ตอบคุณพิษณุเรื่องสัญชาติไทยของภริยาซึ่งเป็นบุตรของผู้ลี้ภัยในค่ายพักพิงระหว่างไทยและพม่า


เนื่องจากคุณพิษณุ พิษณุ [IP: 118.173.95.71] มาถาม อ.แหววใน http://gotoknow.org/ask/archanwell/13473 เมื่อ จ. 17 พฤษภาคม 2553 @ 00:24 แต่ไปถามในคำถามของคนอื่น ก็เลยลอกมาตอบไว้ตรงนี้ คุณวิษณุถามว่า "อาจารย์ครับผมมีเรื่องปรึกษา เนื่องจากภรรยาผมไม่มีเอกสารใด ๆ แต่เกิดในเมืองไทย แม่ก็อยู่ในศูนย์อพยพในไทย แต่ปัจจุบันขอทำเรื่องไปประเทศที่ 3 แล้ว เรียนที่เมืองไทย อ. ทองผาภูมิ และเคยทำบัตรแรงงานตอนช่วงปี46-50 ต่อมาตามยุทธศาสตร์ของรัฐ จัดให้มีการขึ้นทะเบียน ทร38 ก็ทำ ปัจจุบันมีบุตรกันแล้ว บุตรได้สัญชาติไทย อยากถามว่าจะมีช่องทางไหนบ้างใหมที่ภรรยาจะมีโอกาศได้สัญชาติ รบกวนขอคำแนะนำหรือจะเป็นข้อความได้ที่ [email protected] ผมไม่มีความรู้จริง ๆ หรือขอช่วยแนะนำช่องทางก็ได้ ขอบคุณครับ"


ความเห็น (24)

ไม่มีความเห็น


คำตอบ (1)

Archanwell
เขียนเมื่อ

ในประการแรก จากข้อเท็จจริงที่คุณพิษณุให้มาเองว่า “เคยทำบัตรแรงงานตอนช่วงปี๔๖-๕๐” ก็แสดงว่า ภริยาของคุณมีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลอย่างน้อย ก็คือ ท.ร.๓๘/๑ ซึ่งเป็นเอกสารตามกฎหมายทะเบียนราษฎรที่ทำในขณะที่ไปแสดงตนขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในช่วง ๒๕๔๖ – ๒๕๕๐ อันนำไปสู่ได้มาซึ่ง “บัตรแรงงาน” ซึ่งก็คือ บัตรบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย ขอให้สังเกตว่า บนเอกสารดังกล่าวปรากฏเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๐๐ แม้ในวันนี้ ภริยาของคุณจะเปลี่ยนมาขึ้นทะเบียนเป็น “บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” ก็ตาม ภริยาของคุณก็ยังมีชื่อปรากฏใน ท.ร.๓๘/๑ ดังกล่าว เอกสารนี้จึงอาจถูกกล่าวอ้างเพื่อพิสูจน์ตัวบุคคลของภริยาของคุณได้ค่ะ

ในประการที่สอง จากที่คุณพิษณุเล่าว่า "ต่อมาตามยุทธศาสตร์ของรัฐ จัดให้มีการขึ้นทะเบียน ท.ร.๓๘ ก็ทำ” ก็แสดงว่า ภริยาของคุณมีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลอย่างน้อย ก็คือ ท.ร.๓๘ ก ซึ่งเป็นเอกสารตามกฎหมายทะเบียนราษฎรอีกเช่นกัน อ.แหววเข้าใจว่า ที่คุณพิษณุเรียกว่า “ยุทธศาสตร์ของรัฐ”  ก็น่าจะเป็น “ยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘” ดังนั้น ในวันนี้ ภริยาของคุณก็น่าจะได้รับ “บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” โดยมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๐  ซึ่งก็หมายความว่า ทั้ง ท.ร.๓๘ ก. และบัตรดังกล่าวย่อมมีผลเป็นเอกสารที่รัฐไทยออกเพื่อรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายให้ภริยาของคุณ

ในประการที่สาม จากข้อเท็จจริงที่สรุปได้ ภริยาของคุณจึงมีสถานะเป็นราษฎรไทยใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) ราษฎรไทยประเภทแรงงานต่างด้าวใน ท.ร.๓๘/๑ และ (๒) ราษฎรไทยประเภทบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราฎรใน ท.ร.๓๘ ก. ซึ่งกรณีของภริยาของคุณก็เป็นกรณีที่เกือบคล้ายกับกรณีเด็กชายหม่อง ทองดี ที่เคยเป็นข่าวเมื่อกลางปีที่แล้ว

ในประการที่สี่ เมื่อคุณพิษณุเล่าว่า ภริยาของคุณเกิดในประเทศไทย จึงสรุปได้ว่า ภริยาของคุณอาจได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดน ซึ่งความเป็นไปได้มีอยู่ ๒ ทาง กล่าวคือ

ทางแรก ก็คือ การร้องขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ หากเธอเกิดก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕

ทางที่สอง ก็คือ การร้องขอสัญชาติไทยต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหากเธอเกิดตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นต้นมา การได้สัญชาติไทยในกรณีนี้ย่อมตกเป็นภายใต้มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

ความเป็นไปได้เหล่านี้อาจอธิบายต่อไปในรายละเอียด หากทราบวันเดือนปีเกิดของภริยาของคุณ

แต่ที่สำคัญที่จะต้องทำหากต้องการจะสนับสนุนให้ภริยาใช้สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน ก็คือ จะต้องไปร้องขอทำหนังรับรองการเกิดให้แก่ภริยา การทำหนังสือรับรองการเกิดเป็นเรื่องมาตรา ๒๐/๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ และที่สำคัญเช่นกัน ก็คือ จะต้องนำพยานหลักฐานที่แสดงว่า ภริยาเกิดในประเทศไทยไปด้วย หากเป็นการเกิดในโรงพยาบาล ก็จะต้องมีเอกสารรับรองการเกิดที่ออกโดยโรงพยาบาลที่มักเรียกว่า “ท.ร.๑/๑” หรือหากเป็นการเกิดนอกโรงพยาบาล ก็จะต้องมีพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือได้

ในประการที่ห้า หากไม่อาจพิสูจน์การเกิดในประเทศไทยของภริยาได้ ความเป็นไปได้ที่จะได้สัญชาติไทย ก็คือ การร้องขอสัญชาติไทยโดยการสมรสตามมาตรา ๙ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งหากจะใช้ความเป็นไปได้นี้ ก็จะต้องไปร้องขอจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกับภริยาเสียก่อน แล้วจึงไปร้องขอสัญชาติไทยโดยการสมรสต่อเจ้าหน้าที่ ถ้าคนต่างด้าวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขอต่อผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ถ้าคนต่างด้าวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดอื่น ให้ยื่นคำขอต่อนายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ กรณีเป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดแบบ วิธีการ และค่าธรรมเนียมในการยื่นคำขอเกี่ยวกับการได้สัญชาติไทย การแปลงสัญชาติเป็นไทย และการกลับคืนสัญชาติไทยสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย พ.ศ. ๒๕๔๕

ในประการที่หก เมื่อคุณพิษณุเล่าว่า มารดาของภริยา “ก็อยู่ในศูนย์อพยพในไทย แต่ปัจจุบันขอทำเรื่องไปประเทศที่ ๓ แล้ว” ก็ต้องเรียนว่า โอกาสที่ครอบครัวของภริยาจะได้ไปตั้งรกรากในต่างประเทศ ก็คือ โอกาสที่ภริยาจะได้มาซึ่งสัญชาติของรัฐที่สามที่ยอมรับให้ครอบครัวของภริยาไปอาศัยอยู่ ด้วยวิธีนี้ ก็เป็นการขจัดปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่ภริยาของคุณเช่นกัน  แต่อย่างไรก็ตาม หากภริยาไม่มีชื่อบันทึกในทะเบียนบุคคลในค่ายพักพิงก็อาจไม่มีสิทธิที่จะร้องขอไปตั้งรกรากในต่างประเทศในลักษณะเดียวกับมารดาและครอบครัวที่ยังอาศัยอยู่ในค่ายพักพิง

ขอตอบแค่นี้ก่อนก็แล้วกันค่ะ



ความเห็น (24)

อาจารย์ครับผมได้รับคำตอบจากอาจารย์แล้วครับรู้สึกดีใจและขอขอบคุณที่ได้ให้ความสนใจกับปัญหาของผมแต่ผมยังคงอยากได้รายละเอียดเพิ่มเติมจะเป็นไปได้ใหมครัยที่อยากติดต่อทางโทรศัพท์เพื่อจะได้ข้อมูลเพื่อดำเนินการขั้นตอนต่อไปเพราะผมไม่ทราบว่าจะเริ่มตรงไหนก่อนถ้าสะดวกที่จะให้ติดต่อได้รบกวนฝากเบอร์ไว้ได้ที่ [email protected] และขอขอบพระคุณไว้ณ โอกาสนี้

ถามมาเลยค่ะ คำถามของคุณจะเป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่นที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันค่ะ

 

สวัสดีอาจารย์อีกครั้งครับ ผมขอสอบถามเพิ่มเติมจากประเด็นภรรยาผม ปัจจุบันเธอไม่ได้ต่อบัตรแรงงานมาประมาณ2ปีได้แล้วส่วนเรื่องการถือบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนบ้านนั้นก็ยังไม่ได้ถือเพราะรู้สึกว่าทางบ้านไม่ได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านว่าให้ไปทำ(ไม่รู้ว่าเขาไม่เอาใจใส่เรื่องนี้หรือเปล่า) พอเราไปสอบถามทางอำเภอก็บอกว่ารอให้เปิดทำจะแจ้งทางผู้ใหญ่บ้านให้ทราบดู ๆ แล้วมันไม่ต่อเนื่องยังไงไม่ทราบ ผมเลยจะขอถามว่า1.กรณีขอทำเอกสารบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนบ้านนั้นสามารถไปติดต่อขอทำเลยได้หรือไม่ 2. และต่อจากนั้นจะต้องทำอะไรต่อครับขอทราบรายละเอียดและขั้นตอนการปฏิบัติ (เพราะเวลาไปสอบถามทางอำเภอไม่ค่อยได้ข้อมูลอะไร บอกแค่เพียงว่ารอและจะประกาศให้ทราบ พูดตรง ๆ เหมือนไม่ค่อยให้คว่ามสำคัญหรือสนใจกับปัญหาของผมเท่าใด )** (ไม่ทราบคิดไปเองหรือเปล่านะครับ )** ขอบคุณครับอาจารย์

เพิ่มเติมจากข้อ3 อาจารย์ที่ตอบผมครั้งก่อนว่า " ความเป็นไปได้เหล่านี้อาจอธิบายต่อไปในรายละเอียด หากทราบวันเดือนปีเกิดของภริยาของคุณ " ภรรยาผมเกิดวันที่ 14 ธันวาคม 2527 ที่อำเภอ สังขะ ในศูนย์อพยพ ต่อจากนั้นมาโต ที่อำเภอ ทองผาภูมิ และ เรียนที่นี่จนโต จนเข้ามาทำงานในตัวเมืองกาญจนบุรี ขอบคุณครับ

ขอทราบเรื่องราวความเป็นมาของครอบครัวภริยาอีกสักนิดค่ะ

อาทิ

(๑) ชาติพันธุ์อะไร ?

(๒) บุพการีมาจากที่ไหนในประเทศพม่า ?

(๓) บุพการีมีชื่อในทะเบียนของคนในค่ายพักพิงที่จัดทำโดยกรมการปกครองและ UNHCR ใช่หรือไม่ ? ภริยามีชื่อด้วยหรือไม่ ?

(๔) ทำไมภริยาจึงออกมาจากค่ายพักพิง ?

(๕) ยังมีเอกสารที่เป็นผลมาจากการจดทะเบียนแรงงานหรือไม่ ?

สวัสดีอีกครั้งครับอาจารย์ ผมขอเพิ่มเติมข้อมูภรรยาของผมตามข้อ 5 นะครับจากที่ได้สอบถามประวัติก็ได้ข้อมูลว่า

1. ภรรยาเป็นชาวกะเหรี่ยง เกิดในประเทศไทยที่ศูนย์อพยพ ทีท่าบ่อ ที่อำเภอสังขะ จังหวัดกาญจนบุรี

2. บุพการี อพยพมาจากประเทศพม่า (ไม่ทราบว่ามาจากจังหวัดใด)

3. บุพการีมีชื่อในทะเบียนของคนในค่าย ฯ ปัจจุบันได้ถูกรับตัวไปอยู่ประเทศที่สามแล้ว (สหรัฐอเมริกา) ส่วนภรรยาจาการสอบถามมารดาได้ความว่ามีชื่ออยูในทะเบียนด้วยโดยที่มารดาได้แจ้งไว้ตอนทำทะเบียนประวัติของ UNHCR ก่อนที่จะถูกส่งไปประเทศที่สาม

4. สาเหตุที่ออกจากค่ายพักพิงเพื่อตามน้าสาวมาเข้าโรงเรียนที่หมู่บ้านคลิดตี้ อำเภอทองผาภูมิ (มีเอกสารยืนยัน) หลังจากนั้น 2 ปี ค่ายพักพิงที่เคยอาศัยได้ย้ายไปอยู่ที่อำเภอแม่สอดจังหวัดตากจึงทำให้ขาดการติดต่อตั้งแต่นั้นมา ต่อมาภายหลังเมื่อประมาณ2ปีที่ผ่านมาได้รับการติดต่อจากบุคคลที่ไปมาระหว่างค่ายอพยพที่แม่สอดกับหมู่บ้านคลิดตี้ว่ามารดาของภรยาสอบถามถึงข่าวของบุตรสาว จึงได้มีการพยายามติดต่อกันแต่เนื่องจากการติดต่อไม่สะดวกจึงไม่ค่อยต่อเนื่องจนมาทราบอีกครั้งมารดาได้ไปอยูที่อเมริการแล้ว (ตอนนี้สามารถติดต่อได้ทางโทรศัพท์)

5. เอกสารที่เป็นผลมาจากการจดทะเบียนแรงงาน จะเป็นขื่อในสูติบัตรของบุตรได้หรือไม่ครับ นอกนั้นผมไม่เห็นว่าจะมีเอการใดอีก เอาเป็นว่าเอกสารที่ภรรยามีอยู่ตอนนี้คือ

5.1 ใบทร 38

5.2 บัตรขออนุญาติทำงานซึ่งตอนนี้หมดอายุแล้วและไม่ได้ต่อมาประมาณ 2 ปีครับ (บัตรสีชมพู)

อาจารย์ครับเรื่อของภรรยาผมอาจจะดูสับสนอยู่บ้างแต่ผมยืนยันได้ว่าเป็นความจริง ในช่วงที่ขาดการติดต่อกับแม่นั้นเป็นช่วงที่เธอมาอยู่กับน้าสาวตามวิถีชีวิตของบุคคลไร้สัญชาติจะสนใจอยู่แต่เรื่องทำมาหากิน ทำไร่ การที่จะติดต่อกับผู้ใหญ่บ้านหรื่อเจ้าหน้าที่อำเภอดูจะห่างไกลเหลือเกิน ทั้งการเดินทาง เงินทองและปัจจัยอื่น ๆ จนเมื่อเธอโตและมีครอบครัวจึงทำให้ได้มีโอกาศจัดการกับเรื่องนี้ ผมจึงฝากความหวังไว้กับอาจารย์เพื่อที่จะขอข้อมูลและแนวทางการดำเนินการเรื่องนี่ ด้วยความเคารพผมและภรรยาขอขอบคุณครับ

ในประการแรก อยากเรียนว่า เรื่องเชื่อไม่เชื่อ เป็นเรื่องที่ต้องว่าตามพยานหลักฐาน ไม่อาจบอกได้ว่า เชื่อแบบคิดเอาเอง

ในประการที่สอง อยากให้ถอดบทเรียนว่า การไม่ทำตามกฎหมายเป็นเรื่องที่ทำให้ชีวิตเสียโอกาส หากยอมทำตามนโยบายแรงงานต่างด้าวจนครบขั้นตอน ตอนนี้ ก็อาจจะเป็นคนต่างด้าวถูกกฎหมายไปแล้ว มีหนังสือเดินทางของประเทศพม่า พร้อมที่จะเดินทางไปอเมริกา หรือร้องขอสัญชาติไทยโดยการสมรส การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายย่อมเป็นสิ่งที่ไม่เป็นผลดีต่อตัวเองเลย

ในประการที่สาม อ.แหววเป็นนักวิชาการ มิใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือนายกรัฐมนตรี ก็คงทำอะไรไม่ได้ นอกจากสอนกฎหมายทุกคน ให้ทุกคนเคารพกฎหมาย

ในประการที่สี่ การแก้ไขปัญหาของภริยาของคุณคงต้องว่ากันเป็นเรื่องๆ ไปค่ะ เอาเรื่องที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตก่อน สัญชาติไทยคงซื้อไม่ได้ค่ะ  มันจะเป็นอันตรายต่อชีวิตตลอดไป หากไปพวนพันกับกระบวนการทุจริตเกี่ยวกับสัญชาติ แม้ยังไม่มีสัญชาติไทย ก็อาจมีชีวิตในสังคมไทยได้อย่างมีความสุข

ในประการที่ห้า อ.แหววแนะนำให้ติดต่อ UNHCR หากคิดว่า ภริยามีชื่อในทะเบียนค่ายพักพิง อาจจะมีทางออกตามความตกลงระหว่าง UNHCR กับรัฐบาลไทย

ในประการที่หก หากมีการเปิดสำรวจบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ก็ให้ไปรับการสำรวจ และตอบตามเรื่องจริง

ในประการที่เจ็ด ควรศึกษาเรื่องกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติด้วยตนเอง จะคุ้มครองดูแลภริยาได้ดีที่สุด

คุยกันอยู่นาน ภริยาชื่ออะไรคะ ? จะเรียกชื่อเธอถูก

เรียนอาจารที่เคารพ

ต้องขอโทษอาจารย์อย่างมากที่ขาดการติดต่อไป เนื่องจากระยะที่ผ่านมาไม่สะดวกจริง ๆ เลยไม่ได้เปิดเน็ต ดังนั้นผมขอถือโอกาศนี้ตอบคำถาอาจารย์และถามต่อเลยนะครับหวังว่ารอาจารย์คงยังพอจะจำเรื่องของผมได้บ้าง คำถามสุดท้ายที่อาจารย์ถามคือชื่อของภรรยาผม เธอชื่อปาน หรือ กาญจนา ครับ

ส่วนเรื่องต่อไปที่จะถาม ผมขออนุญาติถามตรง ๆนะครับ ผมไม่แน่ใจว่าข้อมูลที่ผมถาอาจารย์ไปตั้งแต่ต้นจะมีส่วนไหนข้ามขั้นตอนหรือทำให้คลาดเคลื่อน ผมเลยต้องขออนุญาติใช้คำถานี้นะครับ ตกลงผมจะต้องดำเนินเรื่องของภรรยาผมต่ออย่างไรครับจะเริ่มจากตรงไหน ขออนุญาติอาจารย์สักครั้งนะครับผมขอติดต่อทางโทรศัพท์สักครั้งนึงเพื่อเล่ารายละเอียดทั้งหมด ตลอดจนถึงความเป็นมาทุกเรื่องเพื่อหาทางถึงการแก้ปัญหานี้หากสุดท้ายจะเป็นอย่างไรค่อยสรุปกันอีกที ได้โปรดอนุเคราะห์ผมสักครั้งนะครับ หมายเลขโทรศัพท์ผมคือ 087-9177637 หรืออาจารย์จะให้เบอร์ติดต่อกลับรบกวนที่ [email protected] อนุเคราะห์ผมสักครังนะครับอย่าว่าผมเซ้าซี้นะครับ และผมขอยืนยันว่าจะไม่ทำสิ่งที่ผิดให้เป็นถูกเด็ดขาด แต่ขอเพียงให้ได้รู้ว่ามีโอกาศอยู่หรือไม่ ทุกอย่างที่ผมกำลังทำอยู่ในขณะนี้ก็เพื่อภรรยา เท่านั้น เวลาที่เธอถามว่าจะเป็นไปได้ใหมผมตอบไม่ได้ครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

พิษณุ

ขอโทษคุณพิษณุที่ตอบช้าไปหน่อย

นัดคุยกันเลยไหมคะ พาภริยามาหา อ.แหววที่ มธ.เลยไหมคะ

เรียนอาจารย์ที่เคารพ

ผมและภรรยาขอขอบคุณและรู้สึกซาบซึ้งที่อาจารย์ให้ความสำคัญกับปัญหาของภรรยาผม เธอบอกกับผมว่ารู้สึกดีใจอย่างมากถึงแม้ว่าคำตอบที่จะได้รับจากอาจารย์อาจจะไม่ได้เป้นตามที่คาดไว้ แต่ถึงอย่าไรก็พร้อมที่จะทราบข้อมูล ตามจริงแล้ว ผมและเธออยากที่จะพบอาจารย์มากกว่าที่จะคุยหรือปรึกษาทางโทรศัพทื แต่เมื่ออาจารย์บอกว่าสามารถให้พบได้ก็ยินดีครับ ไม่ทราบอาจารย์สะดวกให้พบได้เมื่อใหร่ครับ จะนัดหมายกันได้อย่างไร ตามแต่อาจารย์สะดวกครับ ส่วนผมจะเตรียมเอกสารที่มีอยู่ให้อาจารย์พิจรณาอีกครั้งครับ อาจารย์สะดวกนัดหมายอย่างไรรบกวนช่วยแจ้งกลับด้วยครับ

ด้วยความเคารพ

พิษณุ

การคุยเป็นการส่วนตัวคงไม่สะดวกสำหรับ อ.แหววค่ะ

ทำงานลักษณะนี้ต้องการความโปร่งใสมากค่ะ

การพบในที่สาธารณะย่อมจะดีกว่าค่ะ

สะดวกจะมาหาที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ไหมคะ

เป็นช่วงบ่ายวันอังคารสักวันนะคะ

เป็นไปได้ไหมคะ

อยากเรียนถามอาจารย์ว่าหากผมจะแต่งงานกับคนไร้สัญชาติ ผมสามารถไปจดทะเบียนสมรสที่อำเภอได้หรือเปล่าครับ

ถ้าได้ต้องดำเนินการอะไรบ้าง อย่างไร ขอความกรุณาตอบด้วยครับ

คนไร้สัญชาติที่ว่า มีเอกสารที่ออกโดยรัฐใดหรือไม่คะ ?

เรียนอาจารย์ที่เคารพ

ผมและภรรยาขอขอบคุณอีกครั้งที่ อาจารย์ให้โอกาสให้ผมและภรรยาเข้าพบเพื่อสอบถามข้อมูลอย่างละเอียด ผมและภรรยาพร้อมและสะดวกในช่วงบ่ายของวันอังคารที่ 3 สิงหาคม 2553 ไม่ทราบว่าอาจารย์สะดวกหรือไม่ หากอาจารย์สะดวกผมขอทราบเวลาและสถานที่นัดพบในธรรมศาสตร์ที่ละเอียดอีกครั้งครับ ขอบคุณครับ

มาที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตอนบ่ายโมง

มาคอยที่หน้าห้องธุรการชั้น ๑

จะมาคนมารับเพื่อพาไปห้องประชุม

ตกลงไหมคะ

 

คุณพิษณุที่นับถือ

ดังที่คุยกันในเบื้องต้นว่า จะมาพบกันในวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ นั้น

แต่ด้วย อ.แหววต้องเดินทางไปเชียงใหม่ จึงขอเลื่อนวันนัดพบเป็นวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๑๔.๐๐ น

จึงเรียนมาเพื่อหารือ และขอโทษในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น

เรียนอาจารย์ที่เคารพ เรื่องเปลี่ยนเวลานัดพบเป็นวันที่ 9 สิงหาคม 2553 เวลา 14 .00 น.นั้นด้วยความยินดีครับอย่างไรแล้วก่อนถึงวันนัดหมายรบกวนขอทราบสถานที่พบใน ม. ธรรมศาสตร์อีกครั้ง และขอขอบคุณในความอนุเคราะห์ของอาจารย์

มาที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตอนบ่ายสองโมง

มาคอยที่หน้าห้องธุรการชั้น ๑ จะมาคนมารับเพื่อพาไปห้องประชุมค่ะ

เรียนอาจารย์ ฯ ที่เคารพ

รับทราบครับวันที่ 9 สิงหาคม 2553 เวลา 14 .00 น อย่างไรแล้วหากติดภาระกิจเร่งด่วนรบกวนอาจารย์แจ้งให้ทราบด้วยครับไม่ต้องเกรงใจขอบพระคุณอีกครั้งครับ

เรียนอาจาร์ฯที่เคารพ

หนูมีปัญหาคล้ายกับคุณพิษนุหนูต้องทำยังไงบ้างคะ

ขอบคุณมากครับ ทุกๆคำถามและคำตอบ

เรียน อาจารย์แหววที่เคารพ

ผมก็มีปัญหาคล้ายๆ กับคุณพิษณุเหมือนกัน ซึ่งทุกๆ คำตอบ ของอาจารย์ทำให้ผมมีกำลังใจที่จะแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องมากขึ้น และหวังว่าจะได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ครับ

ด้วยความเคารพ

KHONDEE...

สวัสดีครับ อาจารย์ผมเห็นปัญหาของคุณพิษณุแต่แฟนของกระผมได้ขึ้นทะเบียนที่อำเภอแล้วมีรหัสประชาชนที่ขึ้นด้วย00แต่ตอนนี้กำลังจะดำเนินการจดทะเบียนสมรสแต่ไม่รู้ต้องดำเนินการอย่างไรและใช้เอกสารอะไรบ้างในการจดทะเบียนสมรสกับคนลาวช้วยตอบหน่อยนะครับและถ้าจดทะเบียนสมรสได้แล้วจะขอโอนสัญชาติไดเลยไหมครับและทำที่ไหนกลัวโดนหลอก[email protected]

และมีบริษัทรับทำไหมครับในการดำเนินการทางด้านเอกสาร ผมสามารถขอพบอาจารย์ได้ไหมครับผมทำงานที่พระจอมเกล้าธนบุรีเป็นวิศวกรครับ

ขอบคุณครับด้วยความเคารพอย่างสูง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท