ชีวิตที่พอเพียง  4800. ทุนนิยมกับปัญญานิยม


 

อ่านหนังสือ การก่อรูปของเศรษฐกิจก่อนระบบทุนนิยม แล้วสะท้อนคิดชีวิตของตนเอง เอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน    หากจะเป็นการยกหางตนเองบ้าง ก็อย่าถือสากันนะครับ   ถือเป็นการตีความประสบการณ์ชีวิตส่วนตัว เอามาทำความเข้าใจหลักการเรื่องความเชื่อร่วมกัน   ที่ผมคิดว่าส่งผลให้ผมมีชีวิตที่ดียิ่งอย่างในปัจจุบัน   

เพิ่งอ่านหนังสือที่แปลจากหนังสือที่ Karl Marx เขียนไว้เมื่อเกือบสองร้อยปีก่อนเล่มนี้ได้นิดเดียว    ก็ได้เรียนรู้ว่า ระบบทุนนิยมก่อตัวมาจากการที่แรงงานทาสในอดีต พัฒนาขึ้นเป็นแรงงานเสรี ซึ่งได้ค่าจ้างเป็นเงิน   เอาเงินไปทำอะไรที่งอกเงยได้    คือเป็นทุน   

ผมตีความต่อว่า ทรัพย์สมบัติต่างๆ เช่นที่ดิน ก็ใช้เป็นทุนได้   และเมื่อผมอายุ ๒๐ กว่าๆ เกือบ ๓๐ ผมก็เชื่อว่าผมมีทุนสำหรับดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงแล้ว คือความรู้หรือสมรรถนะในการเป็นหมอ เป็นอาจารย์ รวมทั้งเป็นนักวิจัย   ซึ่งต่อมาผมเป็นนักบริหารด้วย ก็เป็นสมรรถนะที่ให้ความมั่นคงในชีวิตได้อีก   

เดาว่าตอนอายุ ๓๐ เศษ ผมคงจะมั่นใจมากว่าตนเองมีความมั่นคงในเรื่องทุนสำหรับการดำรงชีวิต    และคิดลามไปถึงน้องอีก ๒ คนที่เป็นหมอ  และอีกคนหนึ่งเป็นพยาบาลที่สามีเป็นหมอ   ว่าน่าจะมีทุนในการประกอบอาชีพดำรงชีวิตที่มั่นคง    ไม่น่าจะต้องพึ่งสมบัติที่ดินของพ่อแม่    ที่ควรจะแบ่งให้น้องอีก ๓ คนที่เรียนจบเกษตรและกลับไปอยู่บ้านประกอบอาชีพเกษตรกร             

ผมถือโอกาสที่เป็นลูกคนโต บอกพ่อว่า ลูกสามคนที่เป็นหมอไม่ต้องแบ่งสมบัติที่ดินให้    ขอให้แบ่งให้น้องๆ เกษตรกร ๓ คน   จำไม่ได้ว่าผมบอกว่าสมบัติที่เป็นเงินก็ไม่ต้องแบ่งให้ลูกที่เป็นหมอ ๓ คนหรือเปล่า    แต่จำได้แม่นว่า ผมบอกเลยว่า ไม่ต้องแบ่งสมบัติใดๆ ให้ผม   

และจำได้แม่นว่า พ่อแย้งผมทันทีว่า ที่ดินริมทะเลในอนาคตจะไม่มีอีก อยากให้ลูกทุกคนมีที่ดินติดริมทะเลคนละ ๑ ผืน   ท่านจึงแบ่งที่ดินชายทะเลให้ลูกทุกคนมีที่ติดริมทะเลหน้ากว้าง ๑ เส้น   ส่วนที่ ๖ มากกว่า ๑ เส้นหลายเท่า ยกให้น้องคนที่อ่อนแอที่สุดไป    ผมจึงมีที่ดินริมทะเลที่ตำบลท่ายาง  อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เนื้อที่ ๒ ไร่เศษ อยู่ติดกับที่ดินของน้องชายอีก ๕ คน เป็นที่ผืนโตแปดสิบกว่าไร่ 

มาตีความตอนนี้ เมื่ออ่านหนังสือ การก่อรูปของเศรษฐกิจก่อนระบบทุนนิยม  ผมก็นึกได้ว่า จริตของผมไม่ผูกพันกับทุนนิยมเลย   แต่ผูกพันกับบุญนิยม กับปัญญานิยม   

บุญนิยม รับถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ ที่พูดบอกผมว่า อยากได้ลูกเป็นหมอสักคน จะได้ช่วยเหลือคนอื่นและญาติพี่น้องยามเจ็บป่วย   ซึ่งเอาเข้าจริงผมได้ช่วยเหลือคนอื่นในฐานะหมอน้อยมาก    เพราะประกอบอาชีพหมออยู่ไม่ถึง ๑๐ ปี    ชีวิตก็หักเหไปทำอย่างอื่น ไกลความเป็นหมอออกไปเรื่อยๆ   แต่ผมก็จำคำพูดพ่อฝังใจเรื่องการมีชีวิตเพื่อทำประโยชน์แก่สังคม    ซึ่งผมตีความว่าเป็นบุญนิยม 

ปัญญานิยมนี่น่าจะติดตัวมาแต่กำเนิด    คือใจมันชอบตั้งคำถาม และเมื่อได้คำตอบก็มักเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง   เฝ้าหาข้อมูลหลักฐานมาแย้งบ้างหนุนบ้าง   ทำให้เกิดความเข้าใจแง่มุมต่างๆ ที่ตนเองไม่เคยตระหนัก   ตอนหลังมาเรียนรู้เรื่องการเรียนรู้จากประสบการณ์ และค่านิยมศึกษา    จึงเกิดความเข้าใจว่า ผมมีจริตด้านพัฒนาค่านิยมใส่ตัวมาตั้งแต่เด็ก   ก่อคุณประโยชน์ให้มีชีวิตที่ดียิ่งมาจนบัดนี้        

ทุนนิยมหวังรวย   ปัญญานิยมหวังเรียนรู้    บุญนิยมมุ่งทำประโยชน์แก่สังคม    สาธุ 

วิจารณ์ พานิช 

๒๗ ก.ค. ๖๗ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 719237เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2024 18:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2024 18:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท