บทสัมภาษณ์ที่ 1 : “ครูพิเศษ” เพื่อเพื่อน "คนพิเศษ"



บทสัมภาษณ์นี้มีจุดเริ่มต้นจากการทำ Facebook Fanpage : MIND BUDDY CLUB และในเดือนสิงหาคมนี้เป็นเดือนแห่งวันแม่ แต่การจะทำ Content ที่เกี่ยวกับแม่อย่างเดียวตลอดทั้งเดือนมันก็ดูจะธรรมดาไปสักหน่อย เราหยิบหยิบเอาคำว่า “แม่” มาพลิกดูและพบว่า “คำคำนี้ไม่ได้หมายถึงเพียงตัวบุคคล แต่เป็นพลังงานของการดูแลและสนับสนุนด้วย” เราหยิบเอาคำว่า “สนับสนุน” หรือ “Support” มาเป็นสารตั้งต้นในการทำ Content ลงหน้าเพจ

เมื่อวันก่อนเราได้ลงบทสัมภาษณ์ของพี่ขุนพล (เศรษฐพล ปริญญาพล พลเศษ) นักพัฒนาองค์กรและผู้ร่วมก่อตั้งพื้นที่การเรียนรู้ The Moving Forward ซึ่งถือว่าเป็นบทสัมภาษณ์ของคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีใจในการเดินทางและมุ่งมั่นที่จะสร้างพื้นที่การเรียนรู้และสนับสนุนผู้คนในองค์กรต่าง ๆ ให้เกิดการค้นพบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีความสุข และประสบความสำเร็จได้ตามวิถีทางเฉพาะของแต่ละองค์กร

วันนี้เราหยิบเอาบทสัมภาษณ์ของ “คุณยงยศ โคตรภูธร” ชายหนุ่ม “วัยเก๋า” ที่ไฟในหัวหัวใจก็ลุกโชนโชติช่วงไม่แพ้ใครที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวการเดินบนเส้นทางของผู้สนับสนุนเด็ก ๆ ที่มีความต้องการพิเศษ และกลุ่มผู้ดูแลเด็ก ๆ เหล่านี้ให้มีทักษะ ความรู้ ความเข้าใจ และการดูแลที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเป็นผู้เชื่อมประสานให้หน่วยงานที่ดูแลเด็ก ๆ เหล่านี้ได้มีโอกาสมาพบปะ พูดคุย ร่วมเรียนรู้ และร่วมปฏิบัติการเพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีความต้องการแบบพิเศษไปได้กัน

👨‍💻 สวัสดีครับคุณยงยศ ก่อนที่เราจะเริ่มต้นคุยกัน ผมชวนคุณยงยศแนะนำตัว หรือ นิยามนิดนึงครับว่า ชายชื่อ “ยงยศ” เขาเป็นใคร ?

คุณยงยศ : (หัวเราะ) เออ… นั่นหนะสิ จะแนะนำยังไง เรายังไม่รู้เลยว่าเราเป็นใคร ฮ่า ๆ เอ่อ… ถ้าจะนิยามจริง ๆ ก็น่าจะเป็นคนที่อยากเห็นคุณภาพชีวิตของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาเรื่องพัฒนาการหรือเด็กพิเศษ เขามีชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่นะครับ เลยนำตัวเองเข้ามาเรียนรู้และลงมาทำจนคิดว่าตัวเองได้พบกับอะไรบางอย่างที่สามารถนำเอาพื้นความรู้เดิมจากสายสุขภาพ (Public Health) หรืองานฟื้นฟูดูแลเข้ามามีส่วนช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ กลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้บางเท่าที่เราจะสามารถทำได้ครับ

👨‍💻 ในกระบวนการทำงานของคุณยงยศส่วนใหญ่เป็นในรูปแบบไหนอย่างไรบ้างครับ ?

คุณยงยศ : ถ้ามองย้อนกลับไปในรูปแบบการทำงานของผมเอง ผมว่างานของผมเป็นลักษณะการนำ “ตัวเอง” ไปนำเสนอว่าเรามีองค์ความรู้ มีประสบการณ์ที่อยากจะมาหนุนเสริมงานของกลุ่มคน ชมรม โรงเรียน หรือหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่มีความต้องการที่จะขับเคลื่อนงานเด็กพิเศษ อีกส่วนหนึ่งก็จะถูกเชิญไปเป็นวิทยากรจัดกระบวนการ หรือออกแบบกิจกรรมที่จะช่วยในการพัฒนาทักษะ หรือพัฒนาทางด้านร่างกาย สติปัญญา สังคมของเด็กพิเศษ แต่ในส่วนนี้ก็น้อยนะ ส่วนใหญ่ผมจะของ “อาสา” ไปมีส่วนเพื่อที่จะขับเคลื่อนงานการดูแลเด็กพิเศษเสียมากกว่า

👨‍💻 ชวนคุณยงยศเล่าให้ฟังหน่อยครับว่า… จุดเริ่มต้นบนเส้นทางสายนี้เริ่มต้นได้อย่างไรครับ ?

คุณยงยศ : มันเริ่มต้นจากเมื่อก่อนผมเองทำงานในสายสาธารณสุข (Public Health) ่เคยมีความอยากที่จะไปเป็นหมออนามัยในต่างจังหวัดเพราะแคมเปญ “สุขภาพดีถ้วนหน้า : Health for All” เมื่อปี 2543 แต่คราวนี้ไป ๆ มา ๆ ก็ได้มาจับประเด็นเรื่องเด็ก เรื่องพัฒนาการ และมันมีกรณีของเด็กที่ต้องดูแลและฟื้นฟู ทำให้ได้ไปดูงานเกี่ยวกับการดูแลและฟื้นฟู คราวนี้พอไปดูงานเรื่องการฟื้นฟูของผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุทางสมองเนี่ย มันก็เหมือนกับเราได้ข้อมูลเรื่องเด็กพิเศษเพิ่มเติมไปด้วย และในช่วงเวลานั้นในเมืองไทยเอง ผมคิดว่ามีที่เดียวที่พูดเรื่องเด็กพิเศษ หรือ เด็กออกทิสติก คือ โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ และก็มีเคสพิเศษเกี่ยวข้องกับเด็กที่ต้องไปดูว่ามีการดูแลเด็กพิเศษอย่างไร ปัญหาของเขาอยู่ตรงไหน และบริการของภาครัฐที่เขามีสนับสนุนเป็นไปอย่างไร ซึ่งตอนนั้นบริการแบบนี้มีน้อยมาก ๆ 

และสิ่งที่ทำให้ผมอินสุด ๆ และคิดว่าเราสามารถช่วยเขาได้เนี่ย คือ การที่ผมได้พบกับเด็กคนหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถเขาโรงเรียนได้ เพราะไม่มีโรงเรียนไหนเขารับเข้าเรียน แต่พอเราเข้าไปดูแล เราเข้าไปแนะนำ เข้าไปไกด์ให้เขา และก็ให้สัญญากับโรงเรียนหนึ่งว่าถ้าโรงเรียนรับเด็กคนนี้เขาเรียน เราจะประสานการดูแลเท่าที่จะทำให้เด็กคนนี้สามารถเรียนได้ อันนี้ก็เป็นอันหนึ่งที่รู้สึกว่า “เอ้ย… ลายเซ็นต์ของเรามันสามารถรับรองเด็กที่ถูกปฏิเสธจากโรงเรียนมาหลายแห่งแล้ว ให้เขาเข้าเรียนได้” ก็เลยคิดว่าถ้าเราเดินต่อทั้งในการหาความรู้และหาพื้นที่ในทำงานด้านนี้ให้จริงจัง ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กกลุ่มได้จริง ๆ ก็เลยพยายามทำมาเรื่อย ๆ

พอเล่าถึงเรื่องนี้ก็นึกขึ้นมาได้ว่าเมื่อวานที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา ผมไปทำงานและผ่านไปแถวคลอง 6 ทางไปราชมงคลธัญบุรี ผมจะไปจัดกิจกรรมให้เด็กพิเศษที่หนองเสือ ผมผ่านตรงนั้น ผมจำได้ว่าช่วงแรก ๆ ที่ทำลงพื้นที่ไปติดตามงานเรื่องเด็กพิเศษ ผมมีโอกาสเจอกับเด็กคนหนึ่งที่มีการ CP (cerebral palsy) เขาจะหงิกงอ นอนอยู่ที่บ้าน ตามตัวก็มีผดผื่นขึ้นทั้งตัว มีอาการไข้ขึ้น อันนี้เป็นเคสที่เคยเจอ ตอนนั่งรถผ่านก็เห็นมีชาวบ้านเอาไม้มาเปลแต่ยังไม่เห็นตัวคน เลยคิดว่าเดี๋ยวขากลับจะแวะเข้าไปดูหน่อย แต่ใจหนึ่งก็คิดว่าเขาไม่น่าจะอยู่แล้วหละ แต่พอทำงานเสร็จและกลับเข้าไปดูปรากฏว่าเด็กคนนี้ เขานอนอยู่หน้าบ้าน ตอนผมเจอเขาครั้งแรกเขาน่าจะประมาณ 4 ขวบ โดยมียายกับตาเป็นคนดูแล แต่วันนั้นพอถามหาตากับยายก็รู้ว่าตายายเสียไปแล้ว ตอนนี้เป็นคุณป้าที่ดูแลเขาอยู่ และตอนนี้เขาอายุ 18 แล้วนะ ย้อนกลับไปช่วงนั้นที่เจอกันเนี่ย จำได้ว่าเขาต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยมาก เพราะเดี๋ยวก็มีไข้ เดี๋ยวก็หอบ เราก็เขาไปดูแลเรื่องความสะอาด และโภชนาการต่าง ๆ และแนะนำให้เข้าระบบโรงเรียนการศึกษาพิเศษ มีคนสนับสนุน และได้รับทุนต่าง ๆ 

พอเราเข้าไปเจอเขา เขาก็รับรู้นอนยิ้มและคุยกัน พอจะกลับเขาก็ส่งยิ้มให้อีก พอเดินออกมามันมีความรู้สึกแบบหัวใจมันพองโตแบบบอกไม่ถูก 

และอีกครั้งที่อีกหน่วยงานหนึ่งจัดทำหนังสั้นเกี่ยวกับเด็กพิเศษ 3 เรื่อง เรื่องแรกหนังก็เล่าในมุมของเด็กพิเศษที่ดูไม่รับรู้อะไร แต่จริง ๆ แล้วเขาจริงใจ โดยเล่าผ่านความสัมพันธ์ของเด็กพิเศษกับเพื่อน ๆ ในโรงเรียน อีกเรื่องเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ปกครองที่หาโรงเรียนให้ลูกไม่ได้ เมื่อหาได้ก็ตามดู ตามลุ้นว่าลูกจะเป็นอย่างไร และเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องของผู้ปกครองที่มีความเครียดในการที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ จนต้องลงมือทำร้ายลูก พอได้ไปเทศกาลหนังสั้น 3 เรื่องนี้ มันก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่า “ฉันต้องจับเรื่องนี้”

พอมองกลับไปมันก้เห็นว่า… มันมีเรื่องที่ค่อย ๆ มีเรื่องราวต่าง ๆ เข้ามาที่ทำให้เราลึกขึ้น ๆ กับเรื่องนี้ และเรื่องพวกนี้ทำให้ผมอยากดูข้อมูลเกี่ยวกับเด็กพิเศษในพื้นที่ และอยากเอาตัวเขาไปขับเคลื่อนงานในท้องที่เรื่อย ๆ

👨‍💻 ฟังจากที่คุณยงยศเล่ามาทั้งหมด หลายครั้งจะได้ยินคำว่า “อาสา” อยู่บ่อย ๆ เนี่ยครับ แน่นอนการทำงานแบบนี้มันต้องมีสิ่งที่หล่อเลี้ยงตัวเราเอง ถ้าเป็นในเรื่องเงินทองเป็นไปตามแต่ละโปรเจค แต่ละโครงการอยู่แล้ว แต่หลายครั้งที่คุยส่วนตัวกับคุณยงยศก็ไปฟรีไม่น้อยเหมือนกัน เลยอยากให้คุณยงยศบอกหน่อยครับ อะไรที่เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงให้คุณยงยศยังทำงานนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ?

คุณยงยศ : มีหมอคนหนึ่งบอกกับผมว่า… ดีจังนะ ลุงยศเป็นจิตอาสา ทำงานนี้ด้วยใจ ไม่ได้หวังอะไร มันเป็นการทำงานที่ยิ่งใหญ่มากนะ ผมตอบกลับเขาว่า… ไม่… ผมไม่ได้มีจิตอาสานะ ที่ทำผมไปเพราะผมหวังนะ ผมทำเพราะผมอยากได้ความสุข เพราะถ้าเกิดว่าผมนั่งอยู่เฉย ๆ ผมอาจจะไม่ได้ความสุขแบบนี้ มันอาจจะได้ความสุขในรูปแบบอื่น ๆ แหละ แต่ความสุขแบบนี้ที่ได้จากการแบ่งปัน การช่วยเหลือ การเห็นชีวิตของผู้คนที่เราเข้าไปช่วยเหลือ ดูแลเขามีความสุขขึ้น คนรอบตัวเขาไม่เครียด มีความสุขขึ้น ถ้าผมไม่ทำ ผมจะไม่ได้สิ่งนี้ และสิ่งที่ผมอยากได้มันไม่ใช่การเบียดเบียน แต่มันเป็นการที่ทำให้เราได้ประโยชน์ทั้งคู่ เพราะงั้นสิ่งที่ผมทำมันเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยง และผมอาจจะเสพติดความสุขจากสิ่งที่ผมทำงานในเรื่องก็ได้นะ เพราะการเสพติดเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้เราสูญเสียอะไร แต่ทำให้เราได้ประโยชน์ และมองเห็นการเติบโตของพวกเขาด้วย

👨‍💻 ขยับไปต่ออีกนิดนึงครับ… ช่วงแรกคุณยงยศได้รับการดูแล หรือสนับสนุนทั้งในด้านองค์ความรู้และการลงพื้นที่อย่างไรบ้างครับ ?

คุณยงยศ : การดูแล หรือการ Support หรอ ผมอาจจะโชคดีนะที่ผมมีบรรดากัลยาณมิตร มีผู้รู้ มีอาจารย์ มีหมอ มีนักวิชาการหลายคนที่เปิดโอกาสให้ผมเข้ามาอยู่ในทีม และมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอยู่ตลอด และช่วยกันเติมในเรื่ององค์ความรู้และทักษะต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่วนในมุมของการทำงานส่วนใหญ่ผมก็มักจะทำหน้าที่เหมือนเป็นคนที่เข้าไปกระตุ้นให้พวกเขาจัดโครงการต่าง ๆ ตามหน้าที่ของหน่วยงาน มันอาจจะไม่ถึงกับเรียกว่า Support หรอก แต่เป็นการเอื้อให้เกิดงานร่วมกันมากกว่า

คราวนี้เรื่องลงพื้นที่ ตอนแรก ๆ ก็มีหน่วยงานของภาครัฐที่เข้ามาทำงานด้วยกันในช่วงต้น ประกอบกับตอนนั้นผมก็สามารถสนับสนุนใครหลาย ๆ คนได้ก็ชวนพวกเขามาร่วมทำงานด้วยกัน แต่พอช่วงหลัง ๆ ผมมีข้อจำกัดก็ไม่สามารถคนอื่น ๆ ได้เหมือนเมื่อก่อน ก็เลยต้องไปลุยงานคนเดียว แล้วเปลี่ยนแผนเป็นการไปสร้างคนในพื้นที่ที่จะมาช่วยกันทำงานแทน

👨‍💻 เราคุยกันถึงเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมาพอสมควรแล้วครับ คราวนี้อยากชวนกลับมามองในปัจจุบันดีกว่าครับ ในมุมของการดูแลผู้คนแบบคุณยงยศเป็นอย่างไรบ้าง ? คุณยงยศาจพูดถึงพี่เพ้ง ศน.พิมพา พื้นที่จังหวัดน่าน และก็ล่าสุดที่โรงพยาบาลยุพราชก็ได้นะครับ เผื่อจะง่ายขึ้น

คุณยงยศ : แต่เดิมนี่การสร้างคนไม่อยู่ในหัวผมเลยนะ เมื่อก่อนคิดว่าตัวเองเป็นคนที่ถ่ายทอดได้ไม่ดี

เพ้ง นี่ตอนแรกก็ไม่รู้จักกันนะ เรามาเจอกันในการประชุมเรื่องเด็ก LD เพ้งเขามาในฐานะผู้ปกครองของเด็ก LD คราวนี้ผมก็แสดงความชัดเจนว่าเราต้องมองว่าเด็ก LD ก้วยความรู้สึกที่ไม่ใช่ “การเหยียด” และสิ่งที่ผมพูดในเวทีนั้นก็ทำให้ผมได้รู้จักกับเพ้ง และชวนให้มาทำกิจกรรม เรียนรู้และดูแลกันมาเรื่อย ๆ

ศน.พิมพา ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เจอกันในงานประชุมวิชาการ พอดีโอกาสแกก็มาถามและตามดูว่าคนนี้เป็นใคร และก็ชวนไปในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เป้าหมายของแก โดยที่ ศน. แกก็มีความตั้งใจจะสร้างทีมครูการศึกษาพิเศษ พอไปครั้งแรกก็ได้เรื่องเลย ฮ่า ๆ พอไปเจอครูในพื้นที่จริงที่อาจจะขาดความรู้ความเข้าใจ ทักษะ และวิธีการในการดูแลเด็กพิเศษ แกก็ใช้วิธีการแบบครูทั่วไปจัดการ จนผมต้องสะท้อนไปตรง ๆ ว่า “เฮ้ย… ครูดุเหมือนหมาเลย” แต่พอทำกระบวนการไปในวันที่ 2 ครูคนนี้ก็กลับมาด้วยท่าทีที่เปลี่ยนไป จนกระทั่งสุดท้ายการเป็นครูที่เปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนเป็นครูที่เข้าใจเด็กได้ จนแกเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน

ซึ่งถ้าถามว่าคนเหล่านี้พวกเขาได้รับอะไรจากเราไปก็คงเป็น… ความเอาจริงเอาจังของผมไปใช้ล่ะมั้ง และก็เข้าได้ลองเอาสิ่งที่เราไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปใช้งานจริงจนเห็นผลลัพธ์ด้วยตัวพวกเขาเอง จนหลัง ๆ ผมไปเยี่ยมเยือนที่ไหน ผอ. ก็จะเอาผลงานมาโชว์ให้ดู ฮ่า ๆ

ส่วนในพื้นที่ที่จังหวัดน่านนี่เริ่มต้นผมไปฉายภาพและก็ตั้งวงคุยเพื่อให้เกิดกระบวนการที่ชวนให้พวกเขาได้ค่อย ๆ เปลี่ยนแนวความคิดเดิมไปสู่การมี Growth Mindset และเปลี่ยนวิธีการการทำงานในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์แบบใหม่ ๆ และก็ชวนเขาทำงานเดิม ๆ ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ ๆ ที่มีความใส่ใจและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เมื่อเขาเห็นการเปลี่ยนแปลงก็ทำให้เกิดความตื่นตัวมากขึ้น

ส่วนที่สุดท้ายอย่างโรงพยาบาลยุพราชฯ แต่เดิมเราคุยกันอยู่แล้ว เมื่อเขารู้ว่าผมมีงานแถวนั้นก็เขานัดมาคุยเรื่องนี้กัน เนื่องจากมีโครงการจากหน่วยงานเข้ามาพอดี และโรงพยาบาลยุพราชฯ เองก็มีศักยภาพพอที่จะทำงานเรื่องนี้ได้ และพอเขามาเห็นงานของผมก็เลยขอให้ผมมาช่วยแบ่งปันประสบการณ์และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

👨‍💻 คุยกันมาถึงตรงนี้ถ้าลองขมวดวิถีการทำงานของคุณยงยศดู ผมพบว่าวิถีการทำงานของคุณยงยศเริ่มต้นจากการชวนคุยเพื่อให้มองภาพร่วมกันว่า ณ ตอนนี้เราสถานการณ์และบริบทต่าง ๆ ที่เราพบเจออยู่เป็นอย่างไรบ้าง ? (Reality Checking) → การขยับขยายกรอบความคิดเดิม ไปสู่แนวคิดอีกแบบหนึ่ง (Getting Growth Mindset) → เปิดพื้นที่ทดลองกระบวนการร่วมกัน (Learning Lab)

👨‍💻 คราวนี้เลยอยากวิธีการทำงานในระบบที่หลากหลายในสไตล์ของคุณยงยศหน่อยครับ จะทำอย่างไรให้คนในหน่วยงานหนึ่งสามารถรู้จัก สื่อสาร และทำงานร่วมกันกับอีกหน่วยงานหนึ่งได้

คุณยงยศ : ผมพูดในมุมของโรงเรียนกับโรงพยาบาลแล้วกันนะ ผมก็ใช้วิธีการไหน ๆ เราก็จะทำเรื่องนี้แล้วก็ขอให้ครูมาใช้พื้นที่ของโรงพยาบาลได้ไหม ? ตอนแรกเขาก็บอกว่ามันติดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่สุดท้ายทาง ผอ. ก็บอกว่า “ไม่เป็นไร… ก็ถือเป็นความร่วมมือละกัน” และผมก็ให้ทางโรงพยาบาลมาเป็นคนเปิดงานและให้ทีมหมอเป็นผู้สังเกตการณ์รอบ ๆ ในการอบรมครู ระหว่างตั้งวงคุยสะท้อนภาพว่าตั้งไหนเป็นงานของใครอะไรยังไงจนกระทั่งทีมหมอเองก็เริ่มเข้าใจว่า “อ๋อ… เขาสามารถเข้ามาช่วยงานในพื้นที่โรงเรียนได้อย่างไร”

ส่วนอีกครั้งหนึ่งก็เชิญหมอ เชิญนักบำบัดมาเป็นฟังบรรยายในโรงเรียน แต่เนื่องจากมีปัญหาบางประการก็ใช้เป็นแบบ Hybrid จนกระทั่งมีคำถามจากครูขึ้นมาว่า “เอ๊ะ… อาจารย์ยงยศชวนหมอเข้ามาบรรยายได้อย่างไร ? เพราะปกติทางเราเชิญไปมันเป็นเรื่องยากมาก” ผมก็บอกเขาว่า “เราชวนมาแบบเพื่อนไง… เพื่อนชวนเพื่อนก็เลยมาได้” ส่วนในมุมมของหมอก็มีเสียงมาว่า “ปกติเขาไม่รู้เหมือนกันว่าจะเขาโรงเรียนไปทำงานอย่างไร เพราะไม่เข้าใจบริบท แต่พอเห็นกระบวนการแล้วทำให้เข้าใจมากขึ้น”

👨‍💻 ฟังสไตล์ทำงานของคุณยงยศแล้วก็เห็นว่า คุณยงยศเป็นเหมือนตัวกลางที่คอยประสานคนสองกลุ่มเข้าหากัน โดยใช้กลวิธี 2 อย่างหลัก ๆ คือ
• หาทรัพยากรที่พวกเขามีและให้พวกเขาได้มาแชร์กัน (เป็นเหมือนประตูด่านแรกที่สร้างการเชื่อมโยง และความรู้จักกันและกัน)
• ชวนพวกเขาให้เรียนรู้ร่วมกันผ่านวงสนทนา หรือ Workshop โดยเริ่มจากการเป็นผู้สังเกตการณ์ และคุณยงยศจะทำการค่อย ๆ ชี้ประเด็นอย่างเนียน ๆ ให้พวกเกิดการเรียนรู้และมีการเห็นมุมมองต่าง ๆ ที่แต่ละหน่วยงานจะเข้ามาสนับสนุนกันและกันได้

และหลังจากนั้นมันก็เกิดการทำความรู้จักและสร้างเครือข่ายขึ้นมา และจะค่อย ๆ เกิดความร่วมมือกันได้ และสำคัญที่สุด คือ “ความเป็นเพื่อน” ที่จะช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น 

👨‍💻 คำถามสุดท้ายแล้ว… ชวนคุณยงยศถอดบทเรียนการเดินทางบนเส้นทางการดูแลเด็กพิเศษเป็นอย่างไรบ้าง ?

คุณยงยศ : ช่วงหลัง ๆ นี่ผมมาตกผลึกกับตัวเอง และค่อย ๆ พบคำตอบที่น่าสนใจกับตัวเองว่า

ก่อนที่เราจะทำงานอะไรสักงานมันต้อง “คิดให้ทะลุ” อะ ไม่ใช่การคิดมากนะ แต่มันคือการคิดว่าการทำงานครั้งนี้จะตอบโจทย์ได้อย่างไร เวลาลงมือทำก็ทำด้วยความ Enjoy ทำด้วยความใส่ใจ จากที่เคยคิดว่าเราทำเพราะแค่อยากทำทำ ตอนนี้มันเปลี่ยนมาเป็นเราต้องละเอียดในทุกสิ่งที่เราจะทำ เพราะมันหลายอย่างที่มันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดไว้ หรือพบบางอย่างที่มันเกินกว่าที่เราคิดไว้จะต้องละเอียดกับมันมากขึ้น สุดท้ายคือเราจำเป็นต้องเอาทุกกระบวนท่าที่เรามีมาปรับให้เข้ากับบริบทในงานที่เราเจอ และไวที่จะปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เหมือนเราจะทำงานเหมือนเดิม แต่งานในแต่ละพื้นที่ แต่ละบทบาทมันก็แตกต่างกันไป

นี่เป็นบทสัมภาษณ์ที่เราได้คุณกับคุณยงยศจริง ๆ มันยาวประเด็นย่อย ๆ อีกนิดหน่อยที่เราคุยกันต่อ แต่คิดว่าแค่นี้มันก็ทำให้เราได้มองเห็นเส้นทางของความเป็น Supporter ที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจมากเพียงพอแล้ว จริงต้องคุยกับคุณยงยศเราใช้เวลากันเกือบ 2 ชั่วโมงนะ ไม่ใช่การสัมภาษณ์ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวาและสนุกสนานมาก ๆ อาจเป็นเพราะเราเองก็สนใจงานด้านนี้ และงานของเราเองก็เป็นด้านการดูแลผู้คนเช่นกันมันเลยทำให้การพูดคุยสนุกมากขึ้น แถมท้ายด้วยการคิดว่าน่าจะมีโปรเจคต่อไปด้วยกันอีกด้วย (อันนี้ต้องรอติดตาม)

ถ้าจะให้ผมได้ลองขมวดสุดท้ายของการเป็น Supporter แบบคุณยงยศนั้น มันเริ่มต้นจาก “ความมุ่งมั่นตั้งใจ” ที่จะทำเพื่อใครสักคน แต่ใครสักคนในที่นี้ของคุณยงยศอาจจะไม่ได้หมายถึงแค่ “คนหนึ่งคน” เท่านั้น แต่หมายถึง “เด็กพิเศษ 1 คน และคนรอบ ๆ ตัวพวกเขาอีก 1 หน่วย (ซึ่งอาจจะเป็นคน / ทีม หรือองค์กร ก็ได้)” จากนั้นก็ใช้ความเป็น “เพื่อน” เข้าไปชวนสังเกต ชวนเล่น ชวนคุยเพื่อให้เห็นภาพจริงร่วมกัน เมื่อเห็นภาพจริง วิธีการทำงานจริง และข้อจำกัดที่เกิดในการทำงานที่ผ่านมาแล้ว ชวนสืบค้นเพื่อหาแนวคิดและวิธีการที่จะทำงานเดิม ๆ ให้ดีขึ้น สนุกขึ้น มีความสุขมากขึ้นทั้งเด็ก เรา ผู้ปกครอง และองค์กร จากนั้นก็ชวนลงมือทำ ลงมือทดลอง ทำแบบเล่น ๆ แต่ทำด้วยจริงจัง จริงใจ และใส่ใจในการทำงานนั้น ๆ สังเกตตัวเอง สังเกตคนตรงหน้า สังเกตบริบท และปรับตัว เปลี่ยนแผนเพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละคน แต่ละงานอยู่เสมอ ๆ และสุดท้ายคือการได้กลับมามองเห็นการเติบโต และความสำเร็จเล็ก ๆ ระหว่างทางอยู่เสมอเพื่อเป็นการหล่อเลี้ยงพลังใจให้ตัวเอง พร้อมไปกับการมีเพื่อน มีเครือข่าย มีกลุ่มก้อนที่ชวนกันทำงาน ได้รับทุกข์และดูแลกันและกัน ผมว่านี้เป็นรูปแบบการทำงานที่น่าสนใจมากเลยที่เดียว

และนี่เป็นเรื่องราวของ Supporter “หมุ่นวัยเก๋า” ที่มี “พลังแห่งความรัก” ในกับงานการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีความต้องการพิเศษที่เราได้สัมภาษณ์ในวันนี้ครับ :)

หมายเลขบันทึก: 719278เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2024 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2024 23:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท