รีวิว ร่างทรง The medium (2021) วิเคราะห์ความหมายทางคติชนวิทยา


[review] รีวิว ร่างทรง The medium  (2021) ภาพยนตร์ระทึกขวัญสยองขวัญคติชนวิทยา จากผลงานการกำกับบรรจง ปิสัญธนะกูล (จาก ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ และพี่มากพระโขนง) โดยมี นาฮงจิน (จาก The Willing และThe Chaser)  เจ้าพ่อหนังสายระทึกขวัญสยองขวัญจากเกาหลีใต้เป็นโปรดิวเซอร์ ที่สามารถสร้างกระแสแรกเริ่มได้ทันทีหลังจากปล่อยตัวอย่างแรกออกมา โดยภาพติดตาที่สร้างความตราตรึงคือภาพผีที่อยู่ใต้บันไดบ้าน และจากผลงานที่ผ่านมาของทั้งผู้กำกับจากฝั่งไทย รวมถึงโปรดิวเซอร์จากฝั่งเกาหลี ก็สามารถการันตีความระทึกขวัญความสยองขวัญของหนังได้อย่างไม่ต้องสงสัย

#ดูคลิปรีวิวที่นี่

#เรื่องย่อ (#เปิดเผยเนื้อหาช่วงต้นเรื่อง)

ร่างทรง เล่าเรื่องราวของร่างทรงและการเปลี่ยนผ่านร่างทรง โดยทีมงานถ่ายทำสารคดี (ปลอม) ได้ตามติดถ่ายวิถีชีวิตและสัมภาษณ์ "ป้านิ่ม" ผู้เป็นร่างทรงของ "ย่าบาหยัน" "ผี" ที่เป็นใหญ่ของชุมชนหนึ่งในภาคอีสานของไทย โดยแรกเริ่มของเรื่องนั้นป้านิ่มจะเล่าถึงความเชื่อพื้นฐานของผู้คนในสังคมชนบทว่ามีความเชื่อความศรัทธาและให้ความเคารพเรื่องผีอยู่เป็นทุนเดิม และมีมาก่อนที่ศาสนาพุทธจะต้องมาเสียอีก ป้านิ่มเล่าว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เหนือธรรมชาตินั้นเรียกว่าผีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผีที่อยู่ในบ้าน ผีที่อยู่ในต้นไม้ ผีที่อยู่ในป่า ผีที่อยู่ในไร่นา ผีที่อยู่ในแม่น้ำลำคลอง

ทีมงานเกาะติดชีวิตของป้านิ่ม โดยการถ่ายทำพิธีกรรมการรักษาผู้คนที่เจ็บป่วยเป็นโรคซึ่งทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถรักษาได้ ถ่ายทำพิธีกรรม การรำถวาย รวมถึงการรักษาที่กระทำต่อหน้าปฏิมากรรมย่าบาหยันในป่า

แต่แล้ววันหนึ่ง ญาติผู้เป็นสามีของป้าน้อยพี่สาวของป้านิ่มเสียชีวิต ป้านิ่มก็ได้เดินทางไปร่วมงานศพ ซึ่งในงานหลานสาวของป้านิ่มก็ได้มาร่วมงานศพนี้ด้วย

ป้านิ้มได้เจอหลานสาวซึ่งเป็นลูกของป้าน้อยนั่นแหละชื่อมิ้ง เป็นสาววัยทำงานมีหัวสมัยใหม่ ไม่เชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ ไม่เชื่อเรื่องพิธีกรรมติดต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ และไม่เชื่อเรื่องร่างทรง

มีจังหวะหนึ่งที่มิ้งเดินเข้ามาหาป้านิ่มพูดคุย เรื่องไปเอาของให้แม่ของเธอ มิ้งได้จับแขนป้านิ่มจังหวะหนึ่ง จากการสัมผัสนั้นป้านิ่มก็รู้สึกได้ทันทีว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติเกิดขึ้นกับมิ้ง หลังจากที่พระสวดศพตอนค่ำเสร็จแล้ว ผู้ที่เป็นญาติก็ยังอยู่เฝ้าศพตามธรรมเนียมเดิมของคนไทยในต่างจังหวัด ก็จะมีการละเล่นพนัน การตั้งวงกินเหล้าเมายาเป็นเรื่องปกติ และมิ้งเองก็เป็นหญิงสาวที่ชอบดื่มสุราเป็นนิจศีลด้วย เมื่อเธอเมาแล้วก็อาละวาดไปตามประสาของวัยนี้ แต่ป้านิ่มก็สังเกตอาการของมิงค์ว่า นี่ไม่ใช่อาการปกติของหลานสาว

ช่วงก่อนที่ทุกคนจะเข้านอน ป้านิ่มเห็นมิ้งนั่งมองไปทางด้านหลังทางเข้าศาลาอยู่นาน เรียกเท่าไหร่ก็ไม่หัน แล้วก็เห็นหญิงชราตาบอดเดินยืนจ้องมิ้งนิ่งเช่นกัน เมื่อหญิงชราตาบอดเดินจากไป มิงค์จึงเข้านอน

เช้าวันรุ่งขึ้นผู้คนในหมู่บ้านก็รู้ข่าวว่าหญิงชราตาบอดที่อาศัยอยู่หลังวัดนี้ได้เสียชีวิตไปแล้ว และได้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทันที

จากนั้นเป็นต้นมา มิ้งก็มีอาการผิดปกติไป ไม่เป็นตัวของตัวเอง ทีมงานถ่ายทำสารคดีจึงตัดสินใจตามติดถ่ายทำชีวิตของมิ้งด้วย เพราะพวกเขาสันนิษฐานว่า นี่อาจจะเป็นการเปลี่ยนผ่านร่างทรง

หลังจากการติดตามถ่ายชีวิตมิ้งอยู่ช่วงเวลาหนึ่งก็พบว่ามิ้งมีหลายบุคลิก บางครั้งชอบทำตัวเป็นเด็กเล่นแบบเด็ก ๆ โมโหร้าย ชอบความรุนแรง ชอบด่าทอหยาบคาย มีพฤติกรรมติดเซ็กส์  ชอบเที่ยวยามค่ำคืนดื่มสุรามึนเมาไม่กลับบ้าน และเลือดประจำเดือนมาทุกวัน

เมื่อทีมงานนำคลิปวีดีโอที่ถ่ายไว้มาให้กับป้านิ่มดู ป้านิ่มก็รู้ทันทีว่านี่คืออาการแรกเริ่มของคนที่กำลังจะเป็นร่างทรง หรือจะมีผีจะมาประทับทรง ทางทีมงานสันนิษฐานว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ดวงวิญญาณย่าบาหยันเลือกร่างทรงใหม่เป็นมิ้งหลานสาวของแก เพราะป้านิ่มก็มีอายุมากแล้วและไม่มีลูกหลานคนไหนมารับสืบทอดการเป็นนั่งทรงต่อจากแก

ป้านิ่มจึงไปที่บ้านของมิ้ง ไปค้นดูในห้องนอนของมิ้ง ก็พบว่ามีเครื่องรางของขลังที่ใช้ป้องกันไม่ให้ภูติผีปีศาจเข้ามากล้ำกลาย แล้วปรึกษาป้าน้อยผู้เป็นพี่สาวของตนเองว่ามิ้งมีอาการแรกเริ่มของคนที่จะเป็นร่างทรง หากฝืนหรือไม่ยอมรับจะทำให้เกิดความบาดเจ็บ เกิดเรื่องร้าย ๆ อาจเลยเถิดไปจนถึงการเสียชีวิตก็เป็นได้ แต่ป้าน้อยก็ไม่ยอมรับ และไม่อยากให้ลูกสาวเป็นร่างทรง เหมือนกับครั้งหนึ่งนานมาแล้วที่ป้าน้อยเคยปฏิเสธการเป็นร่างทรงของย่าบาหยัน ป้าน้อยปฏิเสธการทำพิธีทุกอย่าง แล้วไล่ป้านิ่มกลับบ้านไป

จากนั้นต่อมา มิ้งก็ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้อีกต่อไป แสดงพฤติกรรมประหลาด อารมณ์ร้าย จนทำให้ถูกไล่ออกจากงาน แสดงพฤติกรรมอนาจารกับคนในบ้าน ชอบไปตามพื้นที่ที่คนไม่ไป เก็บเอาสิ่งของอุบาทว์สิ่งของไม่ดีที่สัมผัสกับดวงวิญญาณสัมภเวสีเข้ามาไว้ในบ้านจำนวนมาก จนในที่สุดหนักข้อเข้า ป้าน้อยจึงยามพามิงค์ไปรับขันธ์กับร่างทรงคนหนึ่ง

ในช่วงที่ประกอบพิธีรับขันธ์ 5 ป้านิ่มก็เข้ามาขัดขวางการทำพิธี แล้วบอกว่าการรับขันธ์สุ่มสี่สุ่มห้าจะเป็นการทวีความรุนแรงมากยิ่ง กลับกลายเป็นว่าเป็นการเชิญภูติผีปีศาจ สัมภเวสี เข้ามาอยู่กับตัวมิ้ง มิ้งก็เปรียบเสมือนกับรถยนต์ที่เสียบกุญแจคาไว้ใครจะขึ้นมาขับพาไปไหนก็ได้ จากนั้นมิ้งก็วิ่งหนีเข้าป่าไป และไม่มีผู้ใดตามเจอนับเดือน

ป้านิ่มในฐานะร่างทรงของผีผู้เป็นใหญ่ที่สุดในชุมชน ที่สามารถรักษาผู้คนและสร้างความศรัทธาให้กับผู้คนได้มาอย่างยาวนานนั้น จะสามารถช่วยเหลือมิ้งผู้เป็นหลานสาวของตนได้หรือไม่ ผีหรือดวงวิญญาณตนไหนมาเข้าสิงมิ้งและเรื่องราวเลวร้ายจะเกิดขึ้นกับครอบครัวและญาติวงศ์ตระกูลของป้านิ่มจะเป็นอย่างไร รวมถึงความระทึกขวัญความสยองขวัญและการหลอกหลอนของหนังจะทวีขีดสุดขึ้นไปจนถึงจุดไหน ก็ขอให้ท่านผู้อ่านหรือท่านผู้ฟังไปติดตามรับชมภาพยนตร์เรื่องร่างทรงได้ในโรงภาพยนตร์เลยครับ

#ความรู้สึกหลังชม 
#เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนเพื่อการวิเคราะห์

#ศาสนาผีกับความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ

ร่างทรง แม้จะเป็นหนังระทึกขวัญสยองขวัญ แต่ส่วนตัวแล้วผมรู้สึกว่าร่างทรงไม่ใช่หนังผี หากใครที่ตั้งใจจะไปดูหนังผี ดูหนังที่ผีออกมาหลอกหลอนแลบลิ้นปลิ้นตาหายตัวไปมาทำหน้าเละผมว่าผิดหวัง และผิดกลุ่มเป้าหมายของทีมสร้างอย่างสิ้นเชิง แต่ร่างทรงนั้นเป็นหนังระทึกขวัญสยองขวัญที่ใช้บรรยากาศและคติความเชื่อทางคติชนวิทยา มาใช้ในการสร้างความหลอกหลอนได้ยอดเยี่ยม ลุ่มลึก และมีชั้นเชิงเกินกว่าจะเอาผีในทำนองเดิม ๆ มาใช้เล่าเรื่อง ดังนั้นคนดูจะต้องตั้งธงใหม่กับการดูแลและภาพยนตร์เรื่องนี้ซะก่อนจึงจะดูร่างทรงในจุดของคำว่าสนุก

การปูเรื่องเยี่ยมมาก เป็นการปูพื้นถึงคติความเชื่อดั้งเดิมของคนไทยที่ต่างก็ยึดมั่นอยู่บนความเชื่อใน "ศาสนาผี" แล้วถึงแม้ว่าจะมีศาสนาสากลเข้ามาแล้วก็ตาม แต่ศาสนาผี แบบดั้งเดิมนั้นก็ยังจะดำรงคงอยู่และเดินคู่กันไปอย่างแยกไม่ออก และดูเหมือนว่าศาสนาผีจะอยู่เหนือศาสนาสากลด้วยซ้ำ

ดังนั้นถ้าเราสังเกตให้ดีเราจะเห็นว่า การใช้บทสวดมนต์อะไรต่าง ๆ ในหนัง แทบจะไม่มีภาษาบาลีสอดแทรกเลย การสวดของร่างทรงก็จะเป็นภาษาที่เราฟังไม่รู้เรื่อง หรือการใช้คำพูดแบบบ้าน ๆ ในแบบที่เราเข้าใจแทน พระสงฆ์นศาสนาพุทธและนักบวชศาสนาคริสต์ที่อยู่ในเรื่องเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น แม้แต่ตอนที่สำคัญที่สุดก็คือการประกอบพิธีกรรมการขับไล่ผี แม้จะมีพระสงฆ์เข้ามาร่วมทำพิธีด้วย แต่ก็เป็นเพียงส่วนประกอบเล็ก ๆ ที่ทำอยู่ภายใต้แนวความคิดของศาสนาผีที่เป็นหลักมากกว่า และผู้เป็นญาติของผู้ถูกผีสิงก็ไม่เลือกทางให้พระสงฆ์รักษาด้วยซ้ำ นี่ก็ตอบได้ว่าชาวบ้านให้ความสำคัญกับศาสนาผีอยู่เหนือศาสนาพุทธหรือศาสนาสากลอย่างแท้จริง

หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ผู้กำกับและทีมงานเขาตั้งใจใส่ภาพคติความเชื่อทางศาสนาผีเข้าไปในเฟรมหลายจุดโดยที่ไม่ต้องอธิบายอะไร เช่นการมีศาลในท้องนา การมีหิ้งบูชากุมารในเธคผับ การถ่ายภาพกระถางน้ำพุรูปพญานาค การมีหิ้งบูชาผีในบ้านที่ใหญ่กว่าหิ้งบูชาพระ การขับรถผ่านศาลแล้วบีบแตร การใช้ผ้าสีพันรอบต้นไม้ใหญ่ เป็นต้น โดยที่ไม่เล่าหรืออธิบายสิ่งที่เห็นเลยด้วยซ้ำ นี่คือความชาญฉลาดของทีมงานที่เขาต้องการใส่คติความเชื่อเรื่องผีเข้าไป ทำให้เรารู้สึกว่าผีนั้นมีความใกล้ชิดกับคนมากจนเราแทบไม่รู้สึกอะไร เป็นเรื่องปกติ

และเมื่อเขาทำให้เราคุ้นชินกับความใกล้ชิดความศรัทธาของศาสนาผีแล้ว เขาก็มาตลบหลังให้เราเห็นว่าศาสนาสากลที่เรานับถือในปัจจุบันนี้ อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดของมนุษย์ในปัจจุบันนี้ก็เป็นได้ อย่างเช่นการเปลี่ยนศาสนาเพื่อต้องการปฏิเสธความเชื่อเดิม แต่เมื่อศาสนาใหม่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการ ก็หันไปเชื่อและนับถือในความเชื่อดั้งเดิมเป็นต้น

ในประเด็นของความเชื่อทางศาสนาผีและศาสนาสากลนั้น เราจะเห็นได้ว่าหลายตัวละครแสดงออกถึงพฤติกรรมที่มีความย้อนแย้งในการนับถือเป็นอย่างมาก แม้แต่ตัวละครของป้านิ่มเองที่เป็นร่างทรงของย่าบาหยัน เราก็รู้สึกว่าป้านิ่มเขาไม่นับถืออะไรเลย ไม่นับถือศาสนา ไม่นับถือพระสงฆ์ และไปเลยจนถึงท้ายที่สุดของเรื่อง เราอาจจะสงสัยว่าป้านิ่มนับถือย่าบาหยันจริง ๆ หรือไม่ รวมไปถึงตัวละครอีกหลายตัวที่ไม่สามารถเล่าในนี้ได้ทั้งหมดก็แสดงออกถึงพฤติกรรมการย้อนแย้งความเชื่อเช่นกัน

#พื้นที่ผู้หญิงเป็นใหญ่

หนังทำให้เห็นว่า คติความเชื่อของผู้คนในสังคมดั้งเดิมนั้นให้การนับถือเพศหญิงเป็นอย่างมาก หรือ "หญิงเป็นใหญ่" อย่างที่เรามักจะเรียกสิ่งศักดิ์ด้วยการนำคำว่า "แม่" นำ เช่นแม่น้ำ แม่โพสพ แม่ธรณีเป็นต้น ในสังคมดั้งเดิมเพศหญิงจะเป็นผู้มีความรู้ เป็นหมอยา หมอทำขวัญ หมอทำคลอด หมอรักษาทางจิต โดยเฉพาะในภาคอีสานเพศหญิงจะต้องอยู่กับบ้าน ส่วนเพศชายเวลาแต่งงานก็ต้องไปอยู่บ้านของภรรยา ผู้เป็นลูกสาวจะได้รับมรดกเป็นบ้านและที่ดินดูแลต่อไป และมรดกนั้นก็หมายรวมถึงการรับผีหรือรับร่างทรงด้วย เราจะเห็นได้ว่าในภาพยนตร์นั้นคนที่จะมาเป็นร่างทรงของย่าบาหยันคือเพศหญิงเท่านั้น หรือแม้แต่ร่างทรงที่เราเห็นทั่วไปจะมีเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และยิ่งในท้ายของเรื่อง เขาตั้งใจทำให้เห็นว่าเพศหญิงอยู่ในเพศชายอย่างแท้จริง

เมื่อศาสนาสากลโดยเฉพาะศาสนาพุทธเข้ามาในประเทศไทย ความเชื่อเรื่องสังคมยกให้หญิงเป็นใหญ่ก็เริ่มเปลี่ยนไป ผู้ชายเข้ามามีบทบาทในศาสนาพุทธมากขึ้น โดยเฉพาะบทบาทของการเป็นพระสงฆ์ เป็นผู้มีความรู้ อ่านออกเขียนได้ มีความรู้เรื่องยา การรักษา ดังนั้นความสำคัญ หรือศูนย์กลางของความเชื่อจึงถ่ายโอนไปสู่เพศชาย แต่อย่างไรก็ตาม เพศหญิงก็ยังคงมีพื้นที่ของตนอยู่เช่นเดิม และยังมีความสำคัญต่อระบบความเชื่อเรื่องศาสนาผีและการเป็นร่างทรง ถึงแม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่นั้นจะให้ความสำคัญกับร่างทรงหรือศาสนาผีลดลงก็ตาม อาจจะพูดได้ว่า ศาสนาพุทธเป็นพื้นที่ของเพศชาย ศาสนาผีเป็นพื้นที่ของเพศหญิงก็ไม่อาจผิดมากนัก อย่างเช่นในภาพยนตร์เรื่องร่างทรงนี้เราจะเห็นว่า เขาให้ความสำคัญต่อเพศหญิงแทบจะทั้งหมด เริ่มจากป้านิ่มที่เป็นร่างทรงย่าบาหยัน บ้านน้อยที่ปฏิเสธการเป็นร่างทรง มิงค์ผู้ที่กำลังจะเป็นร่างทรง และยิ่งในท้ายเรื่องเรายิ่งเห็นชัดเจนมาก ผู้ชายให้การเคารพผู้หญิง ซึ่งจะเคารพยังไงแบบไหนก็ต้องไปชมในภาพยนตร์เอาเอง

#ความสยองขวัญระทึกขวัญ

แน่นอนว่าร่างทรงอยู่ใน theme ประเภทของหนังระทึกขวัญสยองขวัญ จึงขอชื่นชมว่าบทที่เขาจะทำให้เราขนลุกนั้นเขาก็ทำได้อย่างถึงที่สุด โดยเฉพาะการใช้กล้องวงจรปิดติดไว้ในบ้านของตัวละครสำคัญ นำเสนอภาพแบบ night shot ถือว่าเป็น the best เราจะได้เห็นปฏิกิริยาของตัวละครสำคัญในบ้านในยามค่ำคืนว่าทำอะไรบ้างในขณะที่คนในบ้านนั้นหลับไปหมดแล้ว ทุกกิริยาที่ตัวละครทำนั้น สร้างความขนลุกได้อย่างขีดสุด และการใช้เทคนิคนี้ผมว่าเหมาะสมกับหนังเรื่องนี้มาก ๆ ถ้าเรายังจำหนังระทึกขวัญของ M. Night shyamalan เรื่อง The Visit ได้ เขาก็เล่นจังหวะการตั้งวงจรปิดภายในบ้าน เห็นพฤติกรรมของคนในบ้านยามค่ำคืนแบบนี้เช่นกัน ภาพที่เห็นก็นำเสนอไปทางระทึกขวัญสยองขวัญได้แบบสุด ๆ แล้ว หนังเรื่องร่างทรงไม่มีผีออกมาเป็นตัวให้เห็นเลยสักครั้ง แต่โดยส่วนตัวผมกลับรู้สึกว่ามันน่ากลัวกว่าความเป็นหนังผีซะอีก จึงสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าร่างทรง เป็นหนังหนังสยองขวัญะดับ top จาก gdh (และ GTH เลย) เลยทีเดีย

หนังสามารถใส่ความไม่ไว้วางใจให้สัมพันธ์กับสถานที่ได้ดีมาก เช่นโรงงานปั่นด้ายร้างของตระกูลยะสันเทียะ เรารู้สึกว่าทั้งตึกไม่มีจุดไหนปลอดภัยเลย ราวกับว่าตัวละครทุกตัวที่เดินเข้าไปในอาคารเหมือนกับก้าวเท้าลงไปในนรกก็ไม่ปาน หรือแม้แต่ในห้องนอนของมิงค์เองก็รู้สึกว่า ทุกครั้งที่ตัวละครอื่นเดินเข้า เราก็รู้สึกว่าตัวละครนั้นจะไม่ปลอดภัย จุดนี้แหละที่สร้างความน่ากลัวให้หนังได้ทรงพลังเป็นอย่างมากไม่แพ้จุดอื่น ๆ เลย

ถ้าจะพูดถึงในสองชั่วโมงกว่าของการดำเนินเรื่อง ผมรู้สึกว่า ประมาณหนึ่งชั่วโมงสามสิบนาทีของหนังนั้นถือว่ามาดีมาก ๆ ปูพื้นฐานของความเป็นหนังคติชนวิทยาได้อย่างดีที่สุดเท่าที่หนังไทยเคยทำมา นำความเชื่อเรื่องศาสตร์ผีมาเล่าได้อย่างดีมาก แต่เสียดายว่าครึ่งชั่วโมงสุดท้ายที่เขาดึงอารมณ์ของคนดูเข้าสู่ความระทึกขวัญแบบเหยียบคันเร่งไม่แตะเบรคเลย ผมกลับรู้สึกว่ากลายเป็นการลดดีกรีของหนังลงไปเยอะกลับกลายว่าเป็นหนังซอมบี้ที่ฝรั่งเขาชอบทำกันมากว่าหนังสยองขวัญแบบไทย ๆ ผมรู้สึกนี่คือไอเดียนาฮงจินหรือไม่ เพราะเขาก็ใส่ซอมบี้ในหนังคติชนเกาหลีอย่างใน The Wailing เช่นกัน ส่วนตัวผมคิดว่ามันไม่เข้ากับบริบทกับหนังคติชนวิทยาไทยสักเท่าไหร่  ประมาณว่าปูหนังให้เป็นคติชนวิทยาไทยพื้นบ้านจ๋า แต่มาเล่นผีในบริบทหนังฝรั่งเฉยเลย อันนี้ต้องขอหักคะแนนครับ

ถ้าหากลองพิจารณาอีกทีก็เข้าใจทางทีมสร้างว่า เขาก็ต้องการตอบสนองกลุ่มคนดูให้กว้างมากขึ้น จึงใส่ความระทึกขวัญสไตล์บ้านผีสิงเข้าไปในช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้าย ก็ประมาณว่าแบ่ง ๆ กัน สายเล่าเรื่อง สายคติชน เน้นบท เน้นรายละเอียด ก็ดูช่วงหนึ่งชั่วโมงครึ่งไป ใครมาสายระทึกขวัญก็ดูครึ่งชั่วโมงสุดท้ายไป Win Win

#ภาพและอิทธิพล

ชอบการใช้ภาพกับมุมกล้องแบบการถ่ายสารคดี ภาพ found footage ผสมภาพแบบภาพบนตร์ ที่ตลอดทั้งเรื่องนั้นแทบไม่ได้วางกล้องแบบนิ่ง ๆ เลยมีการขยับไปขยับมาไปตลอด เพียงแค่สิ่งนี้ก็สามารถสะท้อนเรื่องความมั่นคงภายในจิตใจของมนุษย์หรือความไม่มั่นคงในการดำรงชีวิตของมนุษย์ภายใต้ระบบความเชื่อศาสนาผีได้ดีมากแล้ว และยิ่งเป็นช่วง ท้ายของเรื่องที่เขาสามารถนำเทคนิคแบบ found footage มาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การวิ่งหนี การส่ายไปส่ายมาแบบหาโฟกัสไม่ได้มันมีเสน่ห์อย่างที่สุด ดึงอารมณ์ระทึกขวัญได้มากที่สุด จุดนี้ได้ยอมรับเลยว่าทีมกำกับภาพเขาเก่งมาก ดูไปดูมาก็อดคิดไม่ได้ว่า The blair Witch Project, Grave Encounters, REC น่าจะมีอิทธิพลต่อร่างทรงในจังหวะเหล่านี้อยู่ไม่น้อย

#จบแบบแขวนคนดู

ชอบการไม่เฉลยอะไรของหนัง เอาเข้าจริง ๆ หลายสิ่งหลายอย่างที่อยู่ภายในหนังนั้น เขาได้ผูกปมปัญหาหรือตั้งคำถามเอาไว้หลายเรื่องเช่น ตัวละครมิ้งผิดขนบเรื่องการมีเพศสัมพันธ์กับคนในครอบครัวหรือไม่ (Incest) หรือไม่ แม็คพี่ชายของมิ้งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการขี่มอเตอร์ไซค์จริงหรือไม่ ตัวละครมิ้งผิดกฎขนบของสังคมเรื่องการทำแท้งหรือไม่ หรือเอาเข้าจริง ๆ แล้ว ดวงวิญญาณย่าบาหยันมีจริงหรือไม่ เหล่านี้หนังไม่ได้เฉลยอะไรเลย เขาปล่อยให้คนดูไปคิดต่อเอาเองตามแบบฉบับของวิธีการทางคติชนวิทยาชัด ๆ เพราะแนวทางของคติวิทยาก็คือไม่ต้องการคำตอบที่ชัดเจน ไม่ต้องการการพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่จริง เพียงแค่ต้องการให้รับรู้ถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมหนึ่งสังคมใดเพื่อความเข้าใจเท่านั้น แม้หนังจะเลือกการจบแบบแขวนคนดูเอาไว้ ส่วนตัวแล้วผมก็มีความยินดีที่จะให้ถูกแขวนไว้แบบนั้น ดีกว่ามาเฉลยอะไรไปทั้งหมดจนไม่เหลืออะไรให้เราคิดต่อหลังจากหนังจบเลย

บรรยากาศโดยรวมของหนังผมถือว่าดีเยี่ยม เขาสามารถคุมโทนของเรื่อง ดูแล้วค่อนข้างหมองหม่น เหมือนกับว่าเรื่องทั้งเรื่องอยู่ใต้บรรยากาศใต้เมฆดำปกคลุมครึ้มไปทั้งหมด ซึ่งก็เป็นการแสดงถึงสัญลักษณ์ว่าผู้คนดำรงชีวิตอยู่ภายใต้มีความเชื่อของศาสนาผีนั่นเอง การเลือกใช้โลเคชั่นหรือสถานที่ถ่ายทำถือว่ายอดเยี่ยม บรรยากาศของป่าเขาลำเนาไพร บรรยากาศของหมู่บ้าน ก็เหมาะสมกับเนื้อเรื่องโดยรวมของหนัง การถ่ายภาพถือว่าสวยมาก

#การแสดงอันยอดเยี่ยม

สิ่งสำคัญที่สุดที่มีความสำคัญต่อความสนุก ความระทึกขวัญความสยองขวัญและบรรยากาศของความเป็น ภาพยนตร์ร่างทรงก็คือความสามารถของนักแสดงในการสื่อสารให้กับผู้ชมไดัรับรู้และเข้าใจบริบทของตัวละครแต่ละตัวและภาพรวมของหนังทั้งหมด ก่อนอื่นต้องขอชื่นชม สวนีย์ อุทุมมา ที่รับบทเป็นป้านิ่ม ตัวละครร่างทรงย่าบาหยัน ถือว่าเป็นตัวดำเนินเรื่องสำคัญที่สุดของเรื่อง การพูด การแสดง สีหน้าอารมณ์ที่นิ่งแต่ลงลึกของเธอนั้นสามารถถ่ายทอดความรู้สึกทางอารมณ์ของตัวละคร ความไม่มั่นคง และรวมถึงความย้อนแย้งภายในจิตใจของตัวละครได้อย่างดีมาก

ส่วน นริลญา กุลมงคลเพชร ที่รับบทเป็นมิ้ง ผมนี่ถือว่าเธอคือของขวัญที่ดีที่สุดของวงการภาพยนตร์ไทยในช่วงเวลานี้ เธอถ่ายทอดบทหญิงสาวที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับการปฏิเสธการเป็นร่างทรงได้อย่างยอดเยี่ยม ถ่ายทอดการถูกสิงได้อย่างยอดเยี่ยม ทุกการแสดงของเธอนั้นทำให้เราเชื่อได้อย่างสนิทใจว่าเธอคือมิ้ง เธอเล่นทุกบททุกฉากอย่างสุดตัวมาก เริ่มจากวัยคนทำงานแบบธรรมดาไปจนถึงบทหนักหน่วง แม้ผู้กำกับจะประเคนบทที่สะอิดสะเอียน สกปรก มากแค่ไหน เธอก็สามารถแสดงออกมาได้ไม่มีอะไรให้กังขา ส่วนหนึ่งที่ทำให้บทนี้ประสบความสำเร็จเพราะว่าเธอนั้นคือนักแสดงหน้าใหม่ที่หลายคนอาจไม่เคยเห็นผลงานของเธอมาก่อนเลย เลยทำให้เราไม่ติดภาพจำของนักแสดงคนนี้มาก่อนนั้นเอง ที่สำคัญคือสร้างความประทับใจได้น่าทึ่ง กล่าวได้ว่านริลญา กุลมงคลเพชรคือ เพชรน้ำงามของวงการภาพยนตร์ไทยในช่วงเวลานี้อย่างแท้จริง

#ปรัชญาและสาส์นสำคัญ

ในแง่ของปรัชญาภาพยนตร์ สาส์นสำคัญจากทีมสร้างที่ต้องการเน้นในเรื่องคติความเชื่อศาสนาผีในสังคมดั้งเดิมของคนไทยต่อคนชมนั้น ผมว่าทีมงานเขาสามารถ ถ่ายทอดออกมาได้อย่างดีงามที่สุดแล้ว ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนดูสามารถรับสาส์นที่เขาส่งมาได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าใครสามารถรับรู้และถูกจริตก็จะชอบหนังเรื่องร่างทรงมาก ๆ แต่หากใครตีความสาส์นผิดก็อาจจะไม่ชอบหนังเรื่องร่างทรงไปเลย

การส่งสาส์นนี้ทีมสร้างเขาตั้งใจนำเสนอทุกประเด็นออกมาให้กับคนดูให้มากที่สุด เปรียบเสมือนกับนักทำสารคดีในภาพยนตร์ที่ต้องการให้คนรับรู้สิ่งที่เขาเห็นได้มากที่สุดนั่นแหละ คนดูจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็อีกเรื่องหนึ่ง บางอย่างเราอาจขัดใจหรือเห็นแย้งเราก็ทำอะไรไม่ได้ แทรกแซงกระบวนการหรือสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ เราคนดูจึงเปรียบผู้สังเกตการณ์ปรากฏการณ์ในสิ่งที่เกิดขึ้นหนัง ไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินว่าสิ่งที่เห็นนั้นถูกหรือผิด จริงหรือไม่จริง หากเราลองสังเกตให้ดีจะเห็นว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์อะไรก็ตาม จะดีหรือร้ายก็ตาม ล้วนแต่ผ่านกล้องของทีมถ่ายทำสารคดีเท่านั้น และทีมถ่ายทำสารคดีแทบจะไม่ได้ไปยุ่งไปจับไปช่วยอะไรตัวละครที่เผชิญสถานการณ์นั้นเลย แม้แต่ในตอนช่วงสำคัญที่สุดในท้ายเรื่องก็ไม่ได้เข้าไปช่วยใครหรืออะไรเลยนั่นเอง

อย่างไรก็ตามหนังก็มีหลายจุดที่รู้สึกว่ายังขาด ๆ เกิน ๆ อยู่บ้าง การพูดต่อหน้ากล้องของตัวละครดูจะล้น ๆ ไปสักหน่อย เหล่านี้จะทำลายอารมณ์ของภาพยนตร์มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับจริตของคนดูแต่ละคนเช่นกัน

#บทสรุป

อนุภาคต่าง ๆ ในเรื่องร่างทรงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางคติชนวิทยา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องร่างทรง การเปลี่ยนผ่านการเป็นร่างทรง ผี การเคารพและการประนีประนอมกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ความเชื่อเรื่องเคล็ดลางคุณไสย หรือคติความเชื่อทางศาสนาผีบางประการ ผมคงไม่สามารถอธิบายได้ในการรีวิวส่วนนี้ได้หมด เพราะมีเนื้อหาที่ยาวและมีรายละเอียดที่มากเกินไป ประมาณว่าหากตั้งใจพูดถึงอนุภาคเรื่องเหนือธรรมชาติทั้งหมดในภาพยนตร์ก็น่าจะเขียนเป็นงานวิจัยมา 1 เล่มหนา ๆ ได้เลย ในจุดนี้ขอบอกว่าหากใครเรียนทางสาขามานุษยวิทยาและคติชนวิทยา หากนำประเด็นเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติจากภาพยนตร์เรื่องร่างทรงไปต่อยอดทำการวิจัยได้ จึงขอยกยอดไปในการเขียนบทความฉบับย่อในส่วนของ "เชิงอรรถการอธิบายสิ่งเหนือธรรมชาติในภาพยนตร์เรื่องร่างทรง" ในครั้งต่อไปครับ

กล่าวโดยสรุป ก็ขอพูดสั้น ๆ ณ ที่นี้ว่า #ร่างทรงไม่ใช่หนังผี #แต่ร่างทรงคือหนังคติชนวิทยาอย่างแท้จริง

9/10
@วาทิน ศานติ์ สันติ


#SuperReviewChannel 
#บทความไทยศึกษาคติชนวิทยา
#ร่างทรง2021
#ร่างทรง
#TheMedium

หมายเลขบันทึก: 693087เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2021 15:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2021 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท