การปรับตัวต่อโรค


การปรับตัวต่อโรคขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างทั้งจากโรค ผู้ป่วยและปัจจัยแวดล้อม

 เมื่อคนเราประสบกับความกดดันจะมีการปรับตัวต่อปัญหาที่เกิดขึ้น  แผนผังที่  แสดงถึงกระบวนการการปรับตัวต่อปัญหา (stress-coping process) และปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  ตามแนวคิดของ Lazarus และ Folkman  ขั้นตอนที่สำคัญคือกระบวนการการประเมิน-ปรับตัวต่อปัญหา (appraisal-coping process) โดยการประเมินปัญหา (appraisal) หมายถึงตั้งแต่ความเข้าใจของตนเองต่อปัญหาว่าเป็นอย่างไร การมองว่าปัญหานั้นเป็นสิ่งที่คุกคาม ท้าทาย หรือทำให้ตนเองตกอยู่ในสภาพต้องยอมจำนน รวมถึงศักยภาพต่างๆ ของตนในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนการปรับตัวต่อปัญหา (coping) หมายถึงแนวทางในการจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในด้านความคิดและพฤติกรรม โดยรวมถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ และการจัดการกับสภาพอารมณ์ความรู้สึกของตนเองที่เป็นผลมากจากปัญหานั้น
 ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อกระบวนการการประเมิน-ปรับตัวต่อปัญหา มีอยู่ 3 ประการ ได้แก่
1. ปัจจัยเกี่ยวกับผู้ป่วย  ได้แก่
ก.การเตรียมใจในการรับรู้ความเป็นจริง ผู้ป่วยที่พอทราบเลาๆ จากท่าทีของญาติหรือแพทย์ จะมีปฏิกิริยาน้อยกว่าผู้ป่วยที่ไม่คาดคิดว่าตนเองเจ็บป่วยร้ายแรง
ข. สภาพจิตใจของผู้ป่วย  ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตมาก่อนเมื่อทราบว่าเป็นตนเองมะเร็ง จะมีปัญหาในการปรับตัวมากกว่าผู้ที่เดิมสุขภาพจิตสมบูรณ์ดี โรคทางจิตเวชที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่โรคซึมเศร้า หลังการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งพบว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการกลับมาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอีกสูง ซึ่งตัวโรคซึมเศร้าเองก็จะทำให้ผู้ป่วยท้อแท้ หมดหวัง หรือไม่ร่วมมือในการรักษา
ค. ลักษณะบุคลิกภาพ ผู้ป่วยที่เดิมมีแนวโน้มมองโลกในแง่บวก มีการปรับตัวต่อปัญหาที่ค่อนข้างยืดหยุ่น จะรับสภาพปัญหาเมื่อทราบว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็งได้ดีกว่าผู้ป่วยที่มองโลกในแง่ลบ หุนหันพลันแล่น หรือเจ้าอารมณ์
ง. อายุ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งขณะอายุไม่มากจะมีปัญหาในการปรับตัวมากกว่าผู้ที่เป็นมะเร็งเมื่ออายุมาก 
2. ปัจจัยเกี่ยวกับโรค เช่น ความรุนแรงของโรค ระยะของการดำเนินโรค อาการแสดงออกต่างๆ ของโรค รวมไปถึงขบวนการต่างๆในการตรวจวินิจฉัย การรักษา และผลที่จะเกิดขึ้นตามมา พบว่าผู้ป่วยมะเร็งในระยะท้ายๆ หรือมีอาการต่างๆ ร่วมมากจะมีปัญหาในการปรับตัวมากกว่าผู้ป่วยในระยะต้นๆ
3. ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ  ผู้ป่วยที่ครอบครัวและคนใกล้ชิดพร้อมให้ความเข้าใจและช่วยเหลือสนับสนุน จะมีการปรับตัวที่ดีกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีญาติหรือหย่าร้าง สภาพทางการเงินเป็นปัญหาหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการปรับตัวของผู้ป่วยมาก  นอกจากนี้ ความเชื่อ ค่านิยม เจตคติต่างๆที่บุคคลและสังคมมีต่อความเจ็บป่วยหรือโรค ย่อมมีผลต่อความรู้สึกและปฏิกิริยาของผู้ป่วย ซึ่งความเชื่อ ค่านิยม และเจตคติต่างเหล่านี้ย่อมได้รับอิทธิพลบางส่วนจากการศึกษา และสภาพทางสังคมเศรษฐกิจของคนๆ นั้น

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่มีบทบาทต่อการเกิดปฏิกิริยาทางด้านจิตใจ และพฤติกรรมของผู้ป่วย จะเห็นได้ว่าการป่วยเป็นมะเร็งเป็นภาวะที่ก่อให้เกิดความเครียด วิตกกังวล ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายที่ผู้ป่วยจะต้องเผชิญ และจะต้องปรับตัวปรับใจให้ยอมรับสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ได้ ต้องสร้างภาวะสมดุลขึ้นใหม่ให้กับตนเองทั้งทางกายและทางใจ ผู้ป่วยต้องเผชิญหน้าและรับรู้สิ่งต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นกับตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วยที่เขาเผชิญ เรื่องราวต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟังจากแพทย์พยาบาล ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เขาได้รับรู้ ต้องคิดใคร่ครวญตัดสินใจ เกิดความรู้สึกต่างๆ ขึ้น และเขาจำเป็นต้องตอบสนองต่อข้อมูลต่างๆที่เขาได้รับรู้นี้ ไม่ว่าจะเป็นในด้านความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรมของเขาก็ตาม ทั้งนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่แม้จะสลับซับซ้อน แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าที่แพทย์จะทำความเข้าใจได้โดยเฉพาะผู้ที่เป็นแพทย์ พยาบาล เพื่อจะได้ให้การช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยและญาติให้เกิดการปรับตัวที่ดีได้

หมายเลขบันทึก: 71048เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2007 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 19:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท