สบายดีหรือเปล่า


สบายดีหรือเปล่า


ความเห็น (2)

ไม่มีความเห็น


คำตอบ (1)

พระมหาสุระพงษ์
เขียนเมื่อ
not yet answered


ความเห็น (2)

เพื่อนแท้ดูแลได้เสมอ

คำว่า "เพื่อน" เป็นคำที่มีความหมายมากมายนัก แปลว่ารักภักดีมีใจให้ แปลว่าคอยหวงหาและอาลัย แปลว่าให้อภัยแก่ฉันและเธอ   เพื่อนจึงเป็นคำที่สั้น แต่มีความหมายมากมายยิ่งนัก ขึ้นอยู่กับการให้ความหมายของแต่ละคน

"เพื่อน" ความหมายอีกอย่าง  ที่วัยรุ่นทุกวันนี้ชอบพูดกัน คือคำว่า พวก หรือพรรคพวก แต่มีสักกี่คนที่รู้จักความหมายของคำว่าพวก

คำว่า "พวก" มีองค์ประกอบ ๓ อย่างด้วยกันคือ

๑. พ       คือพึ่งพา หมายถึง คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

๒. ว       คือไว้วางใจ หมายถึง ไม่หวาดระแวง ต่างคนต่างไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน

๓. ก       คือ เกรงอกเกรงใจ หมายถึง ต้องรู้จักเกรงใจเพื่อน หรือรู้จักรักษาน้ำใจของเพื่อน

เพื่อนนั้นโดยทั่วไปแล้วมีอยู่ ๒ จำพวกด้วยกันคือ

๑. เพื่อนแท้ คือ เพื่อนที่รักกัน ช่วยเหลือกัน ให้อภัยกัน ไม่เอาเปรียบกัน พูดกันเพราะ และก็ไม่ทะเลาะกัน

๒.เพื่อนเทียม  คือ เพื่อนที่ไม่จริงใจ  ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ควรคบ เพราะจะเป็นภัยและได้รับอันตรายได้  ควรหลีกเลี่ยงให้ไกล   เช่น เพื่อนปอกลอก, ดีแต่พูด, หัวประจบ, ชักชวนไปแต่ในทางที่เสีย

                หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเพื่อนแท้ หรือเพื่อนเทียม มีเรื่องหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา น่าสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับการคบคน ว่ามี ๒ อย่างคือ

                อย่างแรก เจอกันแล้วก็เข้าใจกัน "ถูกตาต้องใจ" เหมือนกับว่าเคยรู้จักกันมานานแล้ว

อย่างที่สอง คือจำพวกแบบว่า เจอกันช่วงแรกๆไม่ชอบหน้า พูดง่ายๆรังเกียจมากกว่า ต่อพอเวลาผ่านไป อยู่ใกล้ชิดกัน ก็เลยเห็นความดีในตัวเขา จึงเกิดการที่ว่าน่าคบหา ก็เลยคบหาเพื่อนคนดังกล่าว

อย่างที่สองนี้น่าคิดมาก  เพราะคำว่าเพื่อน  จะพิสูจน์ด้วยเครื่องพิสูจน์ หรือเครื่องอะไรก็ตาม มาพิสูจน์ว่าเป็นเพื่อนแท้ หรือเพื่อนเทียมนั้น คงจะไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์คำว่าเพื่อนได้นั้น ก็คือ เวลา เช่นคำว่า "ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน"

การที่จะคบหาเพื่อนสักคนหนึ่ง ควรไตร่ตรองคิดให้ดีเสียก่อน และก็ควรคบหาแต่เพื่อนแท้ เหมือนคำว่า

ภะเชถะ  มิตเต  กัลยาเณ   พึงคบมิตรที่ดีงาม

คบคนพาล            พาลพา                   ไปหาผิด

คบบัณฑิต             บัณฑิตพา              ไปหาผล

คบคนชั่ว               พาตัว                    ให้มืดมน

เกิดเป็นคน            จะคบใคร            ควรไตร่ตรอง

                เพราะถ้าหากคบคนผิด ก็อาจคิดจนตัวตาย อีกอย่าง วัยรุ่นทุกวันนี้มีเพื่อนหลายคน คิดว่าเท่ คิดว่าตัวเองเจ๋ง แต่เคยคิดบ้างไหมว่าเพื่อนเราคนนั้นคบเรา ที่เงิน หรือคบเราที่ใจ

การที่เรามีเพื่อนมาก ไม่ได้หมายความว่า จะสามารถรักษาความเป็นเพื่อนเอาไว้ได้ โดยไม่ต้องลงทุนสิ่งใด เพราะทุกความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งต้องใช้เวลาที่มีคุณภาพ ในการสร้าง และต้องพยายามรักษาเอาไว้อย่างดี

เป็นธรรมดาที่อาจมีเวลาแห่งการเข้าใจผิดกัน แต่เราควรที่จะมีใจพร้อมที่จะสะสาง เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันเสมอ เมื่อมีความขัดแย้งและเข้าใจผิด อย่ารอให้เพื่อนมาขอคืนดี แต่เราต้องรีบไปขอคืนดีก่อน และสารภาพความผิดของเราก่อน

กว่าเราจะได้มาซึ่งความเป็นเพื่อนกับใครสักคน ทั้งสองฝ่ายต้องเรียนรู้ที่จะมองข้ามสิ่งที่แตกต่างกันที่เปรียบดังกำแพงกั้นความสัมพันธ์จนสามารถเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันได้ ความสำคัญของการมีเพื่อนไม่ได้อยู่ที่เราเคยมีเพื่อนมาแล้วกี่คน แต่สำคัญที่เรามีเพื่อนเหลืออยู่กี่คน... 

มิตรภาพสร้างขึ้นต้องใช้เวลายาวนาน แต่มิตรภาพถูกทำลายลงใช้เวลาสั้นนิดเดียว เราจะสานรอยร้าวแห่งมิตรภาพที่ถูกหักสะบั้นลงด้วยน้ำตาแห่งการให้อภัย จงอย่าอายที่จะ ขออภัย และอีกฝ่ายจงอย่าอาย ที่จะให้อภัย เมื่อต่างฝ่าย อภัยซึ่งกันและกัน มิตรภาพก็จะยังคงอยู่ และมั่นคงมากกว่าเดิมอีกด้วย

เพื่อนที่ดี                มีหนึ่ง                 ถึงจะน้อย

ดีกว่าร้อย               เพื่อนคิด            ริษยา

เหมือนเกลือดี      มีนิดหน่อย           ด้อยราคา

ยังมีค่า                    กว่าน้ำเค็ม            เต็มทะเล

                ฉะนั้นแล้ว การคบเพื่อนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะนั่นคือที่ปรึกษา และคนรู้ใจเรา ถ้าหากว่าเราคบคนผิด เราก็จะทุกข์ไปจนวันตาย และคนที่ใกล้เราคือ พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง ก็จะทุกข์ใจไปด้วย ในทางกลับกัน ถ้าหากเราคบเพื่อนดี (เพื่อนที่รักกัน ช่วยเหลือกัน ให้อภัยกัน ไม่เอาเปรียบกัน) จะตรงกับคำว่า  "เพื่อนแท้ ดูแลได้เสมอ"

 

 

พระมหาสุระพงษ์ สุรวํโส

วัดทองนพคุณ กรุงเทพฯ

 

 

การสร้างคนนั้นสำคัญไฉน?

ตามหลักการทางพระพุทธศาสนาให้การยอมรับว่า มนุษย์เป็นผู้มีศักยภาพสามารถที่จะพัฒนาฝึกฝนตนเองได้ และเมื่อฝึกฝนพัฒนาตนได้แล้วจะเป็นผู้ประเสริฐที่สุด ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า "ทนฺโต เสฏฺโฐ  มนุสฺเสสุ" แปลว่า "ในหมู่มนุษย์ คนที่ได้รับการฝึกฝนแล้วประเสริฐที่สุด"

การสร้างคนให้มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยต้องคำนึงถึงความสำคัญของการศึกษา อันหมายถึงกระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต (มาตรา 4 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ) โดยการศึกษาจะต้องสอนคนให้คิดเป็น ส่งเสริมให้คนรู้จักใช้ปัญญาเพื่อพัฒนาประเทศ หรือจะกล่าวว่าการสร้างคนมาเพื่อสร้างชาตินั่นเอง

การศึกษาช่วยสร้างคน ให้เจริญงอกงามส่งผลต่อสังคม ในฐานะที่แต่ละคนมาอยู่รวมกันเป็นสังคมตรงกับคำพูดที่ว่า "การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ" การสร้างคนจึงเป็น สิ่งที่จำเป็นสังคมจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญ เพราะการสร้างคนให้มีความรู้ความสามารถ มีความคิดที่ทันการณ์ มีศีลธรรม มีจริยธรรม มีความตระหนัก ถึงส่วนรวมหรือสังคมแล้วจะทำให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า ในเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทฝากเป็นข้อคิดกับคนไทยทุกคน ความตอนหนึ่งว่า "นอกจากการศึกษาจะสอนให้คนเก่งแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะอบรมให้ดีพร้อมกันไปด้วย ประเทศไทยเราจึงจะได้คนที่มีคุณภาพ คือทั้งเก่ง ทั้งดี มาเป็นกำลังของบ้านเมืองให้ความเก่งเป็นปัจจัยและพลังสำหรับการสร้างสรรค์ และให้ความดีเป็นปัจจัยเพื่อประคับประคองหนุนนำความเก่ง ให้เป็นไปในทางที่ถูกที่อำนวยผล เป็นประโยชน์อันพึงประสงค์"

ดังนั้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 8 จนถึงฉบับที่ 10 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ จึงได้ยึดเอาการสร้างคนเป็นเป้าหมายของการพัฒนาประเทศชาติ โดยมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูประบบความคิดในการพัฒนาประเทศแนวใหม่ โดยเปลี่ยนจากการเน้นระดมเงินทุนมาลงทุนทางด้านกายภาพ เน้นการพัฒนาความอยู่ดีมีสุขของประชาชน โดยเน้นคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาประเทศชาติ

คำกล่าวที่ว่า

จะปลูกพืชต้องเตรียมดิน

จะกินต้องเตรียมอาหาร

จะพัฒนาการต้องพัฒนาประชาชน

จะพัฒนาคนต้องพัฒนาจิตใจ

จะพัฒนาใครเขาต้องพัฒนาที่ตัวเราก่อน

การสร้างคนจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ถ้าจะเปรียบเทียบกับการสร้างวัตถุ การสร้างคนก็เปรียบเหมือนกับการจับปลาให้  ซึ่งเขาได้ปลานั้นไปทำเป็นอาหารกินได้เพียง ๑-๒ มื้อก็หมดแล้ว ส่วนการสร้างคนถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับการสอนวิธีจับปลาให้แก่เขา จะทำให้เขารู้วิธีจับปลาและใช้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเขาได้ตลอดไป การสร้างคนก็เช่นเดียวกัน เป็นการสร้างให้เขามีความรู้ความสามารถมีคุณธรรมจริยธรรม สามารถเป็นที่พึ่งแก่ตนและคนอื่นได้อีกด้วย

                การสร้างคนนั้นต่างจากการสร้างวัตถุโดยทั่วไป เพราะการสร้างคนต้องสร้างที่จิตใจ การที่จะสร้างที่จิตใจนั้นต้องค่อยๆสร้างหรือค่อยๆพัฒนา เปรียบได้กับการปลูกพืช ที่ต้องค่อยๆ ทำ เริ่มตั้งแต่การขุดดิน การลงพืช การใส่ปุ๋ย ซึ่งต้องมีความละเอียดทุกขั้นตอน จึงจะได้พืชที่ดี สวยงาม และไม่มีผิดมีภัย การพัฒนาจิตใจของคนเราก็เหมือนกันต้องค่อยๆทำเหมือนกับการปลูกพืช จึงจะได้บุคคลากรของชาติที่ดีและมีคุณภาพ โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนนี้ก็มีวัตถุประสงค์เช่นนี้เหมือนกัน มุ้งเน้นที่จะพัฒนาคนให้มีความรู้คู่คุณธรรม เป็นการพัฒนาจิตใจของเด็ก ให้เด็กหรืออนาคตของชาตินั้น เป็นคนดีของสังคม ทำให้สังคมเป็นสังคมที่มีแต่ความสุขสืบต่อไปฯ

 

 

 

พระมหาสุระพงษ์ สุรวํโส

น.ธ.เอก, ประโยค ป.ธ.๔

นิสิตปฏิบัติศาสนากิจ  คณะสังคมศาสตร์  ภาควิชารัฐศาสตร์ เอกการเมืองการปกครอง

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท