“หน่ายความมืดมนการเมืองเวทีใหญ่ เสาะหาความหวังใหม่จากชุมชน”


(บทความ โดย ภาสกร จำลองราช จากการสัมภาษณ์ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ลงในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน 25 ก.พ. 50 หน้า 9)

            สถานการณ์สับสนบ้านเมืองยามนี้ หลายคนรู้สึกเบื่อหน่าย หลายคนรู้สึกพลังในตัวถูกบั่นทอนลงทุกวัน จนแทบไร้ความหวังกับอนาคตของประเทศไทย ยิ่งเห็นบรรดานักการเมืองสารพัดก๊วนขยับตัวกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะพวกหัวหน้าก๊วนสอพลอ (ส.+พ.) ที่ทำท่าจับขั้วมุ่งหน้าแสวงหาอำนาจเพื่อวันข้างหน้า ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านี้เพิ่งร่วมกันกัดกินประเทศจนผุกร่อน แต่พอเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจ คนพวกนี้ก็ยังกระโดดหาขั้วใหม่อย่างหน้าชื่นตาบาน

            ภาพอนาคตของประเทศไทยเริ่มแจ่มแจ๋วว่าถึงอย่างไรก็คงหนีไม่พ้นนักการเมืองพวกนี้อีกตามเคย ต่อให้ปฏิวัติหรือปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญอีกกี่ครั้ง นักการเมืองเหล่านี้ก็ไม่มีวันตาย

            แล้วประเทศชาติจะสิ้นหวังอย่างนั้นเชียวหรือ???

            นานนับสิบๆ ปีมาแล้ว ผู้อาวุโสซึ่งเป็นที่นับถือของคนในแผ่นดินจำนวนหนึ่ง อาทิ นพ.ประเวศ วะสี ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ศ.เสน่ห์ จามริก ศ.ระพี สาคริก อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ฯลฯ ได้ลงไปเพาะกล้าในท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง เพราะต่างเชื่อว่าทางออกของประเทศไม่ได้อยู่ที่นักการเมืองหรือนักบริหารประเทศเพียงไม่กี่คน แต่เป็นเรื่องของชาวบ้านและชุมชนซึ่งเป็นฐานรากที่แท้จริงของแผ่นดิน แม้ประชาชนในเมืองอาจยังมองไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงนี้นัก แต่ในกลุ่มคนที่คลุกคลีงานภาคประชาสังคมต่างเห็นถึงความงดงามที่เจริญเติบโต

            ผมทำงานด้านนี้มานานประมาณ 20 ปี ผมเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ในฐานะเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอต้องเข้าไปทำงานที่จังหวัด เมื่อก่อนนายอำเภอจะไม่พอใจ เขาถือว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ แม้กระทั่งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว การทำงานของเอ็นจีโออาจจะมองราชการไม่ดีนัก ส่วนราชการก็มองเอ็นจีโอไม่ดีเช่นกัน มองเป็นปฏิปักษ์กัน แต่ตอนนี้การมองแบบไม่เป็นมิตรลดไปเยอะมาก หลายแห่งที่พวกเขาร่วมมือกันดีมากอ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม หัวเรือใหญ่ของคนทำงานภาคประชาสังคม สะท้อนสถานการณ์ของท้องถิ่น แม้วันนี้ อ.ไพบูลย์จะนั่งอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อีกเก้าอี้หนึ่ง แต่งานที่มุ่งสู่การสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่นยังคงเดินหน้าต่อไป

            หลายจังหวัดส่งเสริมการจัดการความรู้ให้ชาวบ้าน ตั้งแต่หมู่บ้านทำแผนชุมชน รวมกันเป็นแผนตำบลและแผนอำเภอจนกลายเป็นแผนจังหวัด หลายจังหวัดที่ได้ลงพื้นที่ เทศบาลก้าวหน้าขึ้นเยอะมาก

            แผนชุมชนที่ อ.ไพบูลย์พูดถึง เริ่มขึ้นเมื่อกว่า 10 ปีก่อน โดยประชาคมในหมู่บ้านต่างร่วมกันคิดร่วมกันวางเป้าหมายด้านต่างๆ ของชุมชนตัวเอง ซึ่งแรกทีเดียวงานด้านนี้เป็นงานใหม่ ทำให้ชาวบ้านไม่เข้าใจ แต่เมื่อมีการเรียนรู้ร่วมกัน และได้เห็นประโยชน์ ทำให้ตอนนี้มีการทำแผนชุมชนไปแล้วมากกว่า 2,000 ตำบล

            คุณหมอประเวศเรียกว่าการปฏิวัติเงียบ ที่ชุมชนท้องถิ่นจัดการกันเองและร่วมกันทำแผนชุมชน ทั้ง อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้าน ไม่ได้กันใครออก แต่ใช้หลักร่วมกันทั้งหมด ซึ่งแนวทางเช่นนี้เกิดมากขึ้น ผมเคยให้เขาไปนำเสนอกับผู้ทรงคุณวุฒิ ผลออกมาดีมากอ.ไพบูลย์พอใจในความตื่นตัวของชุมชน ซึ่งหลายรัฐบาลที่ผ่านมาต่างมีแผนที่จะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แต่ทุกอย่างก็เป็นเพียงแค่แผน เพราะพอเอาเข้าจริงๆ กลับอ้างนู่นอ้างนี่ ผลสุดท้ายอำนาจต่างๆ ยังคงกระจุกตัวอยู่ในส่วนกลาง

            ที่เริ่มใช้คำว่ากระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นอำนาจสำคัญมากอย่างหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว เพียงแต่เรานำเสนอเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ และต้องให้ท้องถิ่นจัดการกันเอง ท้องถิ่นต้องหมายถึง 1.ประชาชน 2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เขาเป็นกลไกลที่ใกล้ตัวประชาชนที่สุด และเป็นของประชาชนและควบคุมโดยประชาชน ถ้าไม่ดีประชาชนต้องรับผลกรรมเพราะเขาเป็นคนเลือกเองว่าใครไม่ได้ แต่ถ้ารัฐบาลกลางไปบั่นทอนท้องถิ่นถือว่าเป็นการทำให้เขาอ่อนแอ หรือไปมีอคติกับท้องถิ่น ไม่เชื่อเขาก็เลยไม่สนับสนุน ทำให้เขาอ่อนแอ ผมเชื่อว่าในสามัญสำนึกเขาต้องการทำให้ดี

            ปัจจุบันมีชุมชนท้องถิ่นหลายแห่ง สามารถเลือกคนที่ตัวเองไว้ใจเข้าไปบริหารงานในองค์กรปกครองที่ใกล้ตัวชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็น อบต.หรือเทศบาล เมื่อชาวบ้านมีตัวแทนที่แท้จริงเข้าไปบริหารเชื่อมต่อกับอำนาจรัฐ ทำให้เกิดความคล่องตัวเป็นอย่างมาก เพราะสามารถสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของชุมชนได้

            ประชาชนท้องถิ่นเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาที่จะให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขเพราะเขาจะดูแลตัวเขาเอง ถ้ามีปัญหาอะไรก็รีบจัดการโดยเร็ว แต่ถ้าคนจัดการอยู่ข้างนอก กว่าจะรู้เรื่องมันนานเกินไป แม้กระทั่งอยู่ที่จังหวัด หรืออยู่ที่กรุงเทพฯ

            อ.ไพบูลย์บอกว่า เดี๋ยวนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมากได้เข้ามาร่วมมือกับภาคสังคมมากขึ้น เพราะเขาเห็นว่าเป็นประโยชน์กับประชาชน เขาทำแล้วได้คะแนนด้วย ยกตัวอย่างเทศบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น ที่ร่วมมือกับภาคประชาสังคม ทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเรื่องการจัดสวัสดิการชุมชน 

            เทศบาลขอนแก่นก็ก้าวหน้า เขาเปิดโอกาสให้ประชาชนรวมตัวกัน มีสิ่งที่เรียกว่าสภาเมือง เช่นเดียวกับอีกหลายตำบลก็มีสภาประชาชน บางแห่งก็มีสภาหมู่บ้าน พอประชาชนได้ร่วมคิดร่วมทำได้เปิดกว้างออกไป ความคิดดีๆ การกระทำดีๆ เกิดขึ้น เขาเรียกว่าการเมืองสมานฉันท์

            เมื่อได้มาดูแลกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ อ.ไพบูลย์พยายามเชื่อมต่อระหว่างงานท้องถิ่นและกลไกลของกระทรวง โดยประกาศยุทธศาสตร์ 3 ประการคือ 1.สังคมไม่ทอดทิ้งกัน คือช่วยเหลือเกื้อกูลเอื้ออาทรกัน 2.สังคมเข้มแข็งแปลว่าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง 3.สังคมคุณธรรม 

            ถ้า 3 อย่างนี้ เราส่งเสริมให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น จะช่วยแก้ปัญหาได้มาก กระทรวงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล แต่เราสนับสนุนทุกฝ่ายให้ทำงานร่วมกัน ที่สำคัญต้องให้ประชาชนเป็นคนจัดการ และมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจ

            หลายคนที่กำลังสิ้นหวังและเหม็นเบื่อการเมืองในเวทีใหญ่ ลองเปลี่ยนมุมมองไปหาชุมชนหลายแห่งที่กำลังเจริญงอกงามโดยฝีมือชาวบ้าน เผื่อจะเป็นความหวังและมีแรงใจที่จะช่วยกันสร้างบ้านแปลงเมือง ซึ่ง "คติชน" จะนำเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนเหล่านี้มานำเสนอต่อไป

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

27 ก.พ. 50
หมายเลขบันทึก: 80945เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2007 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

การเมืองมุ้งใหญ่ รอไปพอมีหวัง

 ร่วมรวมพลัง สร้างสรรค์ การงาน

   ไม่เมามัว ไม่กลัวที่จะร่วมพัฒนา

     ห่างไกลอวิชชา ร่วมนำพาสร้างสร้างสังคม ไทย

อยากให้อาจารย์ (ท่านรัฐมนตรี) ลงพื้นที่เงียบเงียบโดยไม่บอกกำหนดการให้ใครทราบ อยู่กับชาวบ้านที่ทำงานพัฒนาสัก 2- 3 วัน ท่านจะรู้ว่า รัฐกับชาวบ้านเป็นอย่างไร (จะดีกว่าที่เพียงแค่อ่านรายงานเป็นพันหน้าครับ)

หวัดดีครับ

ได้ทราบจากวิทยุจุฬา เมื่อเช้านี้ (29 มีนาคม) เลยเข้ามาดูครับ

ดีใจที่ผู้ใหญ่ตามทันเทคโนโลยี จะได้รู้เท่าทันสังคม และเด็กๆ

 ชื่นชมสิ่งที่ท่านทำเสมอมาครับ

http://www.oknation.net/blog/chao/

     ชื่นชมกับสิ่งที่ท่านรองนายก ฯ / รัฐมนตรี  และทีมงาน ดำเนินการอยู่ทั้ง  สังคมไม่ทอดทิ้ง  สังคมเข้มแข็ง  สังคมคุณธรรม  รวมถึง  เรื่องอื่น ๆ  ที่เอื้ออำนวยกระบวนการทำงานให้บรรลุยุทธศาสตร์

       แต่ถ้าให้ดียิ่งขึ้นกว่านี้ ...... น่าจะใส่เกียร์ให้กับ  บุคคลากรของ  พม. ว่าช่วยกันเดินได้แล้ว  อย่าใส่เกียร์ว่างอยู่เลย  .... หากคอยให้ใกล้เวลาแล้ว .... ต้องลวกน้ำร้อนให้กับชาวบ้านอีก .... สุดท้ายก็จะเป็นประชานิยม  ไม่ต่างอะไรกับที่ผ่านมา  ( เหตุที่ต้องบอกกล่าวกับท่านอย่างนี้ เพราะส่วนหนึ่งได้ประสบจากคำบอกเล่าของเพื่อนพ้องน้องพี่  ที่เข้าร่วมกระบวนการตรงนี้  และ ส่วนหนึ่งก็ได้ร่วมด้วยตนเอง   )

        คาดหวังว่านโยบายที่ท่านและทีมงาน  ได้ใช้ในการดำเนินงานจะสำเร็จ  บรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้ .....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท