ครูปิยะ : ภาพสะท้อนแบบฉบับครูบ้านนอกที่สอนคน ไม่ใช่สอนหนังสือ


เนื่องในวันครูปีนี้..ผมอยากเริ่มต้นบันทึกที่เกี่ยวกับครูในอุดมคติที่อาจไม่มีชีวิตอยู่จริงในสังคม

เมื่อสมัยยังเด็ก ๆ  ผมเคยดูภาพยนตร์เรื่อง "ครูบ้านนอก"  จากรถฉายหนังที่เร่ฉายในลานวัด  ผมนั่งตักแม่ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ท่ามกลางค่ำคืนที่ดาวยังห่มฟ้า  และสายลมหนาวก็ยังพัดวู่หวิวและเย็นยะเยือก

ครูปิยะ  แห่งโรงเรียนบ้านหนองหมาว้อ  คือตัวละครเอกที่ใครต่อใครรักและชื่นชม  เป็นขวัญใจของชาวบ้านแทบทุกหมู่บ้าน  และในโลกของความเป็นจริงผมก็เชื่อว่า ครูปิยะ คือ ครูในดวงใจของครูหลาย ๆ คนที่ทำหน้าที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติ...

ผมดูภาพยนตร์เรื่องนี้มากกว่า 5 ครั้ง  อ่านนวนิยายที่แต่งโดยคุณคำหมาน คนไท มากกว่า 3 ครั้ง ... และเก็บหนังสือเรื่องนี้ไว้กับตัวเอง 3 ปก

เมื่อสมัยที่เป็นเด็กนักเรียน ไม่มีรองเท้าใส่  ไม่มีกระเป๋าหนังสือก็ยังเฝ้าฝันว่าอยากจะมีครูใจดี ๆ  นิสัยดี ๆ  และเก่งเหมือนครูปิยะ..  แต่พอโตขึ้นผมก็รับรู้ว่านั่นคือ "ภาพลักษณ์ในอุดมคติ"  ของความเป็น "ครู"  ที่สังคมไทยพึงปรารถนา

....

ผมเรียนรู้และเข้าใจโลกและชีวิตตามลำดับของวัยที่เติบโตและงอกงามทั้งจากโรงเรียนและชายคาบ้าน   รวมถึงสังคมรอบข้างที่กว้างใหญ่ไพศาล  ... 

ภาพลักษณ์ของครูเปลี่ยนไปตามยุคสมัย สอดรับกับกระแสโลก  แต่ก็ยังมีความเป็น "ครู"  ที่สูงค่าและสูงส่งเสมอในห้วงนึกของผม

ในโลกและชีวิตแห่งความเป็นจริง..  ผมมีครูที่ผมรักและเคารพอย่างมากมาย  แต่ในโลกแห่งอุดมคติผมก็ยังคงมี "ครูปิยะ"  เป็นครูในดวงใจสืบมาจนถึงทุกวันนี้

....

ผมชอบครูปิยะ  เพราะครูปิยะ  "ดู๋สอน" (ขยันสอน) "เฮ็ดเวียกเก่ง" (ทำงานเก่ง)  เป็นครูบ้านนอกที่รักและศรัทธาในความเป็น "แม่พิมพ์ของชาติ"  ... ครูปิยะพาเด็กเลี้ยงไก่ ปลูกต้นไม้ ปลูกผัก  สร้างที่อ่านหนังสือพิมพ์  สร้างห้องสุขาในโรงเรียน ครูปิยะคือสายสัมพันธ์ของโรงเรียนกับชุมชน  และอื่น ๆ อีกมากมาย...

......

เนื่องในวันครูปีนี้..ผมอยากเริ่มต้นบันทึกที่เกี่ยวกับครูในอุดมคติที่อาจไม่มีชีวิตอยู่จริงในสังคม  หากแต่มีชีวิตและลมหายใจอยู่แต่เพียงในวรรณกรรมเท่านั้น...  ซึ่งครูท่านนั้น ก็คือ ครูปิยะ  แห่งหนองหมาว้อ..

ผมได้คัดลอกข้อความในนวนิยายเรื่อง "ครูบ้านนอก"  ที่เป็นภาพสะท้อนอุดมคติของครูที่มีต่อพันธกิจของชาติในการบ่มเพาะนักเรียนให้เติบโตและงอกงามอย่างมีคุณค่า   โดยเฉพาะถ้อยคำของครูหนุ่มปริญญาเอกที่ครูปิยะจดจำขึ้นใจ  และถือเป็นแบบแผนในการเป็นครู   ดังว่า

"หลักสูตรเป็นเสมือนเครื่องมือที่จะนำไปสู่เป้าหมาย  ครูเป็นผู้ใช้เครื่องมือ  ดังนั้นครูจึงเป็นผู้กำหนดดอกผลทางการศึกษา  ประเด็นเกี่ยวกับการใช้หลักสูตร  หรือการจัดการเรียนการสอนของครูมีอยู่สองตอน  ตอนแรก  ครูสอนหรือไม่สอน  ถ้าครูไม่สอนเป็นแต่เพียงนั่งบังเสารับเงินเดือนรอวันเกษียณอายุเพื่อรับบำนาญ  การศึกษาก็พังไปหมดแถบแล้ว  ตอนที่สอง  ถ้าครูสอนก็ต้องถามต่อไปว่า  สอนอย่างไร  สอนโดยวิธีบอก  สอนให้จด  สอนให้จำ  หรือสอนให้ทำ หรือสอนให้รู้จักคิด  การจัดการเรียนการสอนที่พึงประสงค์ คือ สอนคน  ไม่ใช่สอนหนังสือ"

นั่นคือ ทัศนะของผู้เขียนที่ฝากแฝงผ่านตัวละครในนวนิยายเรื่องครูบ้านนอก  เป็นทัศนะวิพากษ์กระบวนการเรียนการสอนของระบบการศึกษาไทยในยุคสมัยหนึ่ง...แต่ปัจจุบันสภาพการณ์ต่าง ๆ วิวัฒน์ไปสู่การพัฒนาติดจรวดไปไกลกว่าที่ปรากฏในนวนิยายมากนัก...

ถ้อยวิพากษ์นั้น..ชวนให้ผมคิดถึงอาจารย์ท่านหนึ่งที่สอบสัมภาษณ์ผม  ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง  แต่ไม่ใช่ มมส แห่งนี้...ท่านถามผมว่าใช้คอมพิวเตอร์เก่งหรือไม่ ?

ผมตอบว่า "ใช้ได้เพียงเล็กน้อย"  ท่านปลอบประโลมและให้กำลังใจว่า "ไม่เป็นไร ถ้ารักจะเป็นนักกิจการนักศึกษา   เราต้องอยู่กับนักศึกษา ดูแลใส่ใจใกล้ชิดกับพวกเขา  ไม่ได้ฝังลึกอยู่กับเครื่องมือเหล่านี้"

ในยุคที่เครื่องมือสื่อสารได้กลายเป็นสะพานการเชื่อมสานและสื่อสารกันและกัน...ผมก็ยังเลือกวิธีการอยู่ร่วมกับนิสิตแบบฝังลึก พูดคุย พบปะและจริงใจที่จะรับรู้และรับฟัง....พวกเขา...มากกว่าการใช้เครื่องมือใด ๆ  หรือจะใช้ก็ต่อเมื่อจำเป็นจริง ๆ

....

วันครูปีนี้..  คิดถึงความเป็นครูปิยะ  ที่มีอยู่ในจิตวิญญาณของครูผู้ที่สั่งสอนและอบรมผมมายาวนานจากอีกจวบปัจจุบัน   และยังส่งต่อให้ผมมายืนอย่างมีตัวตน ณ วันนี้ ....

 

 

หมายเลขบันทึก: 72964เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2007 21:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

ประทับใจหนังเรื่องนี้เหมือนกันคะ  เคยดูตอนอยู่มหาลัย

และน่าสนใจคะ ที่คุณแผ่นดิน บอกว่า 

"  ผมก็ยังเลือกวิธีการอยู่ร่วมกับนิสิตแบบฝังลึก พูดคุยพบปะและจริงใจที่จะรับรู้และรับฟัง....

พวกเขา...มากกว่าการใช้เครื่องมือใด ๆ "

เป็นเรื่องที่ดีมากคะ  ตอนเป็นนักศึกษาก็ต้องการอาจารย์ที่

เข้าใจแบบนี้เหมือนกัน 

ขอกราบครูตลอดชีวิต ด้วยดวงจิตอันผ่องใส

มีครูดี เป็นศรีแก่ชาติ มีครูฉลาด ชาติเจริญ

ขอความดีที่ครูทั้งหลายทำมาตลอดชีวิต

จงนำพาครูให้พบแต่สิ่งดีดี แท้แท้ 

หากไม่มีครู  จะไม่มีหนูในวันนี้

หากไม่มีครู  พวกเราจะอยู่ได้อย่างไร

หากไม่มีครู พวกหนูไม่มีวันอันสดใส

ขอพวกเราจงน้อมใจ คารวะไว้แด่ ครูทุกคน

ครูดีดี แท้แท้ มีมากกว่าที่คิด 

  • แน่นอนครับ การพบกันแบบเห็นหน้าเห็นตากัน (F2F) ย่อมดีกว่า แบบไม่เห็นกัน
  • แต่การใช้เทคโนโลยีช่วย (B2B) ย่อมทำให้ การเชื่อมโยง ในวงกว้างได้รวดเร็วกว่า
  • จะให้ดีต้องมีทั้งสองอย่าง อย่างสมดุลย์ เช่นเดียวกับ เรื่องของ วงจรไม่รู้จบ ระหว่าง การจัดการความรู้แบบ Tacit กับ Expicit ของท่านอาจารย์ ดร. ประพธ์

สัวสดีครับ...คุณ  ดอกแก้ว

  • ขอบคุณมากครับ..
  • ทุกวันนี้ ถ้าเลือกได้ผมไม่ชอบคุยโทรศัพท์กับนิสิตมากนัก  เว้นเสียแต่เป็นเวลาดึกดื่นแล้ว ถ้าเป็นเวลาปกติ นิสิตจะรู้เองว่าถ้าอยากหารือก็มักจะมาพบ หรือนัดหมายการพบปะด้วยตนเองเสมอ
  • ผมชอบการคุย...ได้เห็นแววตา อารมณ์ ความรู้สึกที่แจ่มชัดกว่าการใช้เทคโนโลยี แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธเสียทั้งหมด
  • เพราะยังไงก็ยังเป็นเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญเสมอ

สวัสดีครับ  คุณ  จิระนันท์

  • ขอบคุณในบทกลอนอันไพเราะ นะครับ
  • และขอบคุณเป็นอย่างยิ่งครับกับข้อคิดอันสำคัญที่ว่า "ครูดีดี แท้แท้ มีมากกว่าที่คิด"
  • ในโลกและชีวิตอันเป็นจริง..ผมก็เชื่อเช่นนั้นเหมือนกัน

 

อาจารย์  Panda

  • ขอบคุณครับ
  • และแน่นอนอย่างไรเสียในกระบวนการ ลปรร. ก็ยังคงต้องมีทั้งสองทางเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งF2Fและ B2B
  • ขอบคุณอาจารย์อีกครั้งนะครับ
  • เคยดูเหมือนกันค่ะ ภาพยนต์เรื่อง ครูบ้านนอก แต่จำรายละเอียดไม่ค่อยได้ดีนัก...แต่มาขอร่วมเทอดทูนบูชาครู   อาจารย์ ทุกท่านในบันทึกนี้ค่ะ...นู๋ทิมโชคดีมาตลอดพบเจอแต่ครู อาจารย์ ที่ทำหน้าที่ผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ ในฐานะผู้ให้การศึกษาของชาติ และคือผู้กำหนดอนาคตของคนในชาติ ที่ยิ่งกว่านั้นคือเป็นพ่อแม่คนที่สองของลูกศิษย์ค่ะ...หากไม่มีครูในวันนั้น...คงไม่มีเราในวันนี้...

  สวัสดีครับ  nutim

  • ขอบคุณครับ
  • และก้ประทับใจในคำกล่าวของคุณนู๋ทิมนะครับที่ว่า "ครูเป็นพ่อแม่คนที่สองของลูกศิษย์"
  • และครูคือผู้กำหนดอนาคตของคนในชาติ
อยากได้หนังเรื่องนี้มากครับ  จะเก็บไว้เปิดให้ลูกหลานได้ดู ถ้าเป็นไปได้อยากให้นำออกมาฉายอีกครับ เอาแบบเดิม ๆ ไม่รู้จะมีหรือเปล่าครับ ชอบมากครับเคยดูสมัยยังเป็นเด็ก....หนังไทยยังมีอะไรให้คิดอีกเยอะครับ

สวัสดีครับ  คุณลำดวน หงษ์ศิริ

เกือบไม่ได้เจอมามีคนมาทักต่อยอดในบันทึกนี้นะครับ

เข้าใจว่าผมมีอยู่ 1 ชุด ยินดีส่งไปให้ครับ,  แล้วจะรีบค้นและส่งไปในในเร็ววันครับผม

รบกวนขอรายละเอียดเกี่ยวกับที่อยู่ด้วยนะครับ

ขอบพระคุณมากครับ ที่อาจารย์ได้สละเวลาหาสิ่งที่ผมต้องการและอีกเรื่องหนื่งที่ต้องการก็คือเรื่อง ลูกอีสาน ไม่รู้จะเป็นการรบกวนมากเกินไปหรือเปล่า แต่เรื่องนี้ก็เป็นชีวิตของชนบทอย่างแท้จริง ถ้าไม่เป็นการรบกวนมากเกินไปก็ขอความกรุณาอาจารย์ด้วยครับ ผมก็เป็นลูกอีสานคนหนึ่งที่พยายามอยากให้ลูกอีสานทุกคนที่ไปทำงานที่กรุงเทพรู้สำนึกรักบ้านเกิดบ้าง.....รบกวนอาจารย์ส่งตามที่อยู่นี้นะครับ...

นายลำดวน  หงษ์ศิริ

30/168 หมู่บ้านปลาทอง ซ.12 ถ.ศรีนครินทร์

ต.บางแก้ว  อ.บางพลี..จ.สมุทรปราการ 10540

ขอบคุณครับ

ด้วยความศรัทธาค่ะ


การศึกษาพัฒนาคนในชาติ

ให้สามารถสร้างชีวิตประสิทธิผล

เศรษฐกิจบ้านเมืองเรืองถกล

ด้วยเยาวชนของชาติปราชญ์วิทยา


                    ครูคือผู้เสริมสร้างพลังของชาติ

                    สอนเด็กฉลาดสามารถแก้ปัญหา

                    ให้คิดเป็นทำเป็นเน้นพัฒนา

                    เสริมเติมค่านิยมคุณความดี


ครูจึงต้องฝักใฝ่ให้รอบรู้

สมเป็นผู้นำสังคมสมศักดิ์ศรี

มุ่งพัฒนาวิชาชีพให้สอนดี

อีกทั้งมีคุณธรรมประจำใจ


                    เกียรติของครูอยู่ที่เปรื่องปราชญ์วิทย์

                   ยอมอุทิศประพฤติตนเป็นแบบได้

                   สั่งสอนศิษย์คิดช่วยด้วยจริงใจ

                   สังคมไทยเชิดชูครูปูชนียชน


ขอครูไทยทั้งมวลสงวนศักดิ์

สร้างภาพลักษณ์ศักดิ์ศรีทวีผล

ประพฤติตนให้สมเป็นครูคน

สร้างเยาวชนพัฒนาไทยให้เจริญ


          เป็นบทกลอนซึ่งประพันธ์โดย พะนอม แก้วกำเนิด จากหนังสือครูดีคุรุสภา 2532-2533 ดิฉันขออนุญาตนำมาต่อยอดในบันทึกนี้ด้วยคนค่ะ เพราะใจไม่ค่อยดีจากประโยคที่ว่า แต่พอโตขึ้นผมก็รับรู้ว่านั่นคือ "ภาพลักษณ์ในอุดมคติ"  ของความเป็น "ครู"  ที่สังคมไทยพึงปรารถนา ซึ่งแม้ความจริงมีสัดส่วนของครูประเภทนี้มากน้อยยังไม่มีใครยืนยันได้ก็ตาม

        

ประทับใจในภาพยนตร์เรื่องนี้เหมือนกัน   เลยมายึดอาชีพเดียวกันกับครูปิยะ   แม้ว่าครูเอียดจะไม่ใช่ครูบ้านนอก  แต่การปฏิบัติของครูปิยะในภาพยนตร์ยังอยู่ในใจตลอดมา  และถือเป็นแนวปฏิบัติในการสร้างสรรค์เยาวชนให้เป็นคนดี

ขอบคุณที่เล่าเรื่องดีๆให้ฟัง

  • เคยดูรายการอะไรไม่แน่ใจ นักเรียนเขาก็ไม่มีรองเท้าและเสื้อก็เก่า เขามีอมยิ้ม 1 อันเขาแบ่งกันกินน่ารักมากคะ

ขอบคุณครับคุณแผ่นดิน

ครูสอนหนังสือเกิดจากระบบ ครูสอนคนเกิดจากตัวครูเอง

โลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ระบบก็เปลี่ยนแปลงตาม

แต่กระผมเชื่อว่าความเป็นครูสอนคนยากจะเปลี่ยนแปลง

ปล. ช่วงลงไปนครฯ ขากลับหากมีเวลาแวะเที่ยวประจวบฯ ยินดีต้อนรับนะครับ ติดต่อที่เบอร์ 0899778987

ขอส่งความสุขสวัสดีปีใหม่

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ขอให้คุณแผ่นดินและบุคคลอันเป็นที่รักประสบแต่สิ่งที่ดีงาม ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและภยันตรายทั้งปวงนะครับ

เคยดูตอนเด็กๆ ยังจำได้ สภาพผมตอนเด็กก็เหมือนลูกศิษย์ครู ปิยะ น่ะเเหละมอมๆ ไม่มีรองเท้า เสื้อสีกากีเก่าๆเมื่อคืนก็เลยเปิดดูอีกรอบ(สั่งซื้อมาสะสม) เศร้ามากน้ำตาจะไหล..........

ผู้ยึดมั่นในอุดมคติ(สภานิสิต๕๑)

ไม่เคยรู้มาก่อน เมื่อเข้าสู่ปี ๒๕๔๘ ได้มาเป็นนิสิตที่ มมส สาขาวิชาภาษาไทย ชั้นปีที่ ๑ อาจารย์ธัญญาได้เปิดเรื่อง ครูบ้านนอกให้ดู ครั้งแรกที่ดูก็ประทับใจมาก ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่อยู่ที่นี่เรื่องนี้ผมดูไม่น้อยกว่าสิบรอบแล้ว และยังได้อ่านฉบับของครูคำหมาน คนไค ที่เขียนเป็นนวนิยายก่อนถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ก็อ่ายหลายครั้งพอสมควร และมีบางอย่างที่ในภาพยนตร์ไม่ได้นำเสนอเอาไว้ อยากฝากผู้ที่เคยดูแต่ภาพยนตร์ลองอ่านดูบ้างจะได้เห็นอะไรบางอย่างที่มากกว่าเดิม ยอมรับว่าชอบและจะยึดมั่นเป็นแบบอย่างตลอดไป

ได้ดูหนังเรื่องนี้เเล้ว บอกว่าเข้ากับอุดมการณ์และความรู้สึกของตัวเองจริงๆครับ พี่นัส

แต่ว่าฉากจบก็แสดงให้เห็นเลยว่าความอยุติธรรมในสังคมมันมีเสมอมา ผมเองเห็นฉากที่ครูปิยะโดนยิงเสียชีวิตแล้วก็เศร้าใจ ครับ

หลงรักครูปิยะเลยละ

ผมอ่านนิยายครูบ้านนอกเป็นนิยายที่สอนให้ผมรู้จักรการเสียสละมากขึ้นเป็นนิยายที่ดีมากๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท