BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

อุปนัยและนิรนัย


อุปนัยและนิรนัย

วันนี้สอนตรรกศาสตร์จบเล่ม แต่ยังมีปัญหาเพราะนิสิตบางส่วนยังจำแนกความแตกต่างกันระหว่างอุปนัยและนิรนัยไม่ได้ ซึ่งผู้ที่เป็นครูคงจะรู้สึกเบื่อเป็นบางครั้งเหมือนผู้เขียนในการที่จะต้องพูดซ้ำๆ ซากๆ ...

อุปนัย และ นิรนัย มาจากภาษาบาลี ใช้แทนคำว่า induction และ deduction ตามลำดับ... ซึ่งอาจแยกศัพท์ได้ว่า อุปะ + นัย = อุปนัย  ...และ นิระ + นัย = นิรนัย ... 

อุปะ แปลว่า เข้าไป

นิระ แปลว่า ออกไป

... ซึ่ง ทั้งสองศัพท์นี้ เป็นอุปสัคใช้นำหน้ารากศัพท์

นัย มาจากรากศัพท์ว่า นี แปลว่า นำไป (รากศัพท์นี้เคยเล่ามาบ้างแล้ว ผู้สนใจดู นายก ) ... เมื่อรวมกันก็มีความหมายย่อๆ ดังนี้

อุปะ + นัย = อุปนัย แปลว่า การนำเข้าไป

นิระ + นัย = นิรนัย แปลว่า การนำออกมา

ปัญหาก็คือ การให้เหตุผลแบบอุปนัย หรือ แบบนำเข้าไป ...และการให้เหตุผลแบบนิรนัย หรือ แบบนำออกมา เป็นอย่างไร...

ผู้เขียนก็เลยยกนิทานว่า ตี่ต่างว่า เราจะไปซื้อเงาะ เห็นเงาะอยู่เต็มเข่ง.. เราก็ถามว่า เงาะนี้หวานมั้ย ? ... แม่ค้าก็บอกว่า ชิมดูซิ ... เราลองชิมดู ๔-๕ ลูก รู้สึกว่า กรอบ หอม หวาน เป็นที่พอใจ จึงได้ตัดสินใจซื้อมา ๒-๓ กิโล โดยเชื่อว่าเงาะในเข่งนั้นหวานทั้งหมด...

จากนิทานนี้ ผู้เขียนก็อธิบายว่า แม่ค้าเชื่อว่า เงาะทั้งหมดในเข่ง หวานทุกลูก ดังนั้น แม้ว่าเราจะชิมลูกใด ก็ต้องหวานแน่นอน ...ความเชื่อของแม่ค้าทำนองนี้ เรียกว่า นิรนัย นั่นคือ นำสิ่งบางอย่างออกมาจากสิ่งทั้งหมด เหมือนกับ  เมื่อเชื่อว่า เงาะทุกลูกหวาน ดังนั้น ลูกที่นำออกมาก็ต้องหวาน ...

ส่วนตัวเราผู้จะชื้อ มีความเชื่อแบบ อุปนัย นั่นคือ เราลองชิมเงาะจากเข่งเพียง ๔-๕ ลูก เมื่อปรากฎว่า เงาะทุกลูกที่ชิมไปหวาน ดังนั้น เราจึงสรุปว่า เงาะในเข่งนั้นทั้งหมดก็จะต้องหวาน ... ข้อนี้เป็นหลักการ นำบางส่วนเข้าไปในสิ่งทั้งหมด เหมือนกับ การชิมเงาะเพียง ๔-๕ ลูกในเข่ง แล้วเชื่อว่า เงาะในเข่งทั้งหมดหวาน ฉะนั้น ... 

สรุปว่า ผู้เขียนใช้ให้นิสิตจำไว้ว่า..

การอ้างเหตุผลแบบอุปนัย คือ การนำสิ่งที่รู้แล้วบางอย่างแล้วก็สรุปเป็นความรู้ทั้งหมด เหมือนกับ คนจะซื้อเงาะแล้วทดลองชิม ...

การอ้างเหตุผลแบบนิรนัย คือ การเชื่อสิ่งทั้งหมดว่าเป็นอย่างนั้น และเมื่อนำบางส่วนออกมา ก็ย่อมเป็นเช่นเดียวกับทั้งหมด เหมือนกับ แม่ค้าเงาะที่เชื่อว่าเงาะทั้งหมดในเข่งหวานแล้วทดลองให้ชิม ...

ก็ยังไม่แน่ใจว่า นิสิตของผู้เขียนจะเข้าใจตัวอย่างที่ยกขึ้นมาทันทีทันใดในวันนี้ได้หรือไม่ (...........)

หมายเลขบันทึก: 82307เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2007 21:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

กราบนมัสการหลวงพี่ครับ

  • อาจจะอธิบายแล้ว ยกตัวอย่างแล้ว อาจจะลองเอาคำมาผสมดูครับ เชื่อมระหว่างการจำแบบคำกับตัวอย่าง เช่น อุปนัย เหมือนเราไปซื้อลูกเนียง(คำใต้) ในเข่ง ใช่เล็บจิกลูกแรกแก่ได้ที่ ก็อุบมาไว้ใส่ถุงไว้ จิกต่อไปก็แก่พอดีอีก ลูกที่สามก็พอดีอีก งั้นซื้อไปเลย ร้อยลูก (คำว่าอุบในภาษาใต้ คือเป็นการนำเข้ามาเก็บไว้ อิๆ) ส่วนที่เหลือก็ทางกลับกันก็เป็น นิรนัย
  • ผมมักเรียนและจดจำการเชื่อมคำกับตัวอย่าง โดยแปลคำเป็นเทคนิคการจำ แล้วเชื่อมไปยังตัวอย่างแล้วได้ความหมาย แต่หากผู้เรียน เรียนในดินแดนอื่น ก็คงต้องหาตัวอย่างอื่นที่เหมาะกว่าครับ
  • กราบขอบพระคุณหล่วงพี่และเป็นกำลังใจในการสานต่อคณิตศาสตร์ให้เบ่งบานให้หัวใจเด็กไทยนะครับ
P

ตยา วุตฺตวจนํ สาธุ โหตุ คำอันท่านกล่าวแล้ว เป็นคำยังประโยชน์ให้สำเร็จ ย่อมเป็น

เจริญพร

นมัสการท่านมหาฯ ฟังแล้วยังย่อยยากครับ ฟังคล้ายว่า นิรนัย เป็นตัวแทน อุปนัย เป็นการสุ่มตรวจสอบ แล้วจะมีโอกาสสวนทางกันไหมครับ (ไปคนละเส้นทางกัน)

แล้วถ้าเป็นเช่นนั้นจะมีทางป้องกันอย่างไรครับ และพยายามทำให้เป็นเรื่องเดียวกันซะ

ที่ผมมองก็คือ ผู้แทน (เช่น สส สว ) กับความเป็นจริงนะครับ ดูเหมือนจะไม่มีทางเป็นเรื่องเดียวกับสภาพสังคมจริงได้เลยครับ

กราบเรียนถามครับ ไม่ทราบจะนอกเรื่องหรือเปล่าครับ

อาจารย์ ดร.แสวง

ไม่นอกประเด็นตรรกศาสตร์ แต่อาจนอกประเด็นบาลีภาษาครับ ดังนั้น จะคุยเฉพาะประเด็นตรรกศาสตร์ นะครับ...

อาจารย์มีความเห็นเยี่ยมเลยครับ ... เป็นมุมมองซึ่งอาตมาไม่เคยคิด...

เห็นด้วยกับอาจารย์ว่า การอ้างเหตุผลแบบนิรนัย คือแนวคิดเรื่องตัวแทนนั่นเอง นั่นคือ ถ้าเราเชื่อว่า คนไทยทุกคนเป็นผู้มุ่งประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตัวหรือเป็นคนดีจริงๆ แล้ว การที่จะเลือกใครมาเป็นผู้แทน (สว. สส.) อาจก่อให้เกิดประโยชน์ประโยชน์ต่อส่วนรวมได้เหมือนกัน ...(ประเด็นนี้ อาตมามีความเชื่อว่า ไม่เป็นความจริง) ...

การอ้างเหตุผลแบบอุปนัย คือ ความน่าจะเป็น เท่านั้น นั่นคือ การสุ่มตัวอย่าง ก็ก่อให้เกิดความเชื่อว่า กรณีนั้นจะเป็นไปได้หรือจะเป็นไปไม่ได้ ...

ทั้งสองนัยนี้ก็มีข้อบกพร่องทั้งนั้น ครับ แต่มีตรรกศาสตร์อินเดียบางสำนักที่ใช้ทั้งสองนัยนี้ผสมกัน....

ประเด็นที่อาจารย์ตั้งขึ้นมา เชื่อมโยงไปถึง ปรัชญาสังคมและการเมือง ซึ่งเมื่อตรวจสอบลึกไปก็จะถึงเรื่อง เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมในจริยศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันนี้ มีปัญหาอยู่ที่ทฤษฎหลักการกับคุณธรรม

หลักการ บอกว่า ต้องใช้กฎเข้าไปควบคุมคนหรือสังคม...

คุณธรรม บอกว่า พัฒนาอุปนิสัยของคนให้เป็นไปตามอุดมคติ...

สองทฤษฎีนี้ มีจุดอ่อนและจุดด้อย จึงกลายเป็น ทฤษฎีคู่ขนานในปัจจุบัน นั่นคือ ต้องอาศัยสองอย่างประกอบกัน...

เมื่อพิจารณาสังคมไทย เราพยายามสร้างกฎขึ้นมา เช่น ขณะนี้ก็ยกเลิกกฎคือรัฐธรรมนูญเก่า แล้วก็กำลังสร้างกฎคือใหม่ โดยหวังว่าจะแก้ปัญหาสังคมขณะนี้ได้....

แต่ คน คน คน .... มีอุปนิสัยตามอุดมคติแบบไหนในขณะนี้ ? ... ซึ่งอาจารย์คงประจักษ์แจ้งอยู่แล้ว...

เจริญพร 

ครับ ชัดเจนครับ

ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นผสมผสานนะครับ

ปรีลันธนา จิณะหล้า

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

หนูมีปัญหาข้อข้องใจระหว่างคำว่านิรนัย กับ อุปนัยค่ะ

ถ้าหากจะถามว่า มนุษย์เกิดมาทำไม เราจะอธิบายว่ายังไงดีค่ะในแง่ของการคิดแบบอุปนัย และการคิดแบบนิรนัย ยังไงก็รบกวนพระคุณเจ้าช่วยอธิบายให้หนูด้วยน่ะค่ะ

นมัสการค่ะ

ไม่มีรูปปรีลันธนา จิณะหล้า

 

  • มนุษย์เกิดมาทำไม ?

มีลักษณะเป็นประโยคคำถาม ซึ่งประโยคคำถามนี้ ไม่อาจเป็นประพจน์ (proposition) ได้ กล่าวคือ ในทางตรรกศาสตร์นั้นประโยคที่จะเป็นประพจน์ได้ต้องเป็น ประโยคบอกเล่าหรือประโยคปฏิเสธเท่านั้น เช่น

  • มนุษย์เป็นสัตว์เกิดมาเพื่อใช้กรรม
  • ไม่เคยมีมนุษย์คนใดอยู่ค้ำฟ้า

ดังนั้น มนุษย์เกิดมาทำไม ? ถ้าจะแสวงหาคำตอบแบบอุปนัย ก็ลองถามคนโน้นคนนี้ แล้วก็สรุปเป็นความเชื่อของเรา เช่น มนุษย์ทุกคนเป็นผู้เกิดมาเพื่อหลีกหนีความทุกข์แสวงหาความสุข (สรุปจากการสอบถามคนโน้นคนนี้)

แต่ถ้าเรามีความเชื่อพื้นฐานบางอย่างเกี่ยวกับมนุษย์ โดยผ่านทางคำสอนใดก็ตามก็อาจจัดเป็นนิรนัยได้ เช่น มนุษย์ทุกคนเป็นสัตว์เกิดมาเพื่อตาย (เชื่อตามบางอย่างที่ระบุไว้)

อนึ่ง คำตอบแบบอุปนัยและนิรนัยอาจเหมือนกันก็ได้ เพียงแต่คำตอบแบบอุปนัยเป็นไปทำนองเดียวกับการทดลองชิมว่าเงาะหวานหรือไม่... ส่วนแบบนิรนัยนั้นเป็นไปเพราะเราเชื่อตามที่แม่ค้าบอก... ส่วนข้อสรุปเหมือนกัน กล่าวคือ เงาะในเข่งหวาน (ตามตัวอย่างในบันทึก ลองอ่านอีกเที่ยว) 

เจริญพร

 

จักรพงศ์ ใจบุญเรือง

เป็นประโยชน์มาก อ่านแล้ว ชัดเจนมาก ครับ

ขอบพระคุณมากครับ

พอดีเรียนรัฐศาสตร์ มสธ อ่านหนังสือเจอคำว่า อุปนัย นิรนัย จึงค้นผ่าน google

ได้ความชัดเจนครับ ขอบพระคุณครับ

สอบพรุ่งนี้ จะทำข้อสอบง่ายๆแบบชิมเงาะ ไปด้วยคับ

ขอบพระคุณสำหรับความรู้ครับ

ขอบคุณครับ [22/12/2559]

หวังว่าข้อสอบจะหวานเหมือนเงาะนะคะ ขอบคุณค่ะอาจารย์

คำเดียวขอบคุณมาก ๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท