สรุป รีวิว Aadujeevitham หรือ The Goat Life คนเลี้ยงแพะ 2024


สรุป รีวิว Aadujeevitham หรือ The Goat Life (2024)

#บทนำ
ในช่วงปี 2024 นี้ คนไทยได้ที่เสพคอนเทนต์จาก Netflix ก็จะได้ชมหนังอินเดียน้ำดีติดต่อกันอย่างน้อยที่สุดก็สองเรื่องคือ Maharaja (2024) เล่าเรื่องของชายช่างตัดผมที่ตามหาถังขยะที่หายไป และ Maharaj (2024) เล่าเรื่องของนักหนังสือพิมพ์ที่อาจหาญต่อกรกับผู้นำทางความเชื่อและศาสนาที่คนทั่วอินเดียนับถือ และยังมีอีกหลายเรื่องก่อนหน้านี้ที่เข้าฉายแล้วทำให้เปลี่ยนทัศนคติการดูหนังอินเดียของใครหลายคนนั้นเปลี่ยนไปในด้านดีขึ้น ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวว่าความยอดเยี่ยมของการเล่าเรื่อง บท การถ่ายทอดหรือการคุณภาพการถ่ายทำนั้นไม่แพ้กับ Hollywood เลยทีเดียว

ดูคลิปสรุปรีวิวได้ที่นี่ เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ
 

ในปีเดียวกันนี้เอง Netflix ก็นำภาพยนตร์อินเดียใต้เข้ามาฉายในชื่อเรื่อง Aadujeevitham หรือ The Goat Life หรือ คนเลี้ยงแพะ (2024) เป็นภาพยนตร์อินเดียที่สร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ เบนยามิน (Benyamin) เล่าเรื่องราวการเดินทางที่ท้าทายของ "นาจีบ" ชายหนุ่มผู้ถูกบังคับให้ทำงานในฟาร์มแพะกลางทะเลทรายในตะวันออกกลาง ถ่ายทอดประสบการณ์ในการเอาชีวิตรอด ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายและการข่มเหงที่รุนแรง

#สรุปเนื้อเรื่อง
หนังเริ่มต้นเล่าเรื่องราวของนาจีบ ชายหนุ่มชาวอินเดียจากหมู่บ้านเล็ก ๆ ในรัฐเกรละผู้มีอาชีพขุดทรายจากแม่น้ำไปขาย เขามีครอบครัวที่น่ารักกับแฟนสาวที่เพิ่มแต่งงานหมาด ๆ และมีความฝันอยากยกฐานะให้ครอบครัวดีขึ้น ต่อมาได้รู้จักนายหน้าหางานทำในตะวันออกกลาง สัญญาว่าจะมีงานที่ดีและมีค่าตอบแทนสูง ประมาณว่าไปทำงานแค่ 2 เดือนก็สามารถคืนทุนค่าเดินทางได้แล้วแต่ต้องใช้เงินจำนวนมาก 30,000 รูปี ในการทำวีซ่า เขาจึงจำเป็นจะต้องนำบ้านไปจำนอง

ในวันออกเดินทาง นาจีบได้พบกับฮาคีม เด็กหนุ่มที่สามารถพูดภาษาฮินดีและภาษาอังกฤษในแบบงู ๆ ปลา ๆ ได้ มีความฝันเหมือนกัน จากนั้นทั้งสองคนก็เดินทางไปประเทศซาอุดิอาระเบียในตะวันออกกลาง

เมื่อเดินทางไปถึงซาอุฯ ทั้งสองคนก็ไม่เห็นบริษัทที่รับทำงาน แต่พบกับชายอาหรับคนหนึ่งที่เข้ามาขอดูเอกสาร แล้วก็นำตัวทั้ง 2 คืนครึ่งท้ายรถกระบะ ออกเดินทางไปยังทะเลทรายอันห่างไกลทันที

ทั้งนาจีบและฮาคีม พบว่าถูกหลอกลวง ชาวอาหรับคนนี้ไม่ใช่ตัวแทนของพนักงานบริษัท แต่เป็นคนนี้พาไปยังฟาร์มแพะที่อยู่กลางทะเลทรายที่ห่างไกล ทั้งสองถูกแยกกันให้ไปอยู่ในฟาร์มแพะที่ห่างไกลกัน และไม่มีทางหนีออกมาได้

นาจีบพบกับอิบราฮิม ชายชราชาวปากีสถานที่มีประสบการณ์ในงานฟาร์มมาหลายปี และดูเหมือนว่าน่าจะถูกหลอกเข้ามาทำงานเหมือนกัน เขาช่วยสอนนาจีบเกี่ยวกับการเลี้ยงแพะและการเอาตัวรอดในสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย ส่วนตัวของอิบราฮิม ก็ยอมศิโรราบต่อโชคชะตา และรู้ตัวดีว่าไม่มีความหวังในการกลับบ้าน

นาจีบ ต้องทนอยู่ในฟาร์มแพะอย่างยากลำบาก ไม่สามารถนอนในกระโจมของนายจ้างได้ เขาต้องนอนข้างนอกหรือซากรถเก่า แล้วต้องทนปรับสภาพความหนาวเย็นของทะเลทรายในยามค่ำอันอ้างว้างเท่านั้น

เขาต้องทนกับชายชาวอาหรับเจ้าของฟาร์มแพะที่เป็นคนโหดเหี้ยมและไม่มีความเห็นอกเห็นใจต่อคนงานของเขา มองคนงานเป็นเพียงเครื่องมือในการทำงาน เป็นคนโหดร้าย และไม่แยแสต่อความทุกข์ยากของคนงาน

นาจีบพบว่าชีวิตในที่นี้เป็นนรกบนดิน ถูกบังคับให้ทำงานหนักในทุกวันโดยไม่มีวันหยุด การเลี้ยงแพะกลางทะเลทรายเป็นงานที่หนักหน่วงและเต็มไปด้วยอันตรายจากทะเลทราบและสภาพอากาศที่โหดร้าย เขาต้องเผชิญกับความหิวโหย การขาดแคลนน้ำ และการทารุณกรรมจากนายจ้าง สิ่งเดียวที่ชโลมใจเขาได้ก็คือความทรงจำ ที่เขาอยู่ในบ้านเกิดอันอุดมสมบูรณ์ เป็นไปได้ป่าไม้และสายน้ำ ความรักจากแม่และภรรยารักของเขา มันก็เป็นเพียงความสุขที่อยู่ภายในความทรงจำเท่านั้นหาใช่ความสุขทางกายไม่

จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี เมื่ออิบราฮิม ต้องเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางทะเลทราย นาจีบก็กลายเป็นชายคนเดียวที่ทำงานในฟาร์มแพะ ผมเผ้าหนวดเครารุงรังเนื้อตัวเหม็นเพราะไม่ได้อาบน้ำมานาน ชีวิตของเขาเต็มไปด้วยความทรมานทั้งทางกายและใจ ความหวังที่จะกลับบ้านก็เริ่มเลือนราง เขาถูกนายจ้างทารุณกรรมทั้งทางร่างกายและจิตใจ และต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวอย่างมาก ทุกครั้งที่พยายามหนีก็เฉียดตายกับปืนลูกซอง หากเบาหน่อยก็ถูกเฆี่ยนตี หนักสุดก็ถูกทุบมือทุบเท้าจนเดินปกติไม่ได้ต้องใช้ไม้พยุงตัว จนในที่สุดเขาก็ละทิ้งพระเจ้า เพราะรู้สึกว่าพระเจ้าละทิ้งเขาก่อน

แต่โชคชะตา ก็นำพาให้เขามาพบฮาคีมอีกครั้ง หลังจากเด็กหนุ่มถูกพาตัวมาอยู่ในฟาร์มแพะที่อยู่ใกล้กัน และได้รู้จักกับชาวแอฟริกันคนหนึ่ง ที่มีความรู้ในด้านพื้นที่และให้ความหวังว่าจะพาทั้งสองคนหนีไป จนวันหนึ่งประจวบเหมาะกับเจ้าของฟาร์มแพะแห่งหนึ่งจัดงานแต่งงาน ทำให้เจ้าของฟาร์มแพะหลายแห่งไปร่วมงานแต่งงานและทิ้งลูกน้องเอาไว้เท่านั้น เลยทำให้ 3 คนพากันหนีออกจากหนีในยามค่ำคืน

แม้ว่าการเดินทางผ่านทะเลทรายจะเต็มไปด้วยอันตรายและความไม่แน่นอน ขาดน้ำ สัตว์ร้าย ภาพหลอนและความหิวโหย การเดินทางของทั้งสามเต็มไปด้วยความยากลำบากและการต่อสู้ทั้งทางกายและใจ แต่ด้วยความทนทุกข์ทรมานและความโหดร้ายของสภาพอากาศทำให้ฮาคีมไม่สามารถทนได้ต้องเสียชีวิตไป ในขณะที่ชายชาวแอฟริกันก็พยายามเต็มที่ที่จะช่วยเหลือให้นาจีบรอดไปได้ จนเขาต้องสละชีวิตไป ท้ายที่สุดนาจีบก็พาร่วงอันเหนื่อยล้าไร้เรี่ยวแรงมาถึงถนนใหญ่จนพบกับชายชาวอาหรับผู้ใจดีขับรถผ่านทางมารับเขาไปกับรถแล้วไปส่งในตัวเมือง

นาจีบ พบกับผู้คนชุมชนชาวอินเดีย ที่ให้การช่วยเหลืออาบน้ำอาบท่า ตัดผม พาไปรักษาตัว โทรศัพท์ติดต่อกับเมียนาจีบจนทั้งสองได้คุยโทรศัพท์กัน จากนั้นพาไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐระบุตัวตน และก็ถูก จับตัวไปขายอยู่ในสถานที่กักกันถึงสามเดือน จนในที่สุดเอกสารการระบุตัวตนก็เดินทางมาถึง นาจีบ ก็ได้ถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศอินเดีย ไปพบหน้าภรรยา ลูก และแม่ของเขา และทั้งหมดนั้นมันเป็นระยะเวลามากกว่า 3 ปี 3 เดือน

#บทวิจารณ์ภาพยนตร์
ภาพยนตร์เรื่อง Aadujeevitham (The Goat Life) ซึ่งสร้างจากนวนิยายของ เบยามิน  หนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานที่มีความลึกซึ้งและสะเทือนอารมณ์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวที่สะท้อนถึงชีวิตของแรงงานข้ามชาติชาวอินเดียในตะวันออกกลาง ที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับการทำงานหนัก และเอาชีวิตไปทิ้งมากกว่าหลายพัน แม้ว่าตัวละครและเหตุการณ์ในนวนิยายจะเป็นตัวละครสมมติ แต่ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์จริงของแรงงานที่ถูกบังคับให้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายและทารุณในต่างประเทศ เน้นไปที่การนำเสนอชีวิตของผู้คนที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากและการเอาชีวิตรอดในสถานการณ์ที่ท้าทาย

#ภูมิหลังของการสร้างภาพยนตร์
การสร้างภาพยนตร์ได้รับการพูดถึงมายาวนาน ผู้กำกับ Blessy ได้ใช้เวลาหลายปีในการพัฒนาโปรเจ็กต์นี้ โดยมีเป้าหมายที่จะนำเรื่องราวที่ซับซ้อนและอารมณ์ลึกซึ้งของนวนิยายมาสู่จอภาพยนตร์ เขามีความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความเป็นจริงที่แรงงานข้ามชาติหลายคนต้องเผชิญในตะวันออกกลางผ่านทางภาพยนตร์ให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงความทารุณที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ ต้องการที่จะให้ผู้ชมได้เห็นถึงความหวังและความพยายามในการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ ไม่ว่าจะเผชิญกับสถานการณ์ที่โหดร้ายเพียงใด และเขาหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นสื่อที่ทำให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของแรงงานทุกคน

ภาพยนตร์ถ่ายทำในหลายสถานที่เพื่อให้ความสมจริงและความเข้มข้นขับเน้นเรื่องราวให้สมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะในทะเลทรายในประเทศ จอร์แดน และแอลจีเรีย นับเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ทั้งในด้านการขนส่ง การจัดการและการจัดการกับสภาพอากาศที่รุนแรง

ในส่วนของการถ่ายทำในอินเดีย ใช้สถานที่ในรัฐเกรละเพื่อแสดงภาพหมู่บ้านของตัวละครหลักที่เป็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของเรื่องราว ทำให้ภาพยนตร์มีความหลากหลายในด้านภาพและบรรยากาศ

Aadujeevitham ได้รับความสนใจจากผู้ชมและนักวิจารณ์เป็นอย่างมากตั้งแต่เริ่มมีการประกาศสร้าง ภาพยนตร์เรื่องนี้มีนักแสดงนำ ปริทวิราช สุขุมารัน (Prithviraj Sukumaran) ผู้ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างสูงในวงการภาพยนตร์อินเดีย การรับบทบาทที่ท้าทายนี้ก็ได้รับการคาดหวังว่าจะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง

จึงเป็นหนึ่งในผลงานที่มีความหมายทั้งในด้านเนื้อหาและการสร้างสรรค์ และคาดว่าจะเป็นภาพยนตร์ที่สร้างความประทับใจและมีผลกระทบต่อผู้ชมทั่วโลก

#สารสำคัญในภาพยนตร์
การนำเสนอของภาพยนตร์แม้ว่าจะเรียบนิ่ง เล่าเรื่องราวตามลำดับเวลาไม่ได้มีอะไรที่ฉูดฉาดหรือตื่นเต้น และสถานที่ส่วนใหญ่ที่เราเห็นในหนังก็มีเพียงแค่ทะเลทราย แต่หนังก็สามารถถ่ายทอดสารสำคัญให้กับคนดูได้อย่างชัดเจน เช่น

นาจีบต้องอดทนต่อความยากลำบากและการกดขี่ที่เขาประสบในทะเลทรายอย่างแสนสาหัส แต่ก็ยังมีความหวังที่จะกลับบ้านและพบครอบครัวอีกครั้งเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เขาสามารถอดทนต่อไปได้ ข้อคิดนี้สอนเราว่า ไม่ว่าชีวิตจะยากลำบากเพียงใด การมีความหวังและไม่ยอมแพ้จะช่วยให้เราผ่านพ้นอุปสรรคไปได้

ภาพยนตร์พยายามเน้นถึงความสำคัญของการต่อสู้เพื่อสิทธิและศักดิ์ศรีของตนเอง นาจีบเป็นตัวอย่างของคนที่ถูกกดขี่ แต่เขายังคงมีศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์อยู่ในตัว แม้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ข้อคิดนี้เตือนเราว่าความเป็นมนุษย์คือสิ่งที่ไม่มีใครสามารถพรากไปจากเราได้

การที่นาจีบเลือกไปทำงานต่างแดนโดยไม่พิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หรือศึกษาข้อมูลให้ดีซะก่อน โดยไม่ได้มองผลเสียมองแต่ผลดีที่ตัวเองคาดหวังที่ตั้ง ทำให้เขาต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ข้อคิดนี้เตือนให้เราไตร่ตรองให้ดีถึงการตัดสินใจสำคัญในชีวิต และพิจารณาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

ดังนั้นประเด็นสำคัญที่สุดหรือสารสำคัญที่สุดที่หนังต้องการที่จะส่งให้กับคนดูคือ

"แม้ในดินแดนที่ไร้ความหวัง ท่ามกลางทะเลทรายที่แห้งแล้ง นาจีบค้นพบว่า ความหวังคือสิ่งเดียวที่เขายึดเหนี่ยวไว้ได้ ศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ของเขาคือสิ่งที่ไม่มีใครสามารถพรากไปได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมใดก็ตาม การต่อสู้ของเขาไม่ใช่เพียงเพื่อเอาชีวิตรอด แต่เพื่อยืนยันถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในโลกที่โหดร้าย"

อย่างไรก็ตาม หนังเรื่องทั้งข้อดีและข้อเสียบางคนกันไป ดังนั้นทางช่อง Super Review Channel จึงขอ ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวในการวิเคราะห์หนังเรื่องนี้เลยจำแนกเป็นส่วนที่ชอบและไม่ชอบดังนี้

#ส่วนที่ชอบ
แน่นอนว่าจุดเด่นที่สำคัญที่สุดของหนังก็คือ การแสดงที่ทรงพลังของ ปริทวิราช สุขุมารัน ที่สามารถถ่ายทอดการแสดงที่น่าทึ่งในบทของนาจีบ เขาแสดงความรู้สึกที่ซับซ้อนของตัวละครได้อย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่ช่วงเวลาแห่งความสุข ความรักกับเมีย ความสุขที่อยู่ในบ้านอันอุดมสมบูรณ์ ความหวังที่อยากจะมีชีวิตที่ดี แต่กลับต้องเผชิญกับความยากลำบากในทะเลทราย จนถึงใกล้กลับบ้าน การแสดงของเขาทำให้เราสึกเชื่อมโยงกับความเจ็บปวดและความหวังของตัวละคร ทำให้หนังทรงพลังและเข้าถึงอารมณ์ของผู้ชมได้อย่างมาก และส่วนตัวรู้สึกว่าการแสดงของเขาก็ไม่แพ้นักแสดง Hollywood ที่ได้รับวันออสการ์เลย

ภาพยนตร์สามารถนำเสนอเรื่องราวของแรงงานข้ามชาติที่ถูกทารุณกรรมในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วงที่ผู้คนในเอเชียกำลังแตกตื่นหรือ "เห่อ" กับการเดินทางไปทำงานในตะวันออกกลางซึ่งแม้แต่ในประเทศไทยเองก็เป็นเช่นกัน ซึ่งในช่วงเวลานั้นนิยมเป็นอย่างมากถึงทำให้เกิดเพลงอันโด่งดังคือ "น้ำตาเมียซาอุ ของ พิมพา พรศิริ"

ซึ่งผู้กำกับสามารถถ่ายทอดเรื่องราว ความนิยมการไปแสวงโชคในดินแดนตะวันออกกลาง อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่หลีกเลี่ยงที่จะนำเสนอความโหดร้ายและความยากลำบากที่แรงงานต้องเผชิญ สิ่งนี้ทำให้ภาพยนตร์มีความหมายและสื่อสารข้อความที่สำคัญเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่ดี

การถ่ายทำในทะเลทรายของจอร์แดนและแอลจีเรียทำให้หนังมีความสมจริงและเป็นการเพิ่มความเข้มข้นให้กับเรื่องราว ทะเลทรายกลายเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญแสดงถึงทั้งความงดงามและความโหดร้ายที่นาจีบต้องเผชิญ คนร้ายๆ ก็เหมือนกับทะเลทรายร้ายนั่นแหละ

บทที่หนังจะทำให้เรารู้สึกสิ้นหวังแห้งแล้งพอเหี่ยวเขาก็ใช้ทะเลทรายในการถ่ายทอด และบทที่หนังจะทำให้เรารู้สึกว่ามีความสุขมีความหวัง เขาก็ใช้สถานที่ในชุมชนริมแม่น้ำที่เกรละในการถ่ายทอด ซึ่งชัดเจนและสร้างขัดแย้งให้กับตัวละครได้อย่างดีมาก

ที่ต้องชื่นชมเป็นอย่างมากก็คือการถ่ายภาพที่สวยงาม การจัดวางองค์ประกอบของภาพที่เหมาะสม การเปลี่ยนฉากหลายฉากที่เนียนตาจนทำให้อารมณ์ไหลลื่น และการใช้แสงเงาในภาพยนตร์ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศที่เข้มข้นและสร้างความประทับใจให้กับผู้ชม

การเล่าเรื่องที่เรียบง่ายของผู้กำกับ Blessy ทำให้เราได้สัมผัสถึงความเจ็บปวดและความยากลำบากของตัวละครอย่างแท้จริง เขาใช้เวลาในการพัฒนาตัวละครและเน้นให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของนาจีบจากคนธรรมดาที่มีความหวังกลายเป็นคนที่ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด

ภาพยนตร์นี้ไม่ได้เร่งรีบ แต่กลับสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างผู้ชมและตัวละคร แต่ยังไงก็ตามส่วนตัวกลับรู้สึกว่าการพัฒนาของตัวละครมีน้อยไปสักหน่อย แม้จะอยู่ในทะเลทรายถึง 3 ปีแต่ก็ไม่ได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับจิตใจของตัวละครทั้ง 2 ตัวได้มากเท่าที่ควร 3 ปีก็ยังคงอ่อนแอ ไม่กล้าสู้เจ้าของฟาร์มแพะ แม้แต่ในขณะที่หนีก็ยังแสดงความอ่อนแออยู่ จนเกิดภาพหลอนในทะเลทรายราวกับว่าพวกเขาไม่ได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับทะเลทรายเลยแม้แต่น้อย

ในส่วนนี้ส่วนตัวรู้สึกว่ามันคือจุดอ่อนในจุดที่ชอบ และรู้สึกว่ามันสร้างความเสียหายขาดอารมณ์ กับบรรยากาศของหนังโดยรวมในช่วงครึ่งหลังของเรื่องด้วย และที่สำคัญตามสไตล์ของหนังอินเดียคือหนังจะต้องมีความยาวซึ่งเรื่องนี้ยาวถึงสองชั่วโมงครึ่ง เรากลับเห็นความอ่อนแอของตัวละครเพื่อเป็นส่วนใหญ่ หรือแทบจะเห็นแต่ความอ่อนแอของตัวละครทั้งเรื่องเลยก็ว่าได้

ดนตรีในภาพยนตร์ช่วยสร้างอารมณ์และเสริมบรรยากาศของเรื่องได้อย่างดีเยี่ยม การใช้เสียงธรรมชาติในเกรละ หรือในทะเลทรายและเสียงประกอบที่เข้ากับเหตุการณ์ต่าง ๆ ช่วยทำให้ผู้ชมรู้สึกมีส่วนร่วมในเรื่องราวมากขึ้น ช่วยเพิ่มความลึกซึ้งให้กับภาพยนตร์และเป็นองค์ประกอบที่ไม่ควรมองข้าม

ชอบการถ่ายทอดถึงความสำคัญของการสื่อสาร ปัญหาหลักของเรื่องก็คือตัวละครไม่สามารถสื่อสารผ่านภาษาที่มีความหลากหลายได้ จนทำให้เจ็บตัวตั้งหลายครั้ง และการสื่อสารนั่นแหละแทบจะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำตัวมาทำงานในฟาร์มแพะอันโหดร้ายเลยทีเดียว

และอีกจุดหนึ่งก็เป็นการสะท้อนว่าหากมีการศึกษาที่ไม่เพียงพอการทำงานก็จะเน้นใช้แรงมากกว่าใช้ความคิดสร้างสรรค์ สะท้อนออกมาผ่านปากตัวละครแรงงานขุดทรายคนหนึ่งว่า "ไปทำงานใช้แรงงานไม่เห็นจะต้องใช้ความรู้อะไร" ซึ่งพระเอกของเรื่องนั้นมีความรู้น้อยมาก เมื่อเดินทางไปต่างประเทศก็ถูกหลอกอย่างง่ายดาย

#ส่วนที่ไม่ชอบ
การดำเนินเรื่องที่ช้าจนเกินไป แม้ว่าการเล่าเรื่องที่ค่อยเป็นค่อยไปจะช่วยให้ผู้ชมได้เข้าใจและซึมซับเรื่องราวอย่างลึกซึ้ง แต่หลายช่วงรู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ดำเนินไปอย่างช้า ๆ และยืดเยื้อ บางฉากมีความยาวเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่ในทะเลทราย และเป็นหนักตรงช่วงหลบหนีที่ช้ามาก ๆ และการให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ มากเกินไปแม้จะดีแต่ก็ทำให้เบื่อหน่ายได้เหมือนกัน หนังจึงอาจไม่เหมาะกับสังคมในยุคปัจจุบันที่ใครบางคนชอบความเร่งรวดเร็ว เชื่อว่าหลายคนคงไปดูสปอยล์ตาม youtube มากกว่าจะดูหนังเต็มเรื่องเมื่อเห็นระยะเวลาที่ยาวนานของเรื่อง แล้วยิ่งไม่มีพากย์ไทยด้วยแล้ว อาจจะทำให้ดูไม่ปะติดปะต่อเพราะเบื่อไปหลายช่วงเลยก็ได้ แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าแม้จะไม่มีพากษ์ไทยแต่หนังเขาก็ไม่ได้ใช้บทสนทนาที่มันยาวเกินไป ไม่ได้เพ่งตาอ่านมากเกินไป แต่ใช้ความรู้สึกและการรับรู้ผ่านอารมณ์มากกว่า ตรงนี้ก็อาจจะเป็นข้อดีในส่วนเสียก็เป็นได้

ภาพยนตร์นำเสนอภาพของความทารุณกรรมและการใช้แรงงานในสภาพที่โหดร้ายอย่างไม่ปิดบัง แม้ว่าจะเป็นการสะท้อนความเป็นจริง แต่ก็อาจทำให้ผู้ชมบางคนรู้สึกไม่สบายใจ เนื่องจากภาพเหล่านี้มีความรุนแรงและสะเทือนอารมณ์ การใช้ภาพที่ชัดเจนและตรงไปตรงมาอาจเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ชมบางคนต้องการหันหนีหรือรู้สึกอึดอัด

แต่ที่อึดอัดยิ่งกว่าก็คือตัวละครกลับไม่สู้กลับเลย เอาตรง ๆ นะในความรู้สึกของความเป็นคนไทยเราเห็นใครถูกรังแกเราก็อยากให้เขานั้นสู้กับแบบสะใจ แต่ถ้าหากเข้าใจสภาพสังคมของชาวอินเดียที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เข้าใจถึงว่าเขาไม่มีทางเลือกที่จะต้องต่อสู้ และพยายามรักษาชีวิตเพื่อกลับบ้านให้ได้ สิ่งนี้แหละจะทำให้เราดูแล้วรู้สึกว่าอึดอัดแล้วเอาใจช่วยตัวละครเป็นอย่างมาก แม้จะขัดใจบ้างก็ตาม

เรื่องราวของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในตะวันออกกลางอาจไม่ใช่เรื่องที่ผู้ชมทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้ง่าย เนื้อหาของภาพยนตร์เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและต้องการความเข้าใจในบริบททางสังคมและเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ และโดยเฉพาะในบริบทของช่วงเวลาที่ต่างกันกับในปัจจุบัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังควรจะอยู่ในช่วง ประมาณทศวรรษ 1990 ประมาณหลังจากจบสงครามอ่าวเปอร์เซียไปหมาด ๆ  ถึงต้นทศวรรษ 2000 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แรงงานข้ามชาติจากอินเดียจำนวนมากเดินทางไปทำงานในตะวันออกกลาง นั้นทำให้ผู้ชมบางคน ที่ไม่ได้ใช้บริบททางประวัติศาสตร์มาช่วยในการพิจารณาเรื่องอาจรู้สึกว่าภาพยนตร์นี้มีความยากในการทำความเข้าใจหรือเชื่อมโยงกับประสบการณ์ส่วนตัว

#ส่วนที่ขาดหายไปจากหนังสือ
อย่างไรก็ตามความสมบูรณ์ของภาพยนตร์นั้นก็ดูเหมือนว่าจะจบแบบสมบูรณ์แบบไปแล้วจากการที่เขาขึ้นเครื่องบินกลับอินเดีย แต่ส่วนตัวรู้สึกว่ามันก็ยังไม่สมบูรณ์แบบเท่าที่ใจคิดเพราะว่าหนังที่ดีเริ่มต้นจากจุดไหนก็ควรไปจดที่จุดนั้น น่าจีบก็ควรจะไปจบเรื่องที่แม่น้ำกับเมียรักในเกรละมากกว่า แล้วเมื่อมีการตรวจสอบกับเรื่องราวในฉบับของงานวรรณกรรมแล้วเนื้อเรื่องส่วนหลังนั้นขาดหายไปมาก ซึ่งในงานวรรณนั้นได้เล่าเรื่องราวต่อจากการที่เขาเดินทางกลับมาถึงอินเดียก็คือ

เมื่อนาจีบเดินทางกลับบ้านเกิดของเขาในรัฐเกรละ นาจีบพบว่าชีวิตของเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เขาพบว่าคือโลกที่เขารู้จักเปลี่ยนไป ครอบครัวของเขาไม่ได้รับข่าวคราวจากเขาเป็นเวลาหลายปีและคิดว่าเขาอาจเสียชีวิตไปแล้ว การกลับมาของนาจีบสร้างความตื่นตะลึงให้กับครอบครัวและคนในหมู่บ้าน

ในขณะเดียวกัน นาจีบก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการปรับตัวเข้ากับชีวิตเดิมที่เขาเคยรู้จัก นาจีบกลายเป็นคนที่แตกต่างไปจากเดิม ประสบการณ์ที่เขาเผชิญในทะเลทรายทิ้งรอยแผลลึกทั้งทางกายและใจ เขาต้องต่อสู้กับความทรงจำที่เจ็บปวด และพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับครอบครัวของเขา

แต่ทรงจำที่เจ็บปวดจากการทำงานในฟาร์มแพะและการทารุณกรรมที่เขาเผชิญยังคงตามหลอกหลอนเขา เขาเริ่มเห็นภาพหลอนของทะเลทรายและนายจ้างที่โหดร้ายในความฝัน และต้องพยายามดิ้นรนกับความทรงจำเหล่านี้ทุกเมื่อเชื่อวัน เขาได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวและเพื่อนบ้านในการฟื้นฟูจิตใจและกลับมามีชีวิตที่ปกติ

แม้ว่าจะเป็นกระบวนการที่ยากลำบาก แต่ในที่สุดนาจีบก็สามารถหาทางปล่อยวางอดีตและมุ่งมั่นกับการเริ่มต้นชีวิตใหม่

การเริ่มต้นชีวิตใหม่ในตอนท้ายของเรื่อง นาจีบสามารถฟื้นฟูจิตใจและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างสงบสุขมากขึ้น เขาตัดสินใจที่จะใช้ประสบการณ์ที่เขาได้ผ่านพ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนอื่น ๆ ที่ต้องเผชิญกับชะตากรรมที่คล้ายคลึงกัน

เขาเริ่มทำงานกับองค์กรที่ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติและผู้ที่ถูกบังคับให้ทำงานในสภาพที่โหดร้าย นาจีบกลายเป็นสัญลักษณ์ของความอดทนและการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของมนุษย์ เขาใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในการช่วยเหลือผู้อื่นและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการทารุณกรรมแรงงานข้ามชาติในต่างประเทศ

ถึงอย่างไรก็ตามก็พอเข้าใจได้ว่าหนังไม่สามารถถ่ายทอดทุกอย่างที่อยู่ในหนังสือได้ แล้วก็เชื่อว่าผู้กำกับตัดสินใจถูกต้องแล้วที่จบตรงที่นาจีบเดินขึ้นเครื่องบินกลับไปที่อินเดีย ซึ่งหากใครสนใจเรื่องราวต่อไปจากหนังก็คงไปหาซื้อหนังสือเรื่องนี้มาอ่านต่อยอดเอาเองจะเหมาะสมกว่า

#บทสรุป
Aadujeevitham หรือ The Goat Life หรือ คนเลี้ยงแพะ (2024) เป็นภาพยนตร์ที่มีความลึกซึ้งและสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงที่โหดร้ายของแรงงานข้ามชาติ เป็นภาพยนตร์สัญชาติอินเดียใต้ที่ทรงพลังทั้งในด้านการแสดง การเล่าเรื่อง และการถ่ายทำ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดบางประการเช่นการดำเนินเรื่องที่ช้าและภาพที่รุนแรง แต่ก็ยังคงเป็นภาพยนตร์ที่มีคุณค่าทางศิลปะและสังคม และมีศักยภาพที่จะสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมอย่างยาวนาน

ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นการสะท้อนถึงการต่อสู้ของมนุษย์เพื่อรักษาศักดิ์ศรีและความหวังไว้ แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุด เราทุกคนต่างมีพลังในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเอง และไม่มีอะไรที่สามารถทำลายศักดิ์ศรีของเราได้ตราบใดที่เรายังมีความหวังและไม่ยอมแพ้ในสิ่งที่เรายึดถือ

รับชมได้ทาง Netflix ไม่มีเสียงไทย

8/10
@วาทิน ศานติ์ สันติ

#SuperRevieaChannel

#รีวิวAadujeevitham2024
#รีวิวTheGoatLife2024
#รีวิวคนเลี้ยงแพะ2024
#หนังอินเดียชั้นดี
#หนังสะท้อนภาพแรงงานในตะวันออกกลาง

หมายเลขบันทึก: 719284เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2024 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กันยายน 2024 09:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท