เรื่องเล่าจากดงหลวง 14 ท่านนายกฯกับดงหลวง


ท่านนี่แหละที่เรียกชาวบ้านดงหลวงไปพบเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2549 นี้เอง เหตุผลคือ ท่านสนิทสนมมาก่อนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี และเรียกพบหลายต่อหลายครั้งแล้ว ชาวบ้านที่ถูกเรียกพบนั้นเคยเป็นทหารพิทักษ์คุณพ่อของท่าน คือ พันโท พโยม จุฬานนท์ อดีตกรรมการกลาง พคท.คนหนึ่งและได้มาเข้าป่าที่ดงหลวงนี่เอง

1.        ดงหลวงกับการเมืองในปัจจุบัน: การเมืองวันนี้ คือยุค คปค. ที่โค่นล้มรัฐบาลเลือกตั้งลง และมีท่านพลเอกสุรยุทธ์ จุฬานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านนี่แหละที่เรียกชาวบ้านดงหลวงไปพบเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2549 นี้เอง เหตุผลคือ ท่านสนิทสนมมาก่อนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี และเรียกพบหลายต่อหลายครั้งแล้ว ชาวบ้านที่ถูกเรียกพบนั้นเคยเป็นทหารพิทักษ์คุณพ่อของท่าน คือ พันโท พโยม จุฬานนท์ อดีตกรรมการกลาง พคท.คนหนึ่งและได้มาเข้าป่าที่ดงหลวงนี่เอง  ต่อไปนี้คือเอกสารที่คัดลอกมาให้อ่าน...(จาก..ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข Nation Weekend ปีที่ 12 ฉบับที่ 583 ส.ค. 46)

 

.......ยศ พ.ท. ที่ติดอยู่หน้านาม พโยม จุลานนท์ เป็นยศที่ประดับจากกองทัพบกไทย อดีตนายทหารเสนาธิการชาวเพชรบุรีผู้นี้ มีปูมชีวิตที่ไม่ธรรมดา พ.ท.พโยม เป็นบุตรของ พ.อ.พระยาวิเศษสิงหนาถ (ยิ่ง จุลานนท์) กับคุณหญิงเก๋ง จุลานนท์ โดยมีพี่น้องร่วมบิดาคือ 1.พ.อ.พระอร่ามรณชิต (อ๊อด จุลานนท์) 2.พยัพ ส.ก.2567 (2457) 3.พยงค์ ส.ก.3005 (2459) 4.พ.ท.พโยม 5.พยูร โอฬารสมบัติ และ 6.ยศ จุลานนท์ โดยที่ 3 ท่านแรกเกิดจากมารดาคือ กลีบ จุลานนท์ และอีก 3 ท่านรวมถึง พ.ท.พโยม เกิดจากมารดาคือ คุณหญิงเก๋ง ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พ.ท.พโยม เป็นนายทหารที่มีความเฉลียวฉลาดและรักชาติเพียงใด

 

ก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพาจะอุบัติขึ้น พ.ท.พโยม เป็นนายทหารเสนาธิการที่สำคัญผู้หนึ่งที่ได้รับมอบหมายจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้เป็นผู้วางแผนต้านการบุกรุกของข้าศึกที่อาจจะมาทางด้านตะวันออก ตามแนวปราจีนบุรีและสระบุรี ทว่าการต้านทานไม่ทันได้เกิดขึ้น จอมพล ป. กลับทำสนธิสัญญาร่วมมือกับกองทัพอาทิตย์อุทัยเสียก่อน   ไม่ปรากฏว่า พ.ท.พโยม เข้าไปร่วมกับเสรีไทยทำการกู้ชาติต่อต้านญี่ปุ่นหรือไม่ ทว่า พ.ท.พโยม กลับเป็นนายทหารที่ยืนอยู่ฟากตรงข้ามกับกลุ่มของปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะเสรีไทย ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 โดยมี จอมพลผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร และมี พ.ท.พโยม เป็นเลขาธิการ และเชิญนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพ ก่อนที่ในปีต่อมาจอมพล ป. จะคืนสู่อำนาจอีกครั้ง

 

การกลับสู่อำนาจของจอมพล ป. ในครั้งหลัง เป็นช่วงที่ พ.ท.พโยม ลาออกจากราชการทหารเพื่อเป็นสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาจุดเปลี่ยนของชีวิตเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อเกิดเหตุขัดแย้งรุนแรงกับ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ในยุคอัศวินแหวนเพชรครองเมือง จึงเข้าร่วมเตรียมก่อการรัฐประหารอีกครั้ง โดยการนำของนายทหารเสนาธิการ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต และ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2491 ทว่า กลับต้องถูกรวบและลงเอยในฐานะ 'กบฏ' ซึ่งเรียกกันต่อมาว่า 'กบฏเสนาธิการ' ทั้งๆ ที่ยังมิทันได้เริ่มก่อการ ส่วน พ.ท.พโยม ได้หลบหนีขึ้นไปทางจังหวัดเชียงใหม่ และข้ามไปพักพิงอยู่ในเมืองหาง เขตแดนพม่า สถานที่ พ.ท.พโยม เคยมีบทบาทสำคัญในการบัญชาศึกต้านทานกองทัพก๊กมินตั๋งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  ทว่า เมืองหาง มิใช่สถานที่อันคุ้นเคยของ พ.ท.พโยม อีกต่อไป

 

อุดม สีสุวรรณ ในนามปากกา พ.เมืองชมพู ที่มีโอกาสเดินทางไปพบ พ.ท.พโยม ที่เมืองหาง ได้สรุปถึงสถานการณ์รอบตัวของ พ.ท.พโยม ไว้ใน 'สู่สมรภูมิภูพาน' ว่า "1.ศึกกระเหรี่ยง ศึกคอมมิวนิสต์ และศึกพม่าอิสระที่รัฐบาลพม่ากำลังเผชิญอยู่นั้น ทำให้ดินแดนที่ลุง (หมายถึง พ.ท.พโยม) กำลังหลบภัยอยู่นั้นคับขัน 2.การปฏิเสธที่จะช่วยเจ้าเมืองพาน (เพื่อรบกับกระเหรี่ยง) ย่อมสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างคุณลุงกับคนเมืองหางที่เคยสร้างไว้ในอดีต 3. ความขัดแย้งกับพวกจีนฮ่อซึ่งนับวันมีอิทธิพลเหนือดินแดนอันน่าสงสารแห่งนี้ ทำให้ความปลอดภัยของลุงลดลงถึงระดับที่ยากจะประกันอะไรได้ "ทั้งสามประการดังที่วิเคราะห์นี้แสดงว่า ลุงอยู่ต่อไปไม่ได้เสียแล้วในดินแดนแห่งนี้ ลุงจะต้องหาทางเพื่อหลุดพ้นจากสถานะเช่นนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้"

 

และผู้เล่าเรื่องนี้ก็กลับจากเมืองหาง พร้อมกับเอกสารแสดงความจำนงเข้าร่วมกับ พคท.ของ พ.ท.พโยม เพื่อยื่นต่อ พายัพ อังคสิงห์ สมาชิกพรรคฯคนสำคัญ ที่ทำงานในเมืองอยู่ในขณะนั้น นั่นคือปี 2492 ขณะที่ ด.ช.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อายุได้เพียง 6 ขวบ พ.ท.พโยม กำลังเดินทางเลาะตะเข็บชายแดนไทย-พม่า-ลาว โดยการอำนวยความสะดวกจาก รวม วงศ์พันธ์ เข้าสู่แผ่นดินจีน ปลายทาง 'สำนักลัทธิมาร์กซ์-เลนิน' ณ กรุงปักกิ่ง 8 ปีในแผ่นดินจีน หล่อหลอมให้นายทหารเสนาธิการแห่งกองทัพไทยกลายเป็นนักปฏิวัติที่พร้อมจะทำงานเพื่อสร้างสังคมใหม่ พ.ท.พโยม คืนแผ่นดินเกิดในปลายสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี 2500 ในชื่อจัดตั้งว่า 'สหายคำตัน' หรือ 'ลุงคำตัน' ของนักปฏิวัติในยุคหลัง และกลับสู่บ้านที่บางโพในวันที่ลูกชายคนโตอายุได้ประมาณ 14 ปี พร้อมกับเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งกับพรรคสหภูมิ  ทว่า รัฐบาลชาตินิยมของจอมพล ป. กำลังถูกแทรกแซงอย่างหนักจากมหาอำนาจ รัฐบาลจอมพล ป. ได้รับการอธิบายผ่านสายตานักปฏิวัติว่า เป็นรัฐบาลที่เป็นอุปสรรคของนโยบายลงทุนเสรีของบรรษัทข้ามชาติ และสิ่งที่เรียกว่า นีโอ-โคโลเนียลิสม์ และเป็นอุปสรรคต่อการนำของสหรัฐอเมริกาเพื่อใช้ไทยเป็นปราการรับมือกับทฤษฎีโดมิโนในบริบทของสงครามเย็น ที่สุดจอมพล ป. ปิดฉากชีวิตทางการเมืองด้วยการถูกยึดอำนาจโดยคณะทหารที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ 16 กันยายน 2500 และอีกครั้งโดยผู้นำคนเดียวกันในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 พ.ท.พโยม และพลพรรค จำต้องหลบลงใต้ดินอีกครั้ง

 

ปี 2504 รวม วงศ์พันธ์ สมาชิกกรมการเมือง องค์กรสูงสุดของ พคท. ถูกจับและจอมพลสฤษดิ์ มีคำสั่งประหารชีวิต สถานการณ์ฝ่ายซ้ายคับขันและอยู่ในสภาพหนีตายเข้าป่า กรมการเมือง พคท.เรียกประชุมด่วน และมีเข็มมุ่งเตรียมการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตป่าเขาทันที  ปี 2506 ในเวลาที่ลูกชายคนโตใกล้จะจบโรงเรียนเตรียมทหาร พ.ท.พโยม หรือ 'สหายคำตัน' ในฐานะคณะกรรมกลางการพรรค ตัดสินใจเดินทางเข้าป่าที่ ตำบลดงหลวง อ.นาแก จ.นครพนม

 ตำบลดงหลวงในสมัยนั้นขึ้นกับอำเภอนาแกจังหวัดนครพนม เช่นเดียวกับอำเภอมุกดาหาร ต่อมาทางราชการจัดตั้งจังหวัดมุกดาหาร จึงเอาตำบลดงหลวงยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอดงหลวงจนถึงปัจจุบันนี้
หมายเลขบันทึก: 75179เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2007 22:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรื่องราวของลุงคำตัน เคยรับทราบได้ศึกษามานาน ตะวันเป็นคนพื้นถิ่น ที่สนใจงานปฏิวัติของประชาชน เห็นความไม่เป็นธรรมในสังคม จึงพยายามค้นคว้าจากตำรา หลายๆเล่ม ผู้รู้หลายๆท่าน บันทึกของ บางทราย เป็นสิ่งดีที่คนรุ่นหลังควรศึกษา

ท่านตะวันครับ ผมนั้นคลุกคลีกับดงหลวงเป็นเวลาเกือบสิบปีในนามคนทำงานพัฒนาชนบท ตั้งใจจะเก็บรวบรวมเรื่องรวมเหล่านี้แต่แค่เริ่มต้นเท่านั้น ยังคิดเสมอว่า หากมีใครสนใจลงทุนเวลาสักหน่อยคงรวบรวมประวัติศาสตร์ที่สำคัญนี้ ในขณะที่กลุ่มสหายกำลังีรวมตัวกันริเริ่มสร้างอนุสาวรีย์ผู้กล้า สาระเหล่านี้ก็ควรจะถูกรวบรวมและบรรจุไว้ในนั้นด้วย

ชื่อบางทรายผมนั้นก็มาจาก "ลำห้วยบางทราย" ที่มีประวัติศาสตร์เคียงคู่กับการต่อสู้ของพี่น้องที่นี่แหละครับ...

ขอบคุณครับ

ส.บางทราย ย่อมได้รับข้อมูลที่ถูกต้องกว่าใคร เพราะคุณทำงานในยุคที่ ความจริงเปิดเผยได้ ไม่เหมือนหลายๆท่านที่บันทึกความจริงไว้หลายปี จนกลายเป็นความจริงที่รอการเปิดเผย ทำงานร่วมกับพี่น้องไทยโซ่ที่ดงหลวง เรื่องเล่าขานที่ไม่น่าจะปล่อยให้ลืมเลือนไปคือ วีระกรรมที่สะพานทางออกบ้านดงหลวง ไปดอนสวรรค์ ของนักรบไทยโซ่ ที่มีผองเพื่อนผู้เสียสละชีวิตปกป้องแผ่นดิน หลายท่าน น่าจะเป็นเรื่องที่ใครๆก็อยากฟัง และคงไม่ใช่เรื่องห้ามเล่านะครับ

หากมีโอกาสผมจะเอาประเด็นนี้ไปสอบถามรายละเอียดต่อครับ ส.ตะวัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท