คำถามคู่ขนาน (1) ท.ร.1/1 = การจดทะเบียนการเกิด ?


daow

ก่อนอื่นต้องขออภัยอาจารย์ ที่ไม่ได้ตอบคำถามที่มีการตั้งไว้ก่อนหน้า แล้วยังเริ่มต้นคำถามใหม่

ประเด็นหนึ่งที่คณะทำงานฯ คนหนึ่งถามขึ้นในที่ประชุมว่า ท.ร.1/1 เป็นการจดทะเบียนการเกิดไหม? โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเทียบกับมาตรฐานการจดทะเบียนการเกิดที่ PLAN โดยเอมี ได้เปิดประเด็นไว้??

เรื่องนี้ "คนกรมการปกครอง" พยายามชี้แจงว่า ท.ร.1/1 เป็นการจดทะเบียนการเกิดรูปแบบหนึ่ง ไม่ทราบว่าอ.แหวว มีความเห็นอย่างไรคะ

ประเด็นนี้เป็นคำถามของหนูด้วยค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันเป็นคำถามภายใต้ "เงื่อนเวลา" : อดีต-2499

จะไปค้นมาแลกเปลี่ยนค่ะ



ความเห็น (6)

ไม่มีความเห็น


คำตอบ (1)

not yet answered


ความเห็น (6)

ลองดูนะครับ แลกเปลี่ยนกัน

1. ฟันธง ท.ร.1/1 ไม่ใช่การจดทะเบียนการเกิด เนื่องจากมีคำสั่งของมหาดไทยออกมายืนยันว่าการออก เอกสารดังกล่าวไม่ใช่การจดทะเบียน เป็นแต่เพียงหลักฐานว่ามีคนเกิดเท่านั้น และบริบทของประเทศไทย เราก็รู้กันอยู่ว่านอกจากนำไปแจ้งเกิดต่อนายทะเบียนแล้ว ท.ร.1/1 ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นใดได้เลย เช่น หลักเกณฑ์ทีมหาดไทยตั้งรับหลักฐานในการขอสถานะ มีแค่ 2 อย่าง คือ สูติบัตร หรือหนังสือรับรองสถานที่เกิด ไม่มีขอ 7 ทวิไม่ได้

"คนกรมการปกครอง" คงไม่กล้าพูดอย่างเดิมแล้วล่ะครับ คำสั่งออกมาชัดอย่างนั้น

2. ยิ่งเมื่อปรับกับนิยามของเอมี่ ยิ่งไม่อาจเรียก ท.ร.1/1 เป็นการจดทะเบียนได้

3. ที่น่าตั้งคำถาม คือ ท.ร.1/1 มันตั้งตัวตนในทางกฎหมายให้แก่เด็กคนหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นมาได้หรือไม่ อย่างไร อันนี้ผมไม่แน่ใจ เนื่องจากเท่าที่รู้ คือ ทะเบียนการเกิดของประเทศอื่นอาจสร้างตัวตนทางกฎหมายได้ แต่ ประเทศเราล่ะครับ ตัวตนทางกฎหมายและการใช้สิทธิมันมักจะอิงอยู่กับเลข 13 หลักด้วย แม้โดยทฤษฎีทางกฎหมายมันจะแยกกัน (ถ้าเข้าใจผิดโต้แย้งได้นะครับ)

4. แต่เข้าใจความคิดของอาจารย์ว่า หากจะผลักดันให้มีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการจดทะเบียนการเกิด ที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณะสุข และมีระบบ ที่ดี ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหา ครับ

 

แต่อาจารย์เห็นว่า ท.ร.๑/๑ เป็นขั้นตอนแรกของการจดทะเบียนการเกิดค่ะ และคิดว่า ท.ร.๑/๑ เป็นเอกสารที่มีผลทางกฎหมาย

ซึ่งเมื่อเด็กนั้นได้รับการบันทึกโดยผู้ทำคลอดหรือผู้รักษาพยาบาลแล้ว ก็จะเป็นพยานเอกสารที่ยืนยันว่า เด็กเกิดในประเทศไทยเมื่อไหร่ ? และพ่อแม่คือใคร ?

ซึ่งโดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เอกสารนี้ก็เป็นการรับรองจุดเกาะเกี่ยวที่ "เด็ก" มีกับ "รัฐ" ซึ่งก็คือ (๑) รัฐเจ้าของดินแดนที่เด็กเกิด  (๒) รัฐเจ้าของตัวบุคคลของบิดา และ (๓) รัฐเจ้าของตัวบุคคลของมารดา

เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ศาลรับฟัง ศาลไทยก็ได้แสดงให้เห็นหลายครั้งว่า รับฟังเอกสารนี้ แม้จะเป็นเอกสารที่ออกมาจากโรงพยาบาลในต่างประเทศ

ขอยกตัวอย่างของน้องเบลล์ ซึ่งเป็นกรณีศึกษาของต้องและตี๋ในโครงศึกษาคนไร้รัฐในพื้นที่สึนามิ

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=310&d_id=309

ในกรณีที่ "น้องเบลล์" ได้ ท.ร.๑/๑ มาจากโรงพยาบาลพุนพินแล้ว เอกสารนี้ก็มี "กำลังบังคับทางกฎหมาย" ที่จะทำให้ "อำเภอท้ายเหมือง" ต้องยอมรับว่า (๑) น้องเบลล์เกิดในประเทศไทย และ (๒) บิดาของน้องเบลล์มีสัญชาติไทย ซึ่งก็หมายความว่า น้องเบลล์ย่อมได้สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย

ดังนั้น แม้จะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า มารดาและยายมีสัญชาติไทยจริงหรือไม่ ? เราก็สรุปได้ว่า น้องเบลล์ย่อมมีสัญชาติไทย

จะเห็นว่า ท.ร.๑/๑ เป็นขั้นตอนแรกของการจดทะเบียนการเกิด ซึ่งนำไปสู่ขั้นตอนที่สองที่อำเภอหรือเทศบาลหรือเขต "ต้อง" ออกสูติบัตรให้น้องเบลล์  และขั้นตอนที่สาม อำเภอหรือเทศบาลหรือเขตก็จะต้องนำชื่อของน้องเบลล์ลงไว้ในทะเบียนบ้านของบิดา (ทร.๑๔)

ซึ่งผ่าน ๓ ขั้นตอน น้องเบลล์ก็จะมีตัวตนทางกฎหมายในมาตรฐานระหว่างประเทศ

โดยสรุป การตีความแบบนี้ กฎหมายไทยที่มีอยู่ก็จะส่งผลให้ "การจดทะเบียนการเกิด" ทำได้เช่นกันในประเทศไทย

เด็กทุกคนมีสิทธิใน ท.ร.๑/๑ หากเกิดโรงพยาบาล หรือในสถานพยาบาลชุมชนที่ดูแลโดยหมอตำแยที่ควบคุมโดยกระทรวงสาธารณสุข (แต่ในข้อเท็จจริง ก็มีเด็กที่เกิดจากหมอตำแยที่ไม่น่าเชื่อถือ แน่นอน .....)

เด็กที่บิดาหรือมารดามีสิทธิอาศัย ก็จะได้เดินเข้าสู่ขั้นตอนที่ ๒ ในสูติบัตรต่างๆ แล้วแต่ประเภทสิทธิอาศัยของบิดาหรือมารดา ซึ่งเด็กจะมีสิทธิในสูติบัตรตามบุพการีที่มีสถานะที่เป็นคุณต่อเด็กมากที่สุด

ในเรื่องของเลข ๑๓ หลักนั้น หากบิดาหรือมารดามีสิทธิอาศัย เด็กก็จะได้อย่างแน่นอน เพราะสิทธิอาศัยย่อมนำไปสู่สิทธิในทะเบียนบ้าน

ภายใต้ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ดูมันจะไม่ได้อย่างที่มาตรฐานสากล ที่จะเอา "กระดาษใบเดียว"  = "การจดทะเบียนการเกิด" สำหรับเด็กทุกคน

เว้นแต่ "สภานิติบัญญัติใหม่" จะยอมรับการแก้ไข พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ โดยพลัน...คงยากนะ

 การตีความแบบนี้ เป็นการตีความแบบประนีประนอมค่ะ และปิดโอกาสที่จะให้ฝ่ายปกครองใช้อำนาจตามอำเภอใจ

อ.แหววคงไม่ยอมเห็นด้วยกับ "หนังสือสั่งการ" ที่ให้ฝ่ายปกครองใช้อำนาจตามอำเภอใจ และคิดว่า ศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดก็มีความเห็นในทางนี้

ดังนั้น ท.ร.๑/๑ จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีค่ะ สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน

จุดที่สองที่จะต้องทำให้กลไกเดินสำหรับเด็กมากที่สุด โดยเฉพาะเด็กในสถานการณ์ที่มีบิดามารดาไร้รัฐ ก็คือ จะต้องทำให้ระเบียบ ๒๕๔๘ ว่าด้วยบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ลุกขึ้นมามีชีวิตจริงให้ได้

แต่กรณีของ "อดีตเด็กที่เกิดก่อน พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔" ก็ต้องรับการแจ้งเกิดย้อนหลัง ทางปฏิบัติของกรมการปกครอง ก็ทำได้ ดูตัวอย่างที่ อำเภอเบตง ดูซิคะ น่าจะไปคุยกับนายอำเภอเบตง 

http://gotoknow.org/blog/situation-of-knowledge-for-Birth-Registration-Management/54486

 ขออนุญาตแลกเปลี่ยนนะครับ 

อาจพูดได้ว่าการออกหนังสือรับรองการเกิดเป็นส่วนหนึ่งของการจดทะเบียนการเกิด เมื่อเจ้าหน้าที่ทะเบียนได้รับหนังสือรับรองการเกิด ก็จะดำเนินการออกสูติบัตรให้

แต่แม้ว่าจะไม่มีหนังสือรับรองการเกิด (เช่นกรณีที่เด็กคลอดนอกสถานพยาบาล) การจดทะเบียนการเกิดก็สามารถดำเนินการได้ หากพ่อแม่ของเด็กเป็นคนไทย หรือคนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ผมตีความว่า การออกหนังสือรับรองการเกิด เป็นกระบวนเสริมที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่ทะเบียนทำงานง่ายขึ้น เพราะมีผู้รับรองหรือพยานรู้เห็นการเกิด ว่าเป็นแม่ลูกกันจริง แต่ "การออกหนังสือรับรองการเกิด" ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการจดทะเบียนการเกิดแต่อย่างใด เพราะ

1. ไม่มีการรับรองโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบในเรื่องการจดทะเบียนการเกิด กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ทะเบียนราษฎร

2. การมีและใช้เอกสารดังกล่าว ไม่ผูกพันให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับฟัง ซึ่งต่างจากสูติบัตร ที่สามารถใช้อ้างอิงได้ และหากเจ้าหน้าที่ไม่รับเอกสารดังกล่าวต้องมีเหตุผลพิเศษ เช่นกล่าวหาว่าเอกสารปลอม และต้องมีหน้าที่นำสืบถึงการปลอมแปลงเช่นว่า ซึ่งต่างจากกรณีของหนังสือรับรองการเกิด ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐอาจไม่ยอมรับเอกสารดังกล่าวได้ ซึ่งหากผู้ใช้ต้องการโต้แย้ง อาจต้องพึ่งบารมีของศาล และต้องนำเสนอเอกสารดังกล่าวในลักษณะของพยานเอกสาร หรือเชื่อมโยงถึงพยานบุคคล (ผู้ทำคลอด) เพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและแม่ของเด็กนั้น (ภาระการพิสูจน์ยังอยู่ที่ตัวเด็ก)

 โดยสรุป การออกเอกสารให้เป็นหลักฐานการจดทะเบียนการเกิดต้องเป็น เอกสารราชการที่สามารถใช้อ้างอิงกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ เช่นสูติบัตร แม้ว่าหนังสือรับรองการเกิด อาจเป็นเอกสารที่มีผลทางกฎหมาย และเป็นรูปแบบหนึ่งของพยาน แต่ไม่ใช่เอกสารราชการที่มีผลบังคับโดยอัตโนมัติ จึงไม่อาจถือได้ว่าการออกหนังสือรับรองการเกิดเป็นการจดทะเบียนการเกิด

 

 

 

อ่านดูแล้ว หลายคนดูจะพยายามอธิบายว่า "สูติบัตร" เท่านั้น ที่น่าจะฟังได้ว่า เป็นการจดทะเบียนการเกิด

แต่เราคงตระหนักนะคะว่า "สูติบัตรตามกฎหมายไทย" ยังไม่มีคุณสมบัติเป็นเอกสารอันเป็นผลของการจดทะเบียนการเกิดที่มีคุณภาพตามมาตรฐานระหว่างประเทศ

และอีกประการ เราจะอธิบายคำว่า "จดทะเบียนการเกิด" ด้วย "เอกสารฉบับเดียวที่ชื่อว่า สูติบัตร" นั้น ก็ได้ และง่ายดี

แต่ตอนนี้ พวกเราดูจะพยายามอธิบายคำว่า "การจดทะเบียนการเกิด" ด้วยกระบวนการ (Process)

หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ซึ่งเป็นเอกสารที่ ม.๒๓ กำหนดให้ "ผู้รักษาพยาบาลหรือผู้ทำคลอด" ต้องออก จึงเป็น จุดเริ่มต้นความเป็นไปได้ของเด็กในภาวะวิกฤตที่จะมีพยานเอกสารและพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือได้

 ส่วน "ใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร.๑ ตอนหน้า)" นั้น เราคงต้องช่วยกันตีความของประกาศสำนักทะเบียนกลาง ณ วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งประกาศนี้ว่า ใช้อำนาจตามมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔

ประเด็นที่ต้องช่วยกันคิด ก็คือ (๑) ประกาศนี้ชอบด้วยกฎหมายไหม ? (๒) ประกาศนี้มีผลอย่างไรในกระบวนการรับแจ้งการเกิด (หรือจะเรียกว่า การจดทะเบียนการเกิด ก็ไม่ขัดข้อง) และ (๓) อะไรคือข้อเสนอของเราในแง่ Policy reform ?

อยากให้ใครสักคนมารวบรวมความเห็นที่มีนะคะ ไล่ตั้งแต่ประเด็นของ "อะไรๆ อาทิ ท.ร.๑/๑ หรือ ท.ร.๑ ตอนหน้า นี้ " ก่อนสู่การได้มาซึ่งสูติบัตร และไล่ผลของสูติบัตรต่อเด็กในขั้นตอนต่อมา

จะมีใครอาสาไหมคะ ?

 

เอ่อ ก็ ท.ร. 1/1 นี่ เป็นเอกสารรับรองการเกิด ของ เด็ก และยังรับรองว่า เกิดในประเทศไทย

เมื่อ พ่อแม่ นำไปขอ ที่ที่ว่าการอำเภอ เพื่อขอออกสูติบัตร ก็ควรได้ ท.ร. 3 (ผมหมายถึงเฉพาะกรณีเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ)

 ก็น่าจะถูกมิใช่หรือครับ ถ้าเช่นนั้น จะมีบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร ทำไม ???

 

ผมว่า ทางออกที่ดี คือ ตรงปรับ ทัศนะคติ และให้ความรู้แก่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนอำเภอ ดีกว่า ว่ากระทำได้

 เอ๊ะ หรือว่าผมเข้าใจผิด - - หรือไม่ก็ ปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท