การเคารพสิทธิชาวบ้าน


@52203 ประเด็นที่ว่า "การใส่ชื่อและเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของชาวบ้านควรจะถือว่าขาดจริยธรรมและคุณธรรมการวิจัย" ในกรณีของการใช้ชาวบ้านเป็นกลุ่มตัวอย่างตอบคำถามการวิจัย เห็นด้วยว่าควรเคารพสิทธิของชาวบ้าน แต่ในบางกรณีก็อาจจำเป็นต้องใส่ชื่อ คำว่าข้อมูลส่วนตัวนี่ลงลึกแค่ไหนคะ ความพอดีควรจะอยู่ตรงไหนคะ ในความเห็นของอาจารย์ เมื่อครั้งไปร่วมสัมมนาที่ศูนย์มานุษยวิทยาฯ ก็มีการพูดประเด็นการเคารพสิทธิของชาวบ้าน แต่ดูเหมือนยังหาความพอดีไม่ได้ชัดเจนนัก อยากทราบความเห็นของอาจารย์ค่ะ จะได้เข้าใจแจ่มแจ้งมากขึ้น


ความเห็น (8)

ไม่มีความเห็น


คำตอบ (1)

ตอบแล้วเด้อ



ความเห็น (8)

เป็นประเด็นที่ดีครับ แล้วก็เป็นเรื่องดีหากได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์กันอย่างหลากหลายอยู่เสมอเพราะหลายเรื่องเราจำเป็นต้องถือการมีวิจารณญาณของตนเองเข้าช่วยด้วย ในเรื่องข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลตัวบุคคล และการเคารพสิทธิของแหล่งข้อมูลในกรณีที่เป็นการวิจัยซึ่งบุคคลอยู่ในฐานะแหล่งข้อมูล นอกจากควรถือตามแนวปฏิบัติที่หน่วยงานผู้เกี่ยวข้องมักจะมีการกำหนดไว้เพื่อการพิจารณาแล้ว ก็มีสิ่งที่จะต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆตามลักษณะการวิจัยต่างๆด้วยเหมือนกัน เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับตัวบุคคล ภาพถ่าย เสียง ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ ข้อมูลเกี่ยวกับสังคม สภาพแวดล้อม รวมไปจนถึงสิ่งที่แม้ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคลโดยตรงแต่ทำให้ผู้อื่นสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นใครและก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ถูกวิจัย เช่น ....สมมุติว่าเป็นคุณใบไม้ย้อนแสง ก็แล้วกัน 

แม้ไม่ได้บอกว่าเป็นคุณใบไม้ย้อนแสง แต่หากบอกว่า เป็นผู้เขียนที่ใช้สัญลักษณ์ตนเองเป็นรูปถ่ายคล้ายใบต้นหมากหรือใบไผ่สีเขียวอ่อน ย้อนแสง และฉากหลังสีฟ้าเข้ม.... อย่างนี้ก็ถือว่าทำให้รู้ได้ว่าเป็นใคร อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งในกรณีที่เป็นเรื่องที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ถูกวิจัย ก็ควรถือว่าไม่ควรทำ

ข้อมูลตัวบุคคลโดยทั่วไปก็พอเข้าใจนะครับ เช่น ชื่อ อายุ ภาพถ่าย ฯลฯ และข้อมูลส่วนตัวก็เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลบุคคลรอบข้าง ในทรรศนะผมแล้ว ในบางเรื่องแม้อาจไม่เข้าข่ายในสิ่งที่พอจะเข้าใจได้คร่าวๆอย่างนี้แล้ว แต่อาจมีผลกระทบทางจิตใจของผู้อื่น ก็คิดว่าเราควรเคารพและให้ความสำคัญครับ

ผมเคยมีตัวอย่างหนึ่งเหมือนกัน เป็นกรณีของเด็กและครอบครัวของเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เด็กๆหวาดกลัวและต้องเสียใจรุนแรง แล้วบังเอิญที่ผมได้เข้าไปรับรู้เพราะชาวบ้านขอให้ผมเข้าไปช่วยแก้ไขเหตุการณ์นั้น ซึ่งผมก็ถือเป็นความจำเป็นที่จะต้องเก็บไว้กับตัวเองมากกว่า ๑๐ ปีและตั้งใจว่าหากผู้เกี่ยวข้องยังไม่เติบโต บรรลุวุฒิภาวะพอที่จะดูแลตนเองได้แล้วก็จะไม่กล่าวถึงทั้งในลักษณะกรณีศึกษาและยกตัวอย่างสภาพแวดล้อมของเขาเลย รวมทั้งไม่เข้าไปทำกิจกรรมต่างๆที่ต้องประเมินไปกับการทำงานในแหล่งที่ทำวิจัยนั้นด้วยว่าอาจจะเป็นการตอกย้ำให้เด็กๆต้องนำเอาเรื่องที่กระทบต่อจิตใจนั้นกลับมาคิด ไม่สามารถลืม ซึ่งทำให้ได้รับผลกระทบทางจิตใจ ลักษณะอย่างนี้ก็คงไม่มีการระบุเป็นข้อห้ามอย่างเจาะจง แต่เราก็ต้องถือเป็นคุณธรรมในใจที่จะต้องให้ความสำคัญ

ส่วนการวิจัยที่เป็นการสร้างเรื่องราวด้วยกันของชุมชนและเป็นการทำให้เป็นกระบวนการร่วมกันทำงานความรู้ เพื่อเรียนรู้และใช้ความรู้ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆด้วยกันของชุมชนและชาวบ้านเองนั้น ก็ต้องมองไปอีกแนวทางหนึ่ง ไม่รู้ว่าพอจะช่วยให้เข้าใจได้ดีขึ้นหรือเปล่าครับเนี่ย

ขอบคุณมากเจ้าค่ะ ท่านอาจารย์วิรัตน์

เอ..เหมือนเรียนกับอาจารย์ออนไลน์เลยนะคะ ตามประสาคนเรียนในระบบไม่ได้ แหะ ๆ ใจไม่ชอบอีกต่างหาก

ส่วนใหญ่อาจารย์เขาจะปวดหัว ทนลูกศิษย์คนนี้ไม่ค่อยได้ค่ะ

....................... 

คำตอบข้างบนของอาจารย์ช่วยให้ใบไม้ฯ เข้าใจมากขึ้นค่ะ

ในกรณีของเด็กหรือผู้ถูกกระทำทางจิตใจนั้น เข้าใจอยู่ค่ะ เพราะช่วยงานมูลนิธิที่ทำงานเรื่องเด็ก ผู้หญิง นานหลายปี ถึงแม้ไม่ใช่งานวิจัย แต่มันเป็นจรรยาบรรณสำคัญยิ่งของนักสังคมสงเคราะห์

"พิจารณาจากผลกระทบของผู้ที่ถูกวิจัย..." น่าจะเป็นคีย์เวิร์ดสำหรับพิจารณาว่าควรเปิดเผยแค่ไหน

มองในแง่ของสื่อมวลชนยิ่งหนักเข้าอีก เคยไปถ่ายทำสารคดีในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งกับผู้มีอิทธิพล ชาวบ้านกล้าเปิดเผยตัว แต่ใบไม้ฯ กลับเป็นห่วงแทน ให้ช่างภาพถ่ายภาพเขาย้อนแสงแทน เห็นแต่โครงรูปร่างหน้าตาดำ ๆ กลัวเขาโดนทำร้าย เพราะเคยมีแกนนำถูกลอบยิงเสียชีวิตมาแล้ว 

ยิ่งเป็นสื่อที่ออกไปในวงกว้างอย่างทีวี หนังสือพิมพ์ ออกไปแล้ว ตามแก้ไขไม่ทันการณ์แน่..

บางคนก็วิจารณ์ว่าเรากลัวเกินไปจึงไม่กล้าเปิดเผยบางข้อมูล ก็ได้แต่ตอบว่า ตามไปรับผิดชอบชีวิตใครไม่ไหว...

เรื่องของชีวิตคนนี่ละเอียดอ่อนจริง ๆ เลย แต่ก็มีเสน่ห์ น่าติดตาม..

ขอบคุณอีกครั้งนะคะที่กรุณาให้การศึกษาออนไลน์ อิ..อิ..  :P

 

ความละเอียดอ่อนและความลึกซึ้งของคุณใบไม้ย้อนแสงนี่ มความเป็นสากลและเป็นประเด็นที่มีการนำไปสู่การพัฒนาทางระเบียบวิธีการวิจัยด้วยครับ การคำนึงถึงชุมชนและผลกระทบของผู้อื่นนั้น เป็นเรื่องที่ทำให้กลุ่มนักวิจัยเชิงคุณภาพและนักวิจัยเชิงปฏิบัติการสังคม อย่างเช่นกลุ่มเคยพัฒนาการวิจัยแบบ Grounded Research และงานวิจัยแนว Community-Based นั้น หากลองศึกษาในรายละเอียด ก็จะเห็นถึงการแยกแนวออกไปพัฒนาลงลึกไปคนละจุดยืนเลยทีเดียวนะครับ ผมยังอ้างอิงหนังสือที่เป็นตัวอย่างเรื่องนี้ทันทีในตอนนี้ไม่ได้ แต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากครับวันหลังจะย่อยมาให้อ่าน

เรื่องของเรื่องก็เป็นประเด็นอย่างที่คุณใบไม้ย้อนแสงได้พูดถึงเลย คือ แนวหนึ่งเชื่อว่าต้องรักษาระยะห่างของนักวิจัย และอีกแนวหนึ่งก็เชื่อว่างานวิจัยในบาวแนวที่เป็นแนวนี้ ควรพัฒนาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนความเป็นชีวิตจิตใจและร่วมทุกข์ร้อนร่วมกันทั้งนักวิจัยและกลุ่มผู้เป็นเป้าหมายการวิจัยให้มากที่สุด

แนวแรกก็มักจะมองทำนองว่านักวิจัยไม่ควรจะไปรู้สึกและรับผิดไปหมดจนไม่มีความเป็นอิสรภาพทางวิชาการ หรือทำให้ผลการวิจัยเต็มไปด้วยอคติ บิดเบือน ผิดเพี้ยน ส่วนแนวหลังก็จะมองไปอีกทาง เช่น หากเราเก็บข้อมูลและวิเคราะห์จนได้ข้อสรุปเพื่อตั้งคำถามใหม่ การกลับเข้าเรียนรู้กับชุมชนเป้าหมายของการวิจัยอีกด้วยประเด็นเดิมแต่ได้ข้อสรุปที่มีรายละเอียดหรือแง่มุมต่างๆดีกว่าเดิมนั้น ทั้งสองแนวจะมีทรรศนะทางวิชาการต่อตัวอย่างนี้ต่างกัน ทำให้มีการพัฒนาระเบียบวิธี กำหนดหลักเณฑ์ และกรอบคุณธรรมจริยธรรมสำหรับการวิจัยขึ้นมาแตกต่างกันในรายละเอียด

แนวแรกจะพิจารณากระบวนการอย่างนี้ว่า การกลับเข้าไปเรียนรู้และเก็บข้อมูลอีกครั้งนี้ เป็นการทำให้เกิดทรีตเม้นต์ต่อชุมชนโดยนักวิจัยด้วย ซึ่งนักวิจัยอาจจะรู้ตัวและอยู่ในฐานะการมีความรู้ต่อสถานการณ์ต่างๆได้ดีกว่า แต่ชุมชนและกลุ่มเป้าหมายการวิจัยจะไม่รู้หรือรู้ไม่เท่ากับนักวิจัยที่กันตนเองเป็นคนภายนอกในลักษณะนี้ ซึ่งการทำสิ่งต่างๆที่เป็นการใส่ทรีตเม้นต์กับชุมชนและผู้อื่นเพียงเพื่อให้ตนได้ข้อมูลและความรู้ที่ต้องการอย่างนี้นั้น โดยสามัญสำนึกก็แทบจะตัดสินใจได้ว่าไม่ควรทำ และในอีกแนวหนึ่งก็จะมองว่าเป็นจริยธรรมและคุณธรรมการวิจัย ที่ไม่ควรทำ

เมื่อเป็นอย่างนี้ กลุ่มที่เชื่อและให้ความสำคัญในอีกแนวหนึ่ง ก็จะเน้นการพัฒนาจุดยืนร่วมกับชุมชนและกลุ่มเป้าหมายการวิจัย จนแทบจะกลายเป็นกลุ่มและชุมชนเรียนรู้จากการแก้ปัญหาไปด้วยกันอย่างเคร่งครัดให้มากที่สุด กลุ่มนี้ก็จะพัฒนาระเบียบวิธีที่รองรับบทบาทของชาวบ้านและชุมชนในทุกมิติของการวิจัยมากกว่าการถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายการวิจัยและเป็นเพียงแหล่งข้อมูล เช่น เป็นทั้งแหล่งประสบการณ์และสร้างข้อมูล เป็นกลไกการมีส่วนร่วมเพื่อวิเคราะกห์ข้อมูล เป็นผู้สร้างและจัดกระทำต่อข้อมูลและความรู้ เป็นผู้ใช้และกลับกระบวนการเข้าไปเรียนรู้การเปลี่ยนแปลง กลับไปกลับมา ชุมชนทั้งหมดและกลุ่มเป้าหมายสรุปบทเรียบนและสร้างความรู้ไปถึงไหน ได้อย่างไร นักวิจัยก็ต้องถืออย่างนั้นไปก่อน เน้นการพัฒนาไปด้วยกัน

แต่ไม่ว่าแนวไหน ก็เหมาะสมในแต่ละเงื่อนไขไม่เหมือนกัน เลยก็หาข้อสรุปแบบตายตัวได้ยาก ช่องว่างต่างๆจึงต้องพัฒนาขึ้นเป็นรายกรณี ดังนั้น ความรู้เพื่อใช้แก้ปัญหาจริงๆในปัจจุบันจึงมักต้องเน้นการสร้างขึ้นโดยมีองค์ประกอบด้านบริบททางความรู้เป็นตัวกำกับ การวิจัยและความรู้ที่เน้นกระบวนการมากยิ่งๆขึ้นทั้งในบ้านเราและของต่างประเทศก็คงจะด้วยเหตุนี้เป็นส่วนหนึ่งแหละครับ

โอ้โห..อาจารย์ช่างมีเมตตาเสียจริง ๆ หอบเอาความรู้มาให้ลูกศิษย์นอกระบบซะเต็มที่เลย..

นึกภาพออกเลยค่ะสองแนวที่แตกต่าง.. เคยมีประสบการณ์ทำงานด้วยทั้งสองแบบ..

เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะว่าหาข้อสรุปตายตัวได้ยาก ถ้ามันตายตัวก็พัฒนาลำบากน่ะสิ ใช่ไหมคะ ก็โลกมีความหลากหลายทางชีวภาพขนาดไหน งานวิจัยก็มีความหลากหลายในแนวทาง... 

แค่อย่าบ้ารูปแบบ แล้วลืมแก่น ลืมหัวใจของงานวิจัยก็น่าจะยอมรับได้...

และใช้รูปแบบแนวทางให้เหมาะกับการวิจัยนั้น ๆ ว่าทำไปเพื่ออะไร จะนำไปใช้อย่างไร 

ใบไม้ฯ ไม่ได้คิดเอาดีทางวิชาการหรอกค่ะ ไม่มีจริตในทางนั้น เพียงแค่ต้องการเข้าใจวิธีคิดของเหล่านักวิชาการ เพื่อสื่อสารกันให้เข้าใจ ใช้ข้อมูลจากการวิจัยไปทำงานให้เกิดประโยชน์ที่สุด

ถามตอบกันใน G2K ก็ดีนะคะ เผื่อมีใครมาร่วมเรียนรู้ด้วย.. 

ขอบพระคุณอาจารย์มากมายค่ะ ที่กรุณาให้ความรู้แบบเต็มที่มาก ๆ

มีความสุขในการทำงานนะคะ...

น้อมจิตคารวะ..^__^..

 

หลานฟ้าใส ณ ศูนย์การเรียนรู้อ่างทอง

สวัสดีค่ะ คุณลุงอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และสวัสดีคุณป้าใบไม้ย้อนแสงด้วยค่ะ

  • คุณลุงอาจารย์ปล่อยความรู้ให้ลูกศิษย์เต็มเหนี่ยวเลยนะค่ะ
  • เห็นด้วยกับคำพูดของคุณป้าใบไม้ย้อนแสงนะค่ะ "แค่อย่าบ้ารูปแบบ แล้วลืมแก่น ลืมหัวใจของงานวิจัยก็น่าจะยอมรับได้..."
  • นักวิจัยบางกลุ่ม บางคนยึดติดกับกฏเกณฑ์ ฟอร์มเยอะจนลืมใช้หัวใจทำงาน โดยเฉพาะกับชุมชน ชาวบ้าน
  • พอไม่ได้ใช้ใจทำงาน เลยขาดจริยธรรมหน่ะค่ะ
  • ขอบพระคุณสำหรับคำถามและการลปรร.ด้านบนค่ะ
  • สาธุ

บางทีแม้เครื่องมือทางปัญญาและวิธีการทางความรู้ซึ่งให้ความเป็นอิสรภาพแก่ผู้คนและมุ่งปลดปล่อยภาวะผู้นำของผู้คนทุกผู้ทุกนามตามกำลังที่จะพัฒนาตนเองได้แทนยุคการถือศาสดาและผู้รู้ที่มีอำนาจแบบผูกขาดต่อผู้อื่น ก็อาจถูกทำให้เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่เหมือนกับเป็นความศักดิ์สิทธิ์ สะท้อนถึงความเป็นสังคมที่ยังชอบใช้อำนาจมากกว่าใช้วิถีความเป็นเหตุเป็นผล

แง่มุมนี้ก็เป็นอีกหนึ่งมิติหนึ่งที่สามารถนำไปสู่การออกแบบกิจกรรมที่เป็นกระบวนการวิจัยเพื่อทำให้เกิดความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างทางปัญญาขึ้นได้เช่นกันครับ เช่น ในการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมเป็นกลุ่ม ก็วางอยู่บนแนวคิดที่ว่าจะทำให้ผู้คนที่มีส่วนร่วมเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่นำไปสู่ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างที่ใช้ปัญญาและความมีเหตุมีผลต่อผู้อื่น แทนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ซึ่งจะสนองตอบต่อความจำเป็นในการพัฒนาตนเองหลายอย่างของสังคมไทย เหล่านี้เป็นต้น 

สวัสดีครับอาจารย์ฟ้าใส : จริงๆแล้วในความเป็นการวิจัยนั้น การมีหลักเกณฑ์และความสามารถอธิบายแจกแจงได้นั้นเป็นเรื่องดีครับ แต่จุดหมายและนัยะของความมีกฏเกณฑ์นั้น ในทรรศนะผมแล้ว เหตุผลสำคัญของมันก็เพื่อทำให้คนอื่นๆสามารถใช้หลักเกณฑ์และการอธิบายเหตุผลแจกแจง เดินกลับเข้าไปเพื่อพิสูจน์และรู้ได้ด้วยตนเองอีก หาใช่เพื่อสักแต่ว่ามีสิ่งนั้นอย่างนั้น-อย่างนั้น เพื่อแบกไว้อย่างตายตัว

ดังนั้น นอกจากการทำงานเชิงเทคนิควิจัยต่างๆแล้ว เราจึงต้องทำงานอีกสองเรื่องคือ การทบทวนความรู้และทฤษฎี กับการจินตนาการและออกแบบในเชิงทฤษฎี ซึ่งการที่จะทำงานเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างนั้นก็คงจะต้องมีองค์ประกอบในการรู้จุดหมายทางสังคมหรือเหตุผลเบื้องหลังด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นเดินตามกิจกรรมเชิงเทคนิคอย่างเป็นเพียงพิธีกรรมที่ต้องทำให้ครบน่ะครับ

ขยายความนิดหนึ่งครับ : การทบทวนความรู้และทฤษฎีนี่ก็เช่นกันครับที่นำมาสู่การเรียนรู้และพัฒนาการวิจัยไปบนกระบวนการวิจัยต่างๆอีกมิติหนึ่ง เพราะในบางเรื่องนั้น เราจำเป็นต้องพิจารณาก่อนว่าจะเริ่มต้นที่ความรู้และทฤษฎีของชาวบ้านและชุมชน หรือเริ่มที่ความรู้และทฤษฎีของนักวิชาการภายนอก หรือความรู้และทฤษฎีที่อิสระออกจากสังคม

หากเริ่มต้นที่ความรู้และทฤษฎีของชาวบ้านและชุมชน ก็จะทำให้เราต้องเดินไปหาชาวบ้านและชุมชนแล้วถอดบทเรียนสังเคราะห์ระบบคิดและวิถีความรู้ของกลุ่มชาวบ้านขึ้นมา

หากเริ่มที่ความรู้และทฤษฎีของนักวิชาการภายนอก ก็จะทำให้เราต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดความรู้ให้และหันหลังออกจากชุมชนเดินไปยังห้องสมุดและกองตำรา โดยเชื่อว่าจะทำให้รู้จักชุมชน

หากเริ่มต้นที่ความรู้และทฤษฎีที่อิสระออกจากสังคม ก็จะทำให้เรามุ่งค้นคว้าจากแหล่งความรู้และระดมความคิดในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ

อันที่จริงการอ่านบทเรียนที่สั่งสมไว้ในชุมชนและกลุ่มผู้คนนั้น ก็เป็นการทบทวนวรรณกรรมและความรู้เพื่อสร้างทฤษฎีขึ้นมาใช้อย่างหนึ่งเหมือนกัน เพียงแต่ว่ามันอาจจะแตกต่างจากการอ่านตัวหนังสือและตารางตัวเลข

แต่เมื่อมองในแง่จุดประสงค์และเหตุผลเบื้องหลังของการวิจัยนั้นๆแล้ว การอ่านและทบทวนความรู้ด้วยวิธีที่แตกต่างกันก็จะเป็นตัวเลือกในเชิงเทคนิคที่ต่างกันเท่านั้นครับ

ปัจจุบันนี้ แนวการทำงานอย่างนี้ก็เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับมากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับ ทำให้มีความยืดหยุ่นและสนองตอบต่อความจำเป็นต่างๆได้มากขึ้นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท