การบำเพ็ญบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตอนที่ ๖ มหาโควินทจริยา


เครื่องบรรณาการอันใดในราชอาณาจักรทั้ง ๗ ได้มีแล้วแก่เรา เราได้ให้มหาทานร้อยล้านแสนโกฏิ เปรียบด้วยสาคร ด้วยบรรณาการนั้น

การบำเพ็ญบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตอนที่ ๖ มหาโควินทจริยา

พลตรี มารวย  ส่งทานินทร์

๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๖

เกริ่นนำ

            เครื่องบรรณาการอันใดในราชอาณาจักรทั้ง ๗ ได้มีแล้วแก่เรา เราได้ให้มหาทานร้อยล้านแสนโกฏิ เปรียบด้วยสาคร ด้วยบรรณาการนั้น

 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

 

๕. มหาโควินทจริยา

ว่าด้วยจริยาของมหาโควินทพราหมณ์

 

             [๓๗]   อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพราหมณ์มีนามว่ามหาโควินทะ เป็นปุโรหิตของพระราชา ๗ พระองค์ อันมนุษย์และเทวดาบูชาแล้ว

             [๓๘]   ครั้งนั้น เครื่องบรรณาการอันใดในราชอาณาจักรทั้ง ๗ ได้มีแล้วแก่เรา เราได้ให้มหาทานด้วยเครื่องบรรณาการนั้น ซึ่งเหมือนทะเลที่ไม่กระเพื่อม

             [๓๙]   ทรัพย์และข้าวเปลือกจะเป็นที่น่ารังเกียจสำหรับเราก็หาไม่ แม้ตัวเราเองจะไม่มีการสั่งสมก็หาไม่ แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงให้ทรัพย์อย่างประเสริฐ ฉะนี้แล

มหาโควินทจริยาที่ ๕ จบ

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

ขุททกนิกาย จริยาปิฎก การบำเพ็ญทานบารมี

๕. มหาโควินทจริยา

               อรรถกถามหาโควินทจริยาที่ ๕               

 

               พราหมณ์ชื่อว่ามหาโควินทะ เพราะเป็นผู้มีอานุภาพมาก และเพราะได้รับแต่งตั้งโดยอภิเษกให้เป็นโควินทะ. เพราะว่าพระโพธิสัตว์ได้ชื่อนี้ตั้งแต่วันอภิเษก ชื่อเดิมว่าโชติปาละ ได้ยินว่า ในวันที่โชติปาละเกิด สรรพาวุธทั้งหลายสว่างไสว. แม้พระราชาก็ทอดพระเนตรเห็นมังคลาวุธของพระองค์ สว่างไสวในตอนใกล้รุ่ง ทรงสะดุ้งพระทัยตรัสถามปุโรหิตของพระองค์ซึ่งเป็นบิดาของพระโพธิสัตว์ผู้มาปฏิบัติราชการ.
               ปุโรหิตทูลให้เบาพระทัยว่า ขอเดชะข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์อย่าทรงหวาดสะดุ้งไปเลย บุตรของข้าพระองค์เกิด ด้วยอานุภาพของบุตรนั้นมิใช่ในกรุงราชคฤห์เท่านั้น แม้ในนครทั้งสิ้น อาวุธทั้งหลายก็สว่างไสว อันตรายมิได้มีแด่พระองค์เพราะอาศัยบุตรของข้าพระองค์.
               อนึ่ง ในชมพูทวีปทั้งสิ้นจักหาผู้ที่มีปัญญาเสมอด้วยบุตรของข้าพระองค์ไม่มี.
               นั่นเป็นบุรพนิมิตของเขา พระเจ้าข้า.
               พระราชาทรงยินดี พระราชทานทรัพย์ ๑,๐๐๐ โดยตรัสว่า จงเป็นค่าน้ำนมของพ่อกุมารเถิด แล้วตรัสว่า เมื่อบุตรของท่านเจริญวัย จงนำมาอยู่กับเรา.
               ต่อมา กุมารนั้นเจริญวัยเป็นผู้เห็นประโยชน์อันควรจึงเป็นอนุสาสกในกิจทั้งปวงของพระราชา ๗ พระองค์ ครั้นบวชแล้วก็ได้สั่งสอนสัตว์ทั้งหลายจากสิ่งไม่เป็นประโยชน์ แล้วชักชวนด้วยสิ่งมีประโยชน์ทั้งปัจจุบันและสัมปรายภพ.
               พระโพธิสัตว์เป็นบุตรของโควินทพราหมณ์ ผู้เป็นปุโรหิตของพระราชาพระนามว่าทิสัมบดี เมื่อบิดาของตนล่วงลับไปและพระราชาสวรรคตแล้ว ยังพระราชา ๗ พระองค์ให้ดำรงอยู่ในราชสมบัติโดยที่พระราชาทั้ง ๗ พระองค์ คือ พระเรณุราชา โอรสของพระทิสัมบดีราชา พระสหายราชาพระสัตตภูราชา พระพรหมทัตตราชา พระเวสสภูราชา พระภารตราชา พระธตรัฐราชา มิได้ทรงวิวาทกันและกัน ถวายอนุศาสน์อรรถธรรมแด่พระราชาเหล่านั้น.
               พระราชาทั้งหมด พราหมณ์ เทวดา นาคและคฤหบดีในพื้นชมพูทวีป สักการะ นับถือ บูชา อ่อนน้อม ได้ถึงฐานะเป็นที่เคารพอย่างสูงสุด.
               เพราะความที่โควินทพราหณ์นั้นเป็นผู้ฉลาดในอรรถและธรรม จึงได้รับสมัญญาว่า มหาโควินทะ ด้วยประการฉะนี้.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า 
               อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเป็นพราหมณ์ นามว่ามหาโควินทะ เป็นปุโรหิตของพระราชา ๗ พระองค์ อันนรชนและเทวดาบูชาแล้ว.
               ลำดับนั้น ลาภสักการะอันมากมายนับไม่ถ้วน อันพระราชาผู้ตื่นเต้นด้วยอานุภาพของพระโพธิสัตว์ กษัตริย์ผู้นับถือพระราชาเหล่านั้น พราหมณ์ คฤหบดีและชาวนิคม ชาวชนบท น้อมนำเข้าไปถมไว้ๆ ดุจห้วงน้ำใหญ่ท่วมทับโดยรอบ เหมือนอย่างลาภสักการะเกิดแก่ผู้สะสมบุญอันไพบูลย์ซึ่งได้สะสมไว้ในชาตินับไม่ถ้วน ผู้มีธรรมเกิดขึ้นแล้วมากมาย มีศีลาจารวัตรบริสุทธิ์ มีศีลเป็นที่รัก สำเร็จศิลปศาสตร์ทุกชนิด มีหทัยอ่อนโยนน่ารักแผ่ไปด้วยมหากรุณาในสรรพสัตว์ทั้งหลายเช่นกับบุตร.
               พระโพธิสัตว์ดำริว่า บัดนี้ ลาภและสักการะมากมายเกิดขึ้นแก่เรา ถ้ากระไรเราจะให้สรรพสัตว์ทั้งหลายเอิบอิ่มด้วยลาภและสักการะนี้แล้ว ยังทานบารมีให้บริบูรณ์ จึงให้สร้างโรงทานขึ้น ๖ แห่ง คือกลางพระนคร ๑ ที่ประตูพระนคร ๔ ที่ประตูพระราชนิเวศน์ ๑ แล้วยังมหาทานให้เป็นไปด้วยการบริจาคทรัพย์หาประมาณมิได้ทุกๆ วัน. ของขวัญใดๆ ที่มีผู้นำมามอบให้เพื่อประโยชน์แก่ตน ทั้งหมดนั้นส่งไปที่โรงทาน.
               เมื่อพระโพธิสัตว์ทำมหาบริจาคทุกๆ วันอย่างนี้ ความอิ่มใจก็ดี ความพอใจก็ดี มิได้มีแก่ใจของพระโพธิสัตว์นั้นเลย. ความเหนื่อยหน่ายจะมีได้แต่ไหน.
               หมู่ชนผู้มายังโรงทานเพื่อหวังลาภของพระโพธิสัตว์ ได้รับไทยธรรมกลับไปและประกาศคุณวิเศษของพระมหาสัตว์ โดยรอบด้านทั้งภายในพระนคร และภายนอกพระนคร ได้มีเสียงเซ็งแซ่อึงคะนึงเป็นอันเดียวกันดุจมหาสมุทร มีห้วงน้ำเป็นอันเดียวกัน หมุนวนเพราะกระทบพายุใหญ่อันตั้งขึ้นตลอดกัปฉะนั้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า 
               ในกาลนั้น เครื่องบรรณาการอันใดในราชอาณาจักรทั้ง ๗ ได้มีแล้วแก่เรา เราได้ให้มหาทานร้อยล้านแสนโกฏิ เปรียบด้วยสาคร ด้วยบรรณาการนั้น.
               พระมหาสัตว์ยังฝนคือทานใหญ่ให้ตกโดยไม่หยุดยั้งดุจมหาเมฆในปฐมกัป ยังฝนใหญ่ให้ตกฉะนั้น แม้เป็นผู้ขวนขวายในทานเวลาที่เหลือก็ยังไม่ประมาท ถวายอนุสาสน์ อรรถธรรมแด่พระราชา ๗ พระองค์. และยังพราหมณ์มหาศาล ๗ ให้ศึกษาวิชาศิลปศาสตร์. และบอกมนต์กะช่างกัลบก ๗๐๐ คน.
               ครั้นต่อมา กิตติศัพท์อันงดงามนี้ของพระโพธิสัตว์ขจรไปว่า มหาโควินทพราหมณ์เผชิญหน้า เห็นพระพรหม มหาโควินทพราหมณ์เผชิญหน้า สนทนา พูดจา ปรึกษากับพระพรหม.
               พระมหาสัตว์บำเพ็ญพรหมวิหารภาวนาตลอด ๔ เดือนในฤดูฝนโดยตั้งใจว่า เราพึงอำลาพระราชา ๗ พระองค์ พราหมณ์มหาศาล ๗ ช่างกัลบก ๗๐๐ และบุตรภรรยาไปเฝ้าพระพรหม.
               ด้วยความตั้งใจของพระโพธิสัตว์นั้น สุนังกุมารพรหมได้รู้ความคิดคำนึง จึงได้ปรากฏข้างหน้า.
               มหาบุรุษเห็นพรหมจึงถามว่า 
               ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใครหนอ จึงมีผิวพรรณ มียศ มีสิริ ข้าพเจ้าไม่รู้จักท่าน จึงถาม ข้าพเจ้าจะรู้จักท่านได้อย่างไร.
               พระพรหมเมื่อจะยังพระโพธิสัตว์ให้รู้จักตน จึงกล่าวว่า 
               ท่านโควินทะ ทวยเทพทั้งปวงรู้จักข้าพเจ้าว่าเป็นกุมารพรหมอยู่ในพรหมโลกมาเก่าแก่ ขอท่านจงรู้จักข้าพเจ้าด้วยประการฉะนี้เถิด.
               พระโพธิสัตว์กล่าวว่า 
               ข้าแต่ท่านผู้เป็นพรหม ข้าพเจ้าขอต้อนรับท่านผู้เจริญด้วยอาสนะ น้ำ เครื่องเช็ดเท้าและผักผสมน้ำผึ้ง ขอได้โปรดรับของมีค่าอันเป็นของข้าพเจ้าเถิด.
               พระพรหมแม้ไม่มีความต้องการของต้อนรับแขกที่พระโพธิสัตว์นำเข้าไปก็ยินดีรับ เพื่อความเบิกบานใจของพระโพธิสัตว์ และเพื่อทำความคุ้นเคย จึงกล่าวว่า ท่านโควินทะ ข้าพเจ้าขอรับของมีค่าที่ท่านบอก.
               เมื่อให้โอกาสจึงกล่าวว่า 
               ข้าพเจ้าให้โอกาส ท่านจงถามสิ่งที่ต้องการถาม เพื่อประโยชน์ในภพนี้ และเพื่อความสุขในภพหน้า.
               ลำดับนั้น พระมหาบุรุษจึงถามถึงประโยชน์ในภพหน้าอย่างเดียวว่า 
               ข้าพเจ้าผู้มีความสงสัย ขอถามท่านสนังกุมารพรหมผู้ไม่มีความสงสัย ในปัญหาอันปรากฏแก่ผู้อื่นว่า สัตว์ตั้งอยู่ในอะไร และศึกษาในอะไร จึงจะถึงพรหมโลกอันเป็นอมตะ.
               พระพรหมเมื่อจะพยากรณ์แก่พระโพธิสัตว์ จึงกล่าวถึงทางอันไปสู่พรหมโลกว่า 
               ท่านผู้ประเสริฐ สัตว์ละความเป็นของเราในสัตว์ทั้งหลาย เป็นอยู่ผู้เดียว น้อมไปในกรุณา ไม่มีกลิ่น น่ายินดี เว้นจากเมถุน ตั้งอยู่ในธรรมเหล่านี้ และศึกษาอยู่ในธรรมเหล่านี้ ย่อมถึงพรหมโลกอันเป็นอมตะ.
               ลำดับนั้น พระมหาบุรุษได้สดับคำของพระพรหมนั้นรังเกียจกลิ่นอันเป็นพิษ (โกธะ (ความโกรธ) โมสวัชชะ (การพูดเท็จ) นิกติ (การโกง) โทพภะ (การประทุษร้ายมิตร) กทริยตา (ความตระหนี่จัด) อติมานะ (ความดูหมิ่น) อุสุยา (ความริษยา) อิจฉา (ความปรารถนา) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ปรเหฐนา (การเบียดเบียนผู้อื่น) โลภะ (ความอยากได้) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) มทะ (ความมัวเมา) โมหะ (ความหลง) สัตว์ผู้ประกอบด้วยกิเลสเหล่านี้ จัดว่าเป็นผู้มีกลิ่นชั่วร้าย ต้องไปอบาย ปิดพรหมโลกแล้ว) จึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าจักบวชในบัดนี้ละ.
               แม้พระพรหมก็กล่าวว่า ดีแล้ว ท่านมหาบุรุษ จงบวชเถิด.
               เมื่อเป็นอย่างนี้การที่ข้าพเจ้ามาหาท่าน จึงเป็นการมาดีทีเดียว. พ่อเจ้าประคุณ พ่อเป็นอัครบุรุษทั่วชมพูทวีปยังอยู่ในปฐมวัย ชื่อว่าการละสมบัติและความเป็นใหญ่ ถึงอย่างนี้ออกบวชเป็นความประเสริฐยิ่ง ดุจคันธหัตถีทำลายเครื่องผูกทำด้วยเหล็กแล้วกลับไปป่าฉะนั้น นี้ชื่อว่าเป็นเชื้อสายของพระพุทธเจ้า.
               แม้พระมหาสัตว์ก็ดำริว่า เราออกจากเมืองนี้ไปบวชไม่เป็นการสมควร เรายังถวายอนุสาสน์อรรถและธรรมแก่ราชตระกูลอยู่ เพราะฉะนั้น เราทูลพระราชาเหล่านั้น หากว่า พระราชาเหล่านั้นจะบวชบ้างก็จะเป็นการดีทีเดียว เราจักคืนตำแหน่งปุโรหิตของเราแล้วบวช
               จึงทูลแด่พระราชาเรณุก่อน พระราชาเรณุทรงปลอบโยนด้วยกามมากมาย จึงทูลถึงเหตุความสังเวชของตนและความประสงค์เพื่อจะบวชอย่างเดียวแด่พระราชา.
               เมื่อพระราชาเรณุตรัสว่า ผิว่าเป็นอย่างนั้นแม้เราก็จักบวชด้วย จึงรับว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า.
               โดยนัยนี้จึงได้ไปอำลากษัตริย์ ๖ พระองค์มีพระราชาสัตตภูเป็นต้น พราหมณมหาศาล ๗ ช่างกลบก ๗๐๐ และภรรยาของตนแล้วคอยตามดูใจของคนเหล่านั้นอยู่ประมาณ ๗ วัน จึงออกบวชเช่นเดียวกับมหาภิเนษกรมณ์.
               ชนเหล่านั้นทั้งหมดมีพระราชา ๗ พระองค์เป็นต้น ออกบวชตามพระโพธิสัตว์ ได้เป็นบริษัทใหญ่ขึ้นแล้ว.
               พระมหาบุรุษแวดล้อมด้วยบริษัทกว้างหลายโยชน์ เที่ยวจาริกแสดงธรรมในคามนิคมชนบทและราชธานี ยังมหาชนให้ตั้งมั่นในบุญกุศล. ในที่ที่ไปปรากฏดุจพุทธโกลาหล.
               พวกมนุษย์ได้ฟังว่าโควินทบัณฑิตจักมา จึงพากันสร้างมณฑปไว้ล่วงหน้าก่อนตกแต่งมณฑปนั้นแล้วต้อนรับนิมนต์ให้เข้าไปยังมณฑป อังคาสด้วยโภชนะมีรสเลิศต่างๆ. ลาภสักการะใหญ่เกิดท่วมทับดุจห้วงน้ำใหญ่ท่วม.
               พระมหาบุรุษยังมหาชนให้ตั้งอยู่ในบุญกุศล คือในศีลสัมปทา อินทรีย์สังวร ความรู้จักประมาณในการบริโภค การประกอบความเพียร บริกรรมกสิณ ฌาน อภิญญา สมาบัติ ๘ และพระพรหมวิหาร. ได้เป็นดุจกาลเกิดแห่งพระพุทธเจ้า.
               พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่ตราบเท่าอายุ ยังกาลเวลาให้น้อมล่วงไปด้วยสุขเกิดแต่สมาบัติ เมื่อสิ้นอายุก็ไปเกิดในพรหมโลก.
               การประพฤติพรหมจรรย์ของพระโพธิสัตว์นั้นมั่นคง แพร่หลายกว้างขวาง รู้กันเป็นส่วนมาก หนาแน่น จนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศดีแล้วเป็นไปสิ้นยาวนาน.
               ผู้ใดรู้คำสอนของพระโพธิสัตว์นั้นโดยสิ้นเชิง. ผู้นั้นตายไปแล้วก็ได้ไปเกิดยังพรหมโลกอันเป็นสุคติภพ.
               ผู้ใดยังไม่รู้ทั่วถึง ผู้นั้นบางพวกก็เข้าถึงความเป็นสหายกับเหล่าเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี. บางพวกก็เข้าถึงความเป็นสหายกับเหล่าเทพชั้นนิมมานรดี ฯลฯ ดุสิต ยามา ดาวดึงส์ จาตุมมหาราชิกา.
               ผู้ใดยังต่ำกว่าเขาทั้งหมด ผู้นั้นก็ไปเกิดเป็นหมู่คนธรรพ์.
               มหาชนโดยมากได้เข้าถึงพรหมโลก และเข้าถึงสวรรค์ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น เทวโลกและพรหมโลกจึงเต็มไปหมด. อบาย ๔ ได้เป็นเหมือนจะสูญไป.
               แม้ในมหาโควินทจริยานี้ ก็พึงทราบการกล่าวเจาะจงลงไปถึงโพธิสัมภารดุจในอกิตติชาดก.
               พระราชา ๗ พระองค์ในครั้งนั้น ได้เป็นพระมหาเถระทั้งหลายในครั้งนี้.
               บริษัทที่เหลือ คือพุทธบริษัท.
               มหาโควินทะ คือพระโลกนาถ.
               พึงประกาศคุณานุภาพมีอาทิอย่างนี้คือ
               การประดิษฐานในรัชกาลของตนๆ โดยไม่ผิดพ้องหมองใจกันและกันของพระราชา ๗ พระองค์มีพระราชาเรณุเป็นต้น. ความไม่ประมาทในการถวายอนุศาสน์อรรถและธรรมแก่พระราชาเหล่านั้นใน ๗ รัชกาลอันใหญ่หลวง. การสรรเสริญอันเป็นไปแล้วว่า พระโพธิสัตว์สนทนาแม้กับพระพรหม. การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ถึงความยอดเยี่ยมอย่างยิ่งตลอด ๔ เดือนเพื่อทำความจริง. การให้พระพรหมเข้ามาถึงตนด้วยการประพฤติพรหมจรรย์นั้น. การตั้งอยู่ในโอวาทของพระพรหมแล้ว ทอดทิ้งลาภสักการะอันพระราชา ๗ พระองค์และชาวโลกทั้งสิ้นนำเข้าไปให้ดุจก้อนน้ำลาย แล้วยึดมั่นในบรรพชาอันเป็นเครื่องหมายการบวชตามของบริษัท มีกษัตริย์และพราหมณ์เป็นต้นนับไม่ถ้วน. การติดตามคำสอนของตนดุจคำสอนของพระพุทธเจ้าตลอดกาลนาน.

               จบอรรถกถามหาโควินทจริยาที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

 

หมายเลขบันทึก: 713072เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2023 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2023 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท