Forrest Gump : กับทูตปิงปองสหรัฐอเมริกาไปเยือนประเทศจีนช่วงสงครามเย็น
โดย วาทิน ศานติ์ สันติ
ในภาพยนตร์เรื่อง Forrest Gump ฉายในปี 1994 มีช่วงหนึ่งที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาและความสัมพันธ์กับประเทศจีนคือ หลังจากที่ Forrest Gump กลับมาจากแนวหน้าสงครามเวียดนามในฐานะทหารที่ได้รับความเจ็บ ก็มีคนแนะนำให้รู้จักการเล่นปิงปอง ครั้งแรกที่กัมพ์จับไม้ปิงปองเขาก็เล่นได้อย่างมหัศจรรย์ และเล่นตลอดเวลา แม้คนเดียวก็เล่นได้ เล่นไปด้วยกินไอครีมไปด้วยก็ยังได้ เล่นจนทหารผ่านศึกหลายคนต้องมาล้อมวงดูเขาเล่นราวกับชมมหรสพเลยทีเดียว ความเก่งกาจในการเล่นปิงปองทำให้กัมพ์กลายเป็นตัวแทนทีมชาติของสหรัฐอเมริกา ไปแข่งปิงปองถึงประเทศจีน
ดูคลิปได้ที่นี่
การที่กัมพ์ได้เป็นตัวแทนของสหรัฐอเมริกาเดินทางไปแข่งปิงปองถึงประเทศจีนในช่วงสงครามเย็น หากมองย้อนกลับไปในเหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์ มิใช่เป็นเพียงแค่การแข่งกีฬา แต่มันมีนัยสำคัญทางการเมืองระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนที่มีความสำคัญมาก สามารถพลิกโฉมหน้าการทูตของทั้งสองประเทศไปเลยทีเดียว
เพราะหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว เกิดเกิดภาวะสงครามเย็น มหาอำนาจโลกถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้วอุดมการณ์ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้กลายมาเป็นผู้นำโลกเสรี ส่วนประเทศสหภาพโซเวียตรัสเซียก็คือหนึ่งในผู้นำโลกคอมมิวนิสต์ควบคู่กับประเทศจีน ทั้งสามประเทศก็ได้มีนโยบายชิงไหวชิงพริบกันมาตลอด นี่คือความสัมพันธภาพระหว่าง 3 มหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงสงครามเย็น และเป็นไปแบบสลับซับซ้อนแบบยากแท้หยั่งถึง
ดังนั้นการแข่งขันปิงปองระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศจีน จึงเปรียบเสมือนความผ่อนปรนความตรึงเครียดให้กลายเป็นผ่อนคลายในช่วงสงครามเย็นอีกด้วย
เราเรียกการที่สหรัฐอเมริกาส่งนักกีฬาไปแข่งปิงปองในครั้งนั้นว่า "การทูตปิงปอง" (The Pingpong Diplomacy 70s)
การทูตปิงปอง เกิดขึ้นในรัฐบาลของประธานาธิบดีนิกสัน (Richard M. Nixon) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1969 - 1973 เมื่อเขาเข้ามาบริหารประเทศ ก็เริ่มแสวงหาแนวทางยุติสงครามเวียดนามโดยการถอนทหารอเมริกันออกจากสงครามเวียดนาม ในเดือนมิถุนายน 1969 และสามารถนำสหรัฐอเมริกาออกจากสงครามเวียดนามได้สำเร็จในเดือนมกราคม 1973
แต่เหตุการณ์ที่สำคัญมาก ๆ ก็คือ นิกสันพยายามลดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนและสหภาพโซเวียตรัสเซีย โดยการเดินทางไปเยือนประเทศจีนด้วยตัวเองในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1972 และเดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตรัสเซียเพื่อลงนามจำกัดอาวุธร้ายแรงในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน
อาจกล่าวได้ว่าประธานาธิบดีนิกสัน พยายามจะแสวงหาความสงบสุขให้กลับมาสู่โลกใบนี้อีกครั้ง หลังจากที่โลกอยู่ในภาวะสงครามเย็นที่ตึงเครียดอย่างยาวนาน จัดได้ว่าเป็นประธานาธิบดีที่มีความโดดเด่นในด้านการการทูตและด้านการต่างประเทศมากที่สุดของสหรัฐอเมริกา
สาเหตุที่ประธานาธิบดีนิกสันต้องการสร้างความสัมพันธ์กับจีนคอมมิวนิสต์ก็คือ ต้องการส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวและการค้า โดยเริ่มต้นจากในปี 1969 สหรัฐอเมริกายกเลิกการจำกัดจำนวนคนอเมริกันเดินทางมาเยือนจีน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการเปิดทำการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนมากขึ้น เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและจีน ต้องการให้จีนช่วยผลักดันให้เวียดนามยอมเจรจาสันติภาพกับสหรัฐอเมริกา เพราะนี่คือหนทางที่จะนำไปสู่การยุติสงครามเวียดนามได้เร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถส่งผลให้ทั้งจีนกับสหภาพโซเวียตรัสเซียเกิดความหวาดระแวงกันเอง ในความสัมพันธ์ที่ทั้งสองชาติมีต่อสหรัฐอเมริกาในอนาคต (อรพินท์ ปานนาค, 2551, หน้า 453 - 457)
เดือนกุมภาพันธ์ 1971 ประธานาธิบดีนิกสัน ได้แถลงการเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับประเทศจีนว่า
"ความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างเรากับสาธารณรัฐประชาชนจีน มาประมาณ 22 ปีเต็ม เป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก มันเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ความเป็นระเบียบแบบแผนของนานาชาติจะไม่มีความมั่นคง ถ้าหนึ่งในมหาอำนาจยังคงอยู่รอบนอกเป็นปฏิปักษ์อยู่" (จันทร์ฉาย ภัคอธิคม, 2543, หน้า 488)
ดังนั้นใน เดือนตุลาคม ปี 1971 สหรัฐอเมริกาจึงให้การยอมรับสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาเป็นสมาชิกองค์กรสหประชาชาติ (United Nation - UN) ซึ่งในอดีตสหรัฐอเมริกาคัดค้านการเข้าร่วมของจีนมาโดยตลอดนับจากปี 1949 เป็นต้นมา
ในขณะเดียวกันประเทศจีนต้องการมีความสัมพันธไมตรีกับสหรัฐอเมริกา ต้องการทำลายฐานอำนาจผูกขาดของรัสเซียกับกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออก และเมื่อมีความสัมพันธ์กับอเมริกาแล้ว อเมริกาจะสามารถถ่วงดุลอำนาจกับสหภาพโซเวียตรัสเซียได้ การที่สหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตรกับจีนจะสามารถเพิ่มผลทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีนให้ดีขึ้น จีนต้องการยุติสภาพการถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวอย่างเช่นอดีตที่เคยผ่านมาในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง (อรพินท์ ปานนาค, 2551, หน้า 453 - 457)
ดังนั้นสหรัฐอเมริกาและจีน จึงใช้กีฬาปิงปองเพื่อเป็นสื่อในการนำไปสู่การส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีงาม
ในเดือนเมษายน 1971 ประธานาธิบดีนิกสันอนุญาตให้นักกีฬาปิงปองชาวอเมริกันที่เข้าร่วมการแข่งขันปิงปอง ชิงแชมป์โลกครั้งที่ 31 ในเมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น เดินทางไปประเทศจีน ครั้งนั้นมีนักกีฬาปิงปองชาวอเมริกัน 15 คนที่ได้รับเกียรตินั้น จีนให้การต้อนรับทูตปิงปองของสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างดี
เหตุการณ์ทางการทูตที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกาและจีนเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 1971 นักปิงปองชาวอเมริกัน 15 คน พร้อมเจ้าหน้าที่และคู่สมรส เดินทางจากฮ่องกงสู่ประเทศจีน พวกเขาได้เยี่ยมชมสถานที่สำคัญหลายแห่งในประเทศจีน แน่นอนว่าไม่พลาดชมกำแพงเมืองจีน พระราชวังฤดูร้อน และได้ชมอุปรากรของจีนด้วย
พวกเขาได้เดินทางไปหลายเมืองเช่น กวางโจว ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ พวกเขาสังเกตเห็นว่า ถนน จักรยาน อาหารการกินในประเทศจีนนั้นมีความแตกต่างกับในประเทศสหรัฐอเมริกาไม่น้อย นักปิงปองชาวอเมริกันได้รับการปฏิบัติราวกับเป็นบุคคลสำคัญ ทุกที่ที่พวกเขาไปมีการจัดงานเลี้ยงที่หรูหรา และมีอาหารอย่างดีไว้คอยต้อนรับ ตามถนนหนทางมีป้ายต้อนรับทีมนักกีฬาจากอเมริกาติดไว้ ติดไว้ท่ามกลางโปสเตอร์และรูปภาพจำนวนมากของประธานาธิบดีเหมาเจอตุง
ทีมนักกีฬาปิงปองสหรัฐอเมริกาได้แข่งขันปิงปองกับทีมนักกีฬาจีน การแข่งครั้งนั้นไม่ได้เน้นแข่งเพื่อเอาแพ้ชนะ แต่แข่งเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์มากกว่า ภายใต้สโลแกนที่ว่า " Friendship First and Competition Secend" การเดินทางของทูตปิงปองสามารถเดินสสยจบลงตรงที่การแข่งขันในปักกิ่ง ครั้งนั้น โจวเอินไหลนายกรัฐมนตรีของจีน ได้เข้าร่วมชมการแข่งขันด้วย เขาได้กล่าวว่า "นี่คือบทใหม่ของความสัมพันธ์ของชาวอเมริกันและชาวจีน" (Andrews, Even, 2018)
การเดินทางครั้งนั้นของทีมปิงปองถูกผู้คนทั้งโลกจับตามอง จากนักปิงปองทีมชาติก็กลายเป็นนักการทูตที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์โลกโดยปริยาย
หลังจากเหตุการณ์ทูตปิงปองผ่านไป ผลที่ตามมาคือทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนดีขึ้น ประธานาธิบดีนิกสันได้เขียนบันทึกความทรงจำของเขาในเวลาต่อมาว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับจีนนั้นมาจากทีมปิงปอง" (Andrews, Even, 2018)
ในช่วงที่ประธานาธิบดีนิกสันบริหารประเทศ เขาไม่ได้เดินทางไปเยือนแค่ประเทศจีนกับรัสเซียเพียงเท่านั้น ยังได้เดินทางไปเยือนประเทศอินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ปากีสถาน เวียดนาม กลุ่มประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางเช่น ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย อิสราเอล และจอร์แดน โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคม 1969 ประธานาธิบดีนิกสันยังได้มาเยือนประเทศไทยอีกด้วย ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถ เสด็จไปต้อนรับประธานาธิบดีนิกสันถึงสนามนบินดอนเมือง
ส่วนพ่อหนุ่ม กัมพ์ "อัจฉริยะปัญญานิ่ม" ของเรา หลังจากที่เขาเดินทางกลับจากการแข่งปิงปองที่ประเทศจีน เขาก็ได้เป็นพรีเซ็นเตอร์ไม้ปิงปองยี่ห้อหนึ่งด้วยค่าตอบแทนมหาศาล เขานำเงินค่าตัวส่วนหนึ่งไปมอบให้กับครอบครัวบับบ้าเพื่อนคนเดียวของเขาในขณะไปรบที่เวียดนาม และนำเงินอีกส่วนหนึ่งไปซื้อเรือจับกุ้ง ด้วยความขยันออกเรือพร้อมกับโชคช่วยอีกหน่อยหนึ่ง ทำให้สถานะทางการเงินของกัมพ์ดีขึ้น กลายเป็นมหาเศรษฐีทันที
การที่ ฟอเรส กัมพ์ กำลังรวยขึ้นจากการเล่นปิงปองของเขา และรวมถึงการไปแข่งปิงปองที่ประเทศจีนปรากฏในภาพยนตร์ หากจะมองย้อนไปในหน้าประวัติศาสตร์แล้ว ก็สามารถสะท้อนได้ว่า การดำเนินงานด้านการทูตและการต่างประเทศของประธานาธิบดีนิกสันมีส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเมืองระหว่างประเทศหรือในด้านเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดชาติหนึ่งของโลกในปัจจุบัน และจีนเอง แม้จะมีการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ก็มีเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ซึ่งปัจจุบันนี้จีนก็ได้กลายเป็นมหาอำนาจของโลกด้านเศรษฐกิจที่ทั่วโลกอยากคบค้าสมาคมด้วย แม้แต่สหรัฐอเมริกาเองยังต้องง้อจีน ยกตัวอย่างง่าย ก็เช่นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกามีตลาดใหญ่มาก ๆ ในประเทศจีน การผลิตภาพยนตร์ออกมาในแต่ละเรื่องในปัจจุบันก็ให้ความสนใจกับตลาดจีนเป็นอย่างมาก เช่น การใช้นักแสดงชาวจีนมามีส่วนร่วมในภาพ หรือการผลิตภาพยนตร์ที่แสดงถึงประเทศจีน เพราะกำลังซื้อในประเทศจีนนั้นมีอยู่อย่างมหาศาล ภาพยนตร์เรื่องไหนประสบความสำเร็จในประเทศจีน มันก็สามารถการันตีเม็ดเงินให้กับภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ ได้ว่าจะไม่ "เจ๊ง" อย่างแน่นอน
(จากนั้นเสียงเปียโนก็ดังขึ้นด้วยท่วงทำนองที่เชื่องช้าแต่สดใส ขนนกต้องสายลมพัดลอยขึ้นจากพื้นแล้วก็หมุนวนไปทั่วเมือง ภาพค่อย ๆ ฉายขึ้นยังท้องฟ้าไร้เมฆ แล้วก็พร่าเลือนจนภาพทั้งหมดหายวับไปในแสงจ้านั้น)
วาทิน ศานติ์ สันติ
เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2564
แก้ไขล่าสุด 25 สิงหาคม 2567
เอกสารประกอบการเขียน
จันทร์ฉาย ภัคอธิคม.(2546). ประวัติศาสตร์บทบาทของจีนต่อกิจการโลก. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคําแหง.
อรพินท์ ปานนาค.(2551). ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 20. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคําแหง.
Andrews, Even, History.com. (2018). How Ping-Pong Diplomacy Thawed the Cold War. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2564, จาก https://www.history.com/news/ping-pong-diplomacy
chinadaily.com. (2021). The players behind ping-pong diplomacy of '70s. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2564, จาก https://global.chinadaily.com.cn/a/201904/18/WS5cb75722a3104842260b6c7b.html
Pete Millwood, History to day. (2021). The Myths and Realities of Ping-Pong Diplomacy. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2564, จาก https://www.historytoday.com/miscellanies/myths-and-realities-ping-pong-diplomacy
ภาพประกอบ (ฟอเรส กั้ม ตีปิงปอง)
https://m.imdb.com/title/tt0109830/mediaindex?ref_=m_tt_pv_mi_sm
ไม่มีความเห็น