BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

นิยาม นิยม


นิยามและนิยม

สองคำนี้มีรากศัพท์และอุปสัคเหมือนกัน เพียงแต่เมื่อเปลี่ยนสัญชาติมาเป็นคำไทยแล้ว การใช้ก็แตกต่างกันออกไป....

นิ + อิ (แปลงเป็น ย. ยักษ์) + ม = นิยาม, นิยม

นิ = เป็นอุปสัคนำหน้า ใช้ในความหมายว่า ลง

อิ = เป็นรากศัพท์ ในความหมายว่า ไป หรือ ถึง

= เป็นปัจจัย (คำบาลีทั่วไป จะต้องลงปัจจัยก่อนเสมอ จึงจะนำมาใช้ได้)

ดังนั้น นิยม และ นิยาม ถ้าแปลตรงตัวก็จะได้ว่า ถึงลง หรือ ไปลง ... ซึ่งไม่ได้ความหมายตามสำนวนภาษาไทย.. โบราณาจารย์ของเราได้เลือกคำว่า กำหนด มาใช้แทนสองคำนี้ เมื่อต้องการที่จะแปลออกศัพท์เป็นคำไทยในบางครั้ง... หรือบางครั้งก็นิยมแปลทับศัพท์....

......

เฉพาะคำว่า นิยาม ในสำนวนบาลี บางครั้งก็หมายถึง กฎ  เช่น นิยาม ๕ คือ กฎธรรมชาติ ๕ ประการ ได้แก่

  • อุตุนิยาม กฎแห่งฤดูกาล ดินฟ้าอากาศ
  • พีชนิยาม กฎแห่งแห่งสิ่งมีชีวิต
  • จิตตนิยาม กฎแห่งการทำงานของจิตร
  • กรรมนิยาม กฎแห่งกรรม
  • ธรรมนิยาม กฎธรรมชาติอื่นๆ นอกเหนือข้างต้น

.........

นิยม และ นิยาม เมื่อมาใช้ในสำนวนไทย ความหมายก็เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเท่าที่พอจะนึกได้ขณะนี้ ก็มีดังนี้.... 

นิยม เมื่อใช้ลอยๆ ก็น่าจะแปลว่า ความชื่นชอบ ความพอใจ ความคลั่งไคล้ ... ทำนองนี้ เช่น

  • คนไทยนิยมดูฟุตบอลอังกฤษ
  • ผู้ดีอังกฤษนิยมดื่มชามากกว่ากาแฟ
  • องค์พ่อจตุคามรามเทพกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้

นิยม เมื่อทำหน้าที่คล้ายๆ ปัจจัยเติมข้างท้ายศัพท์บัญญัติต่างๆ น่าจะหมายถึง ความเชื่อ ความยึดถือ ความคิดเห็น เช่น

  • อัชฌัตติกญาณนิยม (Intuitionism)
  • วิมตินิยม (Skepticism)
  • เอกเทวนิยม (Monotheism)

.......

นิยาม เป็นคำที่เราบัญญัติใช้แทนคำว่า Definition ซึ่งเป็นการให้ความหมายคำศัพท์หรือข้อความ เช่น..

  • อริสโตเติลได้นิยามมนุษย์ว่าเป็นสัตว์มีเหตุผล เป็นต้น
คำสำคัญ (Tags): #นิยม#นิยาม
หมายเลขบันทึก: 94758เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2007 01:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 23:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กราบนมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

ทั้ง " นิยม " และ " นิยาม " เบิร์ดคุ้นกับความหมายในสำนวนไทยมากกว่าบาลีค่ะ

คำว่า " นิ " ในภาษาบาลี กับ " นิ " ในภาษาไทยก็แปลไม่เหมือนกันใช่มั้ยคะ..อย่างนิยต หรือ นิรวารเป็นคำไทย บาลี หรือสันสกฤตคะ ( ตัวสุดท้ายนี่เบิร์ดไม่แน่ใจว่าเขียนผิดหรือเปล่าน่ะค่ะเพราะลอกมาทั้งอย่างนี้เลย )

กราบสามครั้งค่ะ

P

นิ ในภาษาไทย ? (ไม่เข้าใจ)

นิ ในภาษาบาลีเป็นอุปสัคนำหน้ารากศัพท์... และ นิ อุปสัคนี้ แบ่งเป็น ๒ กลุ่มความหมาย คือ

นิ = เข้า, ลง

นิ = ไม่ม่ , ออก

นิ ในความหมายว่า เข้า หรือ ลง นี้... นอกจาก นิยาม, นิยม แล้ว... ศัพท์อื่น ก็เช่น

 นิคมน์ (นิ + คม +น ) แปลว่า ถึงลง ซึ่งได้ความหมายว่า การประมวลข้อความก่อนจบเรื่อง หรือข้อสรุป...

.......

นิ ในความหมายว่า ไม่มี หรือ ออก นี้ .... เช่น

 นิรนาม = นิ (นิร) + นาม หมายถึง ไม่มีชื่อ (นิ บางครั้งให้ลง . เรือ อาคมเข้ามา กลายเป็น นิร ได้)

.......

นิยต = นิ + อิ (ย) + ต ... แปลว่า ถึงลง เหมือนกัน แต่ได้ตามสำนวนไทยๆ ว่า แน่นอน

............. 

นิรวาร = นิ (นิร) + วาร... ในคำนี้ นิ แปลว่า ออก ส่วน วาร แปลว่า ปิดกั้น, ห้าม.... แปลรวมความว่า ออกจากการปิดกั้น หรือ ไม่มีการห้าม ... 

ซึ่ง  ออกจากการปิดกั้น หรือ ไม่มีการห้าม .... หมายถึง เสรีภาพ อิสรภาพ ปลอดโปร่ง ไม่อึดอัด หลุดพ้น ... ประมาณนี้

......

อนึ่ง การค้นหาให้ตรงกับสำนวนไทยนั้น นอกจากจะจดจำมาจากครูบาอาจารย์แล้ว ผู้ที่มีความสามารถและประสบการณ์ด้านนี้ (โดยมาก็ครูที่มีประสบการณ์การสอนด้านนี้หลายๆ ปี) ก็สามารถคิดเพิ่มเติมได้ เช่น...

ด้วยอำนาจเป็นไปในภพเบื้องต่ำและเป็นไปในภพเบื้องสูง ... นี้เรียกว่า แปลโดยพยัญชนะ.... แต่อาจารย์ท่านหนึ่ง แปลโดยอรรถ ตามสำนวนไทยว่า คือเป็นไปในภพลุ่มๆ ดอนๆ ....

เจริญพร 

 

กราบนมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

นิ..ภาษาไทยเบิร์ดก็ถามด้วยความไม่รู้เหมือนกันค่ะหลวงพี่..เพราะเห็นว่ามีนิบาลี..ก็เลยอยากทราบว่ามีนิภาษาไทยด้วยหรือเปล่า ^ ^

กราบขอบพระคุณในการแปลความหมายของคำทั้งสองนี้ให้นะคะ..นิรวารกลายเป็นนิพพานได้มั้ยคะ

กราบสามครั้งค่ะ

P

นิรวาร หรือ นิรวาน เป็นสันสกฤต...

นิพพาน เป็นบาลี...

อ่านหนังสือธรรมะเก่าๆ ระดับ ๓๐ ปี ขึ้นไป จะเจอพวกศัพท์ที่เขียนแปลกไปจากที่เราใช้กันอยู่...

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท