วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๕ ผมเช้าฟังการประชุมเตรียมการจัดการประชุมวิชาการ GIPEC 2022 (9-11 พฤศจิกายน 2565) ของการศึกษาวิชาชีพสุขภาพ ที่มี ศ. นพ. พงษ์ศักดิ์ วรรณไกรโรจน์ เป็นประธาน ในการประชุมมีการพูดถึง reflective account practice (RAP) เป็นคำที่ผมไม่เคยได้เห็นหรือได้ยินมาก่อน จึงค้นดู พบว่ามี Guidance Sheet Reflective Practiceของ Nursing & Midwifery Council แห่งสหราชอาณาจักร ที่บ่งชี้ว่าการสะท้อนคิด (reflection) ต้องเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการวิชาชีพ
กล่าวใหม่ว่านักศึกษาระดับอุดมศึกษาต้องทำกิจกรรมสะท้อนคิดเป็น หรือจริงๆ แล้วต้องฝึกจนทำเป็นนิสัย เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน และผมขอเพิ่มเติมว่าเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตด้วย
ในเว็บไซต์ดังกล่าว ระบุว่าในกระบวนการต่ออายุ (revalidation) ใบประกอบวิชาชีพ ต้องมีหลักฐานการเรียนรู้จากการปฏิบัติงาน และหลักฐานอย่างหนึ่งคือเอกสารการสะท้อนคิด (reflective account)
สภาการพยาบาลของสหราชอาณาจักร กำหนดให้พยาบาลจับคู่กับผู้เชี่ยวชาญในรายชื่อของสภาการพยาบาล ทำ reflective discussion แล้วบันทึกข้อเรียนรู้ที่เรียกว่า reflective account โดยเขาบอกว่า เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรม แลกเปลี่ยน (sharing) สะท้อนคิด (reflection) และปรับปรุง (improvement) โดยระบุเป้าหมายของกระบวนการ ๔ ข้อ คือ (๑) พยาบาลได้อภิปรายการพัฒนาตนเองเชิงวิชาชีพกับผู้เชี่ยวชาญ (๒) คำนึงถึงมาตรฐานและข้อกำหนดของสภาฯ ต่อปฏิบัติการวิชาชีพและการพัฒนาตนเอง (๓) ช่วยให้ไม่ทำงานวิชาชีพอย่างโดดเดี่ยว (๔) เปิดโอกาสให้ได้ฝึกตอบสนองเชิงบวกต่อคำแนะนำป้อนกลับ ประสบการณ์ และการเรียนรู้
เท่ากับสภาการพยาบาลของสหราชอาณาจักรใช้ RAP เป็นเครื่องมือของกระบวนการ CPD (continuing professional development) คือช่วยให้คนในวิชาชีพพยาบาลมีการเรียนรู้ต่อเนื่อง
เรื่องนี้มองได้สองมุม คือมุมบังคับ กับมุมส่งเสริม
มุมบังคับ กลไกนี้บังคับโดยข้อบังคับให้พยาบาลต้องต่อใบประกอบวิชาชีพ ตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อคุ้มครองประชาชนทั่วไปว่าจะไม่ได้รับอันตรายจากพยาบาลที่มีสมรรถนะล้าหลัง
มุมส่งเสริม กลไกนี้ช่วยเอื้อและสนับสนุนให้พยาบาลมีวิธีเรียนรู้จากการปฏิบัติงาน ผ่านกระบวนการใคร่ครวญสะท้อนคิด แถมยังมีรายชื่อคู่สะท้อนคิดให้เลือก ช่วยให้บริการคู่สะท้อนคิดฟรี ไม่คิดค่าตอบแทน
ในมุมมองของผม กลไกนี้อยู่ภายใต้ความเชื่อหรือสมมติฐาน ๒ ข้อ
1. คนในวิชาชีพเห็นคุณค่าหรือประโยชน์ของกระบวนการนี้ต่อตนเอง และต่อสังคมที่ตนทำงานรับใช้ และเชื่อในพลังการเรียนรู้ผ่านการใคร่ครวญสะท้อนคิดจากการปฏิบัติ มากกว่าการเข้ารับการอบรม
2. ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการ RAP มีความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ไม่ฮั้วกัน เพียงเพื่อให้มีเอกสารหลักฐานไปต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
มองจากมุมประเทศไทย นี่เป็นตัวอย่างของวิธีการธำรงคุณภาพสูงของวิชาชีพ ธำรงศักดิ์ศรีของวิชาชีพ และเป็นตัวอย่างของวิธีส่งเสริมให้นักวิชาชีพมุ่งเรียนรู้ต่อเนื่องจากการทำงาน โดยมี การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) เป็นเครื่องมือ แถมยังมีกลไกคู่ร่วมสะท้อนคิดให้ ทุกวิชาชีเอาแนวทางนี้ปใช้ด้ท้งิ้น วมท้งวิชาชีคู
วิจารณ์ พานิช
๕ มี.ค. ๖๕