แพะรับบาป


แพะรับบาป

แพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิด Capra hircus ในวงศ์ Bovidae เป็นสัตว์กีบคู่ขนาดกลาง มีความอดทนแข็งแรงและทนทานต่อโรคได้ดีกว่าสัตว์กีบคู่ชนิดอื่นๆ สามารถปีนป่ายที่สูงโดยเฉพาะโขดหินหรือภูเขาได้ดี ขนหยาบสีดำ ขาว น้ำตาล มีเขา 1 คู่ ตัวผู้มีเครา หางสั้น แพะชอบอาศัยอยู่ในที่สูงชัน มันวิ่งขึ้นลงได้อย่างคล่องแคล่วและมั่นคง ปกติแพะตัวผู้จะแยกอยู่กับตัวเมีย ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์

ตามหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่า มีการเลี้ยงแพะตั้งแต่ 6,000 - 7,000 ปีก่อนคริสตกาล แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าแพะมีบรรพบุรุษมาจากอะไรกันแน่ แต่แพะสมัยใหม่ (Modern goats) ส่วนใหญ่สืบสายพันธุ์มาจากแพะบีซอร์ (Bezoar goat) ซึ่งอาศัยอยู่ในแถบเทือกเขาเอเชียน้อย (Mountains of Asia Minor) ข้ามไปยังเอเชียกลางจนถึงซินด์ (Sind) 

ไรอัน เรย์โนลล์ นักแสดงฮอลลีวูด ชาวแคนาดา กับแพะน้อยสัตว์เลี้ยงแสนรักของเขา

 คริส ซี ทีเกน นางแบบชาวอเมริกัน กับ ลูกแพะน่ารัก

ปัจจุบันมีหลายประเทศที่นำแพะป่าไปเลี้ยงเป็นแพะบ้าน แพะเป็นสัตว์ที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไปในประเทศต่างๆทั่วโลก เนื่องจากเป็นสัตว์เลี้ยงง่าย ค่าใช้จ่ายในเรื่องอาหารน้อยมากเมื่อเทียบกับหมูและไก่ อาหารส่วนใหญ่ของแพะคือใบไม้และหญ้า ในหลายประเทศเลี้ยงแพะเพื่อนำขนไปทำเสื้อกันหนาว แพะประเภทนี้มักเลี้ยงในที่ราบสูงเพราะมีอากาศหนาว แพะจึงปรับตัวสร้างขนขาวหนาปกคลุมเพื่อให้ตัวมันอบอุ่น คนเลี้ยงจะตัดขนมาทำเสื้อกันหนาวสวมใส่กันทั่วไปในเขตหนาว แต่บางกลุ่มก็เลี้ยงเพื่อกินเนื้อหรือนม ซึ่งนิยมกันมากในกลุ่มชาวมุสลิม

แพะมีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขาของแพะจะงอโค้งไปข้างหลัง แพะตัวผู้มีเครายาวที่คางและมีกลิ่นตัวแรงมาก หน้าผากของแพะจะนูนโค้งออกมาแตกต่างจากแกะ เขาของแกะงอกออกไปทางด้านข้างและมีเขาเฉพาะตัวผู้เท่านั้น และหน้าผากของแกะค่อนข้างลาดแอ่นลึก

แพะพื้นเมืองในประเทศไทยมีหลายพันธุ์ด้วยกัน เช่น แพะจังหวัดตาก จังหวัดกาญจนบุรี เป็นแพะมาจากประเทศอินเดียหรือปากีสถาน มีรูปร่างสูงใหญ่กว่าแพะทางใต้ ส่วนแพะทางใต้ของไทยมีขนาดเล็ก เข้าใจว่ามีสายพันธุ์เดียวกับแพะพื้นเมืองทางใต้ มีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 20-25 กิโลกรัม ให้ผลผลิตทั้งนมและเนื้อต่ำ แพะพันธุ์ต่างประเทศ ได้แก่ แพะพันธุ์ชาแนน เป็นแพะนมมีขนาดใหญ่ ให้ผลผลิตนมสูงกว่าแพะอื่นๆ มีขนสั้น ไม่มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย

แพะเป็นสัตว์ที่คนไทยไม่คุ้นเคยนัก หากสัญลักษณ์ของปีมะแมไม่ใช่แพะ คนไทยไม่นิยมเลี้ยงแพะเพราะรังเกียจว่าแพะมีกลิ่นสาบ คนไทยไม่ดื่มนมแพะซึ่งให้ความอบอุ่นสูง แต่ชาวไทยมุสลิมใน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส จะคุ้นเคยกับแพะเป็นอย่างดีและเลี้ยงแพะกันเกือบทุกบ้าน ตามสถิติจำนวนแพะมีมากกว่าจำนวนประชากรเสียอีก

ด้วยเหตุนี้แพะจึงมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวมุสลิม และเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมที่สำคัญของศาสนาอิสลาม ซึ่งมีบัญญัติไว้ชัดเจนว่า แพะเป็นสัตว์ที่มีไว้เชือดเพื่อการทำบุญทำทาน แพะจึงเป็นหนึ่งในจำนวนสัตว์ไม่กี่ชนิดที่ชาวมุสลิมเลี้ยงไว้เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

ผู้นับถือศาสนาอิสลามทุกคนจะต้องไปประกอบพิธีฮัจญ์อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ใครได้ไปแล้วถือว่าได้กุศลอย่างมาก ด้วยเหตุที่เป็นการประกอบพิธีทางศาสนาอันสำคัญจึงมีข้อห้ามและระเบียบปฏิบัติมากมายหลายข้อด้วยกัน แต่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์อาจหละหลวมละเลยระเบียบข้อห้ามบางอย่าง จึงมีข้อปฏิบัติที่เปิดช่องไว้ว่าสามารถเชือดแพะเพื่อไถ่บาปได้

นอกจากนี้คนมุสลิมจะเชือดแพะเมื่อได้บุตร ตามความเชื่อของชาวมุสลิม การกินเนื้อแพะเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความสมหวัง ดังนั้นการได้บุตรจึงเสมือนกับความสมหวัง เป็นของกำนัลที่พระเจ้าทรงมอบให้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการเฉลิมฉลองด้วยการล้มแพะเพื่อหุงต้มทำแกงตามธรรมเนียม พระคัมภีร์อังกุรอานได้กำหนดไว้ว่าในโอกาสที่มีทารกเกิดใหม่ในครอบครัวควรทำพิธีเชือดแพะ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสักการะแด่พระเจ้าด้วยความรัก ความศรัทธา และขอบคุณที่พระองค์ทรงส่งผู้สืบสกุลมาให้

สำหรับเนื้อแพะที่เชือดแล้วให้นำมาปรุงอาหารเลี้ยงมุสลิมเพื่อนบ้านที่เชิญมาร่วมพิธีเพื่อเป็นทาน ในรายละเอียดของพิธีกรรมระบุว่า ถ้าทารกเป็นเพศชายให้เชือดแพะ 2 ตัว ถ้าเป็นเพศหญิงเชือดเพียงตัวเดียว ในกรณีที่ได้ลูกแฝดให้ทวีคูณไปตามหลักการดังกล่าว สำหรับในกรณีที่มีภรรยามากกว่าหนึ่งคน และมีบุตรพร้อมกันก็ให้ถือสิทธิ์โดยเท่าเทียมกัน

แกงกะหรี่แพะ

ซี่โครงแพะย่าง

ข้าวหมกแพะ

แพะตุ๋นยาจีน

เคบับแพะ

ที่มาของ "แพะรับบาป" 

จากเว็บไซต์สำนักราชบัณฑิตยสถาน ได้บอกที่มาของคำว่า "แพะรับบาป" ไว้ดังนี้
1. แพะรับบาปเป็นพิธีปฏิบัติในวันลบบาปประจำปีของชาวอิสราเอล ซึ่งมีการบูชายัญแพะสองตัว แพะตัวแรกจะถูกเชือดถวายพระเป็นเจ้า เป็นเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาปของประชาชน เรียกว่า แพะไถ่บาป ส่วนแพะอีกตัวหนึ่งจะถูกนำไปปล่อยในป่าลึกพร้อมกับบาปของประชาชนที่ยกให้ตกแก่แพะตัวนั้น แพะตัวนี้จะเรียกว่า "แพะรับบาป"

2. "แพะรับบาป"การบูชายัญในศาสนาฮินดู เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่นำแพะหรือสัตว์อื่นๆ มาฆ่าบูชายัญ เพราะมีความเชื่อว่าแพะจะช่วยไถ่บาปให้มนุษย์ได้

3. ในสมัยโบราณจากธรรมชาติของแพะเวลาที่มันตกใจ ข้อต่อของมันจะล็อคและวิ่งต่อไปไม่ได้ ดังนั้นฝรั่งที่เลี้ยงแกะจึงนำแพะมาปะปนอยู่กับฝูงแกะ เมื่อหมาป่าจะเข้ามากินแกะ หมาป่าจะได้กินแพะแทน เพราะแกะมีราคาแพงกว่า เป็นที่มาของสำนวน "แพะรับบาป"

สำนวน"แพะรับบาป" หมายถึง คนที่รับเคราะห์กรรมหรือความผิดแทนผู้อื่น ทั้งที่ตัวไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย

ตัวอย่าง
เขาต้องกลายเป็นแพะรับบาปถูกจำคุกในคดีค้ายาเสพติด เนื่องจากรับฝากกระเป๋าจากคนที่ไม่รู้จักที่สนามบิน ทำให้เขาถูกตำรวจตั้งข้อหามียาเสพติดในครอบครอง

ตำรวจรวบตัวผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมได้อย่างรวดเร็ว หลายคนเชื่อว่าเขาเป็นแพะรับบาป

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 692633เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2021 12:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 11:12 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท