ว่าด้วย พรบ.โรงเรียนเอกชน


     ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ว่ากันว่าจะเป็นการก้าวขึ้นสู่ปีที่ ๑๐๕ ของการศึกษาเอกชน ซึ่งอยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนานมาก มีคำถามต่างๆมากมายที่เกิดขึ้นกับครูซึ่งทำงานในโรงเรียนเอกชน เช่น ทำไมเราไม่มีประกันสังคม ทำไมเราไม่ได้เงินสะสม ๑๒% คืน เมื่อเราลาออกจากงาน ทำไมเราต้องไปแออัดกันอยู่ที่โรงพยาบาลรัฐ และต้องสำรองเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนทั้งๆที่เรามีวงเงินค่ารักษาพยาบาล 120,000 บาทต่อปี ฯลฯ เราลองมาดู พรบ.โรงเรียนเอกชนกันดีกว่าว่าเพราะอะไรถึงทำให้ชีวิตครูเอกชนอย่างเราหัวจะปวดได้ขนาดนี้

     มาตรา๘๖ กิจการของโรงเรียนในระบบเฉพาะในส่วนของ ผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่  ผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

     ภายใต้มาตรานี้ก็ตอบคำถามข้างต้นได้เกินครึ่ง ยินดีด้วยกับครูเอกชน คุณเป็นคนทำงานที่ไม่มีสถานะ ไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ใช้รัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่คนใช้แรงงาน แล้วเราเป็นใคร สถานะทางการทำงานที่ระบุไม่ได้ทำให้เราไม่อยู่ในระบบประกันสังคมแต่ค้างเติ่งอยู่กับระบบกองทุนสงเคราะห์ที่แย่และเอารัดเอาเปรียบมากที่สุด  

     บางคนอาจจะบอกว่าก็มีระบบกองทุนสงเคราะห์อยู่แล้วนี่ ระบบกองทุนสงเคราะห์ที่เรียกว่าเงิน ๑๒% นั้นมาจากมาตรา ๗๓ ว่าด้วยการส่งเงินสะสมซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ที่มาคือ จากครู ๓% ของเงินเดือน (มาตรา๗๓ (๑))จากโรงเรียนจ่าย ๓%  เท่าเงินที่ครูจ่าย (มาตรา๗๓ (๒))และสุดท้ายจากกระทรวงศึกษาธิการสมทบเป็นจำนวน ๒ เท่าของเงินที่ครูและโรงเรียนสะสมคือ ๖% (มาตรา๗๓(๓)) รวมทั้งหมดเป็น ๑๒%  ซึ่งอยากจะบอกว่าห่างไกลจากการทำประกันสังคมหลายล้านปีแสง 

     การทำประกันสังคม เงินที่ลูกจ้างจ่าย  นายจ้างสมทบ รัฐสมทบ เมื่อออกจากงานได้เงินคืนแบบจริงๆ ไม่ว่าจะทำงานกี่ปี แต่ครูเอกชนถ้าส่งเงินสมทบไม่ถึง ๑๐ ปี จะได้คืนแค่ ๓% ที่จ่ายไปเท่านั้น แล้วเงินที่โรงเรียนสมทบ ๓% กระทรวงศึกษาธิการสมทบอีก ๖% อยู่ที่ไหน สรุปคือตั้งใจไม่ให้นั่นแหละ เพราะระบุไว้ใน พรบ.แล้ว แล้ว ๙% นั้นไปอยู่ที่ไหน ไม่รู้ ไม่จ่าย พรบ.ระบุไว้แล้ว อยากได้เต็ม ๑๒% เหรอ ได้ซิ ถ้าทำงานเกิน ๕ ปีแต่ไม่ถึง ๑๐ ปี แต่อยากได้เงินต้องส่งต่อให้ครบ ๑๐ ปี (มาตรา๗๗) บอกได้คำเดียว “อ้าว เฮ้ย! ”

     เจ็บป่วยมีเงินค่ารักษาพยาบาลในวงเงินปีละ 120,000 บาท ดูเหมือนมีความเป็นมาตรฐานที่สูงขึ้นมาทันที แต่ระบุว่าใช้ได้เฉพาะโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น และเพื่อให้ง่ายต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน (ไม่มีระบบจ่ายตรง) ครูเอกชนที่เจ็บป่วยต้องไปแออัดอยู่ที่โรงพยาบาลรัฐซึ่งใช้เวลาเป็นวันๆ ถามว่าลาหยุดได้ไหม ได้แต่ยาก แล้วทำยังไง ไปคลินิค ไปร้านขายยา จ่ายเอง นักเลงพอ สรุปแล้วคือ ๑๒๐,๐๐๐ ไม่มีอยู่จริง ทั้งๆที่ในวงเงินเท่านี้สามารถทำประกันสุขภาพกลุ่มได้สบายๆ แต่ทำไมไม่ทำ ดังนั้นไม่ต้องคาดหวังถึงการตรวจสุขภาพประจำปีแบบที่บริษัทเอกชนต่างๆให้สวัสดิการกับพนักงาน

     บางครั้งก็น่าแปลกใจที่ พรบ.ฉบับนี้ยังใช้ได้อยู่ในปัจจุบัน ที่กล่าวมาทั้งหมดคือกฎหมายที่บังคับใช้กับคนทำงานเป็นครูที่มีความรู้ขั้นต่ำปริญญาตรี จึงเกิดคำถามว่ามีครูเอกชนหลายแสนคนที่อยู่ภายใต้ พรบ.ฉบับนี้ เราไม่เคยมีการตั้งคำถามและเรียกร้องต่อสวัสดิการดังกล่าวเชิงนโยบายอย่างจริงจัง และกระทรวงศึกษาธิการดูจะรู้เห็นเป็นใจให้กับการเอารัดเอาเปรียบนี้เหลือเกิน 

   ไหนๆก็เข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้งแล้ว ประเด็นนี้คงต้องฝากให้พรรคการเมืองที่เล็งเห็นความสำคัญช่วยแก้ไขเรื่องนี้ด้วย แค่คะแนนเสียงจากครูเอกชน 180,000 คน  ก็ไม่ถือว่าน้อยนะหญิง

หมายเลขบันทึก: 711544เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2023 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มีนาคม 2023 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท