
มีใครอยากเขียนหนังสือเพื่อเผยแพร่บ้างครับ?
คิดว่าคงจะมีหลายคนอยู่เหมือนกัน เพราะใน GotoKnow
นี่ เขียนกันเก่งๆ ทั้งนั้นเลย
และจริงๆ แล้วอาจจะมี 'มืออาชีพ' อยู่หลายคนด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ดี เนื่องจากผมยังไม่พบบันทึกแนวนี้จึงอยากจะเล่าประสบการณ์ (ดีมั่ง แสบมั่ง)
ที่เคยเจอมาค่อนข้างหลากหลายอยู่บ้างให้เป็นข้อมูลเบื้องต้น
(7 สำนักพิมพ์ กว่า 20 เล่ม [ดูตัวอย่างในเว็บพอร์ทัล])
![]()
หนังสือตัวอย่างที่ผมร่วมงานกับ สนพ. สารคดี
เล่มซ้ายขายดีหน่อย เพียง 3 เดือน พิมพ์ซ้ำ เล่มกลางขายปานกลาง พิมพ์ซ้ำครั้งที่ 3 ใน 2 ปี (& กำลังปรับปรุงใหม่)
ส่วนเล่มขวา ขายมา 2 ปีแล้วยังไม่หมดเลยครับ...ฮือ...ฮือ)
ทั้งนี้ ผมขอให้ข้อมูลในแง่ การเขียนส่งต้นฉบับให้กับสำนักพิมพ์ ซึ่งมีขั้นตอนหลักๆ อย่างนี้ครับ
- การจัดเตรียมต้นฉบับ
- การส่งให้สำนักพิมพ์พิจารณา
- การปรับปรุงต้นฉบับ (หากสำนักพิมพ์ตอบรับ)
- การจัดอาร์ตเวิร์ต / การตรวจอาร์ตเวิร์ค
- การรับค่าตอบแทน
- การตลาด / การประชาสัมพันธ์
ส่วนใครที่สนใจการเขียนนิยาย โปรดอ่าน
คำแนะนำเกี่ยวกับการส่งต้นฉบับ (นิยาย) ให้ สนพ. ของคุณ k-jira ได้ครับ
รายละเอียดที่สำคัญ
มีดังต่อไปนี้
แอ่น..แอน..แอ๊น!
- การเตรียมต้นฉบับ
- เตรียมในรูป MS Word พร้อมภาพประกอบ
- อาจส่งผ่าน E-mail ก็ได้ แต่แนะนำให้ส่งด้วย CD เพราะเป็นที่เป็นทาง เก็บแยกโฟลเดอร์ได้ และควรทำ backup สำหรับตัวเราเองได้ด้วย (1-2 ชุด)
- นอกจาก CD แล้ว ควรส่งฉบับพิมพ์ (ซึ่งมีเลขหน้ากำกับ) ตามไปด้วย จะได้คุยกับสำนักพิมพ์รู้เรื่อง
- ต้นฉบับ : ไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดหน้าให้ดูดีมาก เนื่องจากจะถูกจัดใหม่ในการจัดอาร์ตเวิร์ค (artwork) อยู่ดี
- ภาพประกอบ : หากเป็นไฟล์ ควรมีความละเอียดอย่างต่ำ 300 x 300 สำหรับภาพสี
-
การส่งให้ สนพ.
พิจารณา
- จะส่งให้ สนพ. ไหน ต้องรู้ "แนว" ของ สนพ. นั้น เช่น สนพ. สารคดี เป็นแนวท่องเที่ยว / วิทยาศาสตร์/ฯลฯ สนพ. มติชน/ศิลปวัฒนธรรม เป็นแนวประวัติศาสตร์/การเมือง/ฯลฯ -> ดูง่ายๆ จากหนังสือที่มาจาก สนพ. นั้นๆ ครับ
- เมื่อติดต่อไป สนพ. จะขอดูต้นฉบับ ซึ่งกรอบเวลาในการพิจารณาจะต่างกันไป (หากเรื่อง hot ก็อาจจะดูเร็วหน่อย แต่ปกติอาจเป็นหลักเดือน)
- เป็นธรรมเนียมที่ว่า หากเราส่งต้นฉบับที่หนึ่งแล้ว ไม่ควรส่งที่อื่นในเวลาเดียวกัน ยกเว้น ส่งไปแล้วเงียบไปนานมาก ในที่นี้เรามีสิทธิ์ที่จะส่งไปที่อื่น แต่หากที่ใดรับ ก็ต้องรีบแจ้งที่อื่นเพื่อไม่ให้เขาเสียเวลาพิจารณา
-
การปรับปรุงต้นฉบับ
- หาก สนพ. รับงาน ก็จะมีกองบรรณาธิการอ่านอย่างละเอียด เพื่อตรวจสอบว่าต้องการข้อมูลอะไรเพิ่มเติม เช่น อาจจะขอภาพประกอบ เขียนขยายความ ขอให้เขียนคำนำ หรือขอคำแนะนำให้คนมาเขียนคำนิยมให้ ฯลฯ
- หนังสือแต่ละเล่ม จำเป็นต้องมีบรรณาธิการมืออาชีพที่คอยดูแลทั้งเนื้อหา รูปแบบ และอื่นๆ ทั้งนี้เพราะว่า...
- การเขียนหนังสือ ต่างจากการโพสต์ข้อความลงในอินเทอร์เน็ต เพระหากพิมพ์ผิดแล้ว ก็ผิดเลย แก้ไขไม่ได้ จนกว่า....จะได้พิมพ์ใหม่ (ใครเคยมีประสบการณ์พิมพ์ผิดตรงนี้จะรู้ว่า คำที่พิมพ์ผิดมันกระโดดออกมาทักทายเราได้ทุกครั้งที่เปิดหน้านั้น!)
- ในทางปฏิบัติ อาจมีคนพิสูจน์อักษร ซึ่งสำนักพิมพ์บางแห่งเรียกว่า "คุณนายละเอียด" เธอหรือเขาคนนี้เป็นนักจับผิดชั้นยอด ตั้งแต่ตัวสะกด รูปประโยค ไปจนถึงวรรคตอน (ระดับครึ่งตัวอักษร)
-
การจัดอาร์ตเวิร์ค /
การตรวจอาร์ตเวิร์ค
- เป็นหน้าที่ของ สนพ. แต่เราจะมีสิทธิ์ตรวจแก้อย่างน้อย 1 ครั้งก่อนพิมพ์จริง
- หากจะแก้อะไรให้แก้ไขในขั้นตอนนี้ เพราะหลุดแล้วหลุดเลย
- ให้ระวังข้อความสำคัญๆ เช่น ชื่อบท ตำแหน่งของภาพประกอบ ความคมชัดของภาพประกอบ ฯล
-
การรับค่าตอบแทน
- เป็นความสุขอีกอย่างหนึ่งของคนเขียนหนังสือ ;-)
-
แต่ละ สนพ.
จะมีวิธีการแตกต่างกันไป แต่หลักๆ มีอย่างน้อย 4 แบบ
(ขอไม่เอ่ยนามว่าแต่ละที่คือ สนพ.
อะไร
- จ่าย 10% x ราคาปก x จำนวนเล่มที่พิมพ์ เช่น หนังสือเล่มละ 120 บาท พิมพ์ 3,000 เล่ม ก็จะได้ 10% x 120 x 3,000 = 36,000 บาท โดยจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเลย! (จ่ายภาษีเต็มที่ครับ ไม่มีซุก!)
- จ่าย 10% x ราคาปก x จำนวนเล่มที่ขายได้จริง เช่น ตัวอย่างเดิม พิมพ์ 3,000 เล่ม แต่ขายจริงได้แค่ 1,000 เล่ม ก็ได้แค่ 10% x 120 x 1000 = 12,000 บาท (ยังไม่หักภาษี)
- จ่ายเหมาสำหรับการพิมพ์ "รอบแรก" เช่น ในการพิมพ์ 5 ครั้งแรก (ไม่ว่าจะกี่เล่ม) หากพิมพ์ครั้งที่ 6 ถึงจะจ่ายเพิ่ม....(โหดเหมือนกันแฮะ)
-
ไม่จ่ายเป็นเงิน...แต่ให้เป็นหนังสือมาแทน
ในกรณีของหนังสือแนวศาสนาของ สนพ. บางแห่ง (ผมเองเคยเขียนหนังสือแนวรับมือภัยธรรมชาติเล่มหนึ่ง
และขอเป็นหนังสือตอบแทน ปรากฏว่า สนพ. ก็ Ok ครับ - คือ
เท่ากับขายให้ผมในราคาต้นทุนนั่นเอง....ดีเหมือนกัน...เอาไปแจก)
- หากหนังสือของคุณมีบรรณาธิการรับเชิญ (ไม่ใช่คนของสำนักพิมพ์) คุณอาจจะโดนหักค่าบรรณาธิการ เช่น คุณได้ 7% ส่วนบรรณาธิการได้ 3% เป็นต้น (ฮือ...ฮือ....ได้นิดเดียว แถมยังโดนแบ่งเค้กอีก แต่มองแง่ดีก็คือ บรรณาธิการจะช่วยให้หนังสือของคุณดีขึ้น)
- ส่วนใหญ่ใช้โอนเงินเข้าบัญชี ที่จ่ายเป็นเช็คก็มีเหมือนกัน
- ข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณ ใบไม้ย้อนแสง ในข้อคิดเห็นที่ 30
- บางสำนักพิมพ์จะจ่ายค่าแรงโดยคิดจากจำนวนบทความในหนังสือ
- บางแห่งคิดรวมทั้งค่าถ่ายภาพและค่าเขียน
- บางแห่งจะระบุว่า ค่าเขียนเท่าไร
ค่าถ่ายรูปเท่าไรต่อหนึ่งบทความ
- บางแห่งจะจ้างช่างภาพต่างหาก แล้วจ่ายค่าเขียนบทความอย่างเดียว
- บางครั้งจะเป็นการเสนอผลงาน
หรือรับจ้างบางองค์กรเขียน
แล้วจึงไปติดต่อสำนักพิมพ์อีกทอด
-
การตลาด / การประชาสัมพันธ์
-
คุณทนง โชติสรยุทธ์ ผู้ก่อตั้งและ Managing Director ของ SE-ED เคยให้สัมภาษณ์ว่า "หนังสือดีไม่มีใครเห็นเนี่ย มันไม่มีความหมาย ... ท่านเขียนมาดีแล้ว มันถูกซ่อนอยู่ที่ไหน เสียเวลา เสียแรงงาน ฉะนั้นเหนื่อยเพิ่มขึ้นอีกนิดหนึ่ง ก็คือทำการวางแผนในเชิงของการตลาด...อย่าไปรังเกียจคำว่า การตลาด เพราะการตลาดคือการทำให้หนังสือดีๆ ของเราถูกเผยแพร่ออกไปได้กว้างขวางที่สุด"
-
เรื่องสายส่งนี่ก็สำคัญ สายส่งบางบริษัทอาจขอส่วนแบ่งจากราคาปกถึง 30-40% เช่น หากหนังสือราคา 100 บาท คุณก็โดนหักไปแล้ว 40 บาท (นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังสือที่ขายในงานสัปดาห์หนังสือลดได้หลายสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนีครับ)
-
หากคุณ "ดัง" อยู่แล้ว ก็ยังต้องใช้การตลาดช่วย (ดูโฆษณาหนังสือของหม่ำ ของคุณหมอพรทิพย์ ฯลฯ นั่นไง)
-
แต่หากคุณไม่ดัง สนพ. ก็จะใช้วิธีการที่เหมาะสม เช่น ลงโฆษณาในสื่อ เปิดตัวหนังสือ หรือ จับคุณไปช่วยขายในงานสัปดาห์หนังสือ เป็นอาทิ
-
หากหนังสือลงร้านแล้ว ให้รอดูไป 3 เดือน หากหนังสือขายได้ ก็แล้วไป แต่หากขายไม่ได้ หนังสือคุณอาจจะถูกลดความสำคัญลง เช่น จากหันปกหน้าออก -> หันด้านข้างออก -> เอาไปไว้ในที่ที่คนไม่เห็น -> (แย่สุด) กระเด็นออกจากร้าน (ฮือ...ฮือ)
-
หนังสือ 'แฟนพันธุ์แท้ไอน์สไตน์' จัดพิมพ์โดย SE-ED
ขายดีติดอันดับ 12 ของ SE-ED อยู่ 1 สัปดาห์ ตามกระแสไอน์สไตน์ในปี 2005
ปัจจุบัน นำมาจัดทำใหม่ในชื่อ
สัมพัทธภาพ : สุดยอดมรดกทางความคิดของไอน์สไตน์
โดย สนพ.สารคดี
ผมขอข้อมูลไว้ให้เท่านี้ก่อน โดยละรายละเอียดจำนวนหนึ่งเอาไว้
หากเพื่อนๆ ชาว GotoKnow ท่านใดมีข้อสงสัยก็สอบถามมาได้ตลอดเวลาครับ
(ถามได้ แต่จะตอบได้หรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง....ฮา)
ภาคผนวก : บันทึกข้อมูลการทำงานกับ สนพ. ต่างๆ
- หนังสือวิชาการ (แนวตำรา) :
- สำนักพิมพ์ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น หรือ สสท.) : 2 เล่ม
- ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เขียน/แปล/เป็นบรรณาธิการ) : 5 เล่ม
- หนังสือแนววิทยาศาสตร์อ่านสนุก (Popular Science)
- สนพ. สารดคี : 9 เล่ม (เขียนเอง 6 เล่ม, เขียนร่วม 2 เล่ม แปลร่วมกับคนอื่น 1 เล่ม)
- สนพ. สสท. 2 เล่ม
- บ. ซีเอ็ด ยูเคชั่น จก. (มหาชน) 1 เล่ม
- สนพ. มูลนิธิเด็ก 1 เล่ม (แปล)
- สนพ. ร่วมด้วยช่วยกัน 1 เล่ม
- หนังสืออ่านประกอบสำหรับคุณครู
- สนพ. สารคดี 2 เล่ม
- สนพ. สสท. 1 เล่ม
- มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ 1 เล่ม
ดูตัวอย่างหนังสือที่ผมเขียนจากเว็บของร้าน
SE-ED
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ ใน ภาษา-พาสาร
ขอบคุณค่ะอาจารย์ ข้อมูลของอาจารย์ครอบคลุมมากเลยค่ะ ^_^
สำหรับ k-jira ขออนุญาตแจม เฉพาะเรื่องการส่งต้นฉบับนิยาย นะคะ ซึ่งได้เขียนไว้ที่บันทึกนี้ คำแนะนำเกี่ยวกับการส่งต้นฉบับ (นิยาย) ให้ สนพ. แล้วค่ะ
ขอบคุณค่ะ ^__^