สาระสุข
riz สาธารณสุขน้อยๆ ชายแดนใต้

ผลกระทบต่อการปฏิบัติงานและความรู้สึกของบุคลากรสาธารณสุข อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา จากสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ความสำคัญของปัญหา 
พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ประกอบด้วย จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นพื้นที่พิเศษตามประกาศของรัฐบาล คือ มีลักษณะพิเศษในด้านการดำรงชีวิตของประชาชน ทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาขนบธรรมเนียม ประเพณี สังคมและวัฒนธรรม  ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม ใช้ภาษามลายูท้องถิ่นในการดำรงชีวิตประจำวัน เป็นสังคมมุสลิมที่มีวัฒนธรรม   และวิถีชีวิตที่แตกต่างทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพ  (สุวรรณี  เนตรศรีทอง และ ปฐมามาศ  โชติบัณ, 2547: 1)  ซึ่งจากความแตกต่างและความไม่เข้าใจในนโยบายของรัฐ  ทำให้เกิดการต่อต้านนโยบายในรูปแบบการก่อความไม่สงบต่าง ๆ เช่น การก่อวินาศกรรมอาคาร สถานที่ราชการ  เส้นทางคมนาคม การลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นต้น  ส่งผลต่อข้าราชการที่เข้ามาปฏิบัติงาน ในพื้นที่ ทำให้เกิดความวิตกกังวลในเรื่องความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะข้าราชการที่ต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่ในท้องถิ่น หมู่บ้าน ชุมชน ตลอดมา (สุพจน์  คำสมพาพ, 2546: 1-2) จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547  ที่มีการปล้นอาวุธในกองพันพัฒนาที่ 4  ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตำบลมะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส และในช่วงเวลาใกล้เคียงกันมีการเผาโรงเรียน วางระเบิดจริง และระเบิดปลอมหลายสิบจุดในจังหวัดนราธิวาส  นอกจากนี้ มีการเผายางรถยนต์บนถนนสายต่าง ๆ  เป็นหย่อม ๆ ในจังหวัดยะลา   และวันถัดมา คือ วันที่ 5 มกราคม  2547  มีการวางระเบิดหลายจุดในจังหวัดปัตตานี (สุวรรณี เนตรศรีทอง และปฐมามาศ  โชติบัณ, 2547: 1)       ต่อด้วยการก่อความไม่สงบรายวัน  ตั้งแต่การยิงถล่มโรงพัก ค่ายทหาร การทำร้ายพระภิกษุ สามเณร  ประชาชน  ตำรวจและทหารเป็นรายวัน  ซึ่งจากข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2547  มีการก่อเหตุร้ายเกิดขึ้นในจังหวัดนราธิวาส  221 ครั้ง  จังหวัดปัตตานี 150 ครั้ง  และจังหวัดยะลา 79 ครั้ง  มีรายงานผู้เสียชีวิตรวม  151 ราย  บาดเจ็บรวม  171 ราย  เป็นผู้เสียชีวิตในจังหวัดนราธิวาส  ปัตตานี  และยะลา  จำนวน  75 ราย  43 ราย และ 33 ราย ตามลำดับ  และเป็นผู้บาดเจ็บอีกจำนวน 101 ราย  37 ราย  และ 33 ราย ตามลำดับ (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม 2547 หน้า 2)สถานการณ์ความไม่สงบได้ส่งผลกระทบไปในทุกด้าน ประชาชนผู้บริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายต่างๆ  รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงต่างบาดเจ็บล้มตายไปแล้วร่วมพันคน  การฆ่าโดยไม่จำแนกเป้าหมายเป็นประชาชนทั่วไป ทั้งประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม ก่อให้เกิดความหวาดกลัว ความสับสน ความแตกแยก ความหวาดระแวง  และการกล่าวร้ายต่อกันไปทั่วทุกพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และขยายสู่สังคมไทยผ่านสื่อต่าง ๆ ออกไปอย่างต่อเนื่อง  ขณะนี้ได้เริ่มเกิดวงจรของการใช้ความรุนแรงตอบโต้ซึ่งกันและกัน และกลายเป็นกระแสความคิดที่เข้าไปครอบงำความคิดของผู้คนในสังคมทั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในส่วนอื่นของประเทศสถานการณ์มีแนวโน้มของการตอบโต้ ทำร้ายซึ่งกันและกัน และกระทำต่อผู้บริสุทธิ์กลุ่มต่าง ๆ ด้วยความรุนแรงมากขึ้น  ในขณะที่การประกอบอาชีพเพื่อปากท้องของประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่สงบที่เกิดขึ้นมาร่วมปีเศษ  ถูกซ้ำเติมด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มถดถอยลงของประเทศ น้ำมัน สินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ มีราคาแพง ภาวะข้าวยากหมากแพงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้น (ปิยะ กิจถาวร, มติชนรายวัน วันที่ 11 กรกฎาคม พ.. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9984)  จากความเชื่อเดิมและเป็นกติกาสากลที่ว่า สถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ จะมีความปลอดภัยจากการปองร้ายของกระบวนการก่อการร้าย อาจจะไม่เป็นจริงเสียแล้ว หลังจากมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขบาดเจ็บและเสียชีวิต และมีการขู่วางระเบิดโรงพยาบาลหลายครั้งในหลายแห่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ขวัญและกำลังใจของบุคลากรด้านสาธารณสุขที่กำลังจะเคยชินถูกบั่นทอนลงทุกครั้งที่มีสถานการณ์เลวร้าย ด้วยความกลัว ความเครียด ไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว ท่ามกลางความสับสน ไม่รู้สาเหตุ ทำให้เกิดความหวาดระแวง นำไปสู่ความไม่วางใจต่อทหาร ตำรวจ ชุมชน และที่สำคัญคือ เกิดความไม่ไว้วางใจในเพื่อนร่วมงาน ไม่กล้าพูดคุยกันในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชุมชน และยิ่งไม่มีเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ก็ยิ่งสร้างความอึดอัดมากขึ้น หากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะยิ่งกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุขและสุขภาพของชุมชนจนยากจะเยียวยา (พงค์เทพ สุธีรวุฒิ, 2548: 1) นอกจากนี้ได้ส่งผลกระทบต่องานบริการสุขภาพแก่ประชาชน ทำให้การปฏิบัติงานในพื้นที่มีความเสี่ยงมากขึ้น  มีสถานีอนามัยหลายแห่งต้องปิดบริการในบางช่วงที่เกิดเหตุการณ์รุนแรง หรือมีการเปิดบริการที่ล่าช้าและปิดบริการที่เร็วขึ้น  เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน  มีการเดินทางแบบรวมกลุ่มในคนที่เดินทางไปทำงานทางเดียวกันมากขึ้น และสถานการณ์ความไม่สงบยังส่งผลให้บุคลากรสาธารณสุข  ไม่สามารถปฏิบัติงานได้เต็มที่ มีความหวาดหวั่น ขาดขวัญกำลังใจ และกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในชีวิตอยู่ตลอดเวลาจากสาเหตุดังกล่าว ทำให้คณะผู้วิจัย  สนใจที่จะศึกษาว่าสถานการณ์ความไม่สงบส่งผลต่อการปฏิบัติงานและความรู้สึกของบุคลากรสาธารณสุข อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา อย่างไร  เพื่อเป็นกรณีศึกษา และแนวทางในการแก้ปัญหาการจัดบริการสุขภาพ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
หมายเลขบันทึก: 85628เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2007 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
วิธีการศึกษา                การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา (Descriptive Research) โดยใช้แบบสอบถาม  สอบถามข้อมูล และความคิดเห็นของบุคลากรสาธารณสุขเกี่ยวกับ สถานการณ์ความไม่สงบมีผลต่อการปฏิบัติงานและความรู้สึก ของบุคลากรสาธารณสุข อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา อย่างไร ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากรที่ใช้ในการศึกษาเป็นบุคลากรสาธารณสุข ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ  และลูกจ้างชั่วคราวในสถานบริการสาธารณสุข (โรงพยาบาลกาบัง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอกาบัง ศูนย์สุขภาพชุมชน/สถานีอนามัย)  ในอำเภอกาบัง จังหวัดยะลา  ซึ่งสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling)  จำนวน  50 คน   เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลในครั้งนี้เป็นแบบสอบถามที่ได้ปรับปรุงมาจากการศึกษาแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ  และตรวจสอบความถูกต้อง (Accuracy)  ความเที่ยงตรง (Validity)  ของเครื่องมือโดย อาจารย์ ดร.ทิพวรรณ  กิตติวิบูลย์   จนได้แบบสอบถามเพื่อใช้ในการศึกษาข้อมูลดังนี้แบบสอบถามนี้ประกอบด้วย  2 ตอน คือตอนที่ 1  ข้อมูลทั่วไปตอนที่ 2  ผลต่อการทำงานและความรู้สึกของบุคลากรสาธารณสุข  การเก็บรวบรวมข้อมูล คณะผู้วิจัยดำเนินการเก็บแบบสอบถามด้วยตนเอง โดยประสานงานและขอความร่วมมือจากบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลกาบัง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอกาบัง และศูนย์สุขภาพชุมชน/สถานีอนามัย ในอำเภอกาบัง จังหวัดยะลา  โดยได้ชี้แจงรายละเอียดและวัตถุประสงค์ ของการศึกษาวิจัยในครั้งนี้  เพื่อให้มีความเข้าใจในการตอบแบบสอบถาม จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มารวบรวมเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ต่อไป การวิเคราะห์ข้อมูล 1 . นำแบบสอบถามมาบรรณาธิการ (Editing) ลงรหัสข้อมูลและนำไปวิเคราะห์ทางสถิติด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์  2.  นำข้อมูลที่ประมวลได้มาสรุปวิเคราะห์ด้านเนื้อหา (Content Analysis) เพื่อทำการตีความเปรียบเทียบ และสรุปประเด็นสำคัญ3. นำข้อมูลมาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับทฤษฎีต่างๆ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ในรูปแบบ จิตวิทยาสังคมต่อไป4. สถิติที่ใช้เป็นสถิติเชิงพรรณา (Descriptive Statistic)  สำหรับการอธิบายข้อมูล  โดยใช้ค่าความถี่ (Frequency)  ร้อยละ(Percentage) และค่าเฉลี่ย (Mean)
จากผลการศึกษา เมื่อนำทฤษฎีทางจิตวิทยาสังคมมาอธิบายว่า สถานการณ์ความไม่สงบ มีผลต่อการปฏิบัติงานและความรู้สึกของบุคลากรสาธารณสุข อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา ดังนี้ด้านการปฏิบัติงาน  พบว่า สามารถใช้ทฤษฎีการตอบสนองความต้องการของอับราฮัม มาสโลว์ (Maslow Hierachy of Need )  ในเรื่องมนุษย์มีความต้องการความมั่นคงปลอดภัย (Safety of Security Need)  จะเห็นได้จากการไม่ออกพื้นที่คนเดียว เพราะกลัวความไม่ปลอดภัย (ท่านไม่ออกพื้นที่คนเดียว เพราะกลัวความไม่ปลอดภัย  ร้อยละ 44.00)  เพราะมนุษย์ย่อมต้องการความปลอดภัยของชีวิตทั้งในปัจจุบัน และอนาคต (สมนึก ศิริสุวรรณ, 2549 : 11)  และยังมีการนัดแนะเพื่อเดินทางพร้อม ๆ กัน  (ท่านมีการนัดแนะเพื่อนร่วมงาน เพื่อเดินทางไป-กลับที่ทำงานพร้อม ๆ กัน จริง  ร้อยละ 46.00) เพราะ มนุษย์ต้องการความปลอดภัย เพื่อที่จะป้องกันมิให้เกิดอันตรายต่าง ๆ กับร่างกาย ความเจ็บป่วยและความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ (ธันยา ศรีตุลากร, 2546 : 34)  จึงมีการรวมกลุ่มเดินทางไปทำงานเพื่อสมาชิกจะได้มีความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น และสอดคล้องกับข้อมูลทั่วไปในเรื่องการเดินทางไปทำงานจะมีลักษณะเป็นแบบรวมกลุ่มเดินทาง (การเดินทางไปที่ทำงาน ส่วนใหญ่เดินทางร่วมกับผู้อื่น ร้อยละ 58.00  โดยส่วนใหญ่เดินทาง  7 คนขึ้นไป  ร้อยละ 55.17) แต่อย่างไรก็ตามบุคลากรสาธารณสุข ที่มีความตระหนักในบทบาท (Role)  การทำงานของตน  ย่อมทำงานตามที่คาดหวัง (Expectation)  ตามบทบาทหน้าที่ เพื่อให้การทำงานลุล่วงและประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี ทำให้ยังมีการทุ่มเทเวลาให้กับการทำงานอยู่ (ท่านไม่ทุ่มเทเวลาให้กับการทำงาน เช่น การทำงานเกินเวลาราชการ เพราะกลัวความไม่ปลอดภัย  ไม่จริง  ร้อยละ 48.00)  และยังคงออกพื้นที่ทำงานตามแผน (ท่านยังคงออกพื้นที่ตามแผนกำหนดการเดิม  จริง  ร้อยละ 64.00) และเป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีผู้ใดจะไม่ดำเนินงานตามแผนเลย (ท่านยังคงออกพื้นที่ตามแผนกำหนดการเดิม ไม่จริงเลย ร้อยละ 0.00)  สรุปได้ว่าบุคลากรสาธารณสุขมีความตระหนักในบทบาทของตนเองมาก และการทำงานในพื้นที่ยังเป็นการทำงานรูปแบบเชิงรุกอยู่ (ท่านไม่ดำเนินงานเชิงรุกเข้าหาผู้รับบริการในพื้นที่ แต่เลือกที่จะให้บริการเชิงรับ  โดยให้ผู้รับบริการมารับบริการเอง  ไม่จริง  ร้อยละ 50.00)  แต่ปรับเปลี่ยนวิธีการโดยให้ผู้นำชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุข  มีส่วนร่วมในการช่วยติดตามผู้ป่วยมากขึ้น (ท่านมีารประสานงานกับอาสาสมัครสาธารณสุข และผู้นำชุมชนมากขึ้น  เพื่อช่วยติดตามผู้ป่วยมารับบริการที่สถานบริการสาธารณสุขเอง  จริง ร้อยละ 66.00)  อย่างไรก็ตาม พบว่า มีสัดส่วนของข้อมูลที่ขัดแย้งกันในเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน (สถานการณ์ความไม่สงบส่งผลให้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของท่านลดลง  จริงและไม่จริง ในสัดส่วนที่เท่ากัน  ร้อยละ 38.00)  แสดงว่า บุคลากรสาธารณสุขส่วนหนึ่งยังมีภาวะคับข้องใจ (Frustration) อยู่  เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติงานในพื้นที่ให้เข้ากับสถานการณ์ ทำให้บุคลากรสาธารณสุขที่ปรับตัวได้ยังคงปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ส่วนบุคลากรสาธารณสุขที่ปรับตัวไม่ได้ และมีความวิตกกังวล (Anxiety) อยู่  จะมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานลดลงด้านความรู้สึก  เมื่อใช้ทฤษฎีต้นไม้จริยธรรมมาอธิบายปรากฏการณ์ พบว่าบุคลากรสาธารณสุข  มีจิตลักษณะด้านทัศนคติ (Attitude) ที่ดีในการทำงาน  รวมทั้งมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง คือ บุคลากรมีความพยายาม ความตั้งใจสูง  ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตามแผนงานที่กำหนดไว้ให้สำเร็จจงได้  โดยไม่คำนึงว่าเหตุการณ์ความไม่สงบจะมีผลต่อการปฏิบัติงานหรือไม่  ยังรักในงานและสนุกที่จะทำงานที่ตนรับผิดชอบ (ท่านยังรักและสนุกกับการทำงาน แม้จะมีสถานการณ์ความไม่สงบรายวันก็ตาม  จริง  ร้อยละ 52.00)  มีความรู้สึกเชื่ออำนาจในตน ว่าทำดี (ต่อผู้รับบริการ) ย่อมได้ดี คือ บุคลากรได้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยให้หายจากอาการเจ็บป่วยด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้ว จึงเชื่อว่า ผู้รับบริการไม่น่าจะมีเจตนาที่จะมุ่งทำร้าย  มีเหตุผลเชิงจริยธรรมในการทำงานเพื่อส่วนรวม คือ มีความเสียสละเพื่อส่วนรวม ทำให้บุคลากรสาธารณสุขยังมีความไว้วางใจต่อผู้รับบริการ (ท่านรู้สึกไม่ไว้วางใจต่อผู้รับบริการในพื้นที่  ไม่จริง  ร้อยละ 44.00) และยังมุ่งอนาคตควบคุมตน อดได้รอได้ คือ ยังคงปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อให้ครอบครัวมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในการที่จะอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป (ถ้ามีโอกาสท่านจะย้ายออกนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทันที  ไม่จริง ร้อยละ 50.00)เมื่ออธิบายปรากฏการณ์ การรับรู้ผลตอบแทนจากการทำงาน  โดยใช้ทฤษฎีการแลกเปลี่ยนทางสังคม (Social exchange theory) ซึ่งบุคคลมักจะคำนึงถึงผลได้ผลเสียในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมหรือแม้แต่การทำงานร่วมกัน  คือ ปฏิบัติงานเพื่อหวังความดีความชอบ หรือโบนัส  ถ้ารู้ว่าไม่มีความดีความชอบก็จะปฏิบัติงานไม่เต็มความสามารถ และยังต้องการความเป็นธรรม (Equity) ในส่วนของค่าตอบแทน พบว่า บุคลากรยังไม่พึงพอใจกับค่าตอบแทนที่ได้รับ (ท่านรู้สึกพึงพอใจกับค่าตอบแทนที่ได้รับจากการทำงานในพื้นที่นี้  ไม่จริง  ร้อยละ 48.00)  และเงินเสี่ยงภัยที่ได้รับ ไม่ทำให้ขวัญกำลังใจ ดีขึ้น (เงินเสี่ยงภัยทำให้ท่านมีขวัญกำลังใจที่ดีในการทำงาน  ไม่จริง  ร้อยละ 36.00) และสอดคล้องกับข้อมูลทั่วไปในเรื่องเงินเพิ่มพิเศษ พบว่า มีความแตกต่างกันมากระหว่างบุคลากรสาธารณสุขด้วยกันเอง คือ ในระดับผู้บริหารได้รับเงินเสี่ยงภัย แต่บุคลากรในระดับปฏิบัติงานกลับไม่ได้รับ ทั้งที่มีความเสี่ยงมากกว่า เพราะต้องออกไปปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงต่อเหตุการณ์ความไม่สงบ และมีความรู้สึกว่าการปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ไม่ได้รับสิทธิพิเศษ และความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ  (การปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ทำให้ท่านได้สิทธิพิเศษ และความก้าวหน้าในหน้าที่การงานสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง  ไม่จริง ร้อยละ 52.00)  อย่างไรก็ตามพบว่า ยังมีสัดส่วนของข้อมูลที่ขัดแย้งกันในเรื่องความสุขในการทำงาน (ท่านรู้สึกไม่มีความสุขในการทำงาน  จริงและไม่จริง  ในสัดส่วนที่เท่ากัน  ร้อยละ 32.00)  ความต้องการในการทำงานต่อในพื้นที่ (ภายใน 5 ปีนี้ท่านยังอยากทำงานที่นี่ต่อไป  จริง  ร้อยละ 38.00  และไม่จริง  ร้อยละ 34.00)  และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคลากร (ท่านรู้สึกว่าสถานการณ์ความไม่สงบ ทำให้คนในหน่วยงาน ห่วงใย  อนาทร รักใคร่กันมากยิ่งขึ้น  จริง  ร้อยละ 38.00 และไม่จริง ร้อยละ 36.00)   เนื่องจากความคับข้องใจ (Frustration) ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากร หรือในการปฏิบัติงาน  รวมทั้งหน่วยงานอาจมีสภาพแร้นแค้น (Scarcity) เช่น ขาดแคลนเครื่องมืออุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน ขาดแคลนเครื่องมือสื่อสารหรือยานพาหนะ  และสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการปฏิบัติงาน  ซึ่งต้องมีการศึกษาเพื่อหาสาเหตุของปัญหาดังกล่าวต่อไป 
บรรณานุกรม จินตนา  สมพงศ์.  2543.  การปรับตัวของครูประถมศึกษาที่มาปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้.  ภาคนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, กรุงเทพฯ : สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.ดวงเดือน  พันธุมนาวิน.  2544.  ต้นไม้จริยธรรมการวิจัยและพัฒนาบุคคล.  พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ :                         สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.ทิพวรรณ  กิตติวิบูลย์.  2549.  เอกสารประกอบวิชาจิตวิทยาสังคมกับการพัฒนา.  กรุงเทพฯ :  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.ธันยา  ศรีตุลากร.  2546.  คุณภาพชีวิตการทำงานของพยาบาลวิชาชีพ  กรณีศึกษา โรงพยาบาลยะลา.    ภาคนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, กรุงเทพฯ : สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.ปิยะ  กิจถาวร.  2548.  มติชนรายวัน. ปีที่  28  ฉบับที่ 9984, (11 กรกฎาคม 2548) : 3-4.พัฒนาสังคม  คณะ, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.  2546.  วารสารพัฒนาสังคม. ปีที่ 7  ฉบับที่ 2  (ธันวาคม 2546) : 9-10.สมนึก  ศิริสุวรรณ และคณะ.  2547.  การศึกษาผลกระทบต่อการบริการสุขภาพในภาวะ วิกฤติ 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้.  สงขลา : สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.สุวรรณี  เนตรศรีทอง, ปฐมมาศ  โชติบัณฑิต  และสาธารณสุข  วิทยาลัย.  2547.  การศึกษาผลกระทบต่อการจัดบริการสุขภาพ และกำลังขวัญของพยาบาลวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในภาวะวิกฤติ  3 จังหวัดชายแดนภาคใต้.  สงขลา : สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.www.dailynews.co.th.  วันที่ 30 สิงหาคม 2547.
ผู้เขียนและคณะได้ศึกษาประเด็นนี้  เพื่อประกอบการศึกษาวิชา  พค.604  จิตวิทยาสังคมกับการพัฒนา  (SD. Social Psychology and Development)  ดำเนินการสอนโดย อาจารย์ ดร.ทิพวรรณ  กิตติวิบูลย์  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์   เอามาลงไว้  เป็นข้อมูลให้ได้รับทราบกัน(และเป็นการเก็บรวบรวมงานที่ทำไว้  เผื่อ ไฟล์หายจากไวรัสหรืออะไกตาม  :  ซึ่งโดนบ่อย)
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท