ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ


สำหรับ “ปฏิเวธ” นั้นจะมีในเฉพาะผู้ปฏิบัติทางกายและจิตเท่านั้น หาไม่ได้จากตัวนักวิทยาศาสตร์ทั่วๆไป ไม่ว่าจะเป็น กาลิเลโอ นิวตัน หรือไอน์สไตน์ เพราะนักวิทยาศาสตร์จะใช้ “เครื่องมือวัด” แล้วใช้ความนึกคิดประเมินผลเอาจาก “ปริมาณ” ที่วัดได้นั้น

วันก่อนแวะอ่านบันทึกของอาจารย์กมลวัลย์รวมทั้งความคิดเห็นของเพื่อนๆ  มีข้อความหนึ่งกล่าวถึง ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ความจริงผมได้ให้ข้อคิดเห็นไปบ้างแล้วว่า จะว่าสำคัญก็สำคัญ จะว่าไม่สำคัญก็ไม่สำคัญ วันนี้ก็เลยอยากจะขยายความต่อนะครับ

 

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายของคำทั้ง ๓ คำไว้ดังนี้

ปริยัติ หมายถึง การเล่าเรียนพระไตรปิฎก

ปฏิบัติ หมายถึง การดำเนินการไปตามระเบียบแบบแผน การกระทำเพื่อให้เกิดความชำนาญ

ปฏิเวธ หมายถึง เข้าใจตลอด ตรัสรู้ ลุล่วงผลปฏิบัติ

 ฟังดูแล้ว ตามอักขระทุกคนจะเข้าใจได้ไม่ยากเลยใช่ไหมครับ แต่ทำไมบางครั้งจึงเกิดข้อถกเถียงมากมายระหว่าง นักปริยัติ กับ นักปฏิบัติ  ก่อนอื่นเรามาลองทบทวน พุทธประวัติ ดูดีไหมครับว่ามีความเป็นไปเป็นมาอย่างไร?  แล้วค่อยมาเปรียบเทียกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน... จะได้เข้าใจอะไรๆดีขึ้น 

 

เริ่มตั้งแต่พระพุทธองค์ออกบวช ศึกษากับอาจารย์ต่างๆจนจบหลักสูตร แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุธรรมได้ จึงทรงออกปฏิบัติแบบ ลองถูกลองผิด ด้วยพระองค์เอง สุดท้ายใช้เวลา ๖ ปีจึงตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา หลังจากนั้นพระองค์ก็ได้ทรงเสด็จออกอบรมสั่งสอนสัตว์โลกทั้งหลายเพื่อให้ รู้จักทุกข์...เหตุแห่งทุกข์...วิธีดับทุกข์ และเข้าถึง นิพพาน และทรงกล่าวยืนยันว่า บุคคลที่ตั้งใจเจริญสติปัฏฐาน ๔ สามารถบรรลุธรรมได้อย่างช้าภายในเวลา ๗ ปี อย่างเร็วภายในเวลา ๗ วัน 

 

จะเห็นได้ว่าเฉพาะตัวพระพุทธองค์เองแล้ว มีเพียง ปฏิบัติ และ ปฏิเวธ เท่านั้น  แต่สำหรับเหล่าพุทธสาวกทั้งหลายต้องอาศัยคำสั่งสอนของพระพุทธองค์(ซึ่งเกิดจากประสบการณ์การปฏิบัติของพระพุทธองค์)เป็นแนวทาง ปฏิบัติ จึงจะเกิด ปฏิเวธ และคำสั่งสอนนี้เองปัจจุบันเรียกว่า ปริยัติ 

 ในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ไม่ทรงเน้นเรื่องปริยัติมากนัก แต่จะทรงเน้นให้ปฏิบัติมาก  ผมพอมีตัวอย่างยืนยันเรื่องนี้ด้วยนะครับ ไม่ได้พูดเอง  เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยนั้นมีภิกษุรูปหนึ่งชื่อโปฐิละ ถือได้ว่าเป็นพหูสูตรูปหนึ่ง  เพราะมีความสามารถจดจำคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ได้มาก แต่ไม่เคยลงมือปฏิบัติเลย  ความจริงพระโปฐิละได้สั่งสอนลูกศิษย์จนสำเร็จอรหันต์หลายรูป  แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงโปรด  และทรงกล่าวตำหนิพระโปฐิละว่าเป็น ใบลานเปล่า  ในที่สุดพระโปฐิละก็คิดได้  ปฏิบัติจนสำเร็จอรหันต์ 

 

ในปัจจุบัน ภิกษุส่วนใหญ่จะเป็นพระ ใบลานเปล่า (ฆราวาสก็เช่นกันนะครับ...ไม่ใช่มีแต่พระ) เพราะกระแสสังคมเป็นเช่นนั้น ทั้งทางโลกและทางธรรม ชอบเอากระดาษมาโอ้อวดกัน ใบประกาศนียบัตรเอย...ปริญญาบัตร(ตรี-โท-เอก)เอย....เปรียญธรรมเอย...ไม่สนใจความรู้(แจ้ง)ที่ซ่อนอยู่ภายใน

 

ภิกษุส่วนน้อยที่เน้นการปฏิบัติมากกว่าการเล่าเรียนปริยัติก็พอมีให้เห็นครับ ขอยกตัวอย่างหลวงปู่บุดดา ถาวโร แห่งวัดกลางชูศรี อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี (ละสังขารตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗) หลวงปู่ท่านเป็นพระสุปฏิปันโน ปฏิบัติธรรมธุดงค์องค์เดียวด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวจนสามารถบรรลุธรรมภายในพรรษาที่ ๔  ในประวัติไม่พบว่าหลวงปู่ท่านจบนักธรรมตรีด้วยซ้ำไป(ต้องกราบขออภัยล่วงหน้า ถ้าหากว่าข้อความดังกล่าวผิดพลาด)

 

ครั้งหนึ่งหลวงปู่บุดดาท่านรับนิมนต์เทศน์คู่กับท่านเจ้าคุณเปรียญธรรม ๘ ประโยครูปหนึ่ง ท่านเจ้าคุณถามหลวงปู่ว่าจะเทศน์เรื่องอะไร? หลวงปู่ตอบว่า จะเทศน์เรื่อง ความโกรธ ท่านเจ้าคุณรูปนั้นคงอยากจะลองภูมิหลวงปู่ จึงถามว่า หน้าตาตัวโกรธเป็นอย่างไร?  หน้าตัวโกรธเหมือนหน้าส้นตีนไงล่ะ  หลวงปู่ตอบ  เท่านั้นแหละ ท่านเจ้าคุณโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง และไม่ยอมเทศน์กับหลวงปู่  หลวงปู่ท่านต้องเทศน์รูปเดียวจนจบแล้วจึงไปกราบขอขมาท่านเจ้าคุณ และได้อธิบายให้ท่านเจ้าคุณเข้าใจว่า ตัวโกรธมันเป็นอย่างนี้เอง มันหน้าแดงๆนี่แหละ มันเทศน์ไม่ได้ คอแข็ง ตัวโกรธสู้เขาไม่ได้ ขึ้นธรรมมาสน์ก็แพ้เขา

 

ความสำคัญของ ปริยัติ จึงเป็นเพียง แนวทาง ให้นักปฏิบัติไม่ต้อง เสียเวลา ลองผิดลองถูกแบบพระพุทธองค์  ซึ่งก็มีปรากฏให้เห็นในสมัยพุทธกาลว่าพุทธสาวกหลายรูปสามารถบรรลุธรรมได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

 

สำหรับ ปฏิเวธ นั้นจะมีในเฉพาะผู้ปฏิบัติทางกายและจิตเท่านั้น หาไม่ได้จากตัวนักวิทยาศาสตร์ทั่วๆไป ไม่ว่าจะเป็น กาลิเลโอ นิวตัน หรือไอน์สไตน์ เพราะนักวิทยาศาสตร์จะใช้ เครื่องมือวัด แล้วใช้ความนึกคิดประเมินผลเอาจาก ปริมาณ ที่วัดได้นั้น  ผมมีตัวอย่างที่ไม่เคยลืมเลือนเลยเรื่องปฏิเวธจะเล่าให้ฟังครับ

 ตอนที่แตงโมเล็กๆ(ลูกชาย)อายุยังไม่ถึงขวบ  เช้าวันหนึ่งผมอุ้มแตงโมนั่งตัก มือหนึ่งก็ถือถ้วยกาแฟร้อนๆขึ้นจิบ มือหนึ่งก็จับตัวเขาเอาไว้  แตงโมซนมาก  พยายามที่จะไขว่คว้าถ้วยกาแฟให้ได้  ทีแรกผมก็ถือถ้วยกาแฟหลบหลีกมือน้อยๆของแตงโมไปมา   แต่แตงโมก็ยังไม่ละความพยายาม  จะจับให้ได้  ในที่สุดผมก็คิดออกว่าจะทำอย่างไรกับ"แตงโม"ดี  เลยให้ แตงโมจับถ้วย  แต่โดนแบบเฉียดๆนะครับ(เดี๋ยวหาว่าผมใจร้าย)   ปรากฏว่าได้ผลเกินคาด  แตงโมหดมือกลับทันที   ผมลองเอาถ้วยกาแฟยื่นให้ใหม่  คราวนี้ แตงโมต้องเป็นฝ่ายหลบหลีกถ้วยกาแฟเสียเอง  เพราะ แตงโมเกิดปฏิเวธในการสัมผัสถ้วยกาแฟร้อนๆแล้ว  วันต่อๆมาผมก็ลองเอาถ้วยกาแฟยื่นให้อีก แต่แตงโมยังคงจำได้  ไม่กล้าแตะถ้วยกาแฟอีกเลย  ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์  คงทำได้แค่เอาเทอร์โมมิเตอร์จุ่มดู  แล้วก็อาจจะร้องบอกว่า ร้อน ๗๐ องศาครับ   ไหนเลยจะเกิดปฏิเวธแบบแตงโม   

หมายเลขบันทึก: 99191เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2007 17:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีค่ะอ.ศิริศักดิ์

ชอบเรื่อง หน้าตาตัวโกรธเป็นอย่างไร?  หน้าตัวโกรธเหมือนหน้าส้นตีนไงล่ะมากเลยค่ะ เห็นได้ชัดเจนว่าหลวงปู่บุดดาท่านมีปฏิเวธเกี่ยวกับเรื่องโกรธชัดเจน ในขณะที่ท่านเจ้าคุณอาจมีปริยัติมาก รู้ว่าคนโกรธมีลักษณะอย่างไร แต่กลับไม่รู้ตัวเวลาที่ตัวเองโกรธ....  : ) มันเหมือนกับคนที่มองออกจากตัวเองตลอดเวลา แต่ไม่เคยมองกลับมาที่ตัวเองเลย ยังไงยังงั้นเลยค่ะ..

พออาจารย์ยกตัวอย่างถึงใบลานเปล่าแล้ว ก็ทำให้ไม่อยากเป็นใบลานเปล่าเลยค่ะ ตอนนี้ก็ฝึกเจริญสติไปเรื่อยๆ ค่ะ ได้บ้างหลุดบ้าง ตามประสา แต่ก็เห็นอะไรๆ เยอะขึ้นมาก เข้าใจธรรมชาติของสิ่งต่างๆ มากขึ้นจริงๆ หลังจากที่ได้ปฏิบัติเจริญสติที่อาจารย์สอนไว้ค่ะ..

เรื่องปฏิเวธของแตงโมกับแก้วกาแฟร้อนๆ เนี่ยก็ชัดเจนนะคะ ถ้าไม่โดนให้รู้สึกสักนิด ก็จะไม่เข้าใจหรอกว่าไอ้ที่เรียกว่า"ร้อน"น่ะ มันเป็นยังไง จะรู้จะเข้าใจจริงๆ (ปฏิเวธ) ก็ต้องลองทำดู (ปฏิบัติ) นั่นเอง..

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ..

 

สวัสดีครับอาจารย์กมลวัลย์

จากการที่ได้สนทนาธรรมกับอาจารย์อยู่เสมอ เห็นได้ชัดเจนว่าอาจารย์มีการเจริญสติ ดูจิตตัวเองอยู่เป็นประจำ คงไม่เป็น "ใบลานเปล่า"หรอกครับ

ขอให้เจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไปนะครับ

ผมเป็นผู้เขียน "ปริยัติ ,ปฏิบัติ และ ปฏิเวธเองครับ"  และขอร่วมแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ก็แล้วกันครับ  คือก่อนที่พระพุทธเจ้าพระองค์จะดับขันธ์ปรินิพพาน พระองค์กล่าวกับพระอานนท์ว่า เราจะไม่สืบทอดบุคคลใดเป็นศาสดาแทนตัวพระองค์ แต่จะให้พระธรรม และ พระวินัย อีกทั้งยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม......

ถ้าเราไม่ได้ศึกษาธรรม ซึ่งเปรียบเสมือนใบไม้ในกำมือของพระพุทธเจ้ากำมือเดียวนี้  เราจะรู้ว่า สติปัสฐาน ๔ มีอะไรหรือเปล่า ธรรมคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เวลาที่เรากล่าวคำว่าเราเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งนั้น พระรัตนตรัยมี (พระพุทธ,พระธรรม,พระสงฆ์) ในยุคนี้พระพุทธไม่มีแล้ว ท่านปรินิพพานนานแล้ว พระธรรม กับพระสงฆ์ ยังอยู่แต่เราไม่วิปัสสนาแล้วจะ แก้ทุกข์(แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน)โดยอะไร......

วิปัสสนา คืออุบายที่ทำให้เรืองปัญญา มี ๓ ทาง คือ สุตตมยปัญญา (ปัญญาเกิดจากการฟัง) เพราะเราท่านหรือสัตว์โลกทั่วไป ไม่มีบารมี แก่กล้าพอที่จะ "ตรัสรู้"

การตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เองต้องอาศัยการสั่งสมบารมี เป็น ๔อสงไขยแสนกัปป์ บุรุษผู้ซึ่งกระทำได้ มีหนึ่งเดียว ตามยุคของจักรวาล

จินตามยปัญญา (ปัญญาเกิดจากการใคร่ครวญธรรม) ถ้าไม่รู้ธรรมะสักหมวดเดียว จะเอาอะไรใคร่ครวญครับ

ภาวนามยปัญญา(ปัญญาเกิดจากการเจริญกัมมฐาน)

สุดท้ายถ้าจะคิดว่าปฏิเวธ คือความเข้าใจของพระอริยสงฆ์ ที่กล่าวว่า ความโกรธหน้าตาเหมือนเบื้องล่างของเท้ามนุษย์ ก็ตามแต่ใจของอาจารย์ครับ แต่ผมบอกว่าไม่ใช่ครับ

สวัสดีครับคุณสมพงศ์ เตชะวโร

ขอบคุณครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  จุดประสงค์ของบันทึกนี้ก็เพื่อเตือนกลุ่มคนที่ทำตัวเป็น "ใบลานเปล่า"เท่านั้นเอง 

ไม่เคยบอกว่าปริยัติไม่ดี แต่การยึดถือ "ปริยัติเหนือปฏิบัติ"ต่างหากที่ไม่ดี

 

เถรใบลานเปล่า เป็นตัวอย่างชั้นยอดของนักปฏิบัติ และครูผู้สอน

ผู้ปฏิบัติ ดีได้เพราะจิตตนเอง แม้ครูบาอาจารย์จะไม่ได้เป็นพระอรหันต์ก็ตาม

ครูผู้สอนทั้งหลาย ก็ต้องตระหนักว่า ความรู้ท่วมหัว ต้องเอาตัวให้รอดด้วย ไม่งั้นก็จะกลายเป็นอาจารย์ใบลานเปล่า

ผมเองก็ใช้เรื่องพระใบลานเปล่านี้เป็นเครื่องมือช่วยในการฝึกจิตครับ...ขอบพระคุณครับท่านอาจารย์

P
ที่นำเรื่องดีๆมาแบ่งปัน

สวัสดีครับคุณข้ามสีทันดร

ขอบคุณครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 

ท่าน "โปฐิละ" ทำให้เกิดตัวอย่างเรื่องพระ "ใบลานเปล่า"ก็จริง แต่สุดท้ายท่านก็ได้ "น้อม"เข้ามาดู "ตนเอง" เมื่อพบว่า "เป็นจริง"อย่างที่พระพุทธองค์ตรัส  ท่านก็ได้แก้ไขตัวเองจนสำเร็จอรหันต์ในที่สุด 

นักปฏิบัติที่แท้จริงจะรู้สึกซาบซึ้งใจมากกับเรื่อง พระ"ใบลานเปล่า"เสมอครับ  เพราะเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีมาก

ขอให้คุณข้ามสีทันดรมีความเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไปนะครับ

อ่านแล้วได้ความรู้มากเลยคะ...

  ตัวอย่าง น้องแตงโม นี่ชัดเจน ดีจังคะ
 

สวัสดีครับคุณดอกแก้ว

ดีใจครับที่ทราบว่าบันทึกมีประโยชน์

ความจริง"แตงโม"ได้สร้างวีรกรรมมากมาย แต่บางครั้งก็ถูกหลอก  เช่น ครั้งหนึ่ง"แตงโม"ซ่ามาก...วิ่งไปวิ่งมา...ห้ามไม่ฟัง...สุดท้ายวิ่งเอาหัวไปชนกับขอบโต๊ะ...โครมเบ้อเร่อ...ร้องไห้จ้าเสียงดัง...ป่าป๊าวิ่งเข้าไปหาโต๊ะที่ถูกชน...เอามือลูบคลำขอบโต๊ะพร้อมกับทำเสียงตกใจว่า"ตายแล้ว...แตงโมวิ่งชนโต๊ะพังเลย" แตงโมหยุดร้องทันที...รีบลุกขึ้นมาดูผลงานตัวเอง... 

สวัสดีค่ะ อ.ศิริศักดิ์

แวะมาเปิดอ่านพอดี อ่านที่อาจารย์ตอบคุณดอกแก้วแล้วขำค่ะ ยังหัวเราะอยู่เลย... เป็นป่าป๊าที่ดีมากค่ะ...ปราบเซียนแตงโม..5555

สวัสดีครับอาจารย์กมลวัลย์

ป่าป๊าก็เคยเสียท่า"แตงโม"ผู้มี"เขี้ยวลากดิน"ซี่เล็กๆเหมือนกันนะครับ

เนื่องจากป่าป๊าชอบ"สะสมพระเครื่อง"  สมัยนั้นแผงแบ-กะ-ดินแถวท่าพระจันทร์ยังไม่ถูกไล่ที่  วันหนึ่งอ้างกับแม่"แตงโม"ว่าจะพา"แตงโม"ไปเดินเล่น  เลยย่อง"ไปเช่าพระ"ที่ท่าพระจันทร์    ตอนนั้น"แตงโม"อายุสัก ๒ ขวบเห็นจะได้  มันบอกว่า "ป่าป๊าเช่าพระองค์นึง  ต้องซื้อรถโมเดลเด็กเล่นให้โมคันนึงนะ  ไม่งั้นโมจะฟ้องแม่" ป่าป๊าได้แต่พยักหน้า   ตอนหลัง"แตงโม"ก็เลยมีรถโมเดลเป็นโหล....  

นำเอาประวัติคนมาเล่าก็สำเร็จไม่ยาก ลองปฏิบัติเองครึ่งวัน ร้องไม่ไหวแล้วลำบากยาก พูดกับทำต่างกันมากมายสุดคนานับ

การอธิบายของ อ.ศิริศักดิ์ ชัดเจนดีครับ ในเรื่อง ของ ปริยัติ ปฏิบัติ แต่ในส่วนของปฏิเวธ เป็นเรื่องที่เป็นรายละเอียดมาก ในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้า ได้ตรัสถึง อริยบุคคล การจะรู้ได้นั้นคือผู้มีระดับเท่ากันและรู้ถึงผู้มีระดับต่ำกว่าเท่านั้น เช่น ระดับของอริยบุคคล อรหันต์ อนาคามี สกิทาคามี โสดาบัน กรณีนี้ พระโสดาบัน จะรู้ว่าใครเป็นโสดาบันแต่ไม่รู้ระดับที่สูงกว่าตน

ปฏิเวธ จึงเป็นการรู้ในระดับต่างๆ ในการปฏิบัติเข้าถึงแล้ว โดยมีได้ในการปฏิบัติวิปัสสนาเท่านั้น ความรู้ที่ได้เป็นการรู้เข้าใจเหตุและผลที่เกิดขึ้นตามความจริง (อธิบายได้ตาม ปฏิจสมุปบาท) ความรู้เช่นนี้ตัวผู้รู้จะปรับสมดุลย์ตนเองจนเกิดการเข้าสู่ภาวะธรรมได้

สรุป ปฏิเวธ จึงเป็นการอธิบายได้ถึงระดับของการปฏิบัติหรือเป็นตัวชี้วัดในเชิงปริมาณ โดยการยึดถือสมมติเป็นตัวเกณฑ์ในการทำนาย คือความหมายของคนทั่วไปในระดับโลกีย์ ในระดับโลกุตร์ เป็นการวัดระดับการเข้าถึงธรรม โดยวัดสภาวะจิตกับสติ

อ.เขียนดีครับ เข้าใจง่าย ชัดเจน เป็นธรรมทานที่ดี สาธุ ขอให้เจริญในธรรมยิ่งขึ้นไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท