร้อมที่จะรู้อะไรบ้าง ครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท