วัณโรคในประเทศไทย เสียดาย เสียใจ ที่ขาดการเหลียวแล


ผมสนใจปัญหาวัณโรค ตั้งแต่ 20 ปี ที่แล้ว คือ ตั้งแต่เรียนจบแพทย์  และยังติดตาม ความก้าวหน้าทางวิชาการ  ได้รักษาผู้ป่วย มาตลอด 20 ปี    อาจจะจัดเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัณโรค ที่ไม่ได้เป็นแพทย์เฉพาะทาง

ยิ่งต้องสนใจวัณโรค เมื่อ ปี 2533  ได้อ่านบทวิเคราะห์ สถานการณ์อนาคตของวัณโรค ที่วิเคราะห์โดยคณะผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ว่า

ในปี 2000  จะมีผู้ป่วยวัณโรคทั่วโลก เพิ่มขึ้น ประมาณ ร้อยละ 10 จากปี 1990   โดยร้อยละ 5 ที่เพิ่มขึ้น จะมาจากปัญหาเอดส์ และอีก ร้อยละ 5 มาจากปัญหาคนจนเขตเมืองที่เพิ่มขึ้น

ถึงเวลานี้ก็คงจริง อย่างที่คาดการณ์

ว่าไปแล้ว เรื่องวัณโรค นี้     รายงานธนาคารโลก ในปี 2536  ได้ประกาศว่า จัดเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคที่มีคุ้มค่าใช้จ่ายมากที่สุด ในการช่วยให้คนมีสุขภาพดีกลับคืนมา และใช้ค่าใชจ่ายน้อย  เรียกว่า cost effectiveness สูง

หมายความว่า หากรักษาคนป่วยที่แพร่เชื้อหาย ก็ป้องกันเขาไม่ให้ตายก่อนวัย  หรือ ป้องกันไม่ให้เขาแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นอีกเป็นจำนวน 10-20 คน

แต่การจัดการของประเทศไทย ไม่เก่งอย่างที่ควร   เพราะหลายเหตุผลเช่น  ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องไม่คิดว่า จะหาเสียง กับคนป่วยที่ยากจน  หรือผู้ป่วยก็ยากจน ด้อยการศึกษา จน ไม่เป็นกลุ่มเรียกร้องกดดันรัฐให้จัดรัฐสวัสดิการ เหมือนกลุ่มโรคเอดส์ ที่มีการศึกษาสูงกว่า รวยกว่า เรียกร้องเก่งกว่า

ปีหนึ่งๆ  องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า น่าจะมีคนป่วยวัณโรคปีละ หนึ่งแสน คน   แต่ได้รับการักษาปีละ 5-6 หมื่นคน

คนป่วยวัณโรคที่จน น่าสงสารมากครับ ผมพบหลายครั้งที่ ไม่มีบัตรประชาชน แต่ย้ายถิ่นฐานหากิน อยู่ดีๆ สิทธิการรักษาฟรีมีบัตรทอง ก็เกิดขึ้น แต่เขา ไม่มีสิทธิได้แม้กระทั่งบัตรทอง

ส่วนหนึ่งของคนป่วย ก็ไม่น่ารักนัก เช่น ดื่มสุราประจำ จนอ่อนแอ

ปัจจุบัน ในกลุ่มประเทศอาเชียน  ประเทศไทยมีผลการจัดการเชิงระบบวัณโรคแย่ที่สุด และยังเป็นชนิดมีแนวโน้มแย่ลง เรื่อยๆ 

ผลงาน ประเทศเรา แพ้ พม่า ลาว เขมร อินโดนีเซีย  และยิ่งแพ้เวียดนาม

นับแต่ปฏิรูป ราชการ กระทรวงสาธารณสุข และ มีสำนักจัดการ งบประมาณการรักษาคนไทย ยุคทักษิณ  มีข้อดี แต่ข้ออ่อนก็มาก

เช่น โครงการวัณโรคแห่งชาติ งบประมาณถูกตัด  ถูกย้ายไปภายใต้การจัดการของ สปสช 

เคยทราบข่าวว่า จะจัดการให้ดีขึ้น เป็นธรรม เพียงพอ โดยสปสช ในปีงบประมาณ 2549  แต่คนที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ก็ตกลงไม่ได้ ตกลงไม่ทัน  จึงผ่านไปแบบไร้การจัดการเชิงระบบ อย่างที่หวัง

ปี 2550  คนที่เกี่ยวข้อง และมีอำนาจ ฝ่ายต่างๆ ก็คุยกันไม่รู้เรื่อง หรือ จะประลองกำลัง อะไรก็ไม่แน่ใจ    ระบบวัณโรคก็ไม่มีการจัดการใหม่ที่เพียงพอ   และ ไม่เป็นข่าวแก่ สื่อมวลชนเลย

นับว่า งบประมาณ และ การจัดการ ที่มึนว่า ใครต้องถูกด่ากันแน่ ที่คนไทย สังคมไทย รักษาจัดการวัณโรค สู้ ลาว พม่า เขมร เวียดนาม อินโดนีเวีย ไม่ได้อย่างต่อเนื่องมาหลายปี

นานาชาติ แจก เหรียญตราสดุดี ประเทศไทย ให้ตรา หัวกระโหลกไขว้เป็น 1 ใน 4ประเทศ   ที่มีปัญหาวัณโรคมาก 22 ประเทศทั่วโลก  เราเป็นประเทศลำดับที่ 19 ที่มีจำนวนผู้ป่วยมาก    จีน และอินเดีย เป็นลำดับ 1  2 ที่มีผู้ป่วยมาก แต่จัดการดี

ประเทศเรา เป็น หนึ่ง ใน สี่ ประเทศ ยอดห่วย อย่างต่อเนื่อง จนนานาชาติ เตือนแล้วเตือนอีก เรายังปรับปรุงไม่ได้

เรื่องนี้ นักการเมือง สส สว ก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจ ไม่มีใครเรียกร้องสอบสวน แทนประชาชน

ในต่างประเทศ มีคนป่วยปีละ หมื่นคน เขาทุ่มงบประมาณให้เพียงพอ จัดการตามมาตรฐานสากล  โดย สว บ้าง   นักบริหารบ้าง

เท่าที่เสียดาย คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดสรรงบประมาณให้กับทุกโรค  ที่มีผู้เชี่ยวชาญสนใจ หรือ มีกลุ่มผุ้ป่วยเรียกร้อง เช่น ผ่าตัดหัวใจ  ผ่าตัดตา โรคเลือด  โรคมะเร็ง 

แต่วัณโรค ไม่มีอาจารย์มหาวิทยาลัยสนใจ  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอดก็มีหลายสาขา วัณโรค ไม่มีความตื่นเต้นอะไร  สู้มะเร็งปอดไม่ได้ มียาใหม่ๆ ให้น่าสนใจกว่า

ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา คือ ให้ไปเขียนโครงการขอเงินทำงาน จากกองทุนโลกเพื่อเอดส์ มาเลเรีย วัณโรค  เพราะงบประมาณประเทศไม่พอ

ขณะนี้ ยิ่งไม่ต้องมาพูดเลย หวัดนก จองพื้นที่หมดแล้ว แต่ละปีเรามีคนตายจากวัณโรค ไม่ต่ำกว่า 1000 คน   ส่วนหวัดนกเรา บางปีไม่มีคนตายเลย   หวัดนกกินยา 1000 บาท ก็หาย  ใน 10วัน  ส่วนวัณโรค ค่ายา ค่าตรวจ ค่าแพทย์ 3- 4000 บาท ต่อราย กินยานาน 6 เดือน

หากดื้อยา ค่ายาจะตกเป็นแสน บาท ต่อราย  ขณะนี้การดูแลรักษาไม่ดีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาเพิ่มขึ้น  ซึ่งแต่ละ รพ ก็มักจะไม่มียา  เพราะจัดหายาก

จึงต้องย้อนกลับไป จัดการให้รักษากินยาให้ต่อเนื่องจริงๆ    ความจริงแล้วผมคิดว่า เราไม่ได้อ่อนด้อยกว่า ลาว พม่า เวียดนาม ในเชิงงบประมาณ และการจัดการ

   แต่เราด้อยผู้นำการจัดการครับ  ผู้นำในการจัดการความเป็นธรรม ในการจัดสรรทรัพยากร อย่างสมเหตุสมผล

 

คำสำคัญ (Tags): #วัณโรค
หมายเลขบันทึก: 74235เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2007 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท