การจัดสวัสดิการองค์กรแบบยั่งยืน
นัทธี จิตสว่าง
สวัสดิการเป็นสิ่งที่เป็นตัวเงินหรือบริการอื่นใดที่ไม่ใช่ตัวเงินที่หน่วยงานที่จัดให้กับข้าราชการหรือพนักงานนอกเหนือจากเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับอยู่เป็นปกติ สวัสดิการจึงเป็นสิ่งจำเป็นของหน่วยงานที่จะใช้เป็นการจูงใจให้เกิดขวัญกำลังใจและความผูกพันต่อองค์กร รวมตลอดถึงการดึงดูดคนเข้าทำงาน
สวัสดิการที่องค์กรทั่วไปทั้งภาครัฐและเอกชนจัดให้กับข้าราชการหรือพนักงานนั้น มักจะเป็นสวัสดิการแบบสงเคราะห์ คือ เป็นสวัสดิการให้กับข้าราชการหรือพนักงานเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยหรือประสบความเดือดร้อนในลักษณะของการแจกและให้ เมื่อข้าราชการหรือพนักงานร้องขอสวัสดิการในลักษณะนี้ ทำให้ข้าราชการหรือพนักงานต้องพึ่งพาองค์กรเป็นหลัก และเป็นระบบที่จะพยายามเติบโตขยายตัวโดยตลอด กล่าวคือเมื่อสวัสดิการได้รับการตอบสนองแล้วก็เริ่มมองหาสวัสดิการตัวอื่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเป็นสวัสดิการเชิงเยียวยา แก้ไข ไม่ใช่สวัสดิการเชิงป้องกัน เช่น เมื่อข้าราชการหรือพนักงานป่วยก็สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้หรือมีประกันรับผิดชอบ แต่ไม่ได้เป็นการทำให้ข้าราชการหรือพนักงานเกิดความสามารถที่จะป้องกันตนเองมิให้ป่วยตั้งแต่แรก จึงต้องพึ่งพาระบบการรักษาตลอดไปจนกว่าจะเกษียณจากการทำงาน และไม่ได้ติดตัวไปตลอดชีวิต จึงเป็นระบบสวัสดิการแบบไม่ยั่งยืน
ในขณะที่ระบบสวัสดิการแบบยั่งยืนเป็นระบบที่เน้นให้ข้าราชการและพนักงานสามารถพึ่งตนเองได้มากกว่าการเน้นการรับการสงเคราะห์ และเป็นระบบสวัสดิการที่ติดตัวไปตลอดชีวิต แม้จะเกษียณอายุการทำงานหรือย้ายงานไปอยู่ที่องค์กรอื่น ระบบสวัสดิการแบบยั่งยืนจึงเป็นสวัสดิการที่ติดตัวของข้าราชการหรือพนักงานไปจนตลอดชีวิตแม้จะย้ายไปอยู่ที่องค์กรอื่นหรือเกษียณอายุการทำงานไปแล้วก็ยังคงได้ประโยชน์จากสวัสดิการนี้อยู่ซึ่งเป็นของขวัญจากการทำงานในองค์กร นอกจากนี้ระบบสวัสดิการแบบยั่งยืนยังเป็นระบบสวัสดิการที่ประหยัดค่าใช้จ่ายขององค์กรในการจัดสวัสดิการเพื่อข้าราชการหรือพนักงาน แล้วระบบสวัสดิการแบบยั่งยืนทำอย่างไรหรือให้อะไรกับข้าราชการหรือพนักงานการจัดระบบสวัสดิการแบบยั่งยืนคือการให้ความรู้และทักษะและปรับพฤติกรรมใน 3 เรื่องคือ
ประการแรก ข้าราชการและพนักงานที่รู้จักการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันด้วยตนเองจะมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ลดการพึ่งพายาและค่ารักษาพยาบาลจากองค์กร เริ่มต้นจากการรู้จักสุขภาพของตนเอง เข้าใจในผลตรวจสุขภาพของตนนำไปสู่การรู้จักดูแลสุขภาพตนเอง และรู้จักการกินอาหารที่มีคุณค่าหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้โทษโดยเฉพาะอาหารที่จะนำไปสู่โรค NED เรียนรู้การออกกำลังกาย การจัดการเรื่องการพักผ่อนออกกำลังกายและการจัดการอารมณ์โดยองค์กรจะบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนกิจกรรม 3 ส่วนนี้ เช่นการติดป้ายเตือนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ตลอดจนการกันไม่ให้อาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาขายในโรงอาหารขององค์กร และพัฒนาขึ้นเป็น Healthy Food Center ในที่สุด รวมตลอดถึงการส่งเสริมการออกกำลังกายให้ข้าราชการหรือพนักงานอย่างต่อเนื่องและถูกวิธี มีห้องฟิสเนส มีการจัดงาน Sport day ส่งเสริมการบริหารสุขภาพจิตด้วยวิธีการหลากหลาย เช่น การวาดภาพสีน้ำ ศิลป ดนตรี และนั่งสมาธิเป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงการ จัดระบบการเข้าที่ทำงานที่ทำให้เกิด Work-life balance ในขณะที่การมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดีก็เป็นการส่งเสริมให้การทำงานของข้าราชการหรือพนักงานมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นโดยมีตัวชี้วัดของเรื่องนี้คือข้าราชการหรือพนักงานในองค์กรมีสุขภาพดีและมีความรู้และพฤติกรรมในการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและร่วมกันดูแลทั้งองค์กร โดยที่ทุกคนจะตะหนักว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดของคนทำงานคือการมีสุขภาพที่ดี และศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นโรคภัยของตนเอง
ประการที่สอง การให้ความรู้และทักษะด้านการบริหารการเงิน ให้ข้าราชการหรือพนักงานรู้จักการออม การลงทุน การหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่ใช้เงินเกินตัว มีการกันเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หรือเมื่อเกษียณอายุการทำงาน อีกอันหนึ่งคือมีการวางแผนชีวิตและวางแผนเกษียณอายุการทำงานตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานในองค์กรเพื่อให้สามารถเกษียณการทำงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมตลอดถึงการวางแผนที่อยู่อาศัยที่จะต้องคืนบ้านหลวงเมื่อเกษียณอายุราชการ โดยนัยนี้องค์กรจะต้องเข้ามาช่วยในการให้ความรู้และการวางแผน เช่น วางระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ ให้ส่งเสริมการออมมากกว่าการกู้ที่ไม่เกิดประโยชน์ เปิดคลินิคหนี้ เพื่อช่วยบริหารหนี้ให้ข้าราชการหรือพนักงานได้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้ล้นพ้นตัว กลับมาเป็นที่รู้จักเก็บออมและบริหารเงินและรายได้ ทั้งทางตรงและรายได้เสริมและใช้ชีวิตแบบพอเพียง
ประการที่สาม องค์กรต้องส่งเสริมให้ข้าราชการหรือพนักงานค้นพบตัวเอง ว่าตนเองมีความชอบอะไร หรือมีความสามารถด้านใด พยายามให้เขาค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเขา และนำออกมาพัฒนาต่อยอด เก่งด้านไหนนำมาพัฒนาให้ได้ใช้ประโยชน์ต่อองค์กร โดยองค์กรจะต้องสร้างแรงบันดาลใจให้เกิด passion ในการทำงานไม่ว่าจะเป็นงานประจำหรืองานอดิเรก และพัฒนาตัวเองด้านการศึกษา หาความรู้เพิ่มเติม พัฒนาทักษะ reskill upskill และรู้จักที่จะวางเป้าหมายชีวิตในระยะสั้นและระยะยาวทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
การให้ความรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งสามเรื่องนี้ ในสมัยก่อนเป็นเรื่องที่ทำได้ยากลำบากในองค์กร เพราะต้องใช้ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีความชำนาญเฉพาะทางเป็นผู้ให้ความรู้แต่ในปัจจุบันการเข้าถึงความรู้ในเรื่องทั้งสามเรื่องทำได้ง่ายด้วยเทคโนโลยี ทำให้พนักงานสามารถเข้าถึงความรู้เหล่านี้ได้ด้วยตนเองโดยมีองค์กรจัดระบบให้ ในรูปแบบของกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเองด้วยวิธีต่างๆ เช่นการจัดให้ข้าราชการหรือพนักงานสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ในเรื่องสุขภาพหรือการบริหารการเงินได้จากสื่อในห้องสมุด ห้องอาหาร ห้องพยาบาล ในลิฟท์หรือในพื้นที่ส่วนกลางอื่นๆ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ขององค์กรในรูปแบบต่างๆ แต่ในการให้ความรู้ทักษะแต่ประการเดียวไม่พอ องค์กรต้องจัดสภาพแวดล้อมและสร้างวัฒนธรรมในการทำงานเชิงบวก การใช้ชีวิตที่ดีของข้าราชการและพนักงาน รู้จักหลีกเลี่ยงอบายมุขทุกรูปแบบ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา องค์กรต้องพยายามที่จะค้นหาศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวของพนักงานแต่ละคน นำมาพัฒนาต่อยอด และนำมาสร้างคุณค่าให้กับองค์กร ดังนั้น ยิ่งทำงานในองค์กรลักษณะนี้ ก็ยิ่งพัฒนาตนเอง
ความรู้และทักษะทั้งสามด้านจะติดข้าราชการและพนักงานไปจนหลังเกษียณอายุทำงาน เท่ากับเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณตั้งแต่เริ่มทำงาน ทำให้เกิดความพร้อมในการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่มีบุตรหลาน นับเป็นสวัสดิการที่องค์กรมอบให้กับข้าราชการหรือพนักงานที่ทำงานอยู่กับองค์กร แทนการแจกข้าวสาร น้ำ หรือจ่ายค่ารักษาพยาบาล สวัสดิการแบบยั่งยืน จึงไม่ได้เป็นการจับปลาให้กินเมื่อข้าราชการหรือพนักงานรู้สึกหิว แต่เป็นการสอนให้เขารู้จักหาปลาด้วยตนเอง ทำให้เขาสามารถมีกินไปตลอดชีวิต หรือมีความรู้และทักษะในการจัดการกับสุขภาพและการเงินตลอดจนชีวิตของตนเองไปแม้จะออกจากองค์กรไปหรือเกษียณอายุจากการทำงานไปแล้วก็ตาม แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า สวัสดิการแบบยั่งยืนจะยกเลิกสวัสดิการแบเก่าจนหมด การจัดสวัสดิการในแบบเก่าก็จำเป็นที่จะต้องคงอยู่ แต่ลดน้อยลงไปเมื่อสวัสดิการแบบยั่งยืนเข้ามาเสริมและอยู่ดูกันไปทั้งสองแบบ จนกว่าองค์กรจะสามารถปรับMindset ของคนในองค์กรให้เห็นในคุณค่าของสวัสดิการแบบยั่งยืนมากกว่าสวัสดิการแบบสงเคราะห์นั่นเอง
------------------------------------------
หมายเหตุ ภาพประกอบจากการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต
ไม่มีความเห็น