มาตรฐานและวิธีการทดสอบเสื้อเกราะกันกระสุน
เสื้อเกราะกันกระสุนถูกประกาศให้เป็นยุทธภัณฑ์ตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 และเป็นประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาต ดังนั้นการมีเสื้อเกราะไว้เป็นของส่วนตัวจึงต้องได้รับอนุญาตครอบครองจากนายทะเบียนตามกฎหมาย ในปัจจุบันเสื้อเกราะกันกระสุนเป็นสิ่งจำเป็นในพื้นที่การปฏิบัติราชการที่มีความเสี่ยงสูงเช่นเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การขออนุญาตครอบครองเสื้อเกราะกันกระสุนนั้นสามารถยื่นขออนุญาตหรือให้หน่วยงานที่รับผิดชอบประสานงานที่กองควบคุมยุทธภัณฑ์และพัฒนาอุตสาหกรรม ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร กรมการอุตสาหกรรมทหาร สี่แยกเกียกกาย ถนนทหาร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีหน้าที่ควบคุมยุทธภัณฑ์ในการสั่งเข้าหรือนำเข้าและการครอบครอง ตลอดจนควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งอาวุธภัณฑ์และสิ่งที่ใช้ในการสงครามตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ กระทรวงกลาโหมโดยกรมการอุตสาหกรรมทหารนี้จะมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ยกเว้นหน่วยงานของทหารและตำรวจในการอนุญาตให้มีเสื้อเกราะกันกระสุนไว้ในครอบครองเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามนโยบายของทางราชการ
1. มาตรฐานการทดสอบเสื้อเกราะกันกระสุนของเอ็นไอเจ
สถาบันยุติธรรมแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือเอ็นไอเจ (United States National Institute of Justice, NIJ) อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการครอบครองเสื้อเกราะกันกระสุนของกระทรวงยุติธรรม (United States Department of Justice) สหรัฐอเมริกา เริ่มก่อตั้งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 ได้กำหนดมาตรฐานการทดสอบและทำการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการค้นหาวัสดุใหม่รวมถึงวิธีการใหม่เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์เสื้อเกราะกันกระสุน โดยการพัฒนาในแต่ละครั้งจะกำหนดมาตรฐานภายใต้ชื่อ NIJ Standard-0101 แล้วตามด้วยหมายเลขการพัฒนาในแต่ละช่วงเวลา เช่น NIJ Standard-0101.02 และ NIJ Standard-0101.03 เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาถึง NIJ Standard-0101.07 ในการพัฒนามาตรฐานแต่ละครั้งจะทำการกำหนดมาตรฐานวิธีการทดสอบอย่างชัดเจน การประเมินระดับของเสื้อเกราะกันกระสุนจึงจำเป็นต้องทำการทดสอบโดยการยิงด้วยกระสุนจริง และเป็นกระสุนปืนที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป ส่วนการยิงทดสอบสามารถยิงจากปืนธรรมดาหรือจากแท่นยิงก็ได้ สำหรับในทางปฏิบัติจะนิยมยิงจากแท่นทดสอบมากกว่าจากปืนธรรมดา เนื่องจากการยิงด้วยแท่นยิงทดสอบจะใช้ลำกล้องปืนที่มีความยาวมาตรฐานทำให้ได้ความเร็วถูกต้องตามตารางการทดสอบ นอกจากนั้นการยิงด้วยแท่นยิงทดสอบยังเป็นการยิงในห้องปฏิบัติการซึ่งมีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ซึ่งจะได้ผลการทดสอบที่น่าเชื่อถือมากขึ้นการกำหนดมาตรฐานเสื้อเกราะกันกระสุนให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะจะมีการกระทบต่อผู้ประกอบการที่ผลิตและจำหน่ายเสื้อเกราะกันกระสุนอย่างมาก ดังนั้นในแต่ละประเทศจะมีมาตรฐานการทดสอบเสื้อเกราะกันกระสุนของตัวเอง โดยส่วนมากจะอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงกลาโหมของประเทศ เช่น NIJ ของประเทศสหรัฐอเมริกา เอช โอ เอส ดี บี (Home Office Scientific Development Branch, HOSDB) ของประเทศอังกฤษ มาตรฐานยุทโธปกรณ์กระทรวงกลาโหม (กมย.กห.) ว่าด้วยเกราะกันกระสุนและมาตรฐานอื่นๆ ของประเทศไทย แต่การการทดสอบตามมาตรฐานเอ็นไอเจถือว่าเป็นมาตรฐานที่นิยมใช้กันกว้างขวางมากที่สุด มาตรฐานการทดสอบ NIJ จะระบุเป็นระดับการทดสอบขึ้นอยู่กับระดับอานุภาพการทำลายของกระสุนต่อเป้าหมาย รายละเอียดการทดสอบ ประกอบด้วย ขนาดกระสุน น้ำหนักหัวกระสุน ความเร็วของกระสุน จำนวนการยิงทดสอบ ตำแหน่งและมุมองศาในการยิงทดสอบ ค่ากำหนดการยุบตัวไปด้านหลังของกระสุนในเสื้อเกราะกันกระสุนที่ทำการทดสอบ
ปัจจุบัน NIJ ได้ดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานเสื้อเกราะกันกระสุนเป็นครั้งที่ 7 ในชื่อมาตรฐาน NIJ 0101.07 ซึ่งเริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2562 โดยจะรวมวิธีทดสอบที่ได้รับการปรับปรุงสำหรับระดับการป้องกันภัยคุกคามจากปืนไรเฟิลเพิ่มเติม วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อให้โครงการทดสอบการปฏิบัติตามข้อกำหนดของสถาบันยุติธรรมแห่งชาติใช้ในการทดสอบและประเมินชุดเกราะกันกระสุนเพื่อรับรองโดย NIJ โดยจะใช้ห้องปฏิบัติการทั้งสองแห่งที่ทดสอบชุดเกราะและผู้ผลิตชุดเกราะที่เข้าร่วมในโครงการ NIJ CTP มาตรฐานนี้ยังให้การรับรองชุดเกราะส่วนบุคคลที่ใช้โดยโครงการรับรองห้องปฏิบัติการอาสาสมัครแห่งชาติ (National Voluntary Laboratory Accreditation Program, NVLAP) เพื่อรับรองห้องปฏิบัติการขีปนาวุธ
มาตรฐาน NIJ 0101.07 ได้รวมชุดวิธีปฏิบัติและการทดสอบมาตรฐาน ASTM ไว้ด้วยกันโดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2013 กองทัพสหรัฐฯ NIJ และสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ (The National Institute of Standards and Technology, NIST) ได้เริ่มร่วมมือกันเพื่อประสานมาตรฐานสำหรับเสื้อกันกระสุน หน่วยงานรัฐบาลกลางเลือกที่จะทำงานผ่านคณะกรรมการ E54 ของสมาคมการทดสอบและวัสดุแห่งอเมริกา(American Society for Testing and Materials, ASTM) โดยการรวมมาตรฐาน ASTM ที่เกี่ยวข้องเข้ากับมาตรฐาน NIJ และข้อกำหนดและเอกสารการทดสอบของกองทัพสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาวิธีปฏิบัติ วิธีการการทดสอบ และอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการทดสอบ ทำให้เกิดโอกาสในการประสานขั้นตอนและวิธีปฏิบัติการทดสอบในห้องปฏิบัติการสำหรับทั้งการบังคับใช้กฎหมายและชุดเกราะกันกระสุนของทหาร และอุปกรณ์กันกระสุนอื่นๆ
ระบบการตั้งชื่อระดับภัยคุกคามได้รับการแก้ไขจากมาตรฐาน NIJ ก่อนหน้านี้เพื่อให้มีคำอธิบายเกี่ยวกับภัยคุกคามมากขึ้น และเพื่อลดความสับสนในหมู่ผู้ใช้ชุดเกราะที่บังคับใช้กฎหมาย ระดับ II เปลี่ยนใหม่เป็น NIJ HG1 และระดับ IIIA เปลี่ยนใหม่เป็น NIJ HG2 ตามลำดับ เพื่อแสดงถึงภัยคุกคามจากปืนพก (HG) ส่วนระดับ III และระดับ IV ได้รับการแก้ไขเพิ่มเป็นสามระดับที่แสดงถึงภัยคุกคามจากปืนไรเฟิล (RF) ได้แก่ NIJ RF1, NIJ RF2 และ NIJ RF3 ภัยคุกคามจากปืนไรเฟิลเหล่านี้แสดงอยู่ในตารางที่ 1 โดยขนาดกระสุนที่ต่ำกว่านี้ให้ใช้การอ้างอิงตาม NIJ 0101.06
ตารางที่ 1 มาตรฐาน NIJ Standard-0101.07 ระดับภัยคุกคามของปืนพก NIJ HG, ปืนไรเฟิล NIJ RF และความเร็วกระสุนที่ใช้ทดสอบ
ระดับภัยคุกคาม | ขนาดกระสุนทดสอบ | ความเร็ว |
NIJ HG1 (ระดับเดิม คือ NIJ 0101.06 Level II) |
9 mm Luger FMJ RN 124 grain | 1,305 ft/s (398 m/s) |
.357 Mag jacketed soft point (JSP) 158 grain |
1,430 ft/s (436 m/s) | |
NIJ HG2 (ระดับเดิม คือ NIJ 0101.06 Level IIIA) |
9 mm Luger FMJ RN 124 grain | 1,470 ft/s (448 m/s) |
.44 MAG jacketed hollow point (JHP) 240 grain | 1,430 ft/s (436 m/s) | |
NIJ RF1 (แก้ไขเพิ่มเติมจาก NIJ 0101.06 Level III) |
7.62 x 51 mm M80 Ball NATO FMJ หัวกระสุนยอดแหลมหุ้มด้วยเหล็กหรือชื่อย่อว่า steel jacketed spire point boat tail BT 149 +0/-3 grain | 2,780 ft/s (847 m/s) |
NIJ RF1 (แก้ไขเพิ่มเติมจาก NIJ 0101.06 Level III) | 7.62 x 39 mm surrogate test round 120.5 grain (7.81 g) | 2,380 ft/s (725 m/s) |
NIJ RF1 (แก้ไขเพิ่มเติมจาก NIJ 0101.06 Level III) | 5.56 mm M193 BT 56 +0/-2 grain | 3,250 ft/s (990 m/s) |
NIJ RF2 (เหมือนกับ NIJ RF1 plus 5.56 mm M855) | 7.62x51 mm M80 Ball NATO FMJ BT 149 +0/-3 grain | 2,780 ft/s (847 m/s) |
NIJ RF2 (เหมือนกับ NIJ RF1 plus 5.56 mm M855) | 7.62 x 39 mm surrogate test round 120.5 grain (7.81 g) | 2,380 ft/s (725 m/s) |
NIJ RF2 (เหมือนกับ NIJ RF1 plus 5.56 mm M855) | 5.56 mm M193 BT 56 +0/-2 grain | 3,250 ft/s (990 m/s) |
NIJ RF2 (เหมือนกับ NIJ RF1 plus 5.56 mm M855) | 5.56 mm M855 BT 61.8 ± 1.5 grain | 3,115 ft/s (950 m/s) |
NIJ RF3 (ระดับเดิมคือ Level IV) |
30.06 M2 กระสุนเจาะเกราะ Armor Piercing (AP) FMJ spire point AP 165.7 +0/-7 grain | 2,880 ft/s (878 m/s) |
จากสถิติของ FBI แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ปี 1987 จนถึง 2015 มากกว่า 92% ของการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ในสายปฏิบัติหน้าที่ในสหรัฐอเมริกามีสาเหตุมาจากอาวุธปืน และจากข้อมูลของ FBI ในการวิเคราะห์คดี 637 คดี ที่เจ้าหน้าที่ที่ถูกยิงด้วยอาวุธปืนเข้าที่ลำตัว พบว่าผู้ที่สวมชุดเกราะมีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ที่ไม่สวมชุดเกราะถึง 76% ดังนั้น NIJ จึงพัฒนามาตรฐานประสิทธิภาพของเสื้อเกราะกันกระสุนและดำเนินโครงการรับรองเสื้อเกราะกันกระสุนที่เรียกว่าโปรแกรมทดสอบการปฏิบัติตามข้อกำหนด เพื่อให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐอเมริกามั่นใจว่าเสื้อเกราะกันกระสุนนั้นใช้งานมีประสิทธิภาพตามข้อกำหนดเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากการยิงปืนพกและปืนไรเฟิลทั่วไป ปัจจุบัน NIJ กำลังดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานประสิทธิภาพชุดเกราะครั้งที่ 7 ให้เป็นมาตรฐาน NIJ 0101.07 ซึ่งจะรวมเอาภัยคุกคามจากปืนไรเฟิลเพิ่มเติมที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญ NIJ ยังได้พัฒนาข้อกำหนดแบบเป็นข้อๆของระดับภัยคุกคามขีปนาวุธและกระสุนที่เกี่ยวข้องซึ่งมีไว้สำหรับใช้กับมาตรฐาน NIJ แบบเลือกขนาดกระสุนที่เทียบเคียงกันได้ ซึ่งระบุข้อกำหนดประสิทธิภาพขั้นต่ำและวิธีการทดสอบความต้านทานกระสุนปืนของเสื้อเกราะกันกระสุนที่ใช้โดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันกระสุนปืนพกและกระสุนปืนไรเฟิลบริเวณลำตัว
2. หลักเกณฑ์การยิงทดสอบเสื้อเกราะกันกระสุน
ในการยิงทดสอบด้วยกระสุนจริงตามขนาดกระสุน น้ำหนักกระสุน และความเร็วที่กำหนดไว้ในมาตรฐานแล้วจะต้องมีขั้นตอนเพิ่มเติม เช่น การเตรียมเสื้อเกราะกันกระสุนก่อนการยิงทดสอบ ตำแหน่งการยิงทดสอบเสื้อเกราะกันกระสุน การเพิ่มขั้นตอนพิเศษ และการทดสอบการยุบตัวของแผ่นวัสดุของเสื้อเกราะ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
2.1 การเตรียมเสื้อเกราะกันกระสุนก่อนการยิงทดสอบ
เสื้อเกราะกันกระสุนที่นำมายิงทดสอบจะต้องไม่ใช่เสื้อเกราะที่ผู้ผลิตจัดเตรียมไว้สำหรับการทดสอบโดยเฉพาะ แต่จะทำการสุ่มตัวอย่างการทดสอบจากคลังที่มีทั้งหมด และก่อนการยิงทดสอบเสื้อเกราะจะต้องอยู่ในสภาพที่เปียกชื้นโดยจะทำการพ่นฝอยน้ำให้มีลักษณะคล้ายฝนตกในปริมาณที่เสื้อเกราะกันกระสุนเกิดสภาพที่เปียกชื้น ดังภาพที่ 1 ซึ่งในปัจจุบันผู้ใช้งานได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมก่อนการยิงทดสอบเสื้อเกราะกันกระสุนมากขึ้น FBI กระทรวงยุติธรรม สหรัฐอเมริกา ได้ริเริ่มปรับปรุงมาตรฐานการทดสอบขึ้น โดยเพิ่มขั้นตอนการเตรียมเสื้อเกราะก่อนการยิงทดสอบให้มีความเปียกชื้นใกล้เคียงกับเสื้อเกราะกันกระสุนที่ผ่านการใช้งานจริงมาแล้ว โดยกำหนดให้เพิ่มการอบเสื้อเกราะกันกระสุนในเครื่องอบที่มีความร้อนสูงและมีความชื้นสูงเป็นเวลาหลายชั่วโมงและยังต้องนำไปปั่นในถังหมุน (Tumbling Generation) ก่อนการยิงทดสอบ
ภาพที่ 1 เสื้อเกราะกันกระสุนต้องอยู่ในสภาพเปียกชื้นก่อนการทดสอบ
2.2 ตำแหน่งการยิงทดสอบ
ตำแหน่งการยิงทดสอบในเสื้อเกราะกันกระสุนในระดับ 1 – 3A จะทำการยิงทั้งหมด 6 นัด ตามตำแหน่งในภาพ นัดที่ 1 ที่ 0° นัดที่ 2 ที่ 30° นัดที่ 3 ที่ -30° นัดที่ 4-6 ที่ 0° และจะต้องทำการวัดความเร็วกระสุนพร้อมกันไปด้วย โดยใช้เครื่องวัดความเร็วกระสุน 2 เครื่องเพื่อหาค่าเฉลี่ย สำหรับเครื่องวัดกระสุนนั้นสามารถใช้ได้ทั้งแบบฉากแสง (Photo Electric Screens) และแบบเรดาห์ (Ballistics Radar)ส่วนตำแหน่งการยิงทดสอบในเสื้อเกราะกันกระสุนในระดับ 3 – 4 ใช้การยิงที่ 0° ทั้งหมด 6 นัด ดังภาพที่ 2
ภาพที่ 2 ลำดับการยิงทดสอบจำนวน 6 นัด
2.3 การเพิ่มขั้นตอนพิเศษ
การทดสอบตามมาตรฐาน NIJ เป็นการทดสอบขั้นพื้นฐาน แต่ในการจัดหาเสื้อเกราะกันกระสุนที่ใช้ในทางทหารหน่วยงานที่จัดหาอาจจะกำหนดให้เพิ่มขั้นตอนการทดสอบที่สามารถต่อต้านต่อภัยคุกคามที่คาดว่ากำลังพลจะต้องพบเจอได้อีก เช่น ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีการใช้ปืนเล็กยาว M16 A1 และ AK47 กับระเบิดสังหารเป็นส่วนมากแต่ยังไม่พบว่ามีการใช้กระสุนขนาดเจาะเกราะ ดังนั้นในการจัดหาเสื้อเกราะกันกระสุนก็ไม่มีความจำเป็นที่จะจัดหาเสื้อเกราะกันกระสุนในระดับ 4 มาใช้ เพราะว่าใช้เสื้อเกราะกันกระสุนระดับ 3 ก็สามารถป้องกันกระสุนปืนเล็กยาว M16 A1 และ AK47 ที่มีขนาดกระสุน 7.62 mm ความเร็ว 2,780 ft/s ได้ แต่ก็ไม่อาจป้องกันกระสุนแกนตะกั่วหุ้มด้วยทองแดงที่มีความทะลุทะลวงสูงได้ดี ดังนั้นในการจัดหาจึงอาจต้องกำหนดเพื่มเติมให้เป็นเสื้อเกราะกันกระสุนในระดับ 3 แล้วเพิ่มคุณสมบัติขีดความสามารถให้สามารถป้องกันสะเก็ดระเบิด และกระสุนทะลุทะลวงสูงขนาด 5.56 mm แบบ M193 และกระสุน AK47 ขนาด 7.62 mm × 39 mm ได้ด้วย สำหรับการทดสอบการป้องกันสะเก็ดระเบิดจะนิยมใช้วิธีจำลองสะเก็ดระเบิดด้วยการยิงแท่งเหล็กน้ำหนัก 17 grain เป็นรูปท่อนกลมตันมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.4 mm ส่วนหน้าปาดมุมให้แหลมคม ส่วนท้ายอัดหัวให้บานขึ้นเป็นทรงกรวยขนาด 5.7 mm เพื่อให้รีดกับเกลียวลำกล้องปืนแล้วบรรจุในปลอกกระสุนปืนขนาด 5.56 mm ให้ได้ความเร็วประมาณ 2,230 ft/s เพื่อใช้ยิงทดสอบแทนสะเก็ดระเบิดที่พุ่งเข้าใส่เสื้อเกราะกันกระสุน
2.4 การทดสอบการยุบตัวของแผ่นวัสดุของเสื้อเกราะกันกระสุน
เกณฑ์ในการประเมินการทดสอบการยุบตัวของแผ่นวัสดุเสื้อเกราะกันกระสุนจะพิจารณาจากการหยุดยั้งหัวกระสุนไม่ให้ทะลุผ่านเสื้อเกราะได้สำเร็จและมีการยุบตัวของเสื้อเกราะที่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ข้อพิจารณาที่สำคัญที่สุดก็คือหัวกระสุนจะต้องไม่ทะลุผ่านเสื้อเกราะออกไปด้านหลังนั้นจึงหมายความว่าเสื้อเกราะกันกระสุนนี้สามารถดูดซับพลังงานทั้งหมดของหัวกระสุนเอาไว้ได้ 100% แต่ก็ยังคงมีอันตรายที่เกิดจากแรงประทะของหัวกระสุนที่ดันเสื้อเกราะกันกระสุนให้เกิดการยุบตัวเข้าไปกระแทกอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ ปอด กระดูกสันหลัง หรือจุดศูนย์รวมประสาทต่างๆ ดังนั้นในมาตรฐานการทดสอบจึงกำหนดไว้ว่าเสื้อเกราะจะยุบตัวเข้าไปได้ไม่เกินกว่า 44 mm เท่านั้น ดังภาพที่ 3
ในการตรวจพิสูจน์ว่ารอยยุบตัวที่เกิดขึ้นเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ จะใช้วิธีการยึดเสื้อเกราะเข้ากับวัสดุหนุนรองซึ่งเป็นดินสังเคราะห์ (Roma Plastilina No.1) สำหรับงานปั้นประติมากรรม สำหรับดินสังเคราะห์นี้จะมีเสถียรภาพดีกว่าดินธรรมชาติช่วยให้การทดสอบดำเนินไปโดยราบรื่นไม่ติดขัด ไม่ต้องคอยปรับอุณหภูมิและความชื้นเพื่อให้ดินอ่อนแข็งพอเหมาะ ดินที่ใช้เป็นวัสดุหนุนรองจะบรรจุในกระบะที่มีขนาดบรรจุ 610 × 610 × 140 mm เมื่อถูกยิงหัวกระสุนจะดันเสื้อเกราะเข้าไปเกิดเป็นรอยยุบตัวด้านหลังทำให้ตรวจวัดได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และสามารถปรับแต่งรูปร่างเพื่อนำกลับมาใช้เป็นวัสดุหนุนรองสำหรับการยิงทดสอบซ้ำได้อีกครั้ง มาตรฐาน U.S. NIJ ได้กำหนดให้ทำการตรวจสอบความแข็งของวัสดุหนุนรองก่อนการทดสอบจริงด้วยการใช้ลูกเหล็กเส้นผ่านศูนย์กลาง 63.5 mm (น้ำหนักประมาณ 1 kg) ทดสอบทิ้งจากระยะความสูง 2 m จำนวน 5 ครั้ง เพื่อหาค่าเฉลี่ยก่อนการทดสอบ ดังภาพที่ 4 ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานคือ 19 mm ± 2 mm จึงสามารถเริ่มการยิงทดสอบได้
ภาพที่ 3 การจัดวางเสื้อเกราะกันกระสุนและการวัดค่าความลึกค่าแบล็คเฟซซิกเนเจอร์
ภาพที่ 4 จุดการตรวจวัดความแข็งของวัสดุหนุนลองเสื้อเกราะกันกระสุน
3. มาตรฐานการทดสอบเสื้อเกราะกันกระสุนของกระทรวงกลาโหมประเทศไทย
มาตรฐานยุทโธปกรณ์กระทรวงกลาโหม (กมย.กห.) ว่าด้วยเกราะกันกระสุนซึ่งได้แปล วิเคราะห์ ประยุกต์ และเรียบเรียงให้เหมาะสมกับประเทศไทยโดยอ้างอิงมาตรฐาน U.S. NIJ Standard-101.04 และทำการปรับให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยเป็นหลัก โดยได้กำหนดมาตรฐานเสื้อเกราะกันกระสุนเป็นมาตรฐานยุทโธปกรณ์กระทรวงกลาโหมโดยสามารถจำแนกตามระดับความสามารถในการกันกระสุนปืนได้เป็น 6 ระดับ ดังนี้
1. ระดับที่ 1 เป็นระดับที่สามารถกันกระสุนที่เป็นภัยคุกคามที่มีหัวกระสุนขนาด .22 LR และ .380 ACP ได้
2. ระดับที่ 2A สามารถป้องกันกระสุนในขนาด 9 mm, .40 S&W,.45 ACP และระดับ 1 ได้
3. ระดับที่ 2 เสื้อเกราะแบบมาตรฐานใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วโลกเป็นเสื้อเกราะมาตรฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐอเมริกา ป้องกันกระสุนได้เกือบทุกชนิดยกเว้นกระสุนปืนพกที่มีอำนาจการทะลุทะลวงสูง และป้องกันกระสุนในระดับ 2A ได้
4. ระดับที่ 3A เป็นระดับที่สามารถกันกระสุนปืนพกโดยทั่วไปได้เป็นเสื้อเกราะที่ออกแบบโดยการรวมคุณสมบัติการป้องกันกระสุนและป้องกันการเสียบแทงด้วยวัตถุมีคมเข้าด้วยกันสามารถป้องกันวัตถุมีคมได้ทุกชนิดที่มีแรง ไม่เกิน 81.2 ft/lb และป้องกันกระสุนในระดับ 2 ได้
5. ระดับที่ 3 เสื้อเกราะชนิดพิเศษถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันกระสุนปืน 44 Magnum แบบรีวอลเวอร์ ซึ่งโดยปกติกระสุนชนิดนี้สามารถทะลุทะลวงผ่านเสื้อเกราะคุณภาพต่ำได้ นอกจากนี้ยังสามารถกันกระสุนความเร็วสูงจำพวกกระสุนปืนพกและปืนกลเบาขนาด 9 mm ได้ดี และป้องกันกระสุนในระดับ 3A ได้
6. ระดับที่ 4 เสื้อเกราะชนิดนี้ถูกออกแบบมาสามารถกันกระสุนปืนเล็กยาวชนิดเจาะเกราะขนาด 30-40 และที่รุนแรงน้อยกว่าทั้งหมด
ไม่มีความเห็น