การเสียชีวิตของ”แตงโม” : ฝึกวิธีคิดเชิงซ้อนจากมุมมองหลากหลายระดับ


โอกาสที่เดือนนี้ ทาง รศ. ดร.สุเนตร สุวรรณละออง หรืออาจารย์แก้ปได้เชิญให้ผมไปบรรยายในเรื่องความหลากหลาย อัตลักษณ์ กลุ่มทางสังคม คนชายขอบ ซึ่งเป็นเนื้อหาด้านสังคมวิทยามานุษยวิทยา ให้กับนักศึกษาสาขาการจัดการทางสังคมในชั้นเรียน ของ ม.บูรพา เลยอยากจะจับเอาเหตุการณ์นี้มาใช้เป็นวิทยาทานในการเรียนรู้แก่นักศึกษา ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคิดเชิงระบบ และความหลากหลายของกลุ่มทางสังคมต่างๆ วิธีคิดเชิงซ้อนที่ปะทะกันอยู่ในเหตุการณ์ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากมาย ซึ่งคนทั่วไปก็เข้ามาเรียนรู้ในบันทึกนี้ได้

แต่ผมก็ขอออกตัวไว้ก่อนนะครับว่า นี่ก็เป็นมุมมองจากนักวิชาการภูธรที่ทำงานด้านสังคมวิทยาพัฒนาคนชายขอบแบบบ้านๆ

ผิดถูก เชื่อไม่เชื่อ ก็ขอให้ใช้วิจารณญาณกันนะครับ

-ภาพแตงโม นิดา ดาราสาว จาก น.ส.พ.ข่าวสด-

 

กรณีข่าวครึกโครมที่ดาราดังอย่าง “แตงโม” เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ
มองเป็นเรื่องส่วนบุคคลก็ได้
มองเป็นเรื่องของสังคมก็ได้  
มองเป็นเรื่องของโครงสร้างในการจัดการปัญหาก็ได้
มองในเรื่องวิธีคิด เราก็จะเห็นอีกอย่าง

 

ภาพการคิดเชิงระบบ จากเว็บไซต์ https://siamchamnankit.co.th/

 

เรื่องส่วนบุคคล :

กรณี “แตงโม” ดาราดังเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ มองเป็นเรื่องส่วนบุคคลก็ได้ เช่น อุบัติเหตุจากความประมาทของคนขับหรือผู้เสียชีวิต , เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด , ค้นหารักแท้มาชั่วชีวิต พอชีวิตเริ่มดีสิ่งเหล่านี้ก็มลายหายไป ฯลฯ

ถ้ามองแบบเรื่องส่วนบุคคล ก็ดูเหมือนจะเป็นข่าวคนกลุ่มเล็กๆ แต่เขาเป็นคนมีชื่อเสียง ก็เลยดัง อันนี้ก็มองได้ ว่ามันกลบข่าวอื่นๆไปเลย ที่บางทีก็สำคัญไม่น้อยไปกว่า

อันนี้ ถ้าเป็นนักวิจัย เราไม่ตัดสินว่าข่าวไหนสำคัญ แต่เราจะสนใจวิเคราะห์ว่า ทำไมผู้คนจึงให้ความสำคัญ แล้วหันกลับมาสะท้อนต่อสังคม รวมถึงสิ่งต่างๆให้เกิดการเรียนรู้ในมุมใหม่ๆ

แน่นอนว่า ผู้ตายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นแบบอย่างของคนจำนวนมากในสังคม แถมยังเป็นคนใน ในวงการสื่อ อันนี้เป็นเทรนด์หลักเลย คนในวงการเสียชีวิต แถมเป็นคนดัง

แต่ประเด็นที่สังคมประเดประดังให้ผู้คน (รวมถึงผม)มาตามเสพ ตามวิเคราะห์ด้วยนี่ ไม่ธรรมดา อย่าไปมองพื้นๆว่า ผู้บริโภคฉาบฉวยไปหมด ผมไม่คิดอย่างนั้นนะครับ

โอเคล่ะ เรารู้ว่า สื่อเขาก็มีประโยชน์จากการขายข่าว ซึ่งไม่แปลก แต่เราเห็นการเจาะลึกลงไป แน่นอนว่ามันเข้าเรื่องส่วนตัว ซึ่งถ้าล้ำเส้นมากๆ คนในข่าวก็ฟ้องได้ แต่ผมกลับมองว่า ไอ้ที่ส่วนตัวหลายเรื่องมันเป็นเบาะแสที่โยงกับเหตุการณ์ อันนี้ เป็นปัจจัยแวดล้อมที่จะทำให้เราเข้าถึงความยุติธรรมที่หลายอย่างมันไม่ปรากฏชัดในเอกสาร

ส่วนที่จะล้ำเส้น หรือริดรอนสิทธิผู้ต้องหา ญาติ อันนั้นกฏหมายก็มีบัญญัติปกป้องเอาไว้ ทนายก็มีก็น่าจะฟ้องสื่อหรือให้คำแนะนำกับลูกความได้ เราเองก็ต้องพัฒนาวิจารณญาณในการเสพสื่อด้วย อันนี้ก็ไม่ได้เจาะจงไปที่ใคร ก็เป็นบทบาทของทุกฝ่ายที่ต้องพัฒนาร่วมกันไป

 

เรื่องของสังคม : 
มองเป็นเรื่องของสังคมก็ได้  เช่น กลุ่ม FC ที่แสดงความรักอาลัยดาราที่ตนชื่นชอบ   อันนี้เป็นการแสดงอัตลักษณ์ทางสังคม เป็นชุมชนแบบหนึ่งที่ไม่ใช่ชุมชนกายภาพ แต่เป็นชุมชนทางวัฒนธรรมย่อย เป็นกลุ่มสังคมย่อยในอีกรูปแบบที่เราไม่ควรมองข้ามหรือมองอย่างเหมารวมว่า เป็นคนที่ติดกระแสบริโภคนิยมอย่างตื้นๆ

เราจะเห็นกลุ่มคนตกปลา เจ้าของร้านอาหาร คนที่หาเช้ากินค่ำ ออกมาเป็นพยาน ก็จะเห็นคนจิตอาสา ที่ออกมาแสดงตัวตนทางสังคมที่แสดงถึงคุณค่าบางอย่างที่เขาศรัทธาหรืออาจจะเป็นการแสดงตัวตนที่มีนัยยะให้สังคมยอมรับว่า คนจนคนกล้าที่พร้อมให้การโดยไม่เกรงอิทธิพลก็มี อันนี้ก็เป็นการสร้างตัวตนของคนจน คนชายขอบ เราก็มองได้

นอกจากนี้ เราก็จะเห็นกลุ่มคนมาโหนกระแสในแบบต่างๆ , ก็มองแบบเปิดกว้างเอาไว้ ให้ระวังจิตตนเองที่ชอบไปตัดสิน ก็มองให้รอบ อย่าเพิ่งไปจับยึด อันนี้ก็มองได้


เรื่องโครงสร้าง ระบบที่เกี่ยวข้อง :

หรือมองเป็นเรื่องของโครงสร้างในการจัดการปัญหาก็ได้ เช่น วิธีการจัดการผู้ประสบอุบัติเหตุทางน้ำ , ระบบการสืบสวน สอบสวนของตำรวจรวมถึงกระบวนการยุติธรรม , ผลวิเคราะห์ทางการแพทย์ และอาชญวิทยา , ระบบสื่อสารมวลชนในประเทศไทย อันนี้ก็จะเห็นโครงสร้างและระบบที่หลากหลายมาก มองในแง่การแทรกแซงก็ได้ แต่ถ้ามองอีกมุมก็ถือกระบวนการมีส่วนร่วมแบบไม่เป็นทางการก็ได้ เวลาวิเคราะห์ก็เราก็อาจแยกเป็นเรื่องๆไป ระวังอย่าไปเหมารวมว่าเป็นเพราะปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง จริงๆทุกเรื่องมันโยงใยและมีความซับซ้อนเหมือนเป็นนิเวศที่ส่งผลถึงกัน เพียงแต่ปัจจัยไหนจะส่งผลมากกว่าน้อยกว่า ก็แยกแยะเชื่อมโยงไป ด้วยใจกลางๆ

 

 

ภาพจาก https://thestandard.co/

 


เรื่องวิธีคิด :

มองในเรื่องวิธีคิด เราก็จะเห็นอีกอย่าง เช่น   วิธีคิดเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ  , วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์นิยม ,  วิธีคิดแบบยึดคำอธิบายทางศาสนา , วิธีคิดเรื่อง “ความเป็นแม่” ที่ออกมาปกป้องลูก เป็นผู้ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูก , การแสดงออกทางมโนธรรมของสังคม รวมไปถึงวิธีคิดที่สะท้อนในการแสดงออกของแต่ละคนก็ได้ เช่น การให้เกียรติผู้ตายโดยไม่โพสต์ภาพที่เขาไม่อนุญาต หรือ อาจจะเป็นวิธีคิดของผู้ชายจำนวนมาก ที่ยังนิยมใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องสนองตัณหา มาเป็นเด็กเอน อย่างนี้เป็นต้น 

 

ภาพจาก www.springnews.co.th

 

และระหว่างที่มองเห็นวิธีคิดหรือชุดความคิดที่หลากหลายนี้ ก็เฝ้ามอง สังเกตจิตใจตนเอง อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นวิธีคิดแบบแยกส่วน พูดง่ายๆ เหมือนเราเห็นน้ำแข็งหนึ่งก้อน ก็สักแต่ว่าเอ้อ เห็นน้ำแข็ง ซึ่งหากถ้าเรามองแบบองค์รวม ที่เห็นทั้งส่วนบุคคล ส่วนโครงสร้าง ระบบ วิธีคิดต่างๆที่มาเกี่ยวข้อง โดยเท่าทันสภาวะอารมณ์ หรืออย่างน้อยไม่เอาอารมรณ์ไปจับมากนัก เราก็จะเห็นอีกอย่าง เห็นทั้งหมดทั้งน้ำ น้ำแข็งและไอน้ำที่ระเหยอยู่ไปพร้อมกันในน้ำแข็งก้อนนึง

อนึ่ง เรื่องนี้จะจบหรือมีผลอย่างไร ก็มีหลายด้าน ผลในทางคดี  ผลในทางสังคม ผลในทางโครงสร้าง-ระบบที่เกี่ยวข้อง  ผลต่อวิธีคิดเรื่องต่างๆ

นอกจากการมองหลายระดับอย่างเชื่อมโยงกันแล้ว ในส่วนจะดูผลแบบไหน ก็มองได้สามระยะ 
ผลผลิต  (Output) เป็นเรื่องระยะสั้น  ผลลัพธ์ (Outcome) เป็นเรื่องระยะกลางๆ ส่วนผลกระทบ (Impact) เป็นสิ่งที่เกิดสืบเนื่องในระยะยาว
ก็ต้องติดตามดูต่อไป ภายใต้กรอบการมองแบบเป็นองค์รวม และด้วยสภาวะจิตที่เท่าทัน เยือกเย็น

แม้อ่อนไหว ขุ่นมัวก็รู้ตัวรู้เท่าทัน

ทั้งหมดนี่ก็ใช่ว่าจะทำได้ง่าย คนเขียนเองก็ใช่ว่าจะรู้และทำไหวในทุกเรื่อง ก็ยังต้องฝึกไปๆๆ 
แต่ก็น่าจะเป็นแผนที่ทางความคิดให้นักศึกษา รวมถึงเราท่านทั้งหลายที่สนใจ ใช้สติมองปัญหาอย่างเป็นระบบ นำสู่การมองปัญหานี้ในมุมที่ยกระดับ พัฒนาตัวเองและสังคมยิ่งๆขึ้นไปได้ไม่มากก็น้อย 

หมายเลขบันทึก: 698464เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2022 15:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มีนาคม 2022 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท