มองจันทร์“ข้างขึ้น-ข้างแรม”


เท่าที่ลองสังเกตดวงจันทร์จริง แบบแรกที่ว่าด้านสว่างอยู่ซ้ายหรือขวานั้น ความรู้เท่าหางอึ่งอย่างเรามักจะตัดสินยาก ส่วนใหญ่ไม่ค่อยชัดเจนว่าซ้ายหรือขวากันแน่

อายุป่านนี้จากความไม่ช่างสังเกต โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่ได้ใส่ใจ จึงมีอยู่เรื่อยที่รู้สึกว่าไม่รู้อะไรในเรื่องเหล่านั้นเลย ทั้งที่หลายเรื่องต้องพบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เราไม่ควรต้องรู้บ้างดอกหรือ(ฮา) การจะบอกเป็นข้างขึ้นข้างแรมหรือกี่ค่ำ จากการพิจารณาดวงจันทร์เป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งตัวเองเพิ่งตระหนัก

คงเพราะถ่ายภาพดวงจันทร์บ่อยๆ ซึ่งเริ่มจากหลายคนว่าถ่ายยากกว่าดวงอาทิตย์ อีกอย่างหนึ่งนึกถึงสมัยก่อนที่เคยฟังผู้ใหญ่คุยกันว่ากี่ค่ำ ขึ้นหรือแรม ด้วยการแหงนมองจันทร์บนท้องฟ้า ทำให้เกิดแรงบันดาลใจหรือเกิดความกระหายใคร่รู้ขึ้นมาบ้างในช่วงวัยนี้(ฮา)

ลองค้นข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ผู้รู้บอกต่างกันไว้สองอย่าง อย่างแรกให้ดูด้านสว่างหรือด้านเต็มของดวงจันทร์ ถ้าหันไปทางซ้ายเป็นข้างขึ้น ถ้าหันไปทางขวาเป็นข้างแรม อีกอย่างบอกให้ดูด้านมืดหรือด้านที่แหว่งเว้า ถ้าหันไปทางทิศตะวันออกเป็นข้างขึ้น ถ้าหันไปทางทิศตะวันตกเป็นข้างแรม

เท่าที่ลองสังเกตดวงจันทร์จริง แบบแรกที่ว่าด้านสว่างอยู่ซ้ายหรือขวานั้น ความรู้เท่าหางอึ่งอย่างเรามักจะตัดสินยาก ส่วนใหญ่ไม่ค่อยชัดเจนว่าซ้ายหรือขวากันแน่ แบบหลังน่าจะพิจารณาหรือบอกง่ายกว่า คือดูว่าหันด้านมืดไปทิศทางตะวันออกหรือตะวันตก

สำหรับกี่ค่ำไม่ยากนัก จากที่รู้มาก่อนหน้า ในรอบ ๑ เดือน หรือ ๓๐ วัน จะมีข้างขึ้นอยู่ ๑๕ คืน หรือ ๑-๑๕ ค่ำ และข้างแรมอีก ๑๕ คืน หรือ อีก ๑-๑๕ ค่ำ โดยเปรียบเทียบและกะประมาณความเว้าแหว่งของดวงจันทร์ ด้วยการยึดขึ้น ๑๕ ค่ำ ซึ่งจันทร์เต็มดวง หรือ แรม ๑๕ ค่ำ จันทร์ลับหายไปทั้งดวงเป็นหลัก

ถ้าข้างขึ้นดวงจันทร์ที่เห็นจะค่อยๆสว่างจนเต็มดวง ๑๕ ค่ำ ถ้าพระจันทร์เสี้ยวยังไม่ถึงครึ่งดวงจึงเป็น ๑-๖ ค่ำ ครึ่งดวงคือ ๗-๘ ค่ำ เกินครึ่ง ๙-๑๔ ค่ำ สำหรับข้างแรมภาพดวงจันทร์จะย้อนกลับหรือค่อยๆมืด ครึ่งดวง ๗-๘ ค่ำเช่นเดียวกัน ถ้าเสี้ยวจำนวนค่ำจะตรงกันข้าม กล่าวคือกะประมาณดวงจันทร์ที่เห็นว่าเป็นเศษส่วนเท่าใดของจำนวนเต็ม ๑๕ ค่ำนั่นเอง

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ ที่ว่ารู้ๆ เก่งๆ ยิ่งใหญ่ อวดตัวหลงตัวว่าสำคัญนั้น มองให้รอบด้านหรือพิจารณาโลกกว้างใบนี้ให้ดีแล้ว จริงๆเราแทบไม่รู้อะไร!

หมายเลขบันทึก: 698323เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2022 10:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2022 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท