Developmental Evaluation : 65. กลยุทธการนำ DE ไปใช้ในบริบทไทย


    

บ่ายวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๖ ผมเข้าประชุมทางออนไลน์ตามคำขอนัดของ สช. (สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) เพื่อปรึกษาผลเบื้องต้นของการนำ DE ไปใช้เพื่อขับเคลื่อนขบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่    โดยมีที่ปรึกษา ๒ คน คือคุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร (เปา) ผู้สร้างความสำเร็จในการนำ DE ไปใช้ในวงการศึกษา     กับผม

ฟังคุณเปาให้คำแนะนำแล้ว    ผมได้ประเด็นมาเขียนบันทึกนี้   

ข้อเรียนรู้ข้อแรก และสำคัญที่สุดคือ การวางท่าทีว่า กิจกรรมที่กำลังดำเนินการเพื่ออะไร    ซึ่งในกรณีของ สช. นี้    เราเข้าใจกันว่า เป็นกิจกรรมที่ชาวบ้านรวมตัวกันใช้ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่    เพื่อร่วมกันสร้างสุขภาวะของชุมชน    เจ้าของเรื่องคือกลุ่มชาวบ้าน    เจ้าหน้าที่ของ สช. เข้าไปหนุน    และเครื่องมือหนึ่งสำหรับหนุนคือ DE   

แต่ฟังการซักของคุณเปา  และคำตอบและอธิบายของเจ้าหน้าที่ของ สช. แล้ว    ผมคิดว่าชาวบ้านไม่ได้คิดตามในย่อหน้าบน   แต่คิดว่าเขาทำกิจกรรมธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ให้แก่ สช.   เจ้าของงานคือ สช.   และที่ สช. เอา DE ไปให้ใช้    ก็เป็นการทำ DE เพื่อสนอง สช. 

นี่คือจุดตายของงานพัฒนาส่วนใหญ่ในสังคมไทย  และผมเข้าใจว่าเกิดขึ้นตามปกติ ในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย    ที่ผมตีความว่า เป็นเพราะผู้คนตกอยู่ใต้อำนาจเหนือจนเคยชิน ไม่คุ้นกับสภาพที่ตนเองรวมตัวกันลุกขึ้นมาดำเนินการเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของตัวเอง หรือของชุมชนของตนเอง    ไม่เคยคิดว่า ตนเองจะพัฒนาความเป็นอยู่ของตนเองได้   เมื่อมีคนมายุให้ทำ ก็คิดว่าเขาเอางานมาให้ทำเพื่อผลงานของเขา

กล่าวอย่างนี้อาจจะผิด   ความผิดพลาดอาจอยู่ที่ตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง (ในกรณีนี้คือ สช.) ที่คิดจริงๆ ว่าเป็นงานของตน ผลงานของตน    ที่ตนเอาไปให้ชาวบ้านทำ     

จุดอ่อนแรกจึงมีธรรมชาติเป็น socio-cultural factor   และเป็นประเด็นที่ต้องวางพื้นฐานความเข้าใจที่ถูกต้องเสียก่อน    ต้องให้มั่นใจว่า ชาวบ้านเป็นเจ้าของเรื่องจริงๆ     

ในกรณีนี้ จุดอ่อนมี ๒ ชั้น   คือชั้นความเป็นเจ้าของกิจกรรมสมัชชาสุขภาพพื้นที่    กับชั้นมุมมองต่อ DE   

จากการซักของคุณเปา  ช่วยให้เห็นท่าทีของเจ้าหน้าที่ สช. ว่ามุ่งเอา DE ไปให้ชาวบ้านทำ    ชาวบ้านรู้สึกว่า DE  เป็นสิ่งที่เขาทำให้ สช.   เมื่อจ้าหน้าที่ของ สช. ไปนัดแนะชาวบ้านทั้ง ๑๐ กลุ่มให้มาประชุมในวันที่ ๒๔ เมษายน เพื่อ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคืบหน้าของการดำเนินการยกระดับสุขภาวะ    ชาวบ้านหลายกลุ่มบอกว่าลืมไปแล้ว ว่าตกลงอะไรไว้   

ผมให้คำแนะนำแก่ สช. ว่า การประชุมวันนี้ได้ข้อเรียนรู้ที่มีคุณค่าต่อ สช. มาก   ว่าต้องอ่อนไหวระมัดระวังหรือละเอียดอ่อนในเรื่องการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาวบ้านหรือชุมชนกับ สช. ในการทำงานร่วมกัน    โดย สช. ต้องใช้ถ้อยคำและท่าที ที่ให้น้ำหนักแก่สุขภาวะของคนในชุมชนเป็นเป้าหมายหลัก   ทำให้เข้าใจตรงกันว่าสมัชชาสุขภาพพื้นที่เป็นเครื่องมือ หรือตัวช่วยให้บรรลุเป้าหมายสุขภาวะที่ชาวบ้านต้องการ    และ เป็นเครื่องมือช่วยให้คิดอย่างเป็นระบบ มีการเรียนรู้ร่วมกันของชาวบ้านผ่านการปฏิบัติ  และอย่างมีข้อมูลประกอบ    โดยมีกิจกรรมสานเสวนาช่วย   

ชาวบ้านต้องรู้สึกว่า สช. เข้าไปช่วยเขา   ไม่ใช่เข้าไปใช้งานเขาเพื่อผลงานของ สช. 

นำสู่ ข้อเรียนรู้ข้อที่สอง เป็นเรื่องความสำคัญของถ้อยคำ (words)    เจ้าหน้าที่ของ สช. ต้องได้รับการฝึก   ให้รู้จักใช้ถ้อยคำ และท่าทีที่ถูกต้องในการติดต่อสื่อสารกับชาวบ้าน    ในเรื่องตามประเด็นเรียนรู้ข้อแรก   ต้องมีความรู้ความเข้าใจหลักการเรื่องนี้    และมีการฝึกปฏิบัติจนติดเป็นนิสัย   

นี่คือนิสัย และวัตรปฏิบัติของ “คุณอำนวย”    ไม่ใช่ “คุณอำนาจ” ด้านปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน   

ข้อเรียนรู้ข้อที่สาม เป็นเรื่องของความเป็น “ผู้ก่อการ” (agency  หรือ change agent) ของชาวบ้าน   เป็นเรื่องสำคัญต่อการทำงานสร้างการเปลี่ยนขาด (transformation) ในชุมชนหรือพื้นที่ของตน    เจ้าหน้าที่ของ สช. ที่ทำหน้าที่  “คุณอำนวย” ต่อกิจกรรม DE ต้องมีทักษะกระตุ้น และยกระดับ ความเป็น “ผู้ก่อการ” ของชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ    นี่คือ soft skills  หรือ inter-personal skills ที่  “คุณอำนวย” ของ DE จะต้องฝึก

สรุปว่า เมื่อไรก็ตาม มีการนำเอา DE ไปใช้กับกลุ่มคนที่เป็นชาวบ้าน   ต้องเอาใจใส่เรื่อง power relationship   และเรื่องความเป็น “ผู้ก่อการ” ของผู้เข้าร่วม             

วิจารณ์ พานิช

๒๑ เม.ย. ๖๖

 

หมายเลขบันทึก: 712880เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2023 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2023 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

II sounds very much like ‘democracy’ (this is also given to people and making people responsible for democracy’s results, processes and ‘goals’) in Thailand. Not all people know what to do with this ‘democracy’ power. Many of those who do know, use it (to exploit people) for their own benefits. Democracy becomes a tool for some and a burden for the rest. [Hardly a democracy by definition!]

I think DE could be looked at in the same way –given, burden, for someone. People don’t take ownership of what they are given, because there is a long tradition of gratefulness and repay [times over] that diminishes the value of the gift. [I am sorry to say this] To change culture could be great for the future, but to change culture for an unclear benefit of a project could be far too much to hope for.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท