โรคซึมเศร้า: การรักษา


การรักษาที่สำคัญในโรคนี้คือการรักษาด้วยยาแก้เศร้า

โรคซึมเศร้านี้หากได้รับการรักษาผู้ที่เป็นจะอาการดีขึ้นมาก อาการซึมเศร้า ร้องไห้บ่อยๆ หรือรู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจ จะกลับมาดีขึ้นจนผู้ที่เป็นบางคนบอกว่าไม่เข้าใจว่าตอนนั้นทำใมจึงรู้สึกเศร้าไปได้ถึงขนาดนั้น
ข้อแตกต่างระหว่างโรคนี้กับโรคจิตที่สำคัญประการหนึ่งคือ ในโรคซึมเศร้าถ้าได้รับการรักษาจนดีแล้วก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม
ขณะที่ในโรคจิตนั้นแม้จะรักษาได้ผลดีผู้ที่เป็นก็มักจะยังคงมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง ไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่เหมือนแต่ก่อน ยิ่งหากมารับการรักษาเร็วเท่าไรก็ยิ่งจะอาการดีขึ้นเร็วเท่านั้น ยิ่งป่วยมานานก็ยิ่งจะรักษายาก

การรักษาที่สำคัญในโรคนี้คือการรักษาด้วยยาแก้เศร้า โดยเฉพาะในรายที่อาการมาก ส่วนในรายที่มีอาการไม่มาก แพทย์อาจรักษาด้วยการช่วยเหลือชี้แนะการมองปัญหาต่างๆ
ในมุมมองใหม่ แนวทางในการปรับตัว หรือการหาสิ่งที่ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลายความทุกข์ใจลง ร่วมกับการให้ยาแก้เศร้าหรือยาคลายกังวลเสริมในช่วงที่เห็นว่าจำเป็น

การรักษาด้วยยาแก้เศร้า
ยาแก้เศร้ามีส่วนช่วยในการรักษาโรคนี้ แม้ผู้ที่ป่วยบางคนอาจรู้สึกว่าความทุกข์ใจหรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้นเป็นเรื่องของจิตใจ แต่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ถ้าเป็นโรคซึมเศร้าแล้วแสดงว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในร่างกายของคนเราจนทำให้เกิดมีอาการต่างๆ เช่น น้ำหนักลด อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ร่วมอีกหลายๆ อาการ ไม่ใช่มีแต่เพียงอารมณ์เศร้าอย่างเดียว ซึ่งยาจะมีส่วนช่วยในการบำบัดอาการต่างๆ เหล่านี้ อีกทั้งยังสามารถทำให้อารมณ์ซึมเศร้า ความวิตกกังวลใจทุเลาลงได้ด้วย
จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า 10 คนหากได้รับการรักษาด้วยยาแก้เศร้าอาการจะดีขึ้นจนหายถึง 8-9 คน
ในขณะที่หากไม่รับการรักษานั้นอาการจะดีเองขึ้นเพียง 2-3 คนเท่านั้น (เฉพาะในรายที่อาการไม่รุนแรง หากอาการรุนแรงอาจจะกล่าวได้ว่ายากที่จะหายเอง)
ข้อควรทราบเกี่ยวกับการรักษาด้วยยาแก้เศร้า


  1. อาการของโรคไม่ได้หายทันทีที่กินยา โดยเฉพาะอาการซึมเศร้า โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ขึ้นไปอาการจึงจะดีขึ้นอย่างเห็นชัด แต่ยาก็ยังมีส่วนช่วยในระยะแรกๆ โดยทำให้ผู้ป่วยหลับได้ดีขึ้น เจริญอาหารขึ้น เริ่มรู้สึกมีเรี่ยวแรงจะทำอะไรมากขึ้น ความรู้สึกกลัดกลุ้มหรือกระสับกระส่ายจะเริ่มลดลง
  2. ยาทุกชนิดสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ หรือยาระบาย ก็ตาม แม้ว่าโอกาสที่เกิดอาการข้างเคียงจะมากน้อย และมีความรุนแรงต่างกันไป การใช้ยาจึงควรใช้ในขนาดและกินตามเวลาที่แพทย์สั่งเท่านั้น หากมีความจำเป็นที่ทำให้กินยาตามสั่งไม่ได้ และควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งหากเกิดอาการใดๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นอาการข้างเคียงหรือไม่

  3. ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่กล้ากินยามากตามที่แพทย์สั่ง แพทย์สั่งกิน 4 เม็ดก็กินแค่ 2 เม็ด หรือกินบ้างหยุดกินบ้าง เพราะกลัวว่าจะติดยา หรือกลัวว่ายาจะไปสะสมอยู่ในร่างกาย แต่ตามจริงแล้วยาแก้เศร้าไม่มีการติดยา ถ้าขาดยาแล้วมีอาการไม่สบาย นั่นเป็นเพราะว่ายังไม่หายจากอาการของโรค การกินๆ หยุดๆ หรือกินไม่ครบขนาดกลับจะยิ่งทำให้การรักษาไม่ได้ผลดี และรักษายากมากขึ้น
  4. ยาแก้เศร้ามีอยู่เป็นสิบขนาน จากการศึกษาไม่พบว่าตัวไหนดีกว่าตัวไหนอย่างชัดเจน เรียกว่าผู้ป่วยคนไหนจะถูกกับยาตัวไหนเป็นเรื่องเฉพาะตัว หรือ ลางเนื้อชอบลางยา
    ซึ่งโดยรวมแล้วก็มักจะรักษาได้ผลทุกตัว การใช้ยาขึ้นอยู่กับว่าแพทย์มีความชำนาญ คุ้นเคยกับการใช้ยาขนานไหน และผู้ป่วยมีโรคทางกายหรือกำลังกินยาอื่นๆ ที่ทำให้ใช้ยาบางตัวไม่ได้หรือไม่
    ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะตอบสนองต่อยาแก้เศร้าตัวแรกที่ให้ หากอาการยังไม่ดีในระยะแรกๆ อาจเป็นเพราะยังปรับยาไม่ได้ขนาด หรือยังไม่ได้ระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ได้เต็มที่เสียมากกว่า ถ้าแพทย์รักษาไประยะหนึ่งแล้ว และเห็นว่าให้ยาในขนาดที่พอเพียงแล้วผู้ป่วยยังอาการดีขึ้นไม่มาก ก็อาจเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นต่อไป


ยาที่ใช้ในการรักษา
สมัยหลายสิบปีก่อนยาแก้เศร้ามีอยู่เพียง 4-5 ขนาน
แม้ว่ายารุ่นก่อนจะมีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดี (ยาที่มีใช้ในช่วงหลังๆ มีแต่ดีเท่าหรือด้อยกว่ายารุ่นเก่า) การใช้ยามักจะมีข้อจำกัดด้วยเหตุว่าผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงจากยาบ่อย แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่ใช่อาการที่รุนแรง แต่ผู้ป่วยบางคนก็ไวต่ออาการข้างเคียงมาก ทำให้การปรับเพิ่มขนาดยาทำได้ลำบาก ปัจจุบันมียาใหม่มากขึ้นซึ่งมีอาการข้างเคียงน้อยกว่ายาเก่า ทำให้การใช้สะดวกขึ้น
ปัญหาคือยาเหล่านี้ราคาค่อนข้างแพง แพทย์จึงจะเลือกใช้ในกรณีที่เห็นว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นที่ทำให้ใช้ยารุ่นเก่าไม่ได้
ในผู้ป่วยสูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางโรค ยาที่ใช้มักจะมีขนาดต่ำกว่าขนาดที่ใช้กับคนปกติทั่วไป ยาบางตัวอาจมีปฏิกิริยากับยาแก้เศร้าที่กิน ดังนั้นผู้ป่วยที่กินยาอื่นๆ
จึงควรแจ้งแพทย์ทุกครั้ง

ยาที่เราใช้กันจะมีชื่ออยู่ 2 แบบ ได้แก่ชื่อสามัญ และชื่อการค้า ชื่อสามัญคือชื่อที่บอกองค์ประกอบหรือลักษณะยา ส่วนชื่อการค้าคือชื่อที่แต่ละบริษัทตั้งขึ้นเพื่อให้รู้ว่าผลิต จากบริษัทของตน
ยาชื่อสามัญตัวเดียวอาจมีชื่อการค้าได้หลายๆ ชื่อถ้ามีผู้ผลิตหลายบริษัท เช่น ยาแก้ปวดชนิดหนึ่งมีชื่อสามัญว่า
พาราเซตามอล และมีชื่อการค้าหลายชื่อเช่น คาปอล เซตามอล เป็นต้น ซึ่งทุกยาทุกชื่อก็ได้ผลเช่นเดียวกันเพราะเป็นยาตัวเดียวกัน

ตารางแสดงรายชื่อยาที่มีใช้ในประเทศไทย
antidepressants

 

อาการข้างเคียงที่พบได้ในยาแก้เศร้ากลุ่มเก่า



  1. ง่วง เพลีย ซึมๆ ยาแต่ละตัวมีฤทธิ์ทำให้ง่วงมากน้อยแตกต่างกัน ยาที่พบบ่อยได้แก่ อะมิทริปไทลีน และด็อกเซปิน แพทย์จึงมักให้ยาเหล่านี้กินตอนเย็นหรือก่อนนอน ซึ่งก็เหมาะกับโรค เพราะโรคนี้ผู้ที่เป็นมักจะนอนหลับไม่ดีอยู่แล้ว ยาจึงช่วยให้หลับได้โดยไม่ต้องใช้ยานอนหลับ
    ในช่วงแรกของการรักษาห้ามขับรถและควรหลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักร เนื่องจากการง่วงซึมแม้จะมีเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้การตัดสินใจ หรือการเคลื่อนไหวที่ต้องการความรวดเร็วนั้น เชื่องช้าลงได้มาก
    หากสังเกตว่ากินยาแล้วง่วงมาก ซึมแทบทั้งวัน ควรแจ้งแพทย์เพื่อจะได้พิจารณาปรับยา
    แต่พบว่าบางครั้งพอกินยาไปนานๆ เข้ากลับไม่มีง่วงเหมือนเดิมอีกก็มี

  2. อาการปากคอแห้ง เป็นอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย
    แก้โดยให้จิบน้าบ่อยๆ
  3. ตามัว มองเห็นไม่ชัด อาการพวกนี้จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง ไม่ต้องตัดแว่นใหม่
  4. ท้องผูก กินอาหารจำพวกผัก ผลไม้ที่มีกากมากๆ หรืออาจกินมะขามเปียกช่วยในการระบาย

  5. เวียนศีรษะ หน้ามืด จากยาไปทำให้หลอดเลือดขยายตัว เลือดจึงค้างอยู่ในร่างกายมาก ไปเลี้ยงสมองน้อย อาการนี้มักเป็นเวลาเปลี่ยนอิริยาบท เช่น นอนนานๆ นั่งนานๆ แล้วลุกกระทันหัน หากมีอาการบ่อยๆ อาจแก้โดยรับประทานของเค็มๆ บ่อยขึ้น เพื่อทำให้ความดันเลือดเพิ่มมากขึ้น (ผู้ที่เป็นโรคความดันสูงอยู่ไม่ควรใช้วิธีนี้) การเปลี่ยนท่าทางต้องค่อยๆ ทำ หากจะลุกจากตื่นนอน ให้ลุกนั่งสักพักหนึ่ง ขยับแขนขาไปมา ให้เลือดไหลเวียนดี แล้วจึงค่อยๆ ลุกขึ้น
    หากมีอาการเวียนศีรษะขณะยืนอยู่ให้รีบนั่งพิงพนักหรือนอนทันที ถ้ายิ่งนอนในท่าที่ส่วนศีรษะต่ำกว่าส่วนลำตัวและยกขาสูงได้ก็ยิ่งดี
    หากมีอาการเช่นนี้บ่อยๆ แก้ไขแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรแจ้งแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจปรับลดยาลงหรือเปลี่ยนยา

อาการข้างเคียงที่พบได้ในยาแก้เศร้ากลุ่มใหม่
ยาแก้เศร้ากลุ่มใหม่นี้ กล่าวโดยรวมแล้วมีอาการข้างเคียง บ่อยกว่ายากลุ่มเก่า โดยเฉพาะอาการปากคอแห้ง ท้องผูก
หรืออาการหน้ามืด เวียนศีรษะ ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะยากลุ่มใหม่ที่ออกฤทธิ์เฉพาะระบบซีโรโตนิน(กลุ่มที่มีเครื่องหมาย * ในตาราง) เนื่องจากมียาหลายขนาน
ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ในการรักษาโดยไปปรับสารเคมีในสมองเฉพาะระบบซีโรโตนิน ยาแต่ละขนานจะมีอาการข้างเคียงต่อไปนี้มากน้อยต่างกัน

  1. กระวนกระวาย บางคนกินยาแล้วมีอาการกระวน กระวาย ซึ่งพบได้กับยาแก้เศร้ากลุ่มใหม่ขนานอื่นบางตัวเหมือนกัน (ดูในตาราง)
    ถ้ากินยาแล้วรู้สึกว่าตนเองหงุดหงิดง่ายขึ้น กระวนกระวาย รู้สึกเหมือนอยู่ไม่สุข ต้องทำโน่นทำนี่ ให้บอกแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจให้ยาคลายกังวลร่วม ลดขนาดยาลง หรือเปลี่ยนไปใช้ยาขนานอื่น
  2. นอนไม่หลับ ข้อดีของยาเหล่านี้คือไม่ทำให้ง่วงนอน แพทย์จึงมักนิยมให้ตอนเช้า หากกินก่อนนอนแล้วอาจจะทำให้หลับไม่ดีได้

  3. คลื่นไส้ บางคนกินยาแล้วมีอาการพะอืดพะอม คลื่นไส้ จุก แน่นท้อง ส่วนใหญ่มักจะเป็นช่วงสั้นๆ หลังกินยา ถ้ามีอาการให้ลองเปลี่ยนมากินยาตอนท้องว่าง (ก่อนกินอาหาร) ถ้าเป็นมื้อเช้าก็คือ ตื่นมาสักครู่ก็กินยาเลย ถ้ายังไม่ดีขึ้นให้แจ้งแพทย์
  4. ปวดหัว มักเป็นไม่นาน ดีขึ้นเอง

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #โรคซึมเศร้า
หมายเลขบันทึก: 71977เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2007 00:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณอาจารย์มากครับ

อยากจะเรียนถามอาจารย์ครับว่า 

      -บางครั้งทำไมเราจึงไมสามารถปรับลดยาหรือหยุดยาได้ทั้งๆที่รักษามาแล้วหลายปีครับ

      -Fluoxitine อาจจะดีกว่าแต่เมื่อเทียบราคาแล้วแพงมากกับ  amitryp ผมเห็นว่าผู้ป่วยที่กิน Fluoxitineมักจะคุมอาการได้ดีกว่า   ข้อแทรกซ้อนน้อยกว่า อนาคตน่าจะเปลี่ยนเป็น  Fluoxitine  ให้เป็นส่วนใหญ่จะดีหรือเปล่าครับ

    -การให้คำปรึกษาที่ดีและการช่วยแนะแนวทางและแก้ปัญหาที่ ผป  มีอยู่จะช่วยทำให้อาการผู้ป่วยดีขึ้นเร็วกว่าเดิม  มากน้อยขนาดไหนครับ  (เพราะว่ารู้สึกการติดตามเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านจะยังมีน้อย)

                               ขอบคุณครับ...

ปล  อาจารย์นอนดึกจังนะครับ  ส่วนผมอยู่เวรครับวันนี้..........สุพัฒน์  www.gotoknow.org/blog/kmsabai

สวัสดีค่ะ  คุณ มาโนช  

  • ครูอ้อยอ่านบันทึกนี้ทำให้เข้าใจว่า.....โรคซึมเศร้า...เป็นอย่างไร

ขอบคุณค่ะอาจารย์

คุณหมอสุพัฒน์ ครับ ใช่แล้วครับที่ fluoxetine ดีกว่ายากลุ่มเก่าเพราะว่ามีอาการข้างเคียงน้อยกว่า  ราคาทุกวันนี้มี local made แล้วถูกลงมากครับ เม็ดละไม่ถึงบาท ส่วน SSRI ตัวอื่นยัง 50 กว่าบาทอยู่ ตอนนี้ fluoxetine อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติครับ แต่อยู่ในบัญชียา ข

ขอบคุณอาจารย์สิริพรที่แวะเยี่ยมครับ

ยังมีตอนต่อไปอีกครับ เรื่องคำแนะนำญาติและ FAQ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท