คุณค่าของผู้นำ อยู่ตรงไหน


จันทร์

เรียน คุณยม

 

โฮมเพจ ของคุณยม มีสาระน่าสนใจ ดูคุณยม เป็นคนมีความรู้ ประสบการณ์ และมีความเป็นชาตินิยม น๊ะค๊ะ

 

ขอเรียนถามคุณยม เดี๋ยวนี้หลายที่พูดกันเรื่อง ผู้นำ ๆ ๆ ในความเห็นของคุณยม คิดว่า "คุณค่าของผู้นำของไทย" มีอะไรอยู่ตรงไหนค๊ะ

 

ขอบคุณค่ะ

 

จันทร์



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น


คำตอบ (1)

อาจารย์ยม
เขียนเมื่อ

 คุณค่าของผู้นำองค์การรัฐและเอกชนของไทย

 

ในการนำองค์การ สังคม ประเทศชาติไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน ในทศวรรษที่ 21 นี้  ผู้นำต้องเป็นผู้มีความรู้เชิงยุทธศาสตร์การบริหาร มีประสบการณ์ และ มีคุณธรรม มีหลักการ ที่ยึดมั่น และเชื่อถือได้ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการสร้างวิสัยทัศน์ การกำหนดพันธกิจ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแผนยุทธศาสตร์ในการทำงาน  มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ขยัน อดทน อดกลั้น ถ่อมตน ไม่ท้อถอย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดัน กิจกรรม ต่าง ๆ ในการบริหารจัดการแก่ตนเอง แก่ผู้ปฏิบัติงาน แก่องค์การ 

ผู้นำที่มีความเป็นเลิศ ในการนำองค์การ จึงมักมีค่านิยมในการประพฤติปฏิบัติตน ด้วยความจริงใจ ที่จะแสดงให้เห็นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ดังนี้

  1. ความสามารถในการเรียนรู้   เป็นผู้ที่มีศักยภาพในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียนรู้สภาพแวดล้อมทั้งภายใน ภายนอกองค์การที่อาจจะมีผลกระทบต่อการทำงาน ความสามารถในการค้นหาสิ่งใหม่ ๆ มาสู่องค์การ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในโลกปัจจุบันและอนาคต
  2. การมุ่งประโยชน์ของ ส่วนรวม ของสังคม ของชาติเป็นหลักหมายถึง การมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ของตนเพื่อความมั่นคง ความเจริญก้าวหน้าแก่ตน แก่สังคม ประเทศชาติ มีความเสียสละ ขยัน อดทน มีคุณธรรม ไม่เอาเปรียบแรงงาน จริงใจ ไม่พูดพล่อย ๆ มุ่งเสริมสร้างทีมงาน 
  3.  การมุ่งสัมฤทธิ์ผล ด้วยการริเริ่มกำหนดวิสัยทัศน์ ของตนเอง ทีมงาน ขององค์การ  กำหนดพันธกิจ วัตถุประสงค์ ยุทธศาสตร์ กำหนดตัวชี้วัดสัมฤทธิผล KPI มีการตรวจสอบ ติดตามผล และมีการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการขององค์การ ทีมงาน และลูกค้าได้ดี
  4.  การมุ่งมั่นทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพ  ด้วยการคำนึงถึงตัวชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ ความพึงพอใจของลูกค้า ความพึงพอใจของทรัพยากรมนุษย์ที่เกี่ยวข้อง และผลประกอบการขององค์การ  คำนึงถึงคุณภาพ การส่งมอบ ต้นทุน ที่ดีกว่าคู่แข่งขัน มีจรรณยาบรรณในวิชาชีพ มีความรับผิดชอบต่อคำพูด การกระทำ ต่อสังคม ประเทศชาติ มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง พัฒนาทีมงาน พัฒนาองค์การ ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง มีนวตกรรมการทำงาน ทำในสิ่งที่ดีกว่าอยู่เสมอ ไม่ดื้อรั้น ทิฐิ หลงตนเอง ยกตนข่มท่าน 
  5.  การมีความโปร่งใส บริหารตามหลักธรรมาภิบาล  มีความมุ่งมั่นที่จะให้แนวทางการบริหารจัดการ การนำองค์การ เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ได้แก่หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักความมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ หลักความคุ้มค่า มีกติกาและมารยาทที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ตรวจสอบได้ ยุติธรรม เสมอ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง มีการสื่อสารสองทาง รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้เกียรติ ไม่นินทาผู้เกี่ยวข้องลับหลัง
  6.   การยึดหลักการบริหารแบบธรรมาธิปไตย เน้นความจริง ความดี  คิด พูด ทำ ด้วยความสุจริตใจ เที่ยงตรง เมตตา ปรารถนาดี วางตนให้เหมาะสมกับฐานะ และตำแหน่ง มีจรรณยาบรรณ
  7. การตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบ  ในการพูดและการกระทำ มีความพร้อมที่จะชี้แจงอธิบายเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ ขจัดความขัดแย้ง วิเคราะห์อธิบายได้ถึงข้อปัญหาอย่างเป็นระบบ นำไปสู่แนวทางแก้ไข ป้องกันปัญหา และรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดจากการกระทำของตนเอง  ไม่โยนความผิดให้ลูกน้อง หรือทีมงาน
   


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท