ครูอัตราจ้าง


นายรักษ์ ปริกทอง
กราบเรียนท่านอาจารย์ ผมเป็นคนหนึ่งที่เคารพคุณครู ดุจพ่อแม่ อยากเห็นคุณครูมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นตัวอย่างของสังคม แต่ทุกวันนี้ในสังคมไทยมีปัญหามากมายเกิดขึ้น ปัญหาหนึ่ง ที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญ แต่ในความเป็นจริงผมไม่เคยเห็นว่านักการศึกษาทั้งหลาย จะสนใจปัญหาเรื่องนี้เลย เรื่องที่จะพูดถึง คือ ครูอัตราจ้าง ผมเห็นว่า นักการศึกษาให้ความสำคัญเรื่องนี้น้อยมาก หรืออาจจะไม่เคยให้ความสำคัญเลยก็ได้ ครูอัตราจ้างต้องมาสอนเด็กให้มีความรู้ ให้เป็นอนาคตของชาติ แต่ชีวิตครูอัตราจ้างกลับไม่มีอนาคต แล้วจะสอนให้เด็กมีอนาคตได้อย่างไรกัน ปัญหาเรื่องการศึกษาของเมืองไทย ผมมีความเห็นว่า ไม่ได้ช่วยให้สังคมไทยดีขึ้นเลย ทุกวันนี้คุณภาพของคนยิ่งแย่ลงทุกวัน ความเหลือมล้ำทางสังคมไม่มีทางที่จะลดลง เราคงจะไม่อาจคาดหวังอะไรได้ นอกจากตัวใครตัวมันอย่างนีั้นหรือ ผมจึงขอเรียนถามอาจารย์ว่า ครูอัตราจ้าง จะมีแนวโน้มอย่างไรในอนาคต ระบบการศึกษาไทยจะดีขึ้นจริงหรือไม่ หรือปล่อยให้นักวิชาการ นักการศึกษา เขาแย่งชิงผลประโยชน์กันต่อไป เราประชาชน (ลูกชาวบ้านยากจน) จงรอคอยเพียงไม้ลูกชิ้น ที่เขาโยนให้ หลังจากที่เขากินลูกชิ้นไปหมดแล้ว (ทฤษฏีไม้ลูกชิ้น) อย่างนั้นไช่ไหมครับ ด้วยความเคารพที่มีต่อท่านอาจารย์ นายรักษ์ ปริกทอง ชมรมคลังปัญญา ตู้ ปณ.๑๒ ปณ.บางอ้อ กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น


คำตอบ (1)

ปภังกร
เขียนเมื่อ

สวัสดีครับคุณรักษ์ ปริกทอง

ก่อนอื่นต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่งที่ผมล่าช้าในการตอบคำถามที่ทรงคุณค่าเช่นนี้

เรื่องครูอัตราจ้างนี้เป็นภาพสะท้อนใหญ่ของสังคมไทยซึ่งไม่เฉพาะในแวดวงการศึกษาเท่านั้น

วิชาชีพครูในบ้านเราถือว่าเป็นกลุ่มอาชีพที่ด้อยค่า ซึ่งแตกต่างกับประเทศที่เจริญแล้ว คนที่ประกอบอาชีพครูนั้นจะเป็นวิชาชีพที่มีเกียรติและมีรายได้สูงกว่าอาชีพอื่น ๆ

ในบ้านเราสังคมเด็ก ๆ ที่กำลังจะตัดสินชีวิตว่าเติบโตขึ้นเขาจะเป็นอะไรในอนาคตเขามักแต่ว่าจะเป็นหมอ เป็นวิศวกร ซึ่งเป็นอาชีพที่มีเกียรติและรายได้งาม จากนั้นก็ค่อย ๆ ลดหลั่นลงมาเป็นเศรษฐศาสตร์ คอมพิวเตอร์ บริหารธุรกิจ จนสุดท้ายใครสอบอะไรไม่ได้แล้วถึงจะได้มา "เรียนครู"

ดังนั้นปัญหาที่มาของครูที่จะมาเป็นครูอัตราจ้างนั้นก็เป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญ และปัญหาที่เมื่อครูเหล่านี้ออกไปทำงานจริงคือสอนลูกศิษย์หรือผลิตบัณฑิตก็เป็นปัญหาที่สำคัญยิ่งกว่า

เมื่อเหตุปัจจัยหรือ Input ในแง่ทรัพยากรคนที่เข้ามาเรียนรู้ ผ่าน Process ของมหาวิทยาลัยที่เคยผลิตครูได้ดีเยี่ยม ซึ่งปัจจุบันให้ความสำคัญการผลิตครูน้อยมาก เพราะมิใช่รายได้หลักที่จะเลี้ยงมหาวิทยาลัยได้ ครูที่ผลิตออกมานั้นจึงไม่ได้คุณภาพเท่าครูรุ่นก่อน

แต่ทว่าสุดท้ายแล้วตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน ตัวครูเองต้องเป็นที่พึ่งของตนเอง พื้นฐานชีวิตหรืออุปนิสัยในอดีตที่อาจจะกระตือรือร้นจนสามารถเอ็นทรานซ์ติดในสาขาวิชาอื่น พึงจะต้องปรับเปลี่ยนตนเอง เพิ่มมูลค่าให้ตนเอง (Value Added) ให้ทรงคุณค่ามากขึ้นกว่าที่มหาวิทยาลัยเพิ่มให้ ถ้าครูเพิ่มมูลค่าตัวเองได้ ครูคนนั้นจะเป็นครูดี ครูเพื่อศิษย์

ผมอาจจะกล่าวกับคุณรักษ์ตรงนี้ได้เลยว่า แนวโน้มที่ผู้บริหารการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลจะกลับมาให้ความสำคัญกับคนที่มีอาชีพครูนั้นเป็นไปไม่ได้เลย ตลอดชั่วชีวิตของผมนี้ ไม่มีทางที่อาชีพครูจะเลิศหรูกว่าหมอ ทหาร ตำรวจ หรือวิศวกร

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาครูอัตราจ้างนี้ต้องเป็นการแก้ไขรายบุคคล (Individual) ใครดี ใครได้ ใครเก่ง คนนั้นก็จะดีดตัวเองให้พ้นจากตำแหน่งครูอัตราจ้างได้

ระบบการศึกษาไทยในทศวรรษนี้ผมคิดว่าไม่มีทางที่จะดีขึ้น มีแต่ที่จะแย่ลง ด้วยสาเหตุเพราะการแย่งชิงผลประโยชน์ทางการเมือง นักการศึกษาเก่ง ๆ เบื่อการเมือง ไม่เข้ามายุ่ง คนที่เข้ามาบริหารกระทรวงศึกษาธิการก็เป็นเพียงคนที่สามารถรับใช้และให้ประโยชน์ต่อตนเองโดยเฉพาะคนที่เขาถูกแต่งตั้งมาเท่านั้น

ดังนั้น แนวโน้มการศึกษาในของการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่มัธยมศึกษาไล่ลงไป ที่ไม่สามารถบริหารแบบอิสระได้ อย่างไรก็มีอัตราในการก้าวหน้าที่ถดถอย เพราะผู้บริหารต้องทำงาน "ตามน้ำ"

ส่วนที่จะพัฒนาได้มากนั้นก็คือ สถานศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ถ้าหากได้คนดีเข้าไปทำงานทั้งในฝ่ายบริหาร คือ ฝ่ายของอธิการบดี และฝ่ายของสภามหาวิทยาลัยที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ถ้ามหาวิทยาลัยใดมีบุญได้คนที่ดีเข้าไปบริหารในเสาทั้งสองแท่งนี้ มหาวิทยาลัยนั้นจะก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

แนวโน้มการศึกษาในทศวรรษข้างหน้านี้จึงกล่าวได้ว่าเป็นการพัฒนาแบบตัวใคร ตัวมัน ใครดี ใครได้ ใครเร็ว ใครเจริญ

การศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่เคยมีชื่อว่าวิทยาลัยฝึกหัดครูในทศวรรษหน้านี้ก็ยังคงจะต้องพึ่งพาไม้ลูกชิ้นที่เขาโยนให้ตามที่คุณรักษ์ว่าไว้ คงจะไม่มีทางลืมตาอ้าปาก

เพราะยิ่งดิ้นรนเปิดสาขาต่าง ๆ เพื่อหากำไรเลี้ยงตัวเองมากเท่าใด ความใส่ใจและทุ่มเททรัพยากรไปเพื่อผลิตครูซึ่งเคยเป็นรากฐานสำคัญของมหาวิทยาลัยก็จะเสื่อมและหายไปมากเท่านั้น

ขอบพระคุณสำหรับคำถามดี ๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ผมได้คิดในสิ่งดี ๆ เพื่อหาวิธีพัฒนาการศึกษาไทย

 

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

๒๓ เมษายน ๒๕๕๓

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท