‘ชาว’ ผู้ (เป็น) คนพวกเดียวกัน


ในบรรดาคำเรียก ‘การรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน’ ของไทสยามลุ่มเจ้าพระยา นอกจากคำเช่น ‘หมู่’, ‘เหล่า’, ‘พวก’, ‘ท่วย’, ‘ฝูง’, ‘กลุ่ม’ แล้ว ยังมีคำหนึ่งที่น่าสนใจ คือคำว่า ‘ชาว’ ซึ่งพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้คำนิยามไว้ดังนี้ 

[น. กลุ่มชนที่มีเชื้อชาติเดียวกัน เช่น ชาวไทย ชาวจีน หรืออยู่ในถิ่นฐานเดียวกัน เช่น ชาวเมือง ชาวชนบท หรือมีอาชีพอย่างเดียวกัน เช่น ชาวไร่ ชาวนา ชาวประมง หรือนับถือศาสนาร่วมกัน เช่น ชาวพุทธ ชาวคริสต์ หรืออยู่ในแวดวงเดียวกัน เช่น ชาวอักษร ชาวค่าย.] 

เพราะความเป็น ‘กลุ่มชน’ กลุ่มก้อนที่เน้นนัยยะ ‘ฝูงคนพวกเดียวกันโดยแท้’ ไม่เจือสมกับสิ่งใด จึงแตกต่างจากคำอื่นๆ และควรถูกนับเป็นหนึ่งใน ‘คำสำคัญ’ (keyword) ทางแวดวงภาษาศาสตร์เชิงประวัติ ตลอดยังแวดวงมานุษยวิทยา ที่อาจพอเลียบเคียงได้กับคำเรียกใช้ในภาษาอังกฤษว่า ‘clan’ ซึ่งมีคำนิยามตามสารานุกรม 1911 Encyclopædia Britannica คัดมาประโยคหนึ่งว่า 

[a group of people united by common blood, and usually settled in a common habitat.] 

แปลความ: กลุ่มของผู้คนที่มีสายเลือดเดียวกัน และมักตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกัน 

หรือในอีกคำว่า ‘tribe’ ซึ่งมีคำนิยามตามสารานุกรมฉบับเดียวกัน คัดมาท่อนหนึ่งว่า 

[Its ethnological meaning has come to be any aggregate of families or small communities which are grouped together under one chief or leader, observing similar customs and social rules, and tracing their descent from one common ancestor.] 

แปลความ: ในเชิงชาติพันธุ์วิทยา มีความหมายว่าการรวมกลุ่มของครอบครัวหรือชุมชน ภายใต้การปกครองของหัวหน้าคนใดคนหนึ่ง ด้วยจารีตประเพณีเดียวกัน และมีเชื้อสายร่วมกัน 

ศ.ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา (13/3/2564) ได้กรุณาชี้ถึงคำว่า ‘ชาว’ ในโคลงนิราศหริภุญชัย ซึ่งขออนุญาตคัดถ้อยคำมาดังนี้ 

[“ชาวเกวียนกวนเครื่องหย้อง หลายจะบับ

มีทั้งผะตืนฝาหับ แถบป้อง

โคนคานคู่ประดับ หงส์รูปงามเอ่

โทกสูงหน้าหย้อง ห่อหุ้มหางยูง” 

อายุของคำ ‘ชาว’ ในที่นี้ก่อน พ.ศ.๒๐๖๐ ตามข้อวิเคราะห์ปีที่แต่งของท่าน ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ยึดเอาปีหนไท ‘เมิงเป้า’ ที่อ้างไว้ในเรื่อง (โคลงบทที่ ๑๖) ซึ่งกวีกล่าวถึงการเดินทางผ่านวัดเจดีย์หลวง และนบไหว้ ‘พระแก้วมรกต’ สมัยที่พระแก้วมรกตอยู่เชียงใหม่นั้นตรงกับช่วงปีพ.ศ ๒๐๑๑-๒๐๙๑ การนับไล่ปีหนไท ใช้ ปี ๑๒ นักษัตร ไล่นับ ๖๐ ปี แบบเดียวกับจีน ช่วงเวลาดังกล่าว ตรงกับ ‘ปีเมิงเป้า’ เพียงครั้งเดียว คือ พ.ศ.๒๐๖๐] 

เมื่อเข้าไปสืบค้นในจารึกเก่าของไท พบร่องรอยเพิ่มเติมในจารึกสุโขไทหลายหลัก มีอายุแก่ขึ้นไปถึงพุทธศตวรรษที่ 19 เช่น 

จารึกพ่อขุนรามคำแหง พ.ศ. 1835 ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 10 ‘ชาวแม่ชาวเจ้า’ [๑๐. เจ๋า ืเมอง ุสโขไท ีน๋ ทงงชาวแม่ชาวเจ๋าท่วยป่ววทวยนา] 

จารึกวัดศรีชุม พุทธศตวรรษ 19-20 ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 70 ‘ชาวสีหลทั้งหลาย’ [๗๐. งงหลายมีวาถีเลย ๐ ซาวสีหลทงงหลายเหนออสสจรรยดงงอนนเขาจิงชนนทอดตน] ซึ่งสังเกตว่าในจารึกเขียนด้วยอักษร ซ เป็น ‘ซาว’ 

จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด พ.ศ. 1935 ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 12 ‘ผู้ดีผีชาวเลือง’ [๑๒. ----------- (ลไ) ทผูดีผีชาวเลีองเทานีแล แมผูใดบซีใสให] 

แม้คำว่า ‘ชาว’ กลุ่มชน จะฟังดูคล้ายเป็นคำไท หากยังไร้ซึ่งหมุดหมาย ในพจนานุกรมไทยฯ ไม่ได้ระบุแหล่งที่มาให้อ้างอิง เข้าไปเปิดคำศัพท์ไท-ไตของอาจารย์พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ค.ศ. 2009 ก็ไม่ได้กล่าวถึงแต่อย่างใด 

จากการหารือในกลุ่มผู้สนใจศาสตร์แห่งภาษากลุ่มหนึ่ง (13/3/2564) ด้วยความขอบคุณยิ่ง คุณ Sãi Bản Mường อธิบายว่า พวกเชื้อไทในเวียดนามเรียกกลุ่มชนด้วยคำว่า ‘ไท’ หรือ ‘สิ่ง’ (สกุล ซึ่งเป็นคำยืมจีน ‘แซ่’) และ ‘ชาว’ ไม่ได้เป็นคำเดียวกับคำว่า ‘จุ’ ในสิบสองจุไท ที่คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นคำเดียวกับ ‘เจ้า’ 

คุณประพันธ์ เอี่ยมวิริยะกุล ได้ลองสอบค้นจากรายชื่อคำของ ศ.ดร. William J. Gedney ในไทแดง ๓ ถิ่น รวมถึงพจนานุกรม ไทแถง ไทแดงฝั่งเวียดนาม ไม่เจอคำว่า ‘ชาว’ ซึ่งคิดว่าอาจเพราะมีชุดคำศัพท์ไม่มาก เป็นความแปลก ทั้งที่น่าจะเป็นคำสำคัญแต่ไม่มีใครเก็บคำนี้ไว้ใช้ 

คุณจำนงค์ ทองภิรมย์ ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า พวกไทแดงใช้ว่า ‘จาว’ แปลว่าตระกูล เช่นเดียวกับ ‘สิ่ง’ ของพวกไทดำ โดยอ้างบทความของ สมพาวัน แก้วบุดตา เรื่อง “จาว” : สายสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติของไทแดง (พ.ศ. 2556) คัดมาส่วนหนึ่งความว่า 

[2.2 ระบบเครือญาติ ตระกูล ของชาวไทแดงมีความรักและผูกพันกันในครอบครัวเครือญาติสูงมาก นอกจากความรักระหว่างพี่น้องในตระกูลร่วมบิดามารดาเดียวกันแล้ว ไทแดงยังมีความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่นไปจนถึงรุ่นลูก หรือลูกพี่ลูกน้องจนถึงรุ่นต่อๆไป นอกจากความสัมพันธ์ในตระกูลที่เป็นพี่น้องที่ร่วมเชื้อสายเดียวกัน ซึ่งไทแดงเรียกว่า “จาว” ซึ่งถือว่าเป็นผู้ร่วมตระกูลหรือร่วมญาติของต้นตระกูลเดียวกัน จากการเก็บข้อมูลของชาติพันธุ์ไทแดงจะอยู่ที่ไหนก็ตาม รวมแล้วจะมีทั้งหมด 14 จาว ซึ่งหมายถึง 14 ตระกูล ซึ่งแยกมาจาก 2 ตระกูลดั้งเดิม] 

ซึ่งอาจถือเป็นเบาะแสคำเรียก ‘กลุ่มชน/ตระกูล’ ที่สอดคล้องต้องกัน ระหว่างไทสยามลุ่มเจ้าพระยาผู้อยู่ในกลุ่มออกเสียง ช ว่า ‘ชาว’ กับไทแดงเขตรอยต่อลาวเวียดนามผู้อยู่ในกลุ่มไม่ใช้เสียง ช แต่ออกเสียง จ ว่า ‘จาว’ (Chamberlain ค.ศ. 1975) และเป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า ‘ชาว’ กลุ่มชนของไทสยามกินความหมายในทางกว้าง ส่วน ‘จาว’ ตระกูลของไทแดงกินความหมายในทางลึก 

และบางที รูปคำ -อาว บวกความเป็น ‘กลุ่มชน/ตระกูล’ (clan, tribe) ยังสามารถตามร่องรอยถึงคำเรียกของพวกหลี/ไหล ซึ่งเป็นสาแหรกหนึ่งของภาษาไท-กะไดผู้อาศัยอยู่บนเกาะไหหลำ กับคำสืบสร้างดั้งเดิม (Proto-Hlai) คำหนึ่งว่า *ʔaːw (Norquest ค.ศ. 2007) ที่ใช้ทั้งในแง่ของ ‘people’ และ ‘person’ 

ซึ่งคำว่า ‘people’ มีนิยามตามสารานุกรมฉบับเดียวกับข้างต้น คัดมาท่อนหนึ่งว่า 

[a collective term for persons in general, especially as forming the body of persons in a community or nation, the “folk” (the O.E. and Teut. word, cf. Ger. Volk).] 

แปลความ: เทอมหมู่คณะสำหรับผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มชุมชนหรือชนชาติ กลุ่มคนพื้นบ้าน 

ดังนั้น ถ้าว่ากันบนความพัวพันข้างต้น ที่โยงใยคำของพวกไท-ไตกับคำของพวกหลี/ไหล แม้นว่าในบางอารมณ์ จะได้เพียงแค่ลูบคลำส่วนเสี้ยวของไท-กะได จึงอาจนับว่าเป็นไม้หมายที่พอจับต้องได้อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการคลุกเคล้านัยยะ ‘ผู้คน’ เข้ากับความเป็น ‘พวกเดียวกัน’ 

ซึ่งความเป็น ‘ผู้คนพวกเดียวกัน’ นี้เอง ที่น่าสนใจตามต่อ เพราะเปล่งเสียงก้องกังวาล สะท้อนถึงยัง ‘คำสำคัญ’ คำหนึ่งของออสโตรนีเซียนดั้งเดิม (Proto-Austronesian) ว่า *Cau อย่างไม่อ้อมค้อมเลี้ยวเบนไปหาพวกอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นชิโน-ทิเบตัน ออสโตรเอเซียติก และม้ง-เมี่ยน ที่ล้วนใช้คำเรียกแตกต่างออกไปทั้งสิ้น เช่นอ้างอิงจาก Austronesian Basic Vocabulary Database (Greenhill, Blust & Gray ค.ศ. 2008) ในคำศัพท์ว่า ‘person, human being’ ดังนี้ 

คำสืบสร้างจีนโบราณ (Old Chinese) ว่า *niŋ

คำสืบสร้างทิเบต-พม่าดั้งเดิม (Proto-Tibeto-Burman) ว่า *r-mi(y)-n

คำสืบสร้างมอญ-เขมรดั้งเดิม (Proto-Mon-Khmer) ว่า *[m]ŋaay, *mraʔ, *k[n]muʔ, *ɲaʔ ~ *ɲah

คำสืบสร้างออสโตรเอเชียติกดั้งเดิม (Proto-Austroasiatic) ว่า *ʔiːʔ, *mraʔ

คำสืบสร้างม้งดั้งเดิม (Proto-Hmongic) ว่า *næn A

คำสืบสร้างเมี่ยนดั้งเดิม (Proto-Mienic) ว่า *mjæn A 

โดยคำสืบสร้างดั้งเดิมว่า *Cau /ตซาอุ/ ในฐานะของ คน ความเป็นผู้เป็นคน (person, human being) เป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายกว้างขวางในแทบทุกหมู่เหล่าของพวกออสโตรนีเซียน (Blust & Trussel ค.ศ. 2010) อาทิ 

พวกชนเผ่าฟอร์โมซานบนเกาะไต้หวัน ใช้ในคำความหมายคล้ายๆ กัน เช่น Papora เรียก sō, Pazeh เรียก saw, Thao เรียก caw, Hoanya เรียก sau, Tsou เรียก cou และ Puyuma เรียก Taw 

พวกมาลาโย-โพลีนีเซียนสาขาตะวันตก ครอบคลุมหมู่เกาะมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่ใช้ด้วยถ้อยคำความหมายในทำนองเดียวกัน เช่น Itbayaten เรียก tawo, Ilokano เรียก táo, Isneg เรียก táo, Pangasinan เรียก táo, Tagalog เรียก táʔo, Bikol เรียก táwo, Hanunóo เรียก táwu, Bantuqanon เรียก tawo, Aklanon เรียก táwo, Kalamian Tagbanwa เรียก tao, Hiligaynon เรียก táwu, Palawan Batak เรียก táo, Cebuano เรียก táwu, Klata เรียก ottow, Blaan (Koronadal) เรียก to, Maloh เรียก tau(tu), Tonsea เรียก tou, Dampelas เรียก too, Balaesang เรียก too, Ampibabo-Lauje เรียก too, Uma เรียก tau, Bare'e เรียก tau, Tae' เรียก tau เป็นต้น ซึ่งบางพวกได้ควบนัยยะของ ผู้ชาย ปัจเจกชน ยันถึงกลุ่มชน (man, individual, people) เข้าไว้ด้วย 

เสียงขึ้นต้นคำในกลุ่ม ช จ ซ รวมถึง ตซ สามารถแปรผันกันได้ เช่นในพวกไท-ไต ทางหนึ่งสืบสร้างขึ้นไปเป็นเสียงดั้งเดิม *ɟ- ออกเสียงคล้าย /จ/ คือเป็นเสียงกัก เพดานแข็ง ก้อง (voiced palatal stop) (พิทยาวัฒน์ ค.ศ. 2009) หรือในพวกออสโตรนีเซียน แปรถึงเสียง ต โดย ศ.ดร. Robert A. Blust ได้สืบสร้างขึ้นไปเป็นเสียง *C- /ตซ/ กักเสียดแทรก ปุ่มเหงือก (alveolar affricate) แยกออกจาก *t- /ต/ เสียงกัก ปุ่มเหงือก ไม่ก้อง (unvoiced alveolar stop) 

การที่ใช้ ‘กลุ่มชน’ ร่วมกับ ‘คน ความเป็นผู้เป็นคน’ เฉกเช่นเดียวกับพวกหลี/ไหลที่เรียก ‘กลุ่มชน’ และ ‘คน’ ด้วยคำเดียวกัน แสดงถึงความใกล้ชิดสนิทเชื้อของคำและความหมายได้เป็นอย่างดี ซึ่ง ‘ความเป็นผู้เป็นคน’ ของ *Cau /ตซาอุ/ ส่งนัยยะที่ล้นพ้น เพราะชี้อย่างตรงไปตรงมาถึงสาระสำคัญของ ‘สิ่งมีชีวิต’ ที่ถูกยอยกนับถือว่า ‘ฉลาดล้ำอย่างที่สุดบนผืนพิภพ’ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มี ‘อารยะ’ สูงส่งเหนือกว่าพวกดิบเถื่อนทั้งหลาย จาก ‘ผู้ (เป็น) คน’ ขยับขยายขึ้นชั้น ‘ผู้ (เป็น) คนพวกเดียวกัน’ ตั้งหลักแหล่งสร้างชุมชน ก่อร่างสิ่งที่เรียกว่า ‘อารยธรรม’ ภายหลังการหมดสิ้นไปของ ‘ผู้ไร้ซึ่งอารยะ’ ทั้งหลาย 

ดังนั้น จึงไม่เกินเลยที่จะกล่าวสรุปว่า ‘ชาว’ กลุ่มชนของไทสยาม หรือ ‘จาว’ ตระกูลของไทแดง เป็น ‘คำสำคัญ’ เก่าแก่อย่างไม่ต้องสงสัย สืบเชื้อสายกันลงมาแต่ครั้งบรรพกาลบรรพชน ทั้งในหมู่ไท-กะไดและออสโตรนีเซียนอย่างไม่อาจเป็นอื่น ในฐานะของ ‘ผู้ (เป็น) คนพวกเดียวกัน’ ที่อารยะโดดเด่นพูนโพนไม่แพ้ ‘ผู้ (เป็น) คนพวกอื่น’ นั่นกระมัง 

จึงขอเสนอเป็นข้อสังเกต เพื่อการถกเถียงไว้ ณ ที่นี้ 

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 17 มีนาคม 2564 

อ้างอิง:

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. จารึกขุนจิดขุนจอด. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (www.sac.or.th)

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. จารึกพ่อขุนรามคำแหง. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (www.sac.or.th)

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. จารึกวัดศรีชุม. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (www.sac.or.th)

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พ.ศ. 2554. พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสภา. (www.royin.go.th)

สมพาวัน แก้วบุดตา. พ.ศ. 2556. “จาว” : สายสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติของไทแดง. วารสารศิลปกรรมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มิถุนายน-ธันวาคม. มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

1911 Encyclopædia Britannica. (www.wikisource.org)

Blust, Robert A. and Trussel, Stephen. 2010: revision 2020. Austronesian Comparative Dictionary. (www.trussel2.com)

Chamberlain, James R. 1975. A new look at the history and classification of the Tai dialects. In J. G. Harris and J. R. Chamberlain, eds, Studies in Tai Linguistics in Honor of William J. Gedney, pp. 49-60. Bangkok: Central Institute of English Language, Office of State Universities. (www.sealang.net)

Greenhill, S.J., Blust, R., & Gray, R.D. 2008. The Austronesian Basic Vocabulary Database: From Bioinformatics to Lexomics. Evolutionary Bioinformatics 4: 271-283. (www.language.psy.auckland.ac.nz)

Norquest, Peter K. 2007. A Phonological Reconstruction of Proto-Hlai. In Partial Fulfillment of the Requirements for the Degree of Doctor of Philosophy with a Major in Anthropology and Linguistics in the Graduate College of University of Arizona. (www.arizona.openrepository.com)

Pittayaporn, Pittayawat. 2009. The Phonology of Proto-Tai. In Partial Fulfillment of the Requirements for the Degree of Doctor of Philosophy, Faculty of the Graduate School of Cornell University. (www.ecommons.cornell.edu)

คำสำคัญ (Tags): #ชาว, จาว
หมายเลขบันทึก: 706947เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2022 08:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2022 08:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท