GotoKnow

ชีวิตที่พอเพียง  4919. จากฟังไม่รู้เรื่อง สู่การเรียนรู้อนาคตของการศึกษา

Prof. Vicharn Panich
เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2568 15:37 น. ()

 

เช้าตรู่วันอาทิตย์ที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๘ ผมเอาผ้าใส่เครื่องซักผ้า   แล้วค้นหาเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับ AI และ Quantum Technology  ใน YouTube สำหรับเอาไปฟังระหว่างเดินออกกำลังกาย   เนื่องจาก ดร. เกียรติศักดิ์ ศรีพิมานวัฒน์ แห่ง SMIEEE ขอให้เขียนเรื่องร่วมฉลอง ควอนตัมโลก ครบ ๑๐๐ ปี ของยูเนสโก  และ ๕๐ ปี ควอนตัมไทย    โดยผมไม่รู้จักเรื่องควอนตัม 

พบเรื่อง AI and Quantum Computing : Glimpsing the Near Future ที่เป็นการสนทนาระหว่าง Brian Greene  ผู้ซัก กับ Eric Schmidt (ผู้เคยเป็น CEO ของ Google อยู่ ๑๕ ปี)  เป็นรายการใน World Science Festival    ที่เมื่อผมฟังได้ไม่ถึงสิบนาที ก็ตระหนักว่า เป็นรายการคุยกันระหว่างปราชญ์ด้านฟิสิกส์สองท่าน    ที่ผมฟังรู้เรื่องไม่ถึง ๑๐ %   และถามตัวเองว่าจะฟังต่อไปดี    หรือจะหาเรื่องอื่นฟังแทน

โชคดีที่ผมบอกตัวเองให้ทนฟังต่อไป    แบบรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องมากกว่ารู้เรื่องสิบเท่า   แต่เมื่อฟังถึงนาทีที่ ๖๕ (ชั่วโมงที่ 1:05) ก็ถึงเรื่องการประยุกต์ใช้ AI ด้านการศึกษา     ที่ Eric Schmidt แนะนำว่า ต้องใช้ AI ช่วยปลดปล่อยการศึกษา จากกระบวนทัศน์ one size fits all ไปสู่ personalized learning 

ท่านเสนอว่า ต่อไป AI จะช่วยสร้าง synthetic textbook ที่ช่วยให้นักเรียนเรียนจากภาพได้ทุกเรื่อง    เป็นการใช้พลังของ imaging for learning   ที่เรารู้กันว่าเด็กสมัยนี้เรียนจากภาพมากกว่าเรียนจากเสียงหรือจากอ่านตัวหนังสือ    และสามารถใช้ AI ช่วยแบ่งการเรียนรู้ยากๆ ออกเป็นขั้นตอนย่อยๆ จำนวนมาก    เพื่อช่วยนักเรียนที่เรียนอ่อนบางวิชา เช่น คณิตศาสตร์ ให้เรียนรู้เรื่องง่ายขึ้น   

นักเรียนในอนาคตจะสามารถเข้าหา AI tutor ที่เข้าใจนักเรียนแต่ละคนเป็นอย่างดี  ให้บริการติวนักเรียนตามสภาพของนักเรียนแต่ละคน   

ต่อไปพลเมืองโลกจะมีหมอ AI ประจำตัว   คอยให้คำแนะนำวิธีดำรงชีวิตในรูปแบบที่สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค    และ Quantum Computing จะช่วยให้สามารถค้นหาสารเริ่มต้นสำหรับพัฒนาเป็นยาได้อย่างแม่นยำมากขึ้น    ช่วยให้การพัฒนายาที่ปัจจุบันใช้เวลาเฉลี่ย ๑๐ ปี  ย่นเวลาลงไป    และลดค่าใช้จ่ายซึ่งเดิมเฉลี่ย สองพันล้านดอลล่าร์ต่อยา ๑ ชนิด   ลงไปได้มาก   

เรื่องเกี่ยวกับ Quantum Computing เริ่มที่เวลา 1:12:15    บอกว่า Quantum Technology เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต    ที่เวลานี้ข้อจำกัดอยู่ที่ computer chip ลงรายละเอียดได้ไม่เล็กว่า 1.4 นาโนเมตร  ต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้เอาชนะข้อจำกัดนี้เสียก่อน   ควอนตัมคอมพิวเตอร์จึงจะเกิด    ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น โอกาสใช้พัฒนา Quantum Sensing, Quantum computer, การพัฒนายา  และอื่นๆ จะตามมา   

ผมชอบมากที่วิทยากรทั้งสองคุยกันเรื่อง ผลกระทบต่อ ค่านิยมความเป็นมนุษย์   และต่อค่านิยมประชาธิปไตย   ที่จะต้องไม่ยอมให้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาสั่นคลอน       

วิจารณ์ พานิช

๑๙ ม.ค. ๖๘

  

สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ

ความเห็น

ยังไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย