ทุ่งร้างกลางฤดูฝน...


ที่นาหลายแห่งไม่มีคนที่จะลงแรงไถหว่าน หลายที่ถูกทิ้งร้างอย่างน่าเสียดาย

เมื่อเช้า,  พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ  พระยาแรกนาเสี่ยงทายผ้านุ่ง 5 คืบ   พยากรณ์ว่าน้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี    ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร   มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี   ส่วนพระโคกินข้าว   ข้าวโพด   พยากรณ์ว่าธัญญาหาร   ผลาหาร   จะบริบูรณ์ดี    และหญ้า   พยากรณ์ว่าน้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี"  

 

นั่นคือข้อความที่ผมคัดมาจากหนังสือพิมพ์ "คมชัดลึก"   (10 พฤษภาคม  2550)  ..  ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคำพยากรณ์ที่สร้างขวัญและกำลังใจเป็นพิเศษสำหรับชาวไร่ชาวนาที่กำลังเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูกาลแห่งการหว่านไถ  ..

สัปดาห์ที่แล้ว,  ผมมีโอกาสได้กลับไปบ้านเกิดในช่วงสั้น ๆ   พ่อในวัย 72  บอกกล่าวให้ฟังว่า   ตอนนี้น้ำเจิ่งจองทั่วผืนนา   ซึ่งพี่ชายกำลังไถหว่านอย่างรีบเร่ง   เพราะหากฟ้าฝนทิ้งช่วงไป    ก็ยิ่งจะลำบากมากขึ้นและอาจจะไม่มีโอกาสได้หว่านข้าวกล้าเลยก็เป็นได้

ช่วงนี้ผมรู้สึกราวกับว่าได้กลิ่นของโคลนตมโชยมาจากที่ไหนสักแห่ง    เป็นกลิ่นแห่งความคุ้นเคยที่เต็มไปด้วยชีวิตและความอบอุ่นที่ผมสัมผัสมาอย่างยาวนาน

 

ฝนแรกของวสันตฤดูชำแรกตัวลงสู่พื้นดินอันแห้งโหย  เป็นบ่อเกิดของความชุ่มชื้นที่กรุ่นหอม    แต่เบื้องลึกของผมกลับมีความหม่นเศร้าแนบนิ่งอยู่อย่างลึกเร้น ...

ผมคิดถึงท้องนาที่เจิ่งจองด้วยน้ำอันเอ่อล้น   แต่ท้องนาเหล่านั้นกลับดูเงียบและเปลี่ยวเศร้าเป็นนักหนา    ที่นาหลายแห่งไม่มีคนที่จะลงแรงไถหว่าน   หลายที่ถูกทิ้งร้างอย่างน่าเสียดาย 

นั่นคือปรากฏการณ์อันเป็นชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับชาวนาอย่างน่าเห็นใจ   คนในวัยแรงงานจำนวนไม่น้อยละทิ้งท้องทุ่งไปค้าแรงงานในเมืองใหญ่   และการทำนาในปัจจุบันก็กลายเป็นวิถีชีวิตที่ต้องใช้ต้นทุนในการทำนาอย่างมากมายก่ายกอง   ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวจากทุ่งแห่งชีวิตก็ไม่เพียงพอต่อต้นทุนที่ทุ่มเทลงไป   เพราะในวิถีแห่งท้องทุ่งล้วนประกอบขึ้นด้วยต้นทุนทางสังคมใหม่อย่างเห็นได้ชัด   ไม่ว่าจะเป็นการไถคราดด้วยเครื่องจักร   การลงแขกในวิถีของการว่าจ้าง  การบำรุงดินด้วยปุ๋ยเคมี   ฯลฯ   สิ่งเหล่านี้เป็นแรงขับให้ชาวนาจำต้องตัดใจทิ้งให้ทุ่งนากลายสภาพเป็นทุ่งร้างอย่างที่เห็น...

หลายคนไปดิ้นรนรับจ้างอยู่เมืองใหญ่    ครั้นถึงหน้านาก็ส่งเงินมาให้คนทางบ้านว่าจ้างผู้คนให้ปักดำในผืนนาของตนเอง    คงมีแต่ส่วนน้อยเท่านั้นที่เก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋าเพื่อเดินทางกลับมาพลิกพื้นผืนนาในหน้าฝน

วันนี้,  ผมมีโอกาสได้กลับไปอ่านบทกวีของตนเองเมื่อนานมาแล้ว  (2543)   ซึ่งบทกวีนั้นมีชื่อว่า "ทุ่งร้าง"    อันเป็นการบันทึกความรู้สึกอันสะท้อนใจต่อปรากฏการณ์ของทุ่งนาที่ร้างซึ่งคนจะทำนา...

ทุ่งนาวันนี้ไม่ร้างฝน            แต่ร้างคนสืบสานตำนานทุ่ง
คนหนุ่มสาว, ทิ้งคราดไถไปเมืองกรุง   ลืมเรียวรุ้ง ลอมฟางกลางทุ่งนา
ผีตาแฮก, ตะโกนก้องร้องทุกข์     อนิจจาสิ้นยุคแห่งข้าวกล้า
เกินเรี่ยวแรงพ่อแม่ผู้แก่ชรา         จะโถมแรงกายาพลิกผืนดิน
น้ำหลากทุ่งทุ่งหลากน้ำสำลักล้น      ปลาว่ายวนอ่อนใจไม่โดดดิ้น
เสียงกบเขียดเร้นหายแทบไม่ได้ยิน    หนังตอกแอกรวยระรินแทบสิ้นใจ
ฝ่ายเจ้าทุยเหนื่อยอ่อนรอนร้าว     ชะแง้คอยหนุ่มสาวกลับมาใหม่
รถโดยสาร  ผ่านมา - ผ่านไป       ไร้วี่แววคนไกลจักคืนคอน
ผีตาแฮก, ปลงตก  โศกเศร้า        ปลอบขวัญผู้เฒ่าอย่างเหนื่อยอ่อน
ว่าสิ้นแล้วทุ่งแห่งรักและอาทร      สิ้นเพลงพรจากทุ่งฝันอันจรุง
ทุ่งนาวันนี้ไม่ร้างฝน              แต่ร้างคนสืบสานตำนานทุ่ง
คนหนุ่มสาวซื้อคอนโดอยู่เมืองกรุง    หวังวาดฟ้าทอรุ้งด้วยแสงไฟ..

หมายเลขบันทึก: 95445เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2007 20:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (30)
สวัสดีค่ะคุณแผ่นดิน การทำนาในปัจจุบันก็กลายเป็นวิถีชีวิตที่ต้องใช้ต้นทุนในการทำนาอย่างมากมายก่ายกอง ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวจากทุ่งแห่งชีวิตก็ไม่เพียงพอต่อต้นทุนที่ทุ่มเทลงไป เพราะในวิถีแห่งท้องทุ่งล้วนประกอบขึ้นด้วยต้นทุนทางสังคมใหม่อย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการไถคราดด้วยเครื่องจักร การลงแขกในวิถีของการว่าจ้าง การบำรุงดินด้วยปุ๋ยเคมี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นแรงขับให้ชาวนาจำต้องตัดใจทิ้งให้ทุ่งนากลายสภาพเป็นทุ่งร้างอย่างที่เห็น...นี่อาจเป็นอีกคำตอบหนึ่งของคำถามเบิร์ดที่ถามว่าทำไมชาวนาถึงจน..เศร้าจังเลยค่ะ
  • วันเวลาเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน การดำรงชีพ วิถีชีวิต ทุกๆก็เปลี่ยนไป
  • คนรุ่นใหม่ เน้นที่ความสะดวกสบาย และคิดที่จะซื้อความสะดวกสบายด้วย เงิน
สวัสดีครับ  คุณเบิร์ด
P

ขอบคุณนะครับที่แวะมาทักเป็นคนแรก  (เกินความคาดหมาย) ...

ชาวนา.. (โง่ จน จบ) .... บางทีก็อดคิดขำ ๆ ไม่ได้ว่า  ชาวนาจน เพราะ  ฝนไม่ตก ...ครับ..

 

สวัสดีครับ
P

สังคมชนบทกำลังต่อสู้กับกระแสทุนนิยมอย่างอ่อนแรง  และผมเชื่อว่า  ส่วนใหญ่ก็ถูกครอบงำไปจนหมดสิ้นแล้ว

มันเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย  ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีจุดยืนอันเข้มแข็งและอยู่อย่างพอเพียงได้มากกว่ากัน..

ขอบคุณนะครับ

สวัสดีครับ
P

ขนำน้อยกลางทุ่งนาหลังนี้เสื่อมทรุดเพราะถูกทิ้งร้างไว้กลางทุ่งหน้าแล้ง  คาดว่าถ้าถึงหน้านา  หากทุ่งนี้จะได้รับการไถหว่าน,  ขนำหลังนี้ก็จะถูกซ่อมแซมกลับมามีชีวิตชีวาอีกหน..

ขอบคุณครับ

ที่นาหลายแห่งไม่มีคนที่จะลงแรงไถหว่าน หลายที่ถูกทิ้งร้างอย่างน่าเสียดาย

ไม่ใช่แต่ที่นี่ค่ะ หลายๆจังหวัดก็เป็นแบบนี้ ที่กาญจนบุรีก็มีแบบนี้มาก คงต้องเป็นรัฐบาลที่จะแก้ไขค่ะ

ต้องให้ความรู้ จัดเรื่องอาชีพ หาตลาดให้ ให้เกิดความเจิญขยายทั่วๆไป คนก็จะไม่ทิ้งถิ่นฐานมากนัก

พอการศึกษาน้อย อย่างอื่นก็น้อยตามค่ะ

ตอนทำอุตสากหรรม มีนายหน้ามากว้านคนไปรับจ้างมาก และนำเด็กไปด้วย เด็กไม่ค่อยได้เรียนหนังสือค่ะ

ปัญหา มันเป็นลูกโซ่ไปหมดค่ะ

P นี่ก็อาจจะเรียกว่าเปลี่ยนไปในทางที่ดีแล้วก็ได้ เป็นแต่ก่อนอาจจะมีกบฐ ต้องรบราฆ่าฟันกันไปแล้ว? (เกี่ยวมะ?)

ชาวนาทุกวันนี้มีแต่วัย 50 ขึ้นจำเป็นต้องจ้างเครื่องทุ่นแรงอยู่แล้ว  แต่ที่หมู่บ้านเด็ก ๆ ก็ยังช่วยผู้ปกครองไถนา ดำนาอยู่นะคะ  แต่ควายที่เคยใช้ไถนาไม่ค่อยมีแล้ว  มีแต่ควายเหล็ก  เด็ก ๆ ถึงยอมช่วยทำนาคะ  

สวัสดีครับ
ไม่มีรูป
ไม่แสดงตน 

ผมเห็นด้วยกับทัศนะของท่านเป็นอย่างมาก  ชะตาชีวิตเหล่านี้กลายเป็นลูกโซ่กันไปหมด ทั้งด้านปากท้อง, เศรษฐกิจ, สังคม, การศึกษา  หรือแม้แต่ค่านิยมในท้องถิ่นด้วยเช่นกัน

ผมได้รับประโยชน์จากทัศนะของท่านเป็นอย่างยิ่ง.  ขอบคุณครับ

บ่าววีร์ครับ..
P

ไม่ใคร่แน่ใจนักกับประเด็นคำถามต่อยอดนั้น..  แต่ก็ตระหนักว่า   สภาพปัจจุบันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด  และเหมาะสมที่สุดแล้วก็เป็นได้

ภาระชีวิตมีหลายอย่างให้ดิ้นรนและรีบเร่งเพื่อการมีชีวิตอยู่  กระบวนการทำนาและเก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องทุ่นแรงที่เป็นเครื่องจักร  ก็ล้วนแล้วแต่สามารถย่นระยะทางการทำงานได้เร็วขึ้น  ช่วยให้มีเวลาอีกมากโขในการไปทำสิ่งต่างๆ  ต่อไป...

ผมเข้าใจไปในทำนองนั้น, นะครับ

P
ที่ว่าไม่แสดงตน น่ะ พี่เองค่ะ ลืมใส่รูปค่ะ
  • เห็นด้วยกับน้องกมลนารีค่ะ
  • แต่เงินก็ไม่ใช่คำตอบทุกอย่างค่ะอาจมีเหตุผลอย่างอื่นอีกค่ะ
  • เช่นต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างที่คุณเบิร์ดกล่าวนั่นแหละค่ะ
  • เดี๋ยวนี้คนอยู่แถวบ้านนอกก็เหลือแต่คนแก่  หนุ่ม ๆ สาว ๆ มาทำงานในกรุง หรือในเมืองอย่างที่คุณพนัสบอกนั่นแหละค่ะ
  • ตามเข้ามาอ่านบันทึกดี ๆ ค่ะ วันนี้คิดอะไรไม่ค่อยออกค่ะ ตื้อ ๆ ไปหมด
สวัสดีครับ 
P
Max 

ไม่ว่าหมู่บ้านใดในแถบชนบทผมก็เชื่อว่าตกอยู่ในภาวะการณ์เดียวกันนี้ทั้งนั้น ..  แต่ก็ดีใจที่ได้ทราบว่าเด็ก ๆ  ในหมู่บ้านยังคงช่วยพ่อและแม่ทำนาอย่างมีความสุข

ผมเองก็คิดถึงภาพชีวิตของตนเองกลางทุ่งนาหน้าฝนอย่างไม่รู้เลือน...ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณมากครับ
P

อันที่จริงผมลังเลมากและคิดว่าน่าจะใช่...เพราะรูปลักษณ์อักษรและโทนสีมีเพียงอาจารย์ท่านเดียวเท่านั้นที่นิยมใช้เช่นนี้

และการมองสังคมในมุมกว้าง..ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมสัมผัสได้จากทุกทัศนะที่ฝากไว้ในบันทึกของผม

ผมขอบพระคุณอีกครั้ง ครับ..

สวัสดีครับคุณ P แผ่นดิน
  • ชาวนาเราถูกหลอกมาโดยตลอด  จากกลุ่มนายทุน  โดยการนำพันธุ์ข้าวมาแจก (แต่คิดเงิน) นำปุ๋ยมาให้ยืมเพื่อเพิ่มผลผลิต  ผลิตควายเหล็กมาขายเพื่อช่วยทุ่นแรง(แต่เพิ่มค่าใช้จ่าย) 
  • แต่หารู้ไม่ว่าสารตกค้างจากปุ๋ยเคมี  ยาฆ่าศัตรูพืช ยาฆ่าวัชพืช ทำให้ดินเสื่อม  ความเป็นกรดเป็นด่างในหน้าดินต้องเปลี่ยนแปลงไป 
  • ได้ผลผลิตมาต้องนำไปใช้หนี้ พ่อค้า  ที่ให้เครดิตกู้ยืมปุ๋ย ยาฆ่าแมลง (โดยบวกดอกเบี้ย)
  • แล้วเกษตรกรเราจะเหลืออะไร
  • ตอบ.. เหลือผืนดินที่เสื่อมสภาพและว่างเปล่า ครับ
สวัสดีครับ
P
  • อันที่จริงวันนี้ผมก็ตื้อ ๆ เหมือนกัน  เป็นวันหยุดที่ต้องทำงานทั้งวันเลยทีเดียว
  • ในหน่วยงานไปสัมมนาที่ชลบุรี...ผมได้รับมอบหมาย (ขอตัว)  อยู่จัดการและรักษาฐานที่มั่นของหน่วยงานเพียงคนเดียว
  • ....
  • ทุกวันนี้ไม่ว่าเรื่องใด  เราต่างมีต้นทุนชีวิตที่ค่อนข้างสูงไม่น้อย  จึงไม่แปลกที่นับวันก็จะรู้สึกเหนื่อยมากขึ้นทุกขณะ
  • ขอบคุณนะครับ...ที่ยังเอ่ยชมว่าบันทึกผมเป็นบันทึกดี ๆ  อยู่เสมอ
  • ผมมีเรื่องที่ตั้งใจจะเขียนแต่ยังไม่เขียน ซึ่งค้างเติ่งอยู่ราว ๆ  10  กว่าเรื่อง...ทั้งในวิถีทุ่ง, โลกและชีวิต, เปลือยความสุข,  กิจกรรมนิสิต
  • ซึ่งคาดว่าเดือนนี้จะเขียนให้เสร็จ...จากนั้นจะพักไปทำอย่างอื่นสักเดือนสองเดือน...
  • รวมถึงการตั้งใจที่จะลงมือเขียนหนังสืออย่างจริงจัง
  • ถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงได้เพียงมาอ่านบันทึกของคนอื่นๆ  เป็นหลัก ...
  • แต่ที่แน่ ๆ  คือ การระลึกถึงมิตรภาพที่ได้รับจากทุกคนเสมอ
  • ขอบคุณอีกครั้ง,  นะครับ
สวัสดีครับ  พี่สมนึก
P

ผมคาดไม่ผิดเลยว่ายังไงพี่สมนึกจะต้องแวะมาในบันทึกนี้... เพราะดูกลิ่นทุ่งนาป่าเขาจากบันทึกของผมจะโชยตัวไปไกลถึงกรุงเทพฯ เป็นแน่..

สถานะชาวนาและเงื่อนไขของพ่อค้านายทุนที่บีบรัดดังที่พี่สมนึกสะท้อนนั้น  ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ครอบงำและกดทับชาวนาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง  จนวันนี้ชาวนาไม่เหลืออะไรแล้ว...

จะเหลือก็แต่เฉพาะที่พี่สมนึกสรุปไว้อย่างโดดเด่นนั่นแหละครับ  คือ  เหลือผืนดินที่เสื่อมสภาพและว่างเปล่า

ขอบคุณมากครับ

  • เสียดายเช่นกันครับ..
  • มีทุ่งนาจะดูร่มรื่น และสบายตา ครับ
  • ผมชอบนะครับเวลานั่งรถแล้วเห็นวัวเป็นฝูงๆ เห็นทุ่งเขียวขจี ดู แล้วแล่นเข้าไปในจิตเลยครับ

ขอบพระคุณครับ

  • บทกวี ที่ชื่อ "ทุ่งร้าง" โหยหวนเหลือเกินครับ
P ผมมองแน่แง่ความแข็งแรงของรัฐหนะครับ
สวัสดีครับ
P

บทกวีที่เขียนขึ้น, เป็นช่วงที่เขียนขึ้นสด ๆ ในอารมณ์ที่พานพบจากทุ่งนาและหมู่บ้าน   แต่ลึก ๆ  ก็ยอมรับต่อปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างไม่กังขา   เพียงแต่อดสะท้อนใจไม่ได้ ...

ผมมีความสุขเสมอที่ได้เบิ่งมองทุ่งนาในทุก ๆ ฤดูกาลของชีวิต   เพราะนั่นคือ  ที่ ๆ  ผมเติบโตและว่ายวนอยู่อย่างไม่รู้จบ

นานและนานมากแล้วที่ผมไม่ไก้ปักดำ  หรือแม้แต่เกี่ยวข้าว...  คิดถึงภาพและบรรยากาศเหล่านั้นเสมอ

ขอบคุณครับ 

 

 

สัปดาห์ก่อน พ่อผมกลับไปบ้านนอก เพื่อไปหว่านข้าว ในนาที่ไถ่กลบไว้ก่อนแล้ว

พ่อบอกว่า เดี๋ยวนี้ การหว่านข้าว ไม่ต้องรอฝนตกก่อนแล้ว หว่านไปเลย เมื่อฝนมาเดี๋ยวมันจะเกิดเอง

ฟังแล้วก็แปลกดีครับ

สวัสดีครับ
P

งั้นต้องขออภัยแหละครับ...ผมก็เข้าไปอีกทางเลย

เคยอ่านวรรณกรรมจีนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนของชาวนาและอำนาจของรัฐอย่างเข้มข้น  

ขอบคุณครับ

P ไม่เป็นไรครับ (เห็นอ.ขออภัย) อาจจะไม่ได้เป็นแรงผลักจากชาวนา แต่กระบวนการทำให้เป็นไทย  (Thai-ization process) ดูใช้ได้ผลดีกับภาคอีสาน? ดูได้จากจำนวนครั้งที่เกิดการกบฐในภาคอีสาน ลดลงจนกลายเป็นไม่มีเลย (แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเกิดจากปัจจัยอื่นนอกจาก Thai-ization ด้วยหรือเปล่า?)
 
แต่ว่าก็อย่างที่เห็น แม้ชาติ หรือรัฐ จะเข้มแข็งขึ้นมากมาย แต่ว่าชีวิตราษฏรก็ยังดูลำบากอยู่ดี   
 

สวัสดีครับ  น้องแจ๊ค

P

การทำนาที่น้องแจ๊คกล่าวถึงนั้น,  เป็นการทำนาหว่านหรือเปล่า  ส่วนที่บ้านของพี่ยังต้องหว่านกล้าเสียก่อน  พอกล้าโตขึ้นค่อยถอนมาปักดำ ..

การทำนาด้วยมือแบบดั้งเดิมเป็นนวัตกรรมที่เต็มไปด้วยศิลปะ ..ว่ามั๊ย

สวัสดีครับ

P

ผมประทับใจในบทสรุปแห่งชะตากรรมของประชาชนคนเดินดินของคุณมาก..

แม้ชาติ หรือรัฐ จะเข้มแข็งขึ้นมากมาย แต่ว่าชีวิตราษฎรก็ยังดูลำบากอยู่ดี 

ขอบคุณครับ.

ผมตามมาครับ  ขอบคุณที่ไปเยี่ยมแลกเปลี่ยนนะครับ

ผมยังคิดถึงบ้านอยู่เสมอhttp://gotoknow.org/blog/chanwit/95815

สวัสดีครับ
P

ผมคิดถึงบ้านเหมือนกัน   ยิ่งตอนหน้านานี่แหละครับยิ่งคิดถึงเป็นพิเศษ    คิดถึงการไถหว่าน,  การวางเบ็ด,  การก่อไฟปิ้งปลา - อ่อมหอย,  การหลบฝนอยู่บนเถียงนา,  การถอนกล้า,  การปักดำ,  การเกี่ยวหญ้าให้วัว ....

ขอบพระคุณครับ..

ชาวนาขายข้าวในราคาถูกแต่ผู้บริโภคจริงๆ ซื้อข้าวในราคาแพง อะไรทำให้เป็นแบบนี้ ?ขอบคุณสำหรับทุกความคิดเห็นนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท