ผลและการอภิปรายผลการวิจัย (Research findings and discussion)


ผลและการอภิปรายผลการวิจัยเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มักพบว่าเป็นปัญหาพื้นฐานในการวิจัยอีกเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะงานวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษาที่ผมมีโอกาสได้อ่านผลงาน 

อาการหลักของผลการวิจัยคือ (1) ผลการวิจัยไม่ตอบโจทย์และวัตถุประสงค์การวิจัย หรือตอบไม่ครบ (2) นำข้อมูลคุณลักษณะของผู้ตอบแบบสอบถามการวิจัย หรือให้ข้อมูลสำคัญในการวิจัยมารายงานเป็นผลการวิจัย และ (3) นำเสนอผลการวิจัยไม่เป็นระบบ 

การวิจัยทุกเรื่องดำเนินการไปเพื่อตอบวัตถุประสงค์และโจทย์การวิจัย แต่ที่ยังมีผลการวิจัยที่ไม่เป็นไปตามหลักการนี้อาจจะเป็นเพราะว่า “ตีโจทย์การวิจัยไม่แตก” หรือไม่ก็ “ออกแบบการวิจัย” ที่ไม่ตรงกับโจทย์การวิจัย จึงทำให้ผลที่ได้จากการวิจัยไม่ตอบวัตถุประสงค์และโจทย์การวิจัย เช่น กรณีที่ผู้วิจัยทำวิจัยเรื่อง “รูปแบบการพัฒนาครูเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ยุคดิจิทัล” ผู้วิจัยอาจจะเข้าใจว่า “รูปแบบการพัฒนา กับวิธีการพัฒนา” เป็นเรื่องเดียวกัน ด้งนั้นจึงดำเนินการวิจัยที่นำไปสู่ผลการวิจัยที่เป็น “วิธีการพัฒนา ไม่ใช่รูปแบบการพัฒนา” หรือ การตีโจทย์​การวิจัยว่า “เทคโนโลยียุคดิจิทัล” แต่กลับไปทำวิจัย “การจัดการเรียนรู้ยุคดิจิทัล” แทน ดังนั้นในการวิจัยแต่ละครั้งผู้วิจัยต้องตีโจทย์การวิจัยให้กระจ่างชัด ว่า “ผลลัพธ์สุดท้ายของการวิจัยในครั้งนั้นคืออะไรก้นแน่” ครับ 

ปัญหาการออกแบบการวิจัยที่ไม่ตอบโจทย์การวิจัยนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้จากการไม่กระจ่างชัดในตัวแปรที่ศึกษา หรือไม่ก็ได้แนวคิดวิธีการวิจัยจากการทบทวนวิธีการวิจัยที่ผ่านมา แต่ไม่เข้าใจถึงแก่นว่าทำไมผู้วิจัยนั้น ๆ เขาจึงใช้วิธีการวิจัยแบบนั้น แต่ผู้วิจัยเห็นว่าการวิจัยดังกล่าวเหมือน หรือคล้ายกับงานวิจัยของเรา ก็เลยนำ หรือประยุกต์วิธีการวิจัยนั้นมาใช้ในการทำวิจัยของเรา ผลจึงไม่ตรงกับโจทย์การวิจัยของเรา เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวผู้วิจัยต้องทำความเข้าใจให้กระจ่างชัดว่าตัวแปรที่เราศึกษาในการวิจัยครั้งนั้นมีอะไรบ้าง กี่ตั้วต้วแปร ส่วนวิธีการดำเนินการวิจัยนั้นเรียนรู้จากผู้อื่นได้ แต่ไม่ควรลอกแบบครับ 

สำหรับปัญหาการนำคุณลักษณะของพลวิจัย (research subjects) มาเป็นผลวิจัยนั้นแก้ไม่ยากครับเพียงแต่ผู้วิจัยต้องเข้าใจว่า การที่แบบสอบถาม หรือแบบสัมภาษณ์มีการเก็บข้อมูลพื้นฐานหรือภูมิหลังของกลุ่มตัวอย่าง หรือผู้ให้ข้อมูลสำคัญด้วยนั้นก็เพื่อนำมาเสนอให้เห็นคุณลักษณะของพลวิจัยเท่านั้น ดังนั้นการรายงานข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นเพียงการเสนอให้ผู้อ่านได้ทราบถึงคุณลักษณะของพลวิจัย ไม่ใช่ผลการวิจัย 

ส่วนการนำเสนอผลการวิจัยไม่เป็นระบบนั้นอาจจะเกิดจากปัญหาพื้นฐานที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และประสบการร์ในการทำหรืออ่านผลงานวิจัยในผ่านมา  เพื่อแก้ปัญหานี้ผู้วิจัยควรได้มีการทบทวนวรรณกรรมการวิจัยและอ่านผลการวิจัยให้มากขึ้นแล้วเราจะรู้ว่าการเสนอผลการวิจัยแบบไหนทำให้เราเข้าใจง่าย และน่าสนใจ เรื่องนี้ต้องฝึกฝนและสั่งสมประสบการณ์ครับ 

อีกเรื่องที่สำคัญคือ “การอภิปรายผลการวิจัย” ซึ่งเป็นตัววัดที่สำคัญว่า “ผู้วิจัยเข้าใจงานวิจัยของตนเองหรือไม่ เพียงใด” ครับ

การทำวิจัยเป็นกระบวนการค้นหาคำตอบอย่างเป็นระบบ ดังนั้นในการทำวิจัยแต่ละคร้ัง หรือแต่ละเรื่องผู้วิจัยต้องมีข้อสงสัยที่ต้องการหาคำตอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ยังไม่มีใครศึกษามาก่อน หรือเคยมีผู้ทำวิจัยไว้แล้ว แต่ย้งมีประเด็นยังสงสัย หรือน่าสนใจในบางประเด็น หรือหลายประเด็น ดังนั้นเมื่อได้ข้อค้นพบจากการวิจัยแล้วผู้วิจัยควรมีข้อสรุปและข้อสังเกตที่ควรนำมาอภิปรายผลว่าที่พบเช่นนั้นเป็นเพราะอะไร สอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับผลการวิจ้ยคนอื่นที่ทำการวิจัยที่คล้ายกัน หรือสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับแนวคิดทฤษฎีที่กล่าวไว้ และที่เป็นเช่นนั้นในความเห็น หรือประสบการณ์ของผู้วิจัยเห็นว่าเป็นเพราะอะไร 

ดังนั้นการอภิปรายผล ไม่ใช่แค่นำผลที่ค้นพบมาอภิปราย และที่พบว่าเป็นปัญหาที่สุดคือ “การอ้างความสอดคล้อง หรือไม่สอดคล้องกับงานวิจัยที่ผ่านมา” ซึ่งมี่พบจะพบบ่อยคือ “ข้อให้ตัวเลขเหมือนกัน” ก็อ้างว่าสอดคล้องแล้ว เช่น เราวิจัยเรื่อง “การใช้วิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งของผู้บริหารโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต …” ซึ่งเราพบว่า “ผู้บริหารที่มีวุฒิการศึกษาแตกต่างกัน ใช้วิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ .05” และจากการทบทวนวรรณกรรมเราพบงานวิจัยเกี่ยวกับ “สภาพและปัญหาความขัดแย้งของบุคลากรในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต …” ที่มีผู้วิจัยพบว่าความคิดเห็นของผู้บริหารที่มีวุฒิการศึกษาแตกต่างกันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับความขัดแย้งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ .05" แล้วผู้วิจัยก็นำมาอ้างอิงว่า “ผลการวิจัยของเราสอดคล้องกับงานวิจัยดังกล่าว” ซึ่งไม่ใช่ครับ 

ผมก็หวังว่าข้อสังเกตบางประการที่ผมพบจากการได้อ่านงานวิจัยที่ผ่านมาที่นำเสนอในบทเขียนนี้ และ 2-3 บทเขียนที่แล้วจะยังประโยชน์ต่อผู้อ่านนะครับ 

ขอให้สนุกกับการวิจัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิตครับ

สมาน อัศวภูมิ

5 กรกฎาคม 25654

หมายเลขบันทึก: 703460เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2022 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กรกฎาคม 2022 10:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท