พิสูจน์สัญชาติ ความจริงที่แตกต่างจากความเข้าใจ


เรียนถาม อ.แหวว สืบเนื่องมาจากกระทู้ http://www.gotoknow.org/ask/archanwell/12622?page=1 ที่เคยเรียนถาม อ.แหววไปเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน ผมได้ดำเนินการตามคำแนะนำของอาจารย์ คือยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติไปเมื่อกุมภาพันธ์ 2552 ต่อมาก็มีหนังสือจาก สนง.จัดหางานจังหวัด มาให้ไปกรอกคำร้อง (เป็นภาษาพม่า) อีกครั้ง เนื่องจาก
สถานทูตพม่าไม่เข้าใจแบบฟอร์มที่เขียนไปครั้งแรก ผมจึงจ้างให้คนพม่า(จากบริษัทนายหน้ารับพิสูจน์สัญชาติ) เขียนให้เพื่อให้ได้ภาษาที่ชัดเจน แล้วยื่นไปอีกครั้ง
ช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมได้สอบถามกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ทั้งโทร.ไปสอบถามศูนย์พิสูจน์สัญชาติ (แม่สอด) เจ้าหน้าที่แจ้งว่าผู้ที่มาผ่านการพิสูจน์สัญชาติที่แม่สอด (เมียวดี) หมายถึงพม่าจะรับรองสัญชาติ และได้พาสปอร์ตทุกคน ซึ่งเป็นไปตามที่ผมได้สอบถามกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทนายหน้ารับพิสูจน์สัญชาติเช่นกัน
สอบถามไปทาง สนง.จัดหางานจังหวัด ก็จะแนะนำให้ไปดำเนินการผ่านบริษัทนายหน้าฯ และเหมือนเจ้าหน้าที่ สนง.จัดหางาน ก็จะรู้ว่าหากดำเนินการผ่านบริษัทนายหน้าฯ (เสียค่าใช้จ่าย 5-6 พันบาท) สุดท้ายแรงงานต่างด้าวจะผ่านการรับรองสัญชาติจากพม่า และได้สัญชาติพม่าในที่สุด
ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา ผมได้ค้นหาผู้ที่ไปพิสูจน์สัญชาติพม่า แล้วพม่าไม่รับรองสัญชาติ เพื่อที่จะทราบถึงกระบวนการ แต่แล้วก็ไม่พบว่ามีผู้ใดที่พม่าไม่รับรอง นั่นหมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์ กะเหรี่ยง มอญ ไทยใหญ่ ฯลฯ ก็ได้สัญชาติพม่าทุกคนที่นายจ้างตัดปัญหาด้วยการเสียเงินให้บริษัทนายหน้าฯ
ความเข้าใจของผมก็คือผู้ที่ยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติแล้วสถานทูตพม่าไม่ส่งรายชื่อมาให้ไปพิสูจน์สัญชาติที่ประเทศพม่า เมื่อครบกำหนดขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติ (ก.พ. 2555) ก็จะถือว่าสถานทูตพม่าไม่รับรองสัญชาติ แล้วก็จะกลายเป็นชนกลุ่มน้อยในที่สุด แต่พอมีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเมื่อ มิ.ย. - ก.ค. 54 ที่ผ่านมา
ทำให้ผมคิดว่ารัฐคงจะขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติไปเรื่อยๆ ที่แจ้งมาว่าให้รีบไปดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ มิฉะนั้นจะถูกผลักดันออกนอกประเทศเมื่อครบกำหนด เรื่องจริงเป็นเช่นนี้ที่กลุ่มชาติพันธุ์ต้องยอมรับสัญชาติพม่าไปหากต้องการเป็นแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย แต่สำหรับแฟนของผมเชื้อชาติกะเหรี่ยงที่พูดภาษาพม่าไม่ได้
หากให้บริษัทนายหน้าฯ ดำเนินการ จนได้มาซึ่งสัญชาติพม่าด้วยแล้ว จะลำบากในการจดทะเบียนสมรส อันเนื่องมาจากสถานทูตพม่าไม่ออกเอกสารรับรองความเป็นโสดให้
หากเป็นดังที่อาจารย์กล่าวไว้ คือ เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ แล้วพม่าไม่รับรองสัญชาติ แฟนของผมจะโอนย้ายทะเบียนจาก ทร.38/1 ไปเข้า ทร.38/ก คือเป็นกลุ่มชนกลุ่มน้อย ซึ่งสามารถจดทะเบียนสมรสได้ง่ายกว่า

เรียนถาม อ.แหวว ดังนี้ครับ
1. ผมจะดำเนินการขอจดทะเบียนสมรสกับทางอำเภอ (ซึ่งผมเคยปรึกษาอาจารย์ไปแล้ว) ไม่ทราบว่านายทะเบียนจะจดให้หรือป่าว
2. ขณะนี้ผมทราบมาว่ามีการขึ้นทะเบียนบุคคลไร้รากเหง้า ซึ่งเป็นการขึ้นทะเบียนของผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ผมสามารถนำแฟนผมไปขึ้นทะเบียนได้หรือป่าว เพราะแฟนผมยังมีทะเบียนแรงงานต่างด้าว (ทร.38/1) อยู่
3. ความเข้าใจถึงกระบวนการพิสูจน์สัญชาติของผมที่กล่าวไว้ ผมเข้าใจผิดอะไรหรืออาจารย์มีอะไรแนะนำเพิ่มอีกหรือป่าวครับ

ขอบคุณครับ
หวังว่าคำถามของผมคงจะเป็นประโยชน์กับผู้อื่นด้วยนะครับ



ความเห็น (6)

ไม่มีความเห็น


คำตอบ (1)

Archanwell
เขียนเมื่อ

อ.แหววไปวานท่านผู้รู้ผู้มีประสบการณ์อื่นมาตอบด้วย กฎหมายและนโยบายไม่มีเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หากคุณทำอะไรๆ ตามกฎหมาย วันนี้ ข้อสงสัยที่มี ก็คงกระจ่างแล้ว

คุยกันอีกสักครั้งก็ได้ค่ะ มาว่ากัน

รออ่านแล้วกัน



ความเห็น (6)

ลองตอบแบบนี้นะครับ

หนึ่ง เรื่องจดทะเบียน จดได้ครับ (ส่วนเจ้าหน้าที่ในท้องที่จะจดให้หรือไม่นั้น ผมไม่แน่ใจ แต่หากไม่จดให้เขาทำเป็นหนังสือชี้แจงไม่รับจดทะเบียนมาแล้วกันครับ โดยแนวทางปฏิบัติแล้วเจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิเสธไม่จดทะเบียน แต่หากมีข้อสงสัยจะขอให้มีการแสดงหลักฐานเพิ่มเติม เช่น เรื่องการจดทะเบียนสมรสซ้อน อะไรทำนองนั้น ยังไงลองหาพยานกรณียืนยันว่าแฟนของคุณไม่ได้จดทะเบียนสมรสซ้อนด้วยนะครับ)

สอง เรื่องจดทะเบียนคนไร้รากเหง้าให้อาจารย์มาตอบดีกว่า แต่กรณีที่มี ทร.38/1 อยู่แล้ว หากจะดำเนินการขอจดทะเบียนเป็นผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนก็ต้องให้ทางทะเบียนแจ้งนำชื่อออกจาก ทร.38/1 ก่อน ซึ่งก็คงต้องมีเหตุผลหรือหลักฐานยืนยันว่าแฟนคุณควรจะมีสถานะเป็นผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนมากกว่านะครับ

สาม ถามว่าเข้าใจกระบวนการพิสูจน์สัญชาติถูกหรือไม่ โดยหลักการดำเนินการในเบื้องต้นก็ต้องว่าเข้าใจถูกครับ แต่กระบวนการดำเนินการหลังจากพิสูจน์สัญชาติไม่ผ่านอันนี้หลายฝ่ายก็รอลุ้นความชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรเช่นกัน แต่ตอนนี้กรณีคนที่พิสูจน์รอบแรกไม่ผ่านทางไทยจะให้ส่งเอกสารขอพิสูจน์อีกครั้งเพื่อป้องกันกรณีเอกสารผิดพลาดไม่ครบถ้วน แต่โดยหลักการแล้วหากพิสูจน์ไม่ผ่านก็เท่ากับแฟนคุณไม่มีสัญชาติพม่า ถ้าหากจะส่งกลับเพราะพิสูจน์สัญชาติไม่ผ่าน ก็ต้องถามเจ้าหน้่าที่ที่เกี่ยวข้องแหละครับว่าจะส่งไปไหน

อ.แหววเป็นนักกฎหมาย ก็ตอบไปแล้วว่า กฎหมายว่าอย่างไร นโยบายที่เป็นไปตามกฎหมายว่าอย่างไร หากใครปฏิบัติผิดจากกฎหมายและนโยบายก็คงต้องรับผิดชอบในความผิดกฎหมายที่เกิดขึ้น

ดังนั้น หากมีการอธิบายว่า ข้อเท็จจริงมีการปฎิบัติผิดไปจากกฎหมายและนโยบาย แล้วก็มีความเห็นชอบที่จะไม่ทำตามกฎหมายและนโยบาย ก็คงไม่มีอะไรต้องบอกกัน

รัฐบาลพม่าว่าดื้อๆ ก็ยังพยายามทำตามกฎหมายระหว่างประเทศ อองซอน ซูจี ซึ่งทะเลาะกันมานาน ก็ยังมีการรอมชอมกัน หรือคนไทใหญ่ที่เคยเกลียดชังรัฐบาลพม่า ก็ยอมไปร้องขอพิสูจน์สัญชาติพม่า และรัฐบาลพม่าก็ยอมรับความเป็นคนสัญชาติพม่าของเหล่าแรงงานไทใหญ่

หรือข่าวการถอนชื่อคนออกจากทะเบียนราษฎร เพราะพบว่า ไม่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดโดยกฎหมายและนโยบายก็มีบ่อยๆ การจะเป็นคนไร้รากเหง้าหรือไม่นั้น เป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่นึกจะเป็นอะไรก็เป็นได้ตามที่ใจอยากเป็น

ถ้าทำตามที่กฎหมายและนโยบายกำหนด ก็ง่ายเข้า ถ้ามีอะไรก็ไปศาลปกครอง บ้านเมืองก็จะสงบ เพราะกฎหมายศักดิ์สิทธิ์

ก็เลยขอให้คนอื่นมาตอบ เห็นด้วยกับคุณบอมค่ะ เพราะคุณบอมก็ว่าตามกฎหมาย และเป็นกฎหมายธรรมชาติ จริงในกาลเวลาและสถานที่ค่ะ

ข้อแรกนะครับ เราสามารถยื่นขอจดทะเบียนสมรสได้ ส่วนเจ้าหน้าที่จะจดหรือไม่จะต้องพิจารณาชั้นหนึ่งก่อน สิทธิของเราจะเริ่มตั้งแต่เรายื่นขอ ฯ ปัญหามักจะอยู่ที่ลำดับแรกคือไม่รับคำร้อง ทำให้เรื่องขอจดทะเบียนสมรสไม่เข้าไปสู่การพิจารณาของเจ้าหน้าที่ว่าจดได้หรือไม่ได้

เนื่องจากแฟนคุณเคยผ่านการพิสูจน์สัญชาติครั้งแรกไม่ผ่าน ผมแนะนำว่าหากมีหลักฐานว่าพิสูจน์สัญชาติไม่ผ่าน ไม่ว่าจะมาจากจัดหางานของไทย หรือของพม่า แนบเข้าไปในคำร้องขอจดทะเบียนสมรสเพื่อจะแสดงว่า เมื่อพิสูจน์สัญชาติไม่ผ่าน ก็เสมือนหนึ่งว่าทางพม่าไม่รับรองเป็นพลเมือง ดังนั้นจึงไม่อาจขอใบรับรองความเป็นโสด

ขั้นแรก เราจะต้องยื่นคำขอเป็นหนังสือ พร้อมกับแนบหลักฐานต่าง ๆ เพื่อใ้ห้เจ้าหน้าที่รับเรื่อง หากไปที่ผ่านจดทะเบียนสมรสไม่รับเรื่อง ก็ไปที่ฝ่ายที่รับหนังสือเข้า หนังสือออก แล้วยื่นเรื่องพร้อมทำสำเนา ๑ ฉบับ รับกลับมาว่าจนท.รับเรื่อง แล้วคอยติดตามเรื่องตามเลขรับหนังสือเข้า ตั้งเวลามาตรฐานไว้ ๙๐ วัน ว่าจนท.จะต้องมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ว่าจะจดทะเบียนสมรสให้หรือไม่ หากไม่มีคำสั่งใด ๆ เราสามารถฟ้องศาลปกครองขอให้จนท.มีคำสั่งได้

หากฝ่ายรับหนังสือเข้า-ออก แล้วปฏิเสธ ไปแจ้งความดำเนินคดีจนท.เลยครับฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยปกติฝ่ายรับเรื่องจะรับ เพราะฝ่ายรับเรื่องมีหน้าที่รับแล้วส่งต่อเรื่องเท่านั้น ไม่ใช่จนท.พิจารณาเรื่อง หากอธิบายให้จนท.รับเรื่องเห็นว่าเขาไม่ต้องรับผิดชอบในการพิจารณาเรื่อง เขามีหน้าที่รับเรื่อง หากไม่ เขาจะโดนด่านแรกซึ่งหนักกว่าจนท.พิจารณาเรื่องอีก ลองดูนะครับ

หากผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ก็จะสามารถเดินทางกลับไปที่พม่าไ้ด้ ไปขอหนังสือรับรองความเป็นโสดจากศาลที่ย่างกุ้งดูนะครับ โดยจะต้องมี ว่าผู้ขออายุเท่าไร เป็นญาติพี่น้องหรือไม่ ประกอบอาชีพอะไร รายได้เท่าใด เป็นโสดหรือไม่ ระบุชื่อพยานอย่างน้อย ๒ คน ที่มีถิ่นที่อยู่หรือภูมิลำเนาเดียวกับผู้ขอ เพื่อให้จนท.สอบถามเพิ่มเติม

จากนั้นก็นำคำสั่งศาลไปทำโนตารีพับบิค แล้วนำกลับแปลเป็นภาษาไทยรับรองการแปลอีกชั้นหนึ่ง แล้วนำหลักฐานต่าง ๆ ยื่นขอจดทะเบียนสมรส

แล้วจะกลับมาตอบอีก ๒ ข้อครับ

ข้อ ๒ บุคคลไร้รากเหง้าในความหมายที่จะขึ้นทะเบียนได้นั้น จะต้องเป็น๑.คนที่ไม่ปรากฎบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งแต่ยังเยาว์ ๒.ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร (ไม่มีเลข ๑๓ หลัก) ๓.ไม่ว่าจะเกิดในประเทศไทย หรือเข้ามาอยู่ในประเทศไทย แต่ต้องก่อน ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘

ทางปฏิบัติผมพบจนท.พมจ.ตีความว่าไม่ปรากฏบุพการีคือ ไม่รู้ว่าพ่อแม่ชื่ออะไร เมื่อรู้ว่าพ่อแม่ชื่ออะไรก็ถือว่าไม่เข้าข่าย เห็นได้ว่าจะต้องมีถึง ๓ คุณสมบัติ เพราะตามเรื่องข้างต้นแฟนคุณมีเลข ๑๓ หลักแล้ว ก็จะใช้คุณสมบัติยากครับ

สุดท้าย

ตามนโยบาย หากคนที่ไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติจริง ๆ คือพิสูจน์แล้วไม่ผ่าน ก็จะเข้าไปสู่กระบวนการบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ว่าเกณฑ์จะเป็นอย่างไร แต่ผมคิดว่าตอนที่แฟนคุณไปพิสูจน์สัญชาติ แล้วทางฝั่งพม่าปฏิเสธการเป็นพลเมือง หากมีเป็นลายลักษณ์อักษรก็จะเป็นเกณฑ์หนึ่งซึ่งพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน ว่าไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ แล้วจึงจะนำเรื่องสู่ทางปฏิบัติของรัฐต่อไป

ขอบคุณครับสำหรับทุกคำตอบ ก่อนอื่นผมยืนยันนะครับว่าผมต้องการทำให้ถูกกฎหมาย แต่บางคำถามอาจจะทำให้เข้าใจผิดว่าผมต้องการหลีกเลี่ยงกฎหมาย อย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะครับ

1. เรื่องจดทะเบียนสมรสก็จะลองดำเนินการดูนะครับ แต่ก็ไม่ได้ตั้งความหวังว่าจะจดทะเบียนได้นะครับ เพราะสถานะบุคคลของแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ อยู่ในสถานะที่ยังไม่แน่นอนเรื่องสัญชาติ แต่ในทางกฎหมายหรือทางสิทธิของบุคคล ตามที่อาจารย์แหววและหลายๆ ท่านแนะนำมา ผมก็เข้าใจนะครับ เพียงแต่อยู่ที่ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่

2. เรื่องขึ้นทะเบียนคนไร้รากเหง้าเดิมทีไม่ค่อยเข้าใจ แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วครับ

3. เรื่องการพิสูจน์สัญชาติ ขออธิบายว่าแฟนผมยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ เพียงแค่ยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติไปแล้ว 2 ครั้ง และกำลังจะยื่นเป็นครั้งที่ 3 สัปดาห์หน้านี้ เนื่องจาก สนง.จัดหางานจังหวัดมีหนังสือมาให้ยื่นซ้ำอีก (เนื่องจาก สนง.จัดหางาน แจ้งว่าทางพม่าอาจจะอ่านภาษาพม่าที่กรอกแบบฟอร์มไปไม่เข้าใจ)

เรื่องที่เพิ่งทราบมาว่า แรงงานต่างด้าวที่เพิ่งขึ้นทะเบียนเมื่อกลางปี 54 เจ้าหน้าที่ยังไม่ให้แรงงานต่างด้าวที่เพิ่งขึ้นทะเบียนยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติ (เดิมทีผมเข้าใจว่าให้ยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติรวมไปกัน) ตอนนี้เริ่มกลับมาคิดถึงการเปลี่ยนสถานะของแรงงานต่างด้าวรุ่นแรกที่พม่าไม่รับรองสัญชาติ (พม่าไม่ส่งรายชื่อให้ไปพิสูจน์สัญชาติ) (แต่รัฐมักจะใช้คำว่า "ไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ" ซึ่งไม่แน่ใจว่าหมายถึงแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติหรือป่าว) ก็คงต้องรอลุ้นแบบที่คุณบอมว่าไว้

ขอบคุณมากนะครับสำหรับทุกคำแนะนำ

ขอติงตรงๆ ว่า เรื่องการจดทะเบียนสมรสเป็นหน้าที่ที่จะรับจดของเจ้าหน้าที่ หากคุณมีคุณสมบัติตามกฎหมายแพ่ง อาทิ ไม่มีคู่สมรสอยู่แล้ว

ไม่ใช่ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ค่ะ กรุณาเข้าใจใหม่ และการปฏิเสธของเจ้าหน้าที่นำไปสู่ความผิดกฎหมายอาญาและกฎหมายระหว่างประเทศ

ปัญหาว่า คุณและภริยาจะสู้ไหม เขาก็สู้กันชนะมาเยอะแล้วค่ะ

ความเป็นกฎหมายนิยมคือชัยชนะค่ะ เพียงแต่อยากชนะไหมเท่านั้นล่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท