วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗ มีการประชุมหารือการออกแบบเครื่องมือวัดและประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนในโครงการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQM) ของ กสศ. มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลากหลายฝ่าย ทำให้การประชุมมีการให้ข้อมูลและออกความเห็นหลากหลายมิติ ประเทืองปัญญามาก
ที่น่าตกใจคือมีคนให้ข้อมูลว่าในบางจังหวัดผลการประเมินดีมาก แต่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนต่ำมาก อันนี้ก็ทำนองเดียวกันกับผลการประเมินของ สมศ. ในอดีตกาลที่ผลประเมินผ่าน แต่นักเรียนสอบตก (ผลสอบต่ำกว่ามาตรฐาน)
แต่ในมุมสร้างสรรค์มีการให้ความเห็นที่ดีมาก ว่าต้องแยกการประเมินโครงการ ออกจากการประเมินเพื่อหนุนการเรียนรู้ของนักเรียน
มีการนำเสนอ เครื่องมือวัดและประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ปี ๒๕๖๕ โดย รศ. ดร. พิณสุดา สิริธรังศรี ที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวัดครบทุกมิติของ VASK แต่ผมไม่เห็นผลการนำไปใช้โดยโรงเรียน ไม่เห็นว่าโรงเรียนนำไปใช้ยากง่ายเพียงใด และใช้แล้วหนุนให้นักเรียนมีผลลัพธ์การเรียนรู้ดีขึ้นหรือไม่
เป็นการประชุมที่มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกว้างขวางหลากหลายดีมาก ในทางใช้ประโยชน์ น่าจะเป็นบทบาทของ ๓ ทีม PM ของ TSQM-A และหนึ่งทีม PM ของ TSQM-I ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ โดยในที่ประชุมไม่มีข้อสรุปว่ามีข้อยุติรูปแบบของการประเมินอย่างไร
ผมชอบที่ รศ. ดร. อนุชาติ พวงสำลี สรุปว่า ควรเน้นการประเมินที่ empower ให้โรงเรียนมีคุณภาพ ผมตีความว่าประเมินเพื่อผลประโยชน์ของนักเรียน
วิจารณ์ พานิช
๒๖ ก.ค. ๖๗
ไม่มีความเห็น