ประชุมวิชาการ Engagement Thailand ครั้งที่ ๙ : 4. ทัศนศึกษา Innovation for Society


 

วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๗ 

 ทัศนศึกษาในวันที่ ๘ ทั้งวัน มี ๔ สาย    ผมเลือกไปสาย ๔ Innovation for Society   ที่จัดโดย STeP (Science and Technology Park Chiang Mai University)   ได้รู้จัก STeP ว่าทำหน้าที่สะพานเชื่อมมหาวิทยาลัยกับสังคม    และได้เรียนรู้วิธีทำงานอย่างชาญฉลาดของ  STeP ในภาพรวม    และเรียนรู้ความชาญฉลาดในการจัดทัศนศึกษารายการนี้ 

   จากโรงแรมเซนทารา  คณะดูงาน ๘ คน กับทีมของ สบว. มช.  และทีมจาก STeP ไปตั้งต้นที่ ชุมชนการท่องเที่ยวหมื่นสาร  ต. หายยา  อ. เมือง เชียงใหม่      (เมื่อปลายเดือนตุลาคม ๒๕๖๖  ผมตามเสด็จสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ไปที่วัดศรีสุพรรณ  ต. หายยา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเหมือนกัน  ดังเล่าไว้ ที่นี่)    ไปพบว่าอยู่ตรงกันข้ามถนนเท่านั้นเอง    โดยที่ชุมชนวัดศรีสุพรรณเป็นที่นิยมกว่า เพราะไปที่เดียวได้เห็นครบทุกอย่าง    แต่ที่หมื่นสารก็มีจุดดีกว่าตรงที่มีพื้นที่รอบวัดหมื่นสารที่เดินเที่ยวครึ่งวันในลักษณะท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและศิลปะได้เป็นอย่างดี

 จริงๆ แล้ว เราไปชมส่วนหนึ่งของชุมชนวัวลาย ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของเชียงใหม่อยู่แล้ว   คือมีถนนคนเดินวัวลาย ที่ติตตลาดทุกวันเสาร์ตอนบ่ายและค่ำ   แต่ผมไม่รู้จัก ไม่เคยไปเดิน หรืออาจเคยไปเดินเมื่อนานมากแล้ว โดยไม่รู้จักชื่อพื้นที่     และได้เรียนรู้ว่า ชุมชนวัวลายแบ่งออกเป็น ๓ ชุมชนคือ ชุมชนวัดศรีสุพรรณ ชุมชนวัดหมื่นสาร   และชุมชนวัดนันทาราม  

ผมตีความว่าช่วงเช้าของทัศนศึกษานี้เป็นการไปเรียนรู้ community social dynamics เชื่อมโยงกับ academic dynamics ของ มช.   ที่เป็นส่วนหนึ่งของ University Social Engagement    ที่ STeP นำโดยนักวิจัยในโครงการ รศ. ดร. จิรันธนิน กิติกา แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จัดให้เราไปสัมผัสจากการทำหน้าที่ไกด์นำเที่ยวของผู้นำชาวบ้านในพื้นที่หมื่นสารจำนวนหนึ่ง    ที่เมื่อกลับมาสะท้อนคิดกันที่ STeP ในตอนบ่าย ก็เข้าใจกระบวนการในตอนเช้าแจ่มชัดขึ้น  

เราไปเริ่มต้นที่สามแยกวัวลาย ตรงที่มีประติมากรรมวัวลายตั้งอยู่    เดินสู่วัดหมื่นสาร   ภายในวัดแวะที่ หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต    อนุสรณ์สถานทหารญี่ปุ่น    บ่อน้ำใหญ่ของวัด    เจดีย์รูปทรงล้านนาผสมไทใหญ่    ฟังเรื่องราวของเสือ   แล้วไปนั่งพักกินของว่างและเครื่องดื่มที่บ้านครูตุ๊รักษ์เชียงใหม่  พร้อมทั้งถ่ายรูปหมู่    ต่อไปชมบ้านช่างสลักเครื่องเงิน ที่เวลานี้กลายเป็นเครื่องอะลูมิเนียม (ที่ผมติดใจชิ้นงานพระพุทธบาทอะลูมิเนียมผสมทอง)    ผ่านบ้านที่มีศาลเจ้า ๓ ศาล (ศาลเจ้าที่  ศาลบรรพบุรุษ  และศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์)    ผ่านร้านก๋วยเตี๋ยวเจ้าเก่า    ไปยังบ้านรวบรวมสินค้าจำหน่าย ที่มีคุณหนอน ผู้เป็นโรค cerebral palsy แต่เป็นนักแกะสลักตัวอย่างนั่งทำชิ้นงานอยู่    เราถ่ายรูปหมู่ที่นี่    แล้วไปที่บ้านครูจ๋า ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการจากครูมัธยมมาหมาดๆ  นั่งพักและทำกิจกรรมสลักลายบนแผ่นอะลูมิเนียมง่ายๆ ประกอบเป็นแท่นเทียนบูชาง่ายๆ สำหรับนำกลับบ้านคนละ ๑ ชิ้น   ที่ผมยกให้อาจารย์สาวจุฬาศูนย์สระบุรีไป    ถ่ายรูปหมู่ครั้งที่ ๓  แล้วนั่งรถไป STeP   ซึ่งอยู่ที่อำเภอแม่เหียะ   

ทีมวิจัยของ มช. สร้างเว็บ https://chiangmaiwecare.com/muen-san/ ที่เมื่อเข้าไปชมก็จะได้เรียนรู้เรื่องชุมชนหมื่นสารเป็นอย่างดีว่าเป็นชุมชนชาติพันธุ์ไทใหญ่    ที่อพยพมาจากแคว้นฉานลุ่มน้ำสาละวินในพม่า ในสมัย ร. ๑ ของเรานี้เอง    แต่วัดหมื่นสารสร้างมาก่อนหน้านั้น   

จุดขายของวัดหมื่นสารที่ทีมวิจัย มช. แนะนำมี ๓ อย่างคือ  (๑) ครูบาศักดิ์สิทธิ์ ๓ องค์   (๒) เรื่องเล่าเสือเยน (เสือสมิง)  (๓) ประวัติศาสตร์ทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง    

ผมชอบที่มีการจัดให้นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ลงพื้นที่ ไปทำกิจกรรม Design Thinking   ให้ผู้นำชาวบ้านได้รับฟัง    เกิดการเรียนรู้ทั้งแก่ชาวบ้าน และแก่นักศึกษา       

ตอนบ่ายไปที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ    ไปกินอาหารเที่ยง แล้ว AAR กิจกรรมในตอนเช้า กับ อ. ภู (รศ. ดร. จิรันธนิน กิติกา คนเมืองเชียงใหม่โดยสายเลือด)   ตามด้วยการรับฟังเรื่องราวของ STeP จากรอง ผอ. ผศ. ดร. สุริยะ ทองมุณี (อาจารย์บ่าว ที่ชื่อเล่นบอกความเป็นคนใต้ บ้านเดิมอยู่ที่หาดใหญ่)  อาจารย์วิศวโยธา   

ได้เรียนรู้ university social engagement  ของ มช. ที่ฝังสนิทเข้าไปในโครงสร้าง การจัดการ และวิธีทำงานของมหาวิทยาลัย    ดังกรณีทัศนศึกษาในตอนเช้านั้น    เป็นการทดลองของโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ที่ได้รับทุนจาก มช.   เพื่อสร้างกิจกรรมพันธกิจมหาวิทยาลัยกับชุมชน   โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างคณะรัฐศาสตร์กับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์    ไปทดลองที่ชุมชนหมื่นสาร    โดยมีเป้าหมายว่า สิ่งที่ชุมชนได้รับจะมี ๖ ประการ 

  1. ข้อมูลเศรษฐกิจละแวกบ้านชุมชนหมื่นสาร
  2. สร้างภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 
  3. สร้างนวัตกรรมเมืองแห่งการเรียนรู้ การท่องเที่ยวชุมชนเครื่องเงิน
  4. เว็บไซต์หมื่นสาร https://chiangmaiwecare.com/muen-san/  และการทดลองใช้   โดยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ของเทศบาลนครเชียงใหม่   หวังว่าต่อไปกิจกรรมท่องเที่ยวบ้านหมื่นสารจะได้รับความสนใจและสนับสนุนจากเทศบาล   
  5. สร้างรูปแบบธุรกิจชุมชน                
  6. มีการลงพื้นที่ติดตามผลการใช้เทคโนโลยี   

ผมได้เรียนรู้ว่า ประเพณีไทใหญ่ ลูกสาวคนโตเป็นใหญ่ เป็นผู้รับมรดกบ้านใหญ่หลังพ่อแม่ตาย  ที่เรียกว่า บ้านเก๊า    และลูกๆ ที่ได้รับการศึกษาสูง ฐานะดี มักจะย้ายออกไปอยู่ที่อื่น    รวมทั้งมีคนจากนอกชุมชนมาซื้อที่ดินและบ้านเพื่อทำธุรกิจ   ทำให้ความสัมพันธ์ในชุมชนปัจจุบันแตกต่างออกไป    สภาพที่เราไปเห็นจึงกล่าวได้ว่า ยังมีความเป็นชุมชนดั้งเดิมอยู่ในระดับหนึ่ง   เหมาะต่อการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม   

เราไปเห็นสภาพการจัดการพื้นที่ให้มีความสะอาดเรียบร้อย น่าเดินเที่ยว    ไม่มีรถยนต์จอดเกะกะ    ไม่มีขยะรกรุงรัง    ไปเห็นบ้านของคนชั้นกลางที่ไม่หรูหรา มีการตกแต่งแบบศิลปะพื้นเมือง    ที่นักวิชาการมหาวิทยาลัยไปส่งเสริมให้ทีมผู้นำชุมชนร่วมกันคิดหาวิธีสร้างคุณค่าและมูลค่าจากวิถีชีวิตดังกล่าว    เป็นชุมชนชนบทที่อยู่ใกล้เมืองนิดเดียว     โดยอยู่ในสภาพทำนองนี้มาสองร้อยปี     

ผมเห็นด้วยกับคำแนะนำของทีมจากจุฬา ว่าควรหาทางดึงเยาวชนเข้ามาร่วมทำงานกับทีมผู้นำและปราชญ์ชุมชน ๘ ท่านที่มีอยู่แล้ว            

STeP

ตอนที่สภามหาวิทยาลัยไปเยี่ยมอุทยานวิทยาศาสตร์ ผมไม่สามารถไปร่วมได้   จึงคิดหาทางไปเยี่ยมชมเรื่อยมา   ได้โอกาสคราวนี้    ได้เข้าใจหลักการของการมี STeP ดังกล่าวแล้ว    และคิดสรรเสริญอยู่ในใจว่า เป็นการวางรากฐานเป้าหมายและวัฒนธรรมการทำงานของ STeP ที่น่าสรรเสริญยิ่งของท่าน ผอ. คนแรก อ. อ้วน  ผศ. ดร. ธัญญานุภาพ อานันทะ    ที่เวลานี้เลื่อนขึ้นไปเป็นรองอธิการบดีรับผิดชอบ การบริหารนวัตกรรม วิเทศสัมพันธ์และพันธกิจสากล  และการสื่อสารองค์กร   

เราไม่ได้ไปเยี่ยมชมอาคารเทคโนโลยีสมัยใหม่หลากหลายด้าน   อ. บ่าวได้พาเดินออกจากห้องประชุมไปดูบริเวณ และเห็นอาคารเทคโนโลยีต่างๆ อยู่ไกลๆ   เมื่อผมเอ่ยเรื่องเทคโนโลยีไอออนบีม ฉายพลอยดินราคาถูก ให้กลายเป็นพลอยสีและความแวววาวสูง ราคาแพง   ที่เริ่มคิดโดย ศ. ดร. ถิรพัฒน์ วิไลทอง  เมธีวิจัยอาวุโส สกว.    ท่านก็พาไปชี้ให้ดูอาคาร Center of Gemstone Enhancement Technology   ทำให้ผมได้เรียนรู้การต่อยอดผลงานของ ดร. ถิรพัฒน์ ที่น่าชื่นชมและเป็นประโยชน์ยิ่ง    

ไปเห็นอาคารที่กำลังก่อสร้างอยู่ไกลลิบ    ท่านบอกว่าเป็นโรงงานรากฟันเทียม    ที่เป็น ๑ ในเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ประเทศไทยเราประสบความสำเร็จ  สร้างผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ที่เข้าบัญชีนวัตกรรมแห่งชาติ   ช่วยให้มีรากฟันเทียมราคาถูกคุณภาพสูง   ที่คนไทยทุกคนเข้าถึงได้   

แน่นอนว่า ผลงานของ STeP ที่เด่นมากคือ เทคโนโลยีกำจัดแมลงและไข่แมลงด้วยคลื่นความถี่วิทยุ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพข้าวส่งออกของไทย     ผลงานในภาพรวมของ STeP แสดงในสไลด์