โครงการเสียงเด็ก


เป้าหมาย : ให้เด็กและเยาวชนใช้เวลาว่างอย่างเกิดประโยชน์ มีทักษะชีวิต และสร้างสุขภาพกายและจิตที่ดี ผ่านกิจกรรมหลักคือค่ายอบรมละคร และสร้างแกนนำเด็กทั้งในโรงเรียนและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กนอกระบบไปพร้อมกัน

โครงการเสียงเด็ก

 

1.      คำสำคัญ        : เด็กและเยาวชน, ละคร, ค่าย, จัดกระบวนการเรียนรู้

 

2.      จังหวัด : ชลบุรี

 

3.   กลุ่มเป้าหมาย  : เด็กในโรงเรียนและเด็กนอกระบบ ในเขตเมืองพัทยา จ.ชลบุรี และเด็กด้อยโอกาสจากเครือข่าย นอกเขตเมืองพัทยา

 

4.   เป้าหมาย        :  ให้เด็กและเยาวชนใช้เวลาว่างอย่างเกิดประโยชน์ มีทักษะชีวิต และสร้างสุขภาพกายและจิตที่ดี ผ่านกิจกรรมหลักคือค่ายอบรมละคร และสร้างแกนนำเด็กทั้งในโรงเรียนและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กนอกระบบไปพร้อมกัน

 

5.   สาระสำคัญของโครงการ  : เนื่องจากพื้นที่เมืองพัทยาเป็นพื้นที่ของแหล่งบันเทิง เด็กหลายคนเข้าสู่ระบบแรงงานตั้งแต่เด็ก ขณะที่เด็กในระบบก็ไม่มีโอกาสทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์เนื่องจากไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่ โดยถึงแม้จะมีองค์กรการกุศลหรือมูลนิธิต่าง ๆ อยู่ในพื้นที่ แต่ก็เน้นที่การช่วยเหลือเด็กที่ได้รับความเดือดร้อนแล้ว (เน้นแก้ปัญหา) มากกว่าที่จะสร้างโอกาสให้เด็กก่อนที่จะมีปัญหา โครงการฯ เกิดจากศูนย์กิจกรรมการเรียนรู้ ศูนย์ประสานงานกิจกรรมเด็กและเยาวชนเมืองพัทยา ที่ทำงานทั้ง 2 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งก็ช่วยเหลือเด็กที่เดือดร้อน (ทำงานด้านสิทธิเด็ก) และอีกส่วนทำงานด้านการสร้างสรรค์ เน้นการทำกิจกรรมที่เด็กจะสามารถเป็นผู้คิด และทำงานได้ตลอดกระบวนการผ่านการอบรมให้ความรู้ของทีมงาน และเป็นความรู้ที่จะติดตัวไปใช้ในอนาคตได้ ทั้งนี้มีต้นทุนคือประสบการณ์ด้านละคร และต้นทุนเครือข่ายเคเบิลทีวี จึงได้ออกแบบกิจกรรมการอบรมค่ายละครเพื่อให้เด็กได้ฝึกคิด เรียนรู้ และมีเวทีให้พัฒนาฝีมือออกรายการทีวีด้วย

 

6.   เครื่องมือที่ใช้ : มีกิจกรรม 3 ส่วน ได้แก่ (1) ค่ายอบรมละคร เป็นการให้ความรู้เรื่องการแสดงละคร ทักษะการคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยให้ความรู้ทั้งส่วนที่เป็นการแสดง (วิชาการ) และนันทนาการ (ทักษะการทำงาน)  (2) การตอกย้ำและพัฒนาความสามารถของเด็กอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมการแสดงใน 12 โรงเรียนที่เข้าร่วมโดยให้เด็กเป็นคนคิดการแสดงและหาทีมเอง และกิจกรรมการเล่นละครเพื่อออกอากาศในเคเบิล ทีวีท้องถิ่น (3) การสร้างกำลังใจให้เด็กเกิดกระบวนการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมการแสดงเคเบิล มีการพูดคุยในการทำงานทุกครั้งเพื่อสรุปข้อดีข้อเสีย รวมทั้งกิจกรรมวันเยาวชน ที่เด็กมีโอกาสแสดงต่อหน้าคนจำนวนมาก และได้รับการยอมรับทำให้เกิดความมั่นใจและภูมิใจในตนเอง

 

7.   การจัดระบบ โครงสร้าง กระบวนการทำงาน  : เนื่องจากหัวหน้าโครงการมีประสบการณ์ในการทำงานด้านเด็กและเยาวชน มีเครือข่าย จึงได้ทีมอบรมจากกลุ่มละครมะขามป้อม ซึ่งมีศักยภาพในการดึงพลังสร้างสรรค์ของเด็ก และกระตุ้นให้เด็กเกิดทักษะและความคิด อีกทั้งมีเคเบิลทีวี ที่ช่วยให้การจัดกระบวนการเกิดความต่อเนื่อง และตอกย้ำเรื่องการพัฒนาตัวเองของเด็ก ซึ่งกลุ่มเด็กเก่าที่เคยเป็นพี่เลี้ยงก็ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น เด็กใหม่ ๆ ที่เข้ามาก็มีโอกาสพัฒนาฝีมือไปเรื่อย ๆ ทำให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน

 

8.   ขอบเขตและระยะเวลาดำเนินโครงการ  : 1 ปี ( 1 กรกฎาคม 2546 - 30 มิถุนายน 2547) โดยดำเนินกับเด็กทั้งหมด 78 คน แบ่งเป็น (1) เด็กในโรงเรียนจำนวน 48 คน (โรงเรียนละ 4 คน 12 โรงเรียน) (2) เด็กด้อยโอกาสจากมูลนิธิต่าง ๆ 15 คน (3) เยาชนนอกเขตเมืองพัทยา 15 คน นอกจากนี้ยังมีอาจารยที่ปรึกษาจากโรงเรียนที่เข้าร่วมแห่งละ 1 คน รวม 12 คน

 

9.   การประเมินผลและผลกระทบ  : โครงการมีกระบวนการประเมินผลอย่างไม่เป็นทางการ ผ่านการเข้าไปร่วมกิจกรรมการแสดงใน 12 โรงเรียน หลังจากเด็กได้มาร่วมเข้าค่ายกับโครงการแล้ว ต้องกลับไปเตรียมทีมงาน เนื้อหา และกิจกรรมที่จะแสดงให้ทีมงานดูในโรงเรียนของตน ซึ่งเด็กที่ผ่านกระบวนการ จะต้องหาทีมใหม่จากในโรงเรียน และมีการจัดกระบวนการแบบที่ตัวเองมีประสบการณ์มากับโครงการ เมื่อถึงวันแสดง ทำให้สามารถประเมินผลเด็กได้จากวิธีคิดและรูปแบบการแสดงที่เด็กเสนอ นอกจากนี้ในบางโรงเรียนยังมีการจัดตั้งเป็นชมรม หรือจัดเวทีแสดงทุกวันอาทิตย์เพื่อพัฒนาฝีมือของตนเอง ซึ่งทีมงานยังคงเข้าร่วมกิจกรรมที่เด็กจัดตามวาระโอกาส แม้จะหมดโครงการไปแล้ว

 

10. ความยั่งยืน     : เด็กที่ผ่านกระบวนการของโครงการ มีการขยายตัวด้วยการไปตั้งกลุ่มย่อย ๆ ขึ้นในโรงเรียนของตนเอง และสร้างสรรค์กิจกรรมขึ้นในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง และกระบวนการทำงานของโครงการเป็นการติดตั้งวิธีคิด และการทำงานร่วมกับผู้อื่นให้เด็กด้วย ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์กับการใช้ชีวิตส่วนอื่นได้นอกเหนือจากการทำกิจกรรม

 

11. จุดแข็ง และ อุปสรรค  : เนื่องจากผู้ทำโครงการมีประสบการณ์ และมีเครือข่ายการทำงานกับเด็กมาตลอดระยะเวลาหลายปี ทำให้สามารถเลือกสรรกระบวนการและกิจกรรมที่จะสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้ อีกทั้งเห็นความแตกต่างของกลุ่มเด็กในโรงเรียนและเด็กนอกโรงเรียน จึงมีกิจกรรมที่จะปรับพฤติกรรมของเด็กทั้ง 2 กลุ่มให้เข้ากันได้ และมีเนื้อหาที่สามารถเรียนรู้ได้เท่าเทียมกัน ทำให้เด็กสนุกกับกิจกรรมและเรียนรู้การทำงานกับผู้อื่นไปพร้อมกัน เครือข่ายที่มีก็เป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์การทำงานกับเด็กและมีความชำนาญได้รับการยอมรับในวงกว้าง ทำให้ผลที่ออกมาค่อนข้างประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังมีครูเป็นตัวกลางคอยประสานข้อมูลและกิจกรรมต่างๆ ระหว่างศูนย์กับเด็ก จึงทำให้เกิดความต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกัน ครูในพื้นที่ก็มีการย้ายเข้า ออกอยู่บ่อย ๆ จึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ข้อมูลของเด็กจากหลายโรงเรียนหายไป นอกจากนี้โดยธรรมชาติของพื้นที่โครงการ (พัทยา) ก็เป้นพื้นที่ที่เปิดให้มีกิจกรรมสำหรับเด็กน้อยกว่ากิจกรรมบันเทิง ทำให้การขับเคลื่อนงานตามเป้าหมายโครงการเป็นไปได้ไม่เท่าที่ทีมงานคาดหวัง

 

12.  ที่ติดต่อ   :       ศูนย์กิจกรรมการเรียนรู้ ศูนย์ประสานงานกิจกรรมเด็กและเยาวชนเมืองพัทยา

ที่อยู่ 50 หมู่ 10 ต.หนองปรือ  อ.บางละมุง จ.ชลบุรี 20260

ณัฐพงษ์  ศุขศิริ ประธานอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิเด็ก จ.ชลบุรี 081-485-4323

หมายเลขบันทึก: 72098เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2007 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 14:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท