เรียนรู้จากความสำเร็จของศิลปินหนุ่มชาวอีสาน


เรื่องเล่าสบาย ๆ

บันทึกที่แล้วเขียนถึงงานของมนตรี แบ่งคอนสารในฐานะศิลปินที่ได้รับรางวัลเหรียญเงินศิลป์ พีระศรีในการประกวดศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ครั้งที่ 23ไป มาบันทึกนี้ขอเล่าเรื่องราวหรือถอดบทเรียนจากเรื่องเล่าของศิลปินที่ประสบผลสำเร็จในการก้าวเดินในวงการศิลปะ

การประสบความสำเร็จนี้เป็นความประสบผลสำเร็จในก้าวแรกของเวทีการประกวดระดับรุ่นเยาว์นะครับ ส่วนเส้นทางในวงการนี้นั้นอีกยาวไกลนัก ดังนั้นบทสนทนานี้จึงเป็นเพียงคำบอกเล่าที่งดงามของศิลปินที่ผมคิดว่าจะเกิดประโยชน์สำหรับน้อง ๆ ในแวดวงศิลปะและท่านที่สนใจ

บทสนทนาที่ได้นี้เป็นความใคร่รู้ของผมเอง ตั้งแต่ที่ได้รับสูจิบัตรและหลงไหลงานชิ้นนี้ ผมสืบเสาะโดยการส่งอีเมลล์ไปถามมนตรีโดยตรง ถึงแม้เราจะม่รู้จักกันก็ตาม และยินดีมากที่ไม่กี่วันมนตรีก็ตอบอีเมลล์ของผมกลับมา ผมนำมาประมวลเพื่อถ่ายทอดผ่านบันทึกนี้นะครับ

ผมขอให้คุณมนตรีช่วยขยายความแนวคิดสำคัญของงานของเขาเพิ่มเติมจากที่ปรากฎในสูจิบัตรและที่ผมเขียนในบักทึกที่แล้ว คุณมนตรีขยายแนวคิดดังนี้

          แนวความคิดสำคัญที่ผมใช้เป็นทิศทางในการสร้างสรรค์นั้น มีอยู่กว้างๆคือ ความสนใจในวิถีชีวิตชนบท ความเป็นอยู่ และวิญญาณของชีวิตคนในท้องถิ่น ปรารถนาในการดำรงชีวิต จะให้อธิบายง่ายๆ ก็คงเป็นทุกอย่างที่เป็นบ้านนอก แบบท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว เพราะนิสัยใจคอ รสนิยมของแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกันไป 

ผมขอให้เขาอธิบายถึงองค์ประกอบศิลป์ในงานของเขา ที่แทนสัญลักษณ์ของความเชื่อ การรับอิทธิพลสกุลช่าง  คุณมนตรีช่วยเพิ่มเติมดังนี้ครับ

          เทคนิคการทำงานของผมนั้น ผมไม่จำกัดเทคนิค แต่เป้าหมายและความสนใจของผมจะจับจดอยู่กับความเป็นพื้นบ้าน ความเป็นอารยชน ผมได้รับอิทธิพลการแสดงออกมาจากจิตรกรรมฝาผนังอีสาน ที่ผมใช้เวลาศึกษา 4 ปีกว่าจะได้เข้าใจความเป็นภาพเขียนแบบพื้นถิ่นได้นั้น

          ผมทำงานชุดที่เป็นฝีแปรงมาก่อน ผลงานชุดที่เขียนเป็นครัวอีสาน ที่บอกชีวิตของคนอีสาน ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ผมได้สัมผัสระหว่างเข้าไปศึกษาภาพเขียนอีสาน

คุณมนตรีอธิบายผลงานของเขาในชิ้นที่ได้รับรางวัลว่า

        ผลงานชิ้นนี้เป็นชิ้นทดลองศึกษาของผม โดยสรุปความคิดว่า "ภาพเขียนหรืออารมณ์การแสดงออกของช่างครูพื้นถื่นนั้นหัวใจคือ คุณภาพของเส้น อิสระในการคิด และลำดับเรื่องราวตามความเหมาะสม"

        ผมมองเข้าไปในสังคมอีสานในยุคที่เกิดการสร้างภาพเขียนขึ้นประมาณ ร.5นั้น เริ่มมีวัดป่าที่เรียกว่า วัดที่มีพระกรรมฐานมาสร้างวัด ทั้งคนอีสานเจริญในการศึกษาธรรม เส้นที่มีพลังสมาธินั้นเหมือนภาพเขียนในลัทธิเซน ผู้ที่เข้าใจและศึกษาพุทธประวัตินั้นได้ซึมซับพระธรรม และเขียนขึ้นด้วยความศรัทธาในศาสนา ความจริงใจทำให้ภาพเขียนนั้นดูสะอาดบริสุทธิ์ ถึงแม้ทักษะฝีมือจะสู้ช่างหลวงไม่ได้ แต่จิตใจของช่างต่างหากที่สร้างเพื่อเป็นพุทธบูชา

        ฉะนั้นวิญญาณของภาพเขียนอีสานไม่ได้ฝังตัวอยู่กับเส้นสีน้ำเงินของคราม ซึ่งเป็นแค่ความจำเป็นทางเทคนิคเท่านั้น ผมก็ได้อาศัยสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นพื้นฐานว่า ช่างสมัยนั้นมองสังคมของตนผ่านเรื่องพุทธประวัติ ผมจึงเอาความคิดนั้นมองผ่านสังคมปัจจุบันของผม โดยอาศัยเรื่องพุทธประวัติและฝันต่อ หยิบยืมเทคนิคกลวิธีอธิบายของครูช่างในสิมมา ผมเองแทบไม่ได้ทำอะไรนอกจากจินตนาการ

ส่วนคำถามสุดท้ายในบทสนทนาของเราผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิคนั้นผมถามถึงปัจจัยที่ทำให้การทำงานในคราวนี้ประสบผลสำเร็จ  คุณมนตรีช่วยขยายความดังนี้

 

        ผมได้กำลังใจจากครอบครัวตั้งแต่เริ่มศึกษาและเรียนศิลปะมา อาจารย์ ตลอดจนคนที่อยู่ใกล้ๆเรา บุคคลเหล่านี้ได้ช่วยเหลือทุกเรื่องและให้กำลังใจผม

       การทำงานศิลปะกว่าจะเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของตนเองนั้นมันแสนยาก ในบางครั้งยังไม่ทันจะได้เข้าใจอะไรก็ท้อแท้หยุดไปซะก่อน สิ่งที่ได้พบกว่าจะตกผลึกเป็นผลสำเร็จได้นั้นก็เล่นเอาซะงอมไปเลย ในระหว่างนั้นบุคคลเหล่านี้เท่านั้นที่จะเข้าใจ เพราะดูเหมือนว่าคนที่ทำงานศิลปะจะมีอัตตาสูง การทำงานศิลปะของผมเป็นการขัดเกลา

       ผลงานศิลปะของผมทุกชิ้นเป็นงานทดลอง ผมต้องเรียนรู้ไปอีกตลอดชีวิต ในบางครั้งความสุขไม่ได้มาจากการทำงานศิลปะอย่างเดียว การมีจิตใจที่อ่อนโยนจากการศึกษาธรรมนั้นก็เป็นความสุขอีกทิศทางหนึ่งของผมเอง ศิลปะที่ผมแสดงออกมานั้นเป็นแค่วลีที่ไม่มีวันจบ พูดแค่วันละวลีเท่านั้น ทำสิ่งที่เป็นวลีนั้นคือผลสำเร็จที่สุดของผลงานศิลปะทุกชิ้น

จบบันทึกชิ้นนี้ผมจะไม่อธิบายเพิ่มเติม เพราะคิดว่าบทสนทนานี้มีคุณค่ามากพอที่ท่านจะถอดเป็นบทเรียนในการทำงานไม่ว่าศิลปะหรืองานอื่นใด

หวังว่าท่านผู้อ่านบันทึกของผมคงเก็บเกี่ยวอะไรจากแนวคิดของศิลปินท่านนี้นะครับและผลงานของเขาร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ครั้งที่ 23 ในระหว่างวันที่ 6-28 กุมภาพันธ์ 2550  ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดแสดงทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น.

หมายเลขบันทึก: 77132เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2007 13:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

มาเยี่ยม...

มาชื่มชมศิลปินอีสานด้วยคน  นะครับ

บันทึกนี้ได้สาระมากครับ

  • ผมชื่นชมศิลปะทุกแขนง  และเชื่อว่าผู้มีจิตใจละเอียดอ่อนเท่านั้นถึงจะสร้างงานและเข้าถึงศิลปะได้อย่างลึกซึ้ง
  • แต่นี่คืออีกปัจจัยหนุนส่งให้ผู้คนก้าวไปสู่ความสำเร็จ "ผมได้กำลังใจจากครอบครัวตั้งแต่เริ่มศึกษาและเรียนศิลปะ"
  • ขอบคุณบันทึกดี ๆ อีกครั้ง

ท่านอาจารย์ umi

  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์มากครับสำหรับคำชม
  • ขอมอบความงาม ความดี ความจริงนี้ไปสู่ศิลปินผู้สร้างสรรค์ครับ
  • ภาพที่นำมาเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์ของศิลปินมาจากนครพนมนะครับ

คุณแผ่นดิน

  • ขอบคุณมากครับ ศิลปะทุกแขนงมีคุณค่าทั้งต่อมันเอง ศิลปินและสังคม
  • อ่านจากข้อความของศิลปินที่ส่งมาให้ออต เข้าใจว่ามีกลิ่นไออันงดงามของบุคลิกคนอีสานครับ
  • ศิลปินที่สารคามก็มีมาก หลายคนงามทั้งงาน งามทั้งใจไม่แสแสร้ง

ผมได้รับเกียรติแสดงงานเดี่ยว ที่หอศิลป์แห่งชาติ เดือนธันวาคมนี้

ผลงานเกี่ยวกับผ้าผะเหวด และสิมอีสาน ที่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ผมขอเรียนเชิญคุณออตมาเกียรติในงาน เผื่อว่ากระผมจะได้รับคำแนะนำดีๆ จากปราชญ์อีสานอย่างคุณออต

กระผมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น มณตรี มุงคุณ

อยากเห็นผลงานศิลปะของตาหมูอีกครั้ง หวังว่าสักวันคงมีโอกาส ขอให้งานประสบความสำเร็จ ตามที่พึงประสงค์

นาติ์ฏญา ศรีประเสริฐ อานาง

อานางเป็นกำลังใจให้หลานประสพแต่ความสำเร็จในชีวิตตลอดไป ว่าง ๆ ก็แวะมาเล่นด้วยกันหน่อย ทุกคนที่นี้เป็นกำลังใจให้ อาวนาย น้องโอ๋ น้องทราย ย่า ทุก ๆ คนเป็นห่วงหลานมากนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท