คำแนะนำ และข้อสังเกตในการ "ทำงานวิจัย"


                                      คำแนะนำ และข้อสังเกตในการ "ทำงานวิจัย"

                                                                                                                                ดร.ณัฐวิทย์ พรหมศร

เรื่องความรู้ในการทำวิจัย  หรือการเขียนงานวิจัยนี้  มีผู้เขียนไว้มากมายทั้งในแง่ตำรา บทความ  หลากหลายด้วยกัน  แต่จากที่ผมได้เคยเป็นที่ปรึกษาการทำวิทยานิพนธ์บ้าง  การทำผลงานทางวิชาการบ้าง และเป็นวิทยากรเกี่ยวกับงานวิจัยบ้าง  ทำให้ได้เห็น ได้อ่าน ได้ฟังทั้งงานวิจัยที่ดี  ที่มีคุณค่าต่อวงการศึกษา  และงานวิจัยที่ไม่มีคุณค่าทางวิชาการใดๆ เสมอ   ผมคิดว่ามีประเด็นที่น่าสังเกตในการทำงานวิจัย  ดังนี้  

ผมมีข้อสังเกตว่า “ถ้าเราสอนหรือแนะนำให้ทำงานวิจัย” มักทำให้เข้าใจผิดง่ายทั้งในสิ่งที่ทำ และตัวงานวิจัย  ซึ่งมีโอกาสที่เราจะได้เอกสารขยะเพิ่มขึ้นอีกหลายกิโลกรัม  ทำให้หนักห้องที่เก็บ  และทำให้ผู้ที่ต้องอ่านมีภาระจากงานวิจัยที่ไม่ใช่การวิจัยจริงๆ กันอยู่เป็นประจำ 

ผมเห็นว่า ถ้าเราได้ให้ความรู้ไปในทำนอง“ทำงานด้วยกระบวนการวิจัย”เป็นพื้นฐานเบื้องต้น (ฝึกทำวิจัย) ก่อน อาจช่วยให้ผู้ที่จะพัฒนาสิ่งใด หรือ ศึกษาค้นคว้าแสวงหาความรู้เพิ่มขึ้นจะประสบผลสำเร็จได้ง่าย  และนำไปสู่การเขียนเป็นวิทยานิพนธ์  หรือนำเสนอผลงานทางวิชาการที่ดีได้ง่ายขึ้น  เพราะการวิจัยหาความรู้ หรือการทำวิจัยพัฒนาสิ่งใด  มันมีกระบวนการขั้นตอนที่เกิดจากต้องวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อประมวลเป็นความรู้ และนำไปใช้เป็นหลักฐานเหตุผล ให้ได้ข้อสรุป “ด้วยตนเอง” เมื่อชำนาญแล้ว ค่อยขยับไปทำงานวิจัยที่ต้องการ “ค้นพบ” ความรู้ใหม่ หรือแนวทางใหม่ๆ (จะเรียกว่าวิจัยชั้นสูงก็ได้) จนเชี่ยวชาญหรือเป็นนักวิจัยมืออาชีพ  ก็จะเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษา สังคม และประเทศชาติอย่างแท้จริง 

วิธีการที่ผมใช้ช่วยให้ผู้ที่จะ“ทำสิ่งใดด้วยกระบวนการวิจัย” มือใหม่เข้าใจเร็วที่สุด  ได้แก่ การตั้งคำถามให้ผู้ที่อยากจะทำงานด้วยการวิจัยตอบก่อน  โดยผมจะถามซักไซ้ไปเรื่อยๆ ถึงเรื่องที่อยากทำตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงบทสรุป  จนบุคคลเหล่านั้นเข้าใจการวิจัยอย่างแท้จริงก่อน   จากนั้นผมถึงจะให้ ลงมือเขียนเค้าโครงร่างงานวิจัยตามหัวข้อคำถามที่ผมถามไป  เมื่อตรวจทานและสอบถามเสร็จ จึงจัดทำเป็นรูปเล่ม  เพื่อที่นำไปลงมือทำงานด้วยการวิจัยตามที่ตนเองวางแผนไว้   ซึ่งผลที่ได้คือ  ทุกคนทำงานที่อยากทำนั้นได้อย่างราบรื่น  ใช้เวลาตรงตามที่กำหนดไว้  ไม่มีอุปสรรคปัญหาในการทำงานวิจัยเหมือนที่ผ่านมา 

คำถามที่ผมใช้ในการตั้งคำถามเพื่อทำงานด้วยการวิจัย มี ๑๐ ประเด็น ดังนี้

  1. วิจัย คือ อะไร 
  2. อยากรู้เรื่องอะไร ? อยากจะศึกษาอะไร ? อยากจะทำอะไร ?
  3. สิ่งที่เราอยากรู้ อยากศึกษา อยากทำนั้น มันเกิดจากสาเหตุอะไร หรือสิ่งใด
  4. จะอยากรู้ อยากศึกษา อยากทำไปเพื่ออะไร เพราะอะไร ?
  5. จะไปทำ หรือศึกษาจากใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ ?
  6. จะทำ หรือศึกษาด้วยรูปแบบใด ?
  7. คาดว่าผลที่ทำ หรือศึกษาแล้วจะเป็นอย่างไร ?
  8. เราจะใช้เครื่องมืออะไรบ้าง ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
  9. จะวางแผนเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างไร ?
  10. จะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มานั้นอย่างไร ?

………………

คำถามที่ ๑  วิจัย คืออะไร

          ตอนที่เป็นนักศึกษาทั่วไป  ตอบไม่ได้ก็ไม่เป็นอะไรมาก  แต่ตอนจะทำวิจัย กลับเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดครับ ไม่ว่าผมจะไปเป็นที่ปรึกษาทำวิทยานิพนธ์ หรือผลงานทางวิชาการ  และวิทยากรอบรมตามที่ต่างๆ  ผมจะเริ่มต้นด้วยการถามว่า วิจัยคืออะไร ส่วนมากร้อยละ ๘๐ ขึ้นไป มักตอบว่า วิจัย คือ การแก้ปัญหา  ร้อยละ ๑๕ ตอบว่า คือ การค้นหาความจริง อีกประมาณร้อยละ ๕ จะตอบว่า เป็นการดำเนินงานที่ต้องมีการทดลองหรือพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์  ซึ่งทั้งสามคำตอบก็มีส่วนถูกอยู่บ้าง  แต่เป็นสิ่งที่ส่งผลให้การทำงานวิจัยมีอุปสรรคมากมาย  นับตั้งแต่การหาหัวข้อการวิจัย  ไปจนถึงการลงมือทำวิจัยจริงๆ   (ลองทดสอบ-ถามดูสิครับ) 

          เริ่มต้นผมพยายามให้ผู้ที่จะทำวิจัยเข้าใจให้ได้ว่า งานวิจัย คือ “กระบวนการ.................. ด้วยระบบหรือวิธีการที่น่าเชื่อถือ” คำว่า “กระบวนการ”นี้สำคัญมากถ้าไม่ยอมเข้าใจให้กระจ่างชัดเจน งานที่ทำก็จะไม่เป็นการวิจัยตามที่อยากได้ และตามที่อ้าง  มักจะกลายเป็นการทำงานแบบลอกเลียน (copy) ในที่สุด

          จริงๆ แล้ว... วิจัย เราบัญญัติมาจากคำว่า Research (search แปลว่า ค้นหา, ส่วน re แปลว่า ซ้ำๆ. รวมกันหมายถึง ค้นหา หรือ ทำซ้ำๆกัน จนกว่า “ค้นพบ” หรือ “ได้ความจริง” หรือ “แก้ปัญหา” ในที่สุด

@ กระบวนการ ก็คือ ขั้นตอน ดังนั้น การทำงานที่ดี ที่มีประสิทธิภาพ จึงต้องมีขั้นตอนการทำงานชัดเจน

          @ ตรงที่......ก็คือ สิ่งที่เราอยากทำ  เช่น  อยากรู้ (ความจริง-ความคิดเห็น ฯ), อยากศึกษา(สาเหตุ-ปัจจัยที่ส่งผล-ความสัมพันธ์-โครงสร้าง-ฯ), อยากทำ,อยากพัฒนา,อยากปฏิรูป(องค์กร-การทำงาน-รูปแบบ-กำไร-ผลผลิต-ฯ) ฯ

          @ คำว่า “ด้วยระบบหรือวิธีการที่น่าเชื่อถือ”  ตามหลักวิชาระเบียบวิธีวิจัยนั้น หมายถึง ระบบหรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หรือทางคณิตศาสตร์  ซึ่งต่อมาทางวงการศึกษายุติใช้คำว่า “ระเบียบวิธีวิจัย”  

          

สรุป  งานใดๆที่ตั้งใจจะทำด้วยการวิจัยนั้น  ต้องเป็นงานที่ทำอย่างมีระบบ มีกระบวนการขั้นตอนตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์/คณิตศาสตร์ หรือ ระเบียบวิธีวิจัยเท่านั้น

……………

คำถามที่ ๒  อยากรู้เรื่องอะไร ? อยากจะศึกษาอะไร ? อยากจะทำอะไร ?  

คำถามข้อนี้สำคัญมากที่สุดในการทำวิจัย  เพราะเป็นความต้องการในการอยากรู้ อยากศึกษา อยากพัฒนา  ยิ่งบอกได้ชัดเจนก็ยิ่งช่วยให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายในสิ่งที่เราอยากทำ อยากศึกษาได้ตรงประเด็นขึ้น  และช่วยให้ผู้ที่จะทำวิจัยพอมองเห็นขั้นตอนการวิจัยต่อไปได้อีก  ความอยากรู้ อยากศึกษาของมนุษย์มีมากมาย เช่น อยากรู้ว่ามนุษย์มาจากไหน  ทำไมเราต้องเกิดมา  ทำไมเราจึงจะมีชีวิตที่มีความสุขสบาย  อยากมีเงินมากๆ จะทำอย่างไร  ซึ่งคำถามแบบนี้  บางครั้งมันมีขอบเขตกว้างขวางมาก  ยากที่จะศึกษาให้เสร็จสิ้นได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง 

คำแนะนำง่ายๆ สำหรับมือใหม่ที่อยากจะทำการวิจัยให้เป็นเร็วๆ ในยุคนี้ ก็คือ การนำปัญหาที่เราทำงานอยู่ หรือประสบอยู่มาเป็นจุดเริ่มต้น(แต่คำแนะนำแบบนี้ ก็มักทำให้คนส่วนมากเข้าใจผิดไปว่า การวิจัย คือ การแก้ปัญหานั่นเอง) ว่ามีอะไรบ้าง  เช่น ถ้าเป็นครูสอน  ก็มักเป็นเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตกต่ำ,  นักเรียนไม่ตั้งใจเรียน  หรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีแล้ว  แต่อยากจะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีกจะทำได้อย่างไร  หรือ ถ้าเป็นพนักงานในองค์กรต่างๆ ก็เป็นเรื่องผลผลิตตกต่ำ พนักงานไม่สามัคคี  พนักงานท้อแท้ในการทำงาน  หรือทำอย่างไรให้ยอดขายดีขึ้น เป็นต้น 

เมื่อเราเอาปัญหาที่เราประสบอยู่เป็นตัวตั้ง  คำถามต่อไป คือ แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราอยากทำ อยากรู้ หรืออยากศึกษานั้นเป็นปัญหาจริงๆ เพราะการที่เราจะนำสิ่งใดมาเป็นประเด็น หรือหัวข้อในการทำวิจัยได้นั้น  ต้องไม่ใช่เกิดจากการที่เรานึกเอาเอง หรือจากที่เราประสบพบเห็นลอยๆ  มันต้องมีเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ที่มีหลักฐาน อ้างอิง ซึ่งหลักฐานนั้นจะเป็นสิ่งที่เราประสบพบเห็นก็ได้ หรือของผู้อื่นก็ได้  เช่น หลักฐานการทดสอบความรู้ระดับชาติ หรือ ระดับเขต ที่แสดงถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของสถาบันเราต่ำจริงๆ   หรือ ข้อมูลที่ได้จากการสอบถามความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องต่อสภาพปัญหาที่บุคคลเหล่านั้นประสบอยู่ก็ได้ เป็นต้น

ซึ่งหลักฐานที่จะนำมากล่าวอ้างสนับสนุน ก็ต้องให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราอยากทำวิจัยจริงๆ  ตัวอย่างเช่น การที่นักเรียนสอบตกเป็นจำนวนมาก  ซึ่งตอนแรกเราอาจคิดว่าปัญหานี้เกิดจากนักเรียนไม่ตั้งใจเรียนในขณะที่เราสอน แต่ถ้าเราได้ตรวจสอบกระบวนการให้ความรู้ กระบวนการสร้างเครื่องมือแบบทดสอบ และกระบวนการทดสอบอย่างครบถ้วน  เราอาจได้ข้อสรุปไปอีกอย่างว่า การที่นักเรียนสอบตกนี้ ไม่ใช่เป็นตัวปัญหาตามที่เราเข้าใจ  แต่...เป็นผลอันเกิดจากปัญหามากกว่าก็ได้ เช่น ตรวจสอบแล้วพบว่า ข้อทดสอบไม่ตรงตามจุดประสงค์ของหลักสูตร  ตัวแบบทดสอบก็ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการวิเคราะห์หาคุณภาพแบบทดสอบก่อน  และครูก็ไม่ได้สอนตรงตามจุดประสงค์ของหลักสูตร  นักเรียนได้รับความรู้ไม่เพียงพอทั้งในแง่เนื้อหา การฝึกปฏิบัติ และเวลา  รวมทั้งครูอธิบายหรือสอนตามหนังสือแบบเรียนเท่านั้น  จึงทำให้นักเรียนทำข้อสอบไม่ได้ เขาจึงสอบตก ดังนั้น กรณีนี้ ตัวปัญหาที่แท้จริงอาจอยู่ที่ตัวครูแทน เราคงต้องไปทำวิจัยที่ตัวครูหรือกระบวนการสอนของครูมากกว่า 

พยายามซักไซ้ด้วยคำถามแบบนี้  จะช่วยให้ผู้ที่จะทำการวิจัยได้ตระหนักถึงสิ่งที่อยากรู้ อยากศึกษาจริงๆ ว่าเราจะศึกษาอะไรกันแน่ ซึ่งถ้าตอบคำถามแบบนี้บ่อยๆ  อาจทำให้เราต้องไปทำวิจัยอีกหลายเรื่อง เช่น วิจัยศึกษาสภาพปัญหาการเรียนการสอนก่อน ต่อมาจึงทำวิจัยหาสาเหตุหรือปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน    ได้ข้อสรุปแล้วจึงค่อยทำวิจัยหาแนวทางแก้ปัญหา  แล้วค่อยทำวิจัยการแก้ปัญหาจริง(วิจัยพัฒนา) ในที่สุด  ดังนั้น ในการทำวิจัยที่ดีที่มีคุณค่าแท้จริง  จึงมักมีลักษณะมีการวิจัยซ้อนวิจัยอีกหลายขั้นตอน จนกว่าจะแก้ปัญหาได้จริง   

เพื่อที่จะให้ผู้ที่จะทำการวิจัยได้ตระหนักถึงสิ่งที่อยากจะทำนั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำจริงๆ  ผู้วิจัยจึงต้องไปค้นคว้าแสวงหาหลักฐานจากเอกสารต่างๆ มาอ้างอิงเพื่อสนับสนุนในสิ่งที่ตนเองอยากจะศึกษาให้เห็นชัดเจน  ยิ่งการทำวิทยานิพนธ์  มีการบังคับว่าจะต้องนำทฤษฎี หรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่นำมาอ้างอิง รวบรวมเขียนเป็นอีกบทหนึ่งโดยเฉพาะ  เพราะนอกจากเป็นหลักฐานยืนยัน  ยังเป็นการแสดงถึงความตั้งใจในการเสาะแสวงหา การค้นคว้าหาความรู้อย่างกว้างขวาง  ว่าเรื่องที่เราจะทำวิจัย มีใครเคยทำมาแล้วหรือเปล่า จะได้ไม่ทำซ้ำอีกให้เหนื่อยเปล่า หรือ ที่ทำยังมีประเด็นที่น่าทำต่อได้อีก  รวมทั้งแสดงถึง “ความสามารถในการจับเนื้อหา-ประเด็น” ของเอกสารที่เราอ่านมาและคิดว่าเกี่ยวข้อง จนเขียนหลอมเป็นเรื่องเดียวกันให้ได้

  สรุป ก็คือ “ควรเขียนใหม่” จากที่อ่านมา “ทั้งหมด” เพื่อนำไปเป็นกรอบแนวคิดการวิจัยให้ตรงประเด็นที่เราจะทำวิจัย  หรือทำให้คนอื่นที่อ่านงานวิจัยของเราเชื่อว่าเรา “สมควรทำวิจัย” จริงๆ นั่นเอง (มหาวิทยาลัยประเทศทางตะวันตกจะถือว่าบทนี้สำคัญมาก, แสดงถึง Master ขนาดใด) 

…………

คำถามที่ ๓  สิ่งที่เราอยากรู้ อยากศึกษา อยากทำนั้น มันเกิดจากสาเหตุอะไร หรือสิ่งใด

คำถามนี้  ในการทำวิจัยต้องตอบให้ได้ว่าสิ่งที่เราอยากรู้ อยากศึกษานั้นเกิดจากสาเหตุใด หรือจากสิ่งใด แต่สำหรับผู้ที่จะเพิ่งเริ่มต้นทำการวิจัย หรือนักศึกษา ผมเพียงแค่ให้ใช้การคาดคะเนเอาเองก่อน (พอจะเขียนเป็นรูปเล่มเค้าโครงวิจัย ค่อยเอาหลักฐานมาอ้างอิงสนับสนุนอีกที)  สมมติเช่น จากประสบการณ์ตนเอง หรือเคยได้ยินคนอื่นพูดถึง หรือเคยอ่านเจอหลายแห่ง มักพูดกันเป็นเสียงเดียวว่า  การที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตกต่ำนั้น  เกิดจากนักเรียนไม่ตั้งใจเรียนเป็นอันดับแรก  จึงทำให้เราอยากศึกษาหาความจริงว่า ความไม่ตั้งใจเรียนเป็นสิ่งที่ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนแตกต่างกัน หรือได้รับผลไม่เท่ากัน จริงหรือไม่  ถ้าสรุปว่าจริงจะได้ลงมือแก้ปัญหาทันที

ในทางวิชาวิจัยเราเรียกสิ่งที่ทำให้เกิดผลแตกต่างกันนี้ว่า ตัวแปร   (ตัวแปรทางการวิจัยมีหลายลักษณะ เช่น ตัวแปรต้น-ตัวแปรตาม,  ตัวแปรเชิงปริมาณ-ตัวแปรเชิงคุณภาพ, ตัวแปรแทรกซ้อน(ตัวแปรอิสระ)-ตัวแปรสอดแทรก(ตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้), 

การที่เราจะนำสิ่งใดมากำหนดเป็นตัวแปรเพื่อการศึกษาวิจัย หรือเพื่อค้นหาความจริง เราต้องมีข้อมูลระดับหนึ่งที่ทำให้เราเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นสาเหตุ หรือส่งผลทำให้เกิดผลแตกต่างกัน ตามที่เราคาดคะเนหรือสงสัยไว้จริงหรือไม่   โดยสิ่งที่เราจะนำมาเป็นตัวแปร สิ่งนั้นต้องสามารถจำแนกได้ ๒ ประเภท/ระดับขึ้นไป  เช่น  เพศ สามารถแปรได้ ๒ ประเภท คือ ชายกับหญิง  หรือ ความสนใจ ความคิดเห็น และทัศนคติ สามารถแปรได้หลายระดับ เช่น ระดับมาก ปานกลาง น้อย   หรือประเมินออกมาเป็นระดับคะแนนได้ ตั้งแต่ ๐ ถึง ๑๐  หรืออาจแยกแค่ “มี กับ ไม่มี” ก็ได้,   ส่วน “คน” หรือ “สัตว์” ไม่สามารถเป็นตัวแปรได้  เพราะมีเพียงชนิดเดียว  แต่ถ้าเราจำแนกสัตว์ออกตาม “จำนวนขา” ก็สามารถเป็นตัวแปรได้ 

นอกจากนี้ อายุ อาชีพ ประสบการณ์ เงินเดือน รายได้ วุฒิการศึกษา รสนิยม ความถนัด ความรู้สึก ฯลฯ ก็สามารถนำมากำหนดเป็นตัวแปรที่จะศึกษาได้  เพราะสามารถแยกแยะ จัดเป็นกลุ่ม หรือหมวดหมู่ หรือระดับได้ รายละเอียดแต่ละตัวแปรแต่ละประเภทต่างๆ ซึ่งจะจำแนกไปตามตามลักษณะงานวิจัย  ผู้สนใจควรไปศึกษาเพิ่มเติมตามตำราวิชาการวิจัยของสถาบันต่างๆ ได้ 

เราสามารถกำหนดสิ่งที่จะเป็นตัวแปรในวิจัยของเราเองก็ได้  จะจากการสำรวจ สอบถาม สังเกต หรืองานวิจัยรุ่นก่อนก็ได้  โดยเราคาดคะเนว่าสิ่งนั้น(ตัวแปร) น่าจะทำให้เกิดผลแตกต่างกันในสิ่งที่เราอยากศึกษาจริงๆ

 เมื่อกำหนดตัวแปรที่จะศึกษาได้แล้ว คำถามต่อมา คือ ตัวแปรดังกล่าวเราจะสามารถทดสอบ หรือวัด หรือเก็บรวบรวมโดยจำแนกตามตัวแปรนั้นได้หรือไม่  แล้วตัวแปรที่เราต้องการศึกษาจนได้ความจริง จะต้องมีตัวแปรจำนวนกี่ตัว  และแต่ละตัวจะต้องจำแนกออกเป็นกี่ระดับ  ถึงจะทำให้งานวิจัยของเราได้คำตอบที่เราอยากรู้ ได้ชัดเจนอย่างแท้จริง  ซึ่งตัวแปรเหล่านี้ อาจมีเป็นจำนวนกลุ่มหนึ่ง หรือ ตัวเดียว หรือ 2-3 ตัว หรือ มากกว่านี้ก็ได้  ดังนั้น การเลือกหา หรือกำหนดตัวแปรที่มีผลต่อการวิจัยของเราจึงจำเป็นมาก 

ซึ่งการตัดสินใจว่าจะเอาตัวแปรมากหรือน้อย  ก็ย่อมขึ้นอยู่กับกำลัง เวลาและงบประมาณที่มีอยู่ แต่การมีตัวแปรน้อยตัว หรือละเลยตัวแปรที่มีความสำคัญ อาจทำให้การศึกษาค้นคว้าไม่สามารถหาความจริงที่เราอยากรู้ได้   ถึงแม้ว่าการมีตัวแปรจำนวนมาก ๆ ก่อให้เกิดภาระในด้านการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการสรุป แต่ถ้าผู้ที่จะทำการวิจัยมีความสามารถที่จะใช้ตัวแปรมากๆ ตัวได้ก็ควรทำ เพราะตัวแปรยิ่งจำนวนมากขึ้น ก็มักจะมีความสัมพันธ์กันเป็นส่วนใหญ่  และยิ่งทำให้การศึกษาค้นคว้าสมบูรณ์ยิ่งขึ้น 

แต่ขอเสนอแนะว่า ผู้ที่เริ่มฝึกทำการวิจัยใหม่ ๆ เช่น นักศึกษา หรือ ผู้เพิ่งเริ่มทำงาน ควรใช้ตัวแปรเพียง 2-3 ตัวเท่านั้น เพื่อจะได้ฝึกให้คุ้นเคยกับกระบวนการเสียก่อน  เมื่อมีความชำนาญแล้วจึงค่อยเพิ่มจำนวนให้มาก ๆ ขึ้นได้ โดยเฉพาะครูผู้สอนที่สอนเกิน ๑๐ ปี และควรเฉพาะเจาะจงตัวแปรจะดีกว่า  เช่น “ความสนใจ” เป็นตัวแปรที่กว้างเกินไปไม่ควรนำมาใช้  น่าจะกำหนดให้แคบลงได้ เช่น ความสนใจในอาชีพ หรือ ความสนใจต่อการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ถ้าได้กำหนดให้แคบลงดังกล่าวแล้วก็จะทำให้งานวิจัยชัดเจน  การสร้างเครื่องมือและการเก็บรวบรวมข้อมูลก็จะรัดกุม ผลสรุปก็ไม่เข้าใจไขว้เขวไป   

 …………

 คำถามที่ ๔  เราจะอยากรู้ อยากศึกษา อยากทำไปเพื่ออะไร เพราะอะไร ? 

เมื่อได้หัวข้อที่จะทำการวิจัยแน่นอนแล้ว   ขั้นต่อไปที่จะต้องตอบให้ได้ตามคำถามที่ ๓ ก็คือ หัวข้อวิจัยดังกล่าวนี้ทำไปเพื่ออะไร  มีความสำคัญเพียงใดถึงต้องทำ ?  คำตอบของคำถามนี้  จะกลายเป็นจุดมุ่งหมายหลักในการทำวิจัย  เช่น เพื่อให้รู้ความจริง  เพื่อแก้ปัญหา เพื่อพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้น เพื่อให้สะดวกสบาย เพื่อให้เกิดความรู้ใหม่ ฯลฯ ตัวอย่างที่ยกไว้ในคำถามข้อที่ ๒ ก็คือ เพื่อแก้ปัญหาให้ได้  ส่วนมากผู้ที่จะทำวิจัยมักตอบคำถามของผมในแง่ทำไปเพื่ออะไรได้ทันที   

แต่คำถามที่ว่า  ทำไมจึงต้องทำเรื่องนี้  มันสำคัญเพียงใดถึงต้องทำ  หรือทำไปเพราะอะไร ?  มักตอบไม่ได้ชัดเจน หรือตอบแบบคลุมเครือ  ซึ่งเราจะไปเห็นได้ชัดเจนจากการเขียนภูมิหลังความเป็นมาในบทที่ ๑ ของวิทยานิพนธ์ หรือ ผลงานทางวิชาการหลายฉบับ ที่อ่านแล้วจะสับสน เพราะบางทีก็เขียนจนแทบจะครอบจักรวาล หรือบางทีก็เขียนโดยเอาตรงนั้นตรงนี้มาปะติดปะต่อไม่เชื่อมโยงกัน จนมองไม่เห็นความสำคัญของงานวิจัยที่จะทำนั้นคืออะไร   ยังช่วยทำให้สามารถคาดคะเนเชื่อมโยงต่อไปได้ว่า...เพราะอะไร หรือ ทำไม (คำถามข้อที่ ๓)  เช่น มีสาเหตุ หรือปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ในสิ่งที่เราอยากรู้  หรืออยากทำอะไร เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตกต่ำ เพราะอะไรบ้าง (จากนักเรียน หรือตัวครู หรือผู้ปกครอง หรือสิ่งแวดล้อม หรือสื่อแบบเรียน ฯ)  

จากตัวอย่าง ที่เราหยิบยกเอาปัญหาขึ้นมาจุดเริ่มต้นการทำวิจัย  สิ่งที่จะสะท้อนให้เห็นความสำคัญของการทำวิจัยที่เราจะทำ ก็คือ “ความร้ายแรงของปัญหา”ว่าจะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็วอย่างไร  ซึ่งถ้าไม่ได้รับการแก้ไขแล้วก็จะนำความเสียหายมาสู่ระบบการศึกษา ระบบสังคม ระบบเศรษฐกิจ และระบบคุณธรรมของประเทศทั้งในปัจจุบัน และอนาคตอย่างใดบ้าง    

จริงๆแล้ว  การหยิบเอาปัญหาขึ้นมาเป็นจุดเริ่มต้นการทำวิจัย  มีส่วนง่ายที่ทำให้มองเห็นงานที่ทำไปเพื่ออะไรชัดเจน   แต่ถ้างานวิจัยปัญหานั้น  สามารถสะท้อนให้เห็นถึง “ความร้ายแรงของปัญหา” อย่างชัดเจน   ก็จะทำให้งานวิจัยทางการศึกษามีคุณค่าอย่างแท้จริง จนเกิดคุณูปการแก่วงการศึกษา และประเทศชาติสังคมไทยที่จะได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดไป เช่น งานวิจัยเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในแต่ละทศวรรษ หรือ ระยะ ๗ ปี,  งานวิจัยที่ติดตามผลการเรียนของนักเรียนในแต่ละช่วงการศึกษา,  งานวิจัยนิสัย พฤติกรรม หรือผลงงาน ผลผลิต หรือการใช้ชีวิตหลังเรียนจบการศึกษาภาคบังคับ ๑๐ ปี  หรือหลังเรียนจบการศึกษาในแต่ละระดับ,  งานวิจัยการศึกษาที่นำเอาตัวแปรทางสังคมเข้ามาศึกษาอย่างละเอียด, งานวิจัยที่สะท้อนให้เห็นภาพความสัมพันธ์ของการจัดการศึกษาและผลอันเกิดจากการให้การศึกษา เช่น เปรียบเทียบความรู้ของนักเรียนในเขตหนึ่งกับนักเรียนในอีกเขตหนึ่ง หรือความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ กับเจตคติของผู้เรียน เป็นต้น  และที่สำคัญก็คืองานวิจัยจากการดำเนินการทดลองในสถานศึกษาทุกระดับ (งานวิจัยแบบนี้ เหมาะสำหรับนักวิชการมหาวิทยาลัย สภาการศึกษา ผู้บริหารทุกระดับ หัวหน้างานวิชาการ และศึกษานิเทศก์) 

ส่วนงานวิจัยอีกประเภทหนึ่ง เป็นงานวิจัยประเภท “ศึกษากระบวนการจัดการศึกษา” เช่น ความเข้าใจของครูต่อหลักสูตร,  ขวัญและกำลังใจของครู,  หรือแม้แต่พฤติกรรมในการสอนของครู  และเมื่อทำวิจัยไปแล้วก็มิได้ศึกษาวิจัยต่อว่า เมื่อขวัญและกำลังใจของครูต่ำแล้ว  จะเป็นปัจจัยส่งผลทำให้ผลการเรียนของนักเรียนต่ำลงด้วยจริงหรือไม่   ส่วนมากมักสรุปเอาด้วยหลักการว่า เมื่อครูมีกำลังใจต่ำแล้วก็จะทำให้ผลการเรียนต่ำไปด้วยเช่นนี้เป็นต้น   จะเห็นได้ว่างานวิจัยทางการศึกษาระดับกระทรวงยังใช้ความเชื่อพื้นฐาน มาสรุปหาความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการจัดการศึกษากับผลอันเกิดจากการศึกษาอยู่

ในที่นี้อาจสรุปได้ว่า  งานวิจัยที่มีคุณค่าต่อวงการศึกษา คือ งานวิจัยที่ทำให้เห็นความสัมพันธ์ของวิธีการสอน และผลอันเกิดจากการสอนในแต่ละระดับ   ซึ่งงานวิจัยแบบนี้ จะต้องดำเนินงานวิจัยแบบทดลอง ในสถานศึกษาจริงๆ ที่รวมเอาตัวแปรหลาย ๆ ตัวเข้ามาพร้อมกันในการวิจัยครั้งเดียว เป็นงานวิจัยที่ต้องใช้เวลาติดตามเป็นระยะนานพอสมควร และต้องวิเคราะห์จำแนกตามลักษณะของผู้เรียนและประเภทของสังคมสิ่งแวดล้อมอีกด้วย   ในที่นี้ มิได้มีเจตนาที่จะให้ทุกคนยกระดับไปทำงานวิจัยชั้นสูง  เพียงแต่จะชี้ให้เห็นจุดหมายปลายทางของการฝึกฝนการทำงานวิจัยที่ได้ประโยชน์สูงสุด คุ้มค่าต่อการทำวิจัยเท่านั้น  

แน่นอนที่สุดการฝึกการทำวิจัยของนักศึกษา  ย่อมเป็นฝึกฝนในระยะสั้นๆ ส่วนมากจึงเป็นการทำวิจัยเชิงสำรวจ หรือวิจัยหาความสัมพันธ์  ด้วยการวิเคราะห์ตัวแปรเพียงตัวหรือสองตัวเท่านั้น เพราะมีเวลาจำกัด 

แต่สำหรับผู้ที่ทำงานแล้ว เช่น ครูผู้สอน ข้าราชการ พนักงานในองค์กรต่างๆ ควรทำงานวิจัยเชิงคุณภาพ  เชิงพัฒนา เชิงทดลอง หรือวิจัยที่ศึกษาหาสาเหตุปัญหาที่แท้จริงให้มากที่สุด  เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน พัฒนาคุณภาพสังคม  และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรหรือประเทศชาติต่อไป     

……………..

คำถามที่ ๕ สิ่งที่เราอยากรู้ อยากศึกษา อยากทำนั้น เราจะไปทำกับใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ ?  

เมื่อเรากำหนดตัวแปรที่จะศึกษาได้แล้ว (จากคำถามที่ ๓) ก็แทบจะรู้ว่าแหล่งข้อมูล หรือบุคคลที่จะให้คำตอบในสิ่งที่เราอยากรู้ อยากทำนั้น เป็นใคร อยู่ที่ไหน ซึ่งอาจเป็นบุคคล หรือเป็นแหล่งข้อมูลก็ได้ เช่น หลักศิลาจารึก จดหมายเหตุ  หรือหลักฐานอื่นๆ เช่น เอกสาร หรือ สิ่งตีพิมพ์ต่างๆ เป็นต้น

ตรงนี้ งานวิจัยเรียกว่า “ประชากร และขอบเขตที่ใช้ในการวิจัย” จากตัวอย่างที่ยกในคำถามที่ ๒ และ ๓ เกี่ยวกับเรื่องความสนใจของผู้เรียน  และผลการเรียนของผู้เรียน   ผู้วิจัยต้องกำหนดว่าผู้เรียนนี้คือใคร  เป็นผู้เรียนในระดับใด ห้องเรียนที่เท่าใด และอยู่ในโรงเรียนใด เขตจังหวัดใด หรือภาคใด สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้วิจัยจำเป็นต้องระบุไว้ให้ชัดเจน เพื่อใช้เป็นขอบเขตของการวิจัย ที่ทำให้งานวิจัยมีความเที่ยงตรง น่าเชื่อถือ 

การกำหนดประชากรที่จะใช้ในการวิจัยนี้  ถ้าเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ หรือ เชิงทดลอง ไม่ควรให้มีขอบเขตใหญ่เกินไป ถ้าใหญ่มากจะสิ้นเปลืองงบประมาณและเวลามาก แต่ถ้าเล็กเกินไป การนำผลไปใช้ก็มีข้อจำกัดมาก เช่น ถ้าศึกษาแต่เฉพาะห้องเรียนเดียว ผลของการวิจัยก็จะใช้ได้เฉพาะห้องเรียนที่มีลักษณะเหมือนกับห้องเรียนดังกล่าว คือห้องเดิมนั่นเอง ถ้ากำหนดเป็นโรงเรียนเดียว ผลการศึกษาค้นคว้าก็เป็นจริงเฉพาะโรงเรียนนั้น  แต่ถ้าทำทุกโรงเรียนในอำเภอ/จังหวัด ก็ทำไม่ได้อีกเช่นกัน

แต่ถ้าเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ  จะกำหนดขอบเขตไว้ใหญ่ก็ได้  เพราะผู้ที่จะทำวิจัยไม่จำเป็นที่จะต้องศึกษาจากประชากร หรือทุกคนทั้งหมด  เราสามารถเลือกตัวแทนจากประชากรในขอบเขตที่ใช้ในการวิจัย หรือที่นักวิจัยเรียกว่า “การหากลุ่มตัวอย่าง”  โดยวิธีการต่างๆ ตามระเบียบวิธีวิจัย ก็สามารถยืนยันได้ว่า  แม้จะศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง ก็จะได้คำตอบที่ใกล้เคียงกับประชากรทั้งหมดเช่นกัน   

วิธีง่ายสุด  ในการกำหนดประชากรหรือกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเชิงสำรวจ คือ ประเมินกำลังตัวเอง  ตามระยะเวลาที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการวิจัย เช่น อยากศึกษาความสนใจของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ที่มีต่อการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ในจังหวัดนครสวรรค์  ซึ่งถ้าเรามีกำลังทรัพย์ กำลังกาย กำลังใจ และมีเวลาพอเพียงที่จะสอบถามกับนักเรียนทุกโรงเรียนที่มีการสอนในระดับมัธยมศึกษา เราก็อาจสอบถามกับนักเรียนที่ประชากรได้  แต่ถ้าเราคาดคะเนว่า  เรามีกำลังในการสอบถามได้แค่  100 คน เราก็ใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่าง ที่จะสามารถเป็นตัวแทนในการตอบคำถามของประชากรได้เช่นกัน  หลักคิดง่ายๆ คือ  เลือกกลุ่มตัวอย่าง ๑ ใน ๑๐ จากประชากรที่กำหนดขอบเขตไว้   

วิธีการกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่าง และขนาดของประชากรที่ดี  ขอให้ไปศึกษาจากหลักเกณฑ์และรายละเอียดในตำราวิชาระเบียบวิธีวิจัย  และยิ่งเป็นการทำวิจัยเชิงคุณภาพ  เชิงทดลอง เชิงพัฒนา กลุ่มตัวอย่างและประชากรก็ควรใช้หลักการและสูตรทางคณิตศาสตร์ตามระเบียบวิธีวิจัยจะดีกว่า  ซึ่งจะช่วยให้งานวิจัยนั้นได้ผลดี และเที่ยงตรงมากขึ้น 

…………….

คำถามที่ ๖   เราจะทำ หรือศึกษาด้วยวิธีการรูปแบบอะไร ? 

งานวิจัยมักจำแนกออกได้หลายรูปแบบ ตามจุดประสงค์ เช่น แบบคุณภาพ แบบปริมาณ หรือแบบผสานวิธี  แต่งานวิจัยมือใหม่ ควรเป็นไปตามวิธีการที่จะศึกษา ซึ่งโดยทั่วไปจะมีด้วยกัน  4 รูปแบบ คือ

1. แบบสำรวจ การศึกษาในแบบนี้  มักจะออกไปเก็บข้อมูล เพื่อสำรวจดูว่าตัวแปรดังกล่าว มีอยู่ระดับเท่าใด มากน้อยเพียงใด เช่น จะศึกษาดูว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ จังหวัดนครสวรรค์   มีความสนใจในอาชีพสาขาต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด หรือสำรวจดูว่าในท้องถิ่นดังกล่าวมีผู้ที่ไม่รู้หนังสืออยู่เป็นจำนวนเท่าใด การศึกษาในรูปแบบนี้ มักมุ่งที่จะหาคำตอบว่า สิ่งที่กำหนดไว้นี้ มีอยู่เท่าใด/มากน้อยเพียงใด เป็นเกณฑ์  

2. แบบเปรียบเทียบ  ในการวิจัยแบบนี้ จะมีกลุ่มบุคคล หรือชุดของข้อมูลในตัวแปรเดียวกัน ตั้งแต่ 2 ชุดขึ้นไป เพื่อมุ่งจะตรวจสอบว่า กลุ่มใดมีมาก กลุ่มใดมีน้อย ชุดใดมีค่าตัวเลขสูงกว่าชุดอื่น ชุดใดมีคุณภาพสูงกว่าชุดอื่น เป็นต้น เช่น ต้องการจะเปรียบเทียบคะแนนผลสัมฤทธิ์ในวิชาสังคมศึกษา ระหว่างกลุ่มนักเรียนที่เรียนโปรแกรมภาษา กับกลุ่มนักเรียนที่เรียนโปรแกรมวิทยาศาสตร์ เป็นต้น    

การเปรียบเทียบนี้ จะต้องใช้ตัวแปรตัวเดียวกันเป็นเกณฑ์ แต่ละกลุ่มประชากรนี้มีมากกว่า 2 กลุ่มขึ้นไป  เช่น เปรียบเทียบการเรียนแบบปกติ กับการเรียนแบบอุปนัย นิรนัย ว่ามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างกันหรือไม่   หรือ เปรียบเทียบในทางปริมาณ เช่น โรงเรียนในกรุงเทพฯ มีอัตราส่วนครูต่อนักเรียนสูงกว่าอัตราส่วนโรงเรียนต่างจังหวัดหรือไม่ ? เราเรียกว่าการศึกษาในรูปแบบนี้ว่าเปรียบเทียบทั้งสิ้น

3. แบบหาความสัมพันธ์ ในการวิจัยแบบนี้ ต้องมีตัวแปรตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป ซึ่งต่างกับแบบที่ 2 ซึ่งต้องมีบุคคลตั้งแต่ 2 กลุ่มขึ้นไป แต่ตัวแปรยังเป็นตัวเดียวก็ได้  ส่วนในแบบหาความสัมพันธ์ ตัวแปรต้องมีมากกว่า 1 ตัว  แต่กลุ่มคนอาจมีเพียงกลุ่มเดียวก็ได้   ซึ่งเป็นการศึกษาว่า ถ้าตัวแปรหนึ่งมีอยู่ในระดับสูงแล้ว ตัวแปรอีกตัวหนึ่งจะอยู่ในระดับสูงด้วยหรือไม่ หรือตัวแปรตัวหนึ่งยิ่งมีค่ามาก ตัวแปรอีกตัวหนึ่งยิ่งมีค่าน้อยลงหรือไม่  การศึกษาแบบนี้เราเรียกว่า “การหาความสัมพันธ์”  เช่น ต้องการจะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสนใจในงานวิทยาศาสตร์ กับผลการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์, ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอาชีพของบิดา กับการเลือกอาชีพของบุตร เป็นต้น  ในลักษณะนี้ข้อมูลมากจากบุคคล 2 กลุ่มก็จริง แต่หน่วยที่แท้จริงแล้วเป็นหน่วยคู่ของบิดากับบุตร ซึ่งเป็นหน่วยเดียวเท่านั้น แต่มีตัวแปรจากหน่วยเดียวกัน 2 ตัว ลักษณะความสัมพันธ์นั้นมีมากมายหลายแบบ ถ้าอยากทำวิจัยแบบนี้  ก็สามารถไปศึกษาเพิ่มเติมจากตำราด้านการวิจัยให้ลึกซึ้งขึ้น

4. แบบหาสาเหตุ การศึกษาในแบบนี้นับว่าเป็นแบบที่มีคุณค่าสูงมาก เพราะเป็นการศึกษาในแบบเจาะลึก  ส่วน 3 แบบข้างต้น เป็นในลักษณะกว้าง  การศึกษาแบบนี้ มักอยู่ในรูปของการทดลอง เช่น อยากจะศึกษาว่า ถ้าเพิ่มเวลาเรียนวิชาคณิตศาสตร์แล้วจะทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์และเจตคติสูงขึ้นจริงหรือไม่  การวิจัยแบบนี้  จึงต้องมีกลุ่มทดลองซึ่งเพิ่มเวลาเรียน และกลุ่มควบคุมไม่เพิ่มเวลาเรียน แล้วดำเนินการสอนด้วยเนื้อหาและวิธีเดียวกัน ในระยะเวลาที่กำหนดไว้   แล้วค่อยทำการประเมินว่ามีผลสัมฤทธิ์ต่างกันหรือไม่ ถ้ามีในแง่ใดแง่หนึ่ง  ก็สรุปได้ว่า การเพิ่มเวลาเรียนนั้น ทำให้ผลสัมฤทธิ์และเจตคติแตกต่างกัน  

การวิจัยแบบนี้  จะต้องมีการกำหนดว่าให้กลุ่มใดเป็นกลุ่มทดลอง และกลุ่มใดเป็นกลุ่มควบคุม  ส่วนมากมักเลือกกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุมแบบเจาะจง  แต่ถ้ามีหลายห้องในสาขาเดียวกัน  ก็มักจะเลือกแบบจับสลากก็ได้  จะเห็นว่าการวิจัยแบบนี้มักใช้ระยะเวลายาวกว่าแบบอื่นๆ  จึงกล่าวได้ว่าการวิจัยแบบนี้ สามารถศึกษาได้อย่างละเอียดและสมบูรณ์  มีคุณค่าต่อการนำไปปฏิบัติที่สูงมาก  แต่งานวิจัยแบบนี้ก็ต้องลงทุนมากด้วยเช่นกัน  

 

สรุป เพื่อการตั้งชื่อวิจัย หรือ หัวข้อที่อยากทำวิจัย

ถึงตรงนี้ เราสามารถกำหนดหัวข้อการทำงานด้วยการวิจัยได้ชัดเจนแล้วจากการตอบคำถามทั้ง ๖ คำถาม แต่หัวข้อวิจัยนี้อาจยังไม่แน่นอน จนกว่าจะวางแผนครบทั้ง 10 ขั้นตอน   

ตัวอย่าง เช่น

คำถาม สิ่งที่เป็นคำตอบ
1. อยากศึกษาอะไร ?                ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์  
๒. สิ่งที่เราอยากศึกษา เชื่อว่าเกิดจากสิ่งใด ? ความสนใจในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ 
๓. อยากศึกษาจากใคร ที่ไหน ?    นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑  จังหวัดนครสวรรค์
๔. อยากศึกษาแบบใด ?   หาความสัมพันธ์   

ดังนั้น สิ่งที่เราอยากศึกษาด้วยการวิจัย คือ “ความสัมพันธ์ระหว่างความสนใจในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จังหวัดนครสวรรค์”

 …………

คำถามที่ ๗  คาดว่าผลที่ศึกษาแล้วจะเป็นอย่างไร

คำถามข้อนี้ ปกติอาจารย์ทั่วไปจะแนะให้เขียนสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายการทำวิจัย  และอาจจะมีเพิ่มบ้างตามรูปแบบ และตัวแปรที่ศึกษา  แต่การทำแบบนี้มักเกิดปัญหาตรงที่ เราพอจะรู้จุดมุ่งหมายหลักในการทำวิจัยแล้ว  แต่เรายังไม่รู้ว่า เราจะมีจุดมุ่งหมายอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่  เมื่อนึกภาพรวมไม่ออก  ก็มักจะเขียนในรูปแบบประโยคคาดคะเนอนาคต เช่น มักเขียน “จะ” ทุกประโยค  หรือ มักเขียนในรูปแบบค่าสถิติของความน่าจะเป็นแบบสมมุติฐาน เช่น  นักเรียนชายมีผลสัมฤทธิ์วิชาวิทยาศาสตร์สูงกว่านักเรียนหญิงอย่างมีนัยสำคัญ

ดูๆ ไปแล้ว หัวข้อนี้กับสมมุติฐานการวิจัยแทบจะเหมือนกันทีเดียว   ดังนั้น อาจทำให้คิดสงสัยว่า เรากำลังจะเขียนผลที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย หรือจะเขียนสมมุติฐานกันแน่  อันที่จริง เรากำลังเขียนผลที่คาดว่าจะได้จากการวิจัย และเราก็กำลังจะใช้ผลอย่างที่เขียนนี่แหละไปเป็นสมมุติฐานในการวิจัย  และจุดมุ่งหมายในการวิจัยไปพร้อมด้วยกันก็ยังได้อีก   

ง่ายๆ คือ ให้เขียนผลที่คาดว่าจะได้จากการวิจัยก่อนด้วยวิธีคาดคะเนผลสุดท้าย ตามหัวข้อ(ชื่อ)วิจัยที่เรากำหนดไว้ และค่อยนำมาดัดแปลงเป็นจุดมุ่งหมายการวิจัยได้อย่างไรบ้าง   ซึ่งจำนวนข้อในจุดมุ่งหมายจะมีเท่ากับจำนวนข้อในผลที่คาดว่าจะได้จากการวิจัยพอดี (เขียนผลที่คาดว่าจะได้รับ ก่อนเขียนจุดมุ่งหมายการวิจัย)

………

คำถามที่ ๘  เราจะใช้เครื่องมืออะไรบ้างในการเก็บรวบรวมข้อมูล

คำถามข้อนี้ เกี่ยวข้องกับตัวแปรโดยตรง ในการดำเนินการวิจัยนั้น ผู้ที่จะทำวิจัยอาจไม่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่  สามารถไปนำเอาเครื่องมือที่ได้มาตรฐานของหน่วยงานต่างๆ ที่ทำไว้ มาใช้ได้เลย เช่น แบบทดสอบมาตรฐานของ สทศ., มศว., จุฬา เป็นต้น หรือแบบสัมภาษณ์ แบบวัดทัศนคติที่ผู้อื่นทำไว้แล้ว แต่การนำเอาเครื่องมือที่สร้างไว้แล้วมาใช้ต้องดูให้ละเอียด เพราะอาจจะไม่สอดคล้องกับตัวแปรที่ระบุไว้ก็ได้ 

เครื่องมือที่ใช้ ในทางวิจัยทางการศึกษา ได้แก่ แบบทดสอบ แบบสอบถาม แบบวัดทัศนคติ การจัดลำดับคุณภาพ  ส่วนแบบบันทึกการสัมภาษณ์ การสังเกต และการวิเคราะห์หลักฐานต่างๆ เช่น บันทึกประจำวันมักใช้กับในการทำวิจัยเชิงคุณภาพ 

ประเภทของตัวแปร เครื่องมือที่มักใช้
1. ผลสัมฤทธิ์ แบบทดสอบ
2. ความถนัด แบบทดสอบ
3. ความสนใจ แบบวัดความสนใจ
4. เจตคติ แบบวัดเจตคติ และการจัดอันดับคุณภาพ
5. พฤติกรรมต่าง ๆ การสังเกต
6. ข้อมูลทางกายภาพ การสังเกต หรือแบบสอบถาม
7. ข้อมูลที่ต้องการรายละเอียดเฉพาะ การสัมภาษณ์ หรือแบบสอบถาม
8. ข้อมูลในเรื่องที่เกิดมาแล้ว การวิเคราะห์หลักฐานต่างๆ หรือแบบสอบถาม

หลายคนคิดว่าตัวแปรบางอย่างอาจวัดไม่ได้ และไม่สามารถสร้างเครื่องมือมาวัดได้ แต่โรเบิร์ต อีเบิล (Robert Ebel) นักวัดผล กล่าวไว้ว่า...“สิ่งใดก็ตามที่สามารถให้คำจำกัดความได้  สิ่งนั้นก็ย่อมสามารถวัดได้”

……….. 

คำถามที่ ๙  จะมีแผนการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างใดบ้าง ?

เมื่อได้กำหนดกระบวนการวิจัยที่สำคัญ ๆ แล้ว ก็ต้องวางแผนดำเนินงานตามขั้นตอนต่าง ๆ ของการปฏิบัติงาน รวมทั้งกำหนดเวลาที่แน่นอน  และเวลาวันสุดท้ายที่งานนั้นต้องสิ้นสุดลง โดยทั่วไปวิธีดำเนินการดังกล่าว  มักจะหมายถึง

1. การเลือกกลุ่มตัวอย่าง

2. การสร้างและทดลองใช้เครื่องมือ (ถ้าต้องสร้างใหม่)

3. หมายกำหนดการออกไปทดสอบหรือเก็บข้อมูลจริง ๆ

4. การตรวจสอบข้อมูลที่เก็บมาแล้วว่าสมบูรณ์เพียงใด

5. การจัดกระทำตัวแปรในการทดลอง (ถ้ามีการทดลอง)

………… 

คำถามที่ ๑๐  จะวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร ?

ในการตอบคำถามข้อสุดท้ายนี้ ควรตอบกว้าง ๆ ไปก่อน เพราะการระบุสถิติวิเคราะห์แบบใดก็ตาม มักขึ้นอยู่กับตัวแปร และจุดมุ่งหมายการวิจัยที่ต้องหาความแม่นยำ เที่ยงตรงระดับใด ซึ่งผู้ที่จะทำวิจัยควรศึกษาการใช้สถิติวิเคราะห์แบบต่างๆ โดยละเอียดเสียก่อน  แต่การวิเคราะห์ส่วนใหญ่ มักใช้สถิติ ดังนี้

1. แบบสำรวจ  หาค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบน   

2. แบบเปรียบเทียบ หาค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบน แล้วนำค่าของตัวอย่าง 2 กลุ่ม หรือมากกว่านำมาเปรียบเทียบกัน เพื่อหานัยสำคัญทางสถิติของความแตกต่าง

3. แบบหาความสัมพันธ์ วิเคราะห์โดยหาค่าสหสัมพันธ์ หรือสมการสำหรับการทำนาย

4. แบบทดลอง   หาค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบน แล้วนำค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 2 กลุ่มขึ้นไปมาเปรียบเทียบเพื่อหานัยสำคัญของความแตกต่าง

สมัยนี้ มีโปรแกรมสำเร็จรูปที่ช่วยให้หาค่าสถิติได้ไวขึ้น แต่ส่วนมากผมจะให้นักศึกษา หรือนักวิจัยมือใหม่ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติจากแบบสอบถามด้วยมือ ปากกาหรือดินสอ และเครื่องคิดเลขก่อน ให้รู้ว่าตัวเลขจากค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนนั้นมาจากไหนบ้าง  คิดคำนวณด้วยสูตรได้อย่างไร  และจึงให้นำเข้าโปรแกรมสำเร็จรูป เพราะบรรดากรรมการเชื่อถือข้อมูลที่ได้จากโปรแกรมมากกว่าคิดเอาเอง   แต่ถ้างานวิจัยนั้นซับซ้อนและใช้โปแกรมชั้นสูง  ก็ให้นักศึกษาใช้โปรแกรมได้เลย   

…………

คำถามส่งท้าย  จะสรุป อภิปรายผลอย่างไร ?

จริงๆ คำถามข้อนี้  ยังไม่จำเป็นสำหรับการวางแผนการทำวิจัย  แต่ผมมักจะให้ความรู้แก่ผู้ที่จะทำการวิจัยก่อนว่า  เราจะสรุปข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ออกเป็นหมวดหมู่ตามตัวแปร และจุดมุ่งหมายการวิจัยอย่างไรบ้าง  และการจะอภิปรายผลให้ชัดเจนตรงประเด็นนั้นมาจากไหนบ้าง  ซึ่งส่วนมากจะมาจากการค้นพบข้อมูลตามจุดมุ่งหมายการวิจัยและตัวแปร และส่วนสำคัญที่สุดที่ผู้จะทำวิจัยต้องรู้ คือ ข้อมูลที่ค้นพบนั้นเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง  โดยที่สาเหตุปัจจัยนั้นสอดคล้องกับทฤษฎีอะไร ของใคร  หรือสอดคล้องกับผลที่ได้จากการวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ของใครบ้าง   

ส่วนข้อเสนอแนะนั้น  ผมจะให้ความรู้ว่า  ส่วนมากเขาจะแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ ข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัย และข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัย(ต่อยอด) จากงานวิจัยที่เราได้ค้นพบนั่นเอง 

บทสรุป 

ถ้าผู้ที่จะทำวิจัยสามารถตอบคำถาม ๑๐ ข้อข้างต้นได้ ก็แทบจะมองวิธีการกระบวนการทำวิจัยได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์  และสามารถเขียนเค้าโครงสำหรับการวิจัยได้ทันที 

1. ชื่อเรื่อง (คำตอบจากข้อ 2,3)

2. ปัญหาและที่มาของปัญหา (คำตอบจากข้อ ๔)

3. จุดมุ่งหมายและสมมติฐาน (คำตอบจากข้อ ๒,๓,๔,๕,๖,๗)

4. วิธีดำเนินการ (คำตอบจาก ข้อ ๗,๘,๙)

5. การวิเคราะห์ข้อมูล (คำตอบจากข้อ ๑๐)

ในตอนนี้  ควรถือเป็นแนวทางชั่วคราวไปก่อน เพราะนักวิจัยมือใหม่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เป็นกระบวนการวิจัยตั้งแต่ต้นจนจบ  อันเนื่องมาจากยังไม่ลงตัวตามขั้นตอนที่จะทำวิจัยจริง  เพราะยังอยู่ในขั้นคาดคะเนเอาเอง  แต่เมื่อทำงานวิจัยเสร็จทุกขั้นตอน  ก็จะมองเห็นจุดที่ยังไม่ผสมผสานกลมกลืนกัน และภาษาที่ใช้ในแต่ละตอน ๆ ซึ่งก็ต้องขัดเกลากันต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะผ่านการตัดสินของคณะกรรมการชุดสุดท้าย  นั่นแหละจึงจะยุติเสร็จสิ้นสักที    

แต่ขอแนะนำให้ผู้ที่จะทำวิจัยมือใหม่ต้องเตรียมตัว เตรียมใจให้อดทน เข้มแข็ง หนักแน่น ก็คือ การต้องแก้ไขขัดเกลาตามความคิดเห็นของที่ปรึกษา และคณะกรรมการแต่ละคนนั่นแหละ  ที่ทำให้เป็นตัวแปร หรือเหตุให้เปลี่ยนแปลง  บางครั้งอาจรื้อทำใหม่ตั้งแต่ต้นก็ได้ 

ที่จริงคำถาม ๑๐ ประการข้างต้น นอกจากช่วยเหลือบุคคลที่จะทำวิจัย ทำวิทยานิพนธ์ ผลงานทางวิชาการ หรือ โครงงาน ฯ สามารถนำไปใช้ได้ทันที และยังสามารถดัดแปลงให้เข้ากับโครงการวิจัยที่จะนำไปเพื่อขอรับความช่วยเหลือต่าง ๆ ก็สามารถนำเอาสิ่งเหล่านี้ไปจัดเข้ารูปแบบที่ต้องการได้โดยง่าย 

ปัญหาอีกประการหนึ่งของการเขียนงานวิจัย คือ ภาษาที่ใช้  มีข้อตกลงให้ใช้ภาษาทางวิชาการในการวิจัยเท่านั้น   ซึ่งยากแก่บุคคลธรรมดาจะเข้าใจได้  ดังนั้น จึงขอเสนอว่าช่วงแรกในการวางแผนการทำวิจัย ควรใช้ภาษาอย่างธรรมดา ๆ ไปก่อน อย่าใช้รูปแบบที่เป็นวิชาการนัก   พอตอนจะเขียนเค้าโครงงานวิจัย หรือผลงานวิจัย หรือวิทยานิพนธ์ค่อยใช้รูปแบบ และภาษาทางวิชาการให้ถูกต้องตามข้อตกลงของสถาบันต่างๆ   

ส่วนงานวิจัยใดที่ไม่ได้ส่งเพื่อทำวิทยานิพนธ์  หรือขอรับทุน หรือ เพื่อนำไปเสนอเลื่อนวิทยฐานะ หรือส่งตามเงื่อนไขที่ได้รับทุนมา ควรเขียนเพื่อให้ประชาชนคนธรรมอ่านรู้เรื่อง  นำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที 

ปัญหาสุดท้าย ก็คือ เราจะเชื่อมั่นว่างานวิจัยของเรามีคุณค่าเพียงใด ?  คำตอบอยู่ที่ว่า งานวิจัยของเรานั้นเที่ยงตรงทุกขั้นตอนหรือเปล่า ยิ่งถ้าจุดมุ่งหมายการวิจัยสะท้อนสภาพจริง ขอบเขตการวิจัยชัดเจนเหมาะสม  เครื่องมือวัดมีมาตรฐานเที่ยงตรง  ข้อมูลมีความสมบูรณ์มาก  สรุปได้อย่างสมเหตุสมผล   รับรองว่างานวิจัยของเราจะเกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ หรือนำไปพัฒนาอย่างมีคุณค่าแน่นอน.

หมายเลขบันทึก: 711217เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2023 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มกราคม 2023 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท