วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๗ สช. จัดการประชุมปรึกษาหารือ (ถกแถลง) เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมประเด็น “บุคลากรสุขภาพแนวใหม่สู่เศรษฐกิจและสุขภาพไทยยั่งยืน” สำหรับนำสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๗ ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๗ ผมเข้าประชุมในฐานะประธานคณะทำงาน มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งในห้องประชุม และออนไลน์ ประมาณ ๒๐ คน ที่สำคัญ ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา เข้าร่วมด้วยทางออนไลน์ มีผู้แทนจากหลายวิชาชีพที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม
ผมชี้ให้เห็นว่า การผลิตและพัฒนาบุคลากรสุขภาพต้องสนองความต้องการของระบบสุขภาพ ดังนั้นเราต้องชัดว่า ระบบสุขภาพแนวใหม่เป็นอย่างไร เพื่อจะได้คิดต่อว่าจะผลิตและพัฒนาบุคลากรสุขภาพอย่างไร ที่เราชัดแล้วคือ ระบบสุขภาพไทยจะมี ๒ เป้าหมาย คือเป้าหมายดูแลสุขภาพคนไทย กับเป้าหมายหารายได้เข้าประเทศ แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดของสองระบบนี้
อีกเป้าหมายที่ชัดเจนคือ บุคลากรสุขภาพทุกวิชาชีพต้องมีสมรรถนะในการทำงานเป็นทีม คือทีมดูแลสุขภาพสหวิชาชีพ
ผู้เปิดฉากตีความ “บุคลากรสุขภาพแนวใหม่” คือ นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ที่เสนอว่า บุคลากรสุขภาพควรเป็นคนทุกคนที่ดูแลสุขภาพของตนเอง และดูแลสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพและทางสังคม เพื่อเอื้อต่อการมีสุขภาพดีของทั้งตนเองและของผู้คนรอบตัว ที่หากมองให้กว้างก็อาจมีผลดีต่อคนวงกว้าง หรือทั้งโลก
ประชาชนทุกคน ดูแลสุขภาพของตนเองโดยใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีช่วย และใช้บริการของระบบสุขภาพเพื่อหนุนความมั่นใจ ทำอย่างไรจึงจะหนุนให้ประชาชนทุกคนดูแลสุขภาพของตนเองได้ รวมทั้งอาจช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่ช่วยตัวเองไม่ได้ หรือด้ไม่ดี ที่จริงระบบ อสม. ของเรา ใช้หลักการนี้
คุณหมอสมศักดิ์ เชื่อมไปถึงการ ออกแบบใหม่ (Systems Redesign) เรื่องบุคลากรสุขภาพที่ต้องมีการผลิต การเรียนรู้ต่อเนื่อง และต้องมีการจ้างงาน หรือมีระบบรายได้แบบใหม่หมด โยงไปถึง Health Systems Redesign ที่เป็นเรื่องใหญ่มาก และใหญ่ขึ้นไปอีกเมื่อคุณหมอสมศักดิ์ เอ่ยเรื่อง Systems Redesign ของระบบรัฐ อย่างน้อยก็ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องระบบสุขภาพ
ที่จริงประเทศไทยมี Systems Redesign ของระบบสุขภาพก้าวหน้าที่สุด ก้าวหน้ากว่าระบบอื่นๆ ของประเทศอย่างมากมาย ดังเราจะเห็นว่าระบบที่ล้าหลังที่สุดของเราคือระบบการเมือง ถัดมาน่าจะเป็นระบบการศึกษา คนในระบบเหล่านี้ก้าวหน้ามากในเรื่องการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
ประเด็นของคุณหมอสมศักดิ์ ช่วยให้สถาปนิกนักออกแบบพื้นที่เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน ออกมาชี้ให้เห็นว่า ระบบสุขภาพแนวใหม่ ต้องครอบคลุมการออกแบบพื้นที่ เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิต หรือลีลาชีวิต ที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ในชีวิตประจำวัน
การประชุมมีการเสวนากันอย่างประเทืองปัญญามาก สะท้อนมุมมองเรื่องสุขภาพที่กว้างขวาง และหลากหลายมิติ เป็นความก้าวหน้าด้านกระบวนทัศน์ว่าด้วยสุขภาพหรือสุขภาวะในสังคมไทย และในวงการวิชาชีพสุขภาพไทย
ยิ่งมี นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ มาสรุปตบท้าย การประชุมยิ่งประเทืองปัญญามากขึ้น ท่านชี้ให้เห็นว่า เรื่องระบบสุขภาพ และบุคลกรสุขภาพ มีมิติเรื่องความสัมพันธ์ (relationship) ที่หากเด่นด้านผู้ให้บริการกับผู้รับบริการที่ต่างก็เน้นความสัมพันธ์แบบธุรกิจ-ลูกค้า ก็จะมีการฟ้องร้องมากขึ้น ที่เราอยากให้เป็นความสัมพันธ์หลักคือความสัมพันธ์แบบมีความเชื่อมั่นต่อกันและกัน (mutual trust) จะเห็นว่า ระบบสุขภาพมีมิติด้านจิตใจหรือด้านจิตวิญญาณอยู่ด้วย
วิจารณ์ พานิช
๒๖ ก.ค. ๖๗
ไม่มีความเห็น