สายป่านสั้น - สายป่านยาว


สายป่านสั้น-สายป่านยาว

ประเทศไทยอยู่ในเขตลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าประเทศไทยระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ลักษณะอากาศร้อนชื้นฝนตกชุก ชาวนาไทยเริ่มออกสู่ท้องนาเพื่อไถหว่านข้าวกล้า ในช่วงปลายฝนต้นหนาวจะมีลมที่พัดเอาความแห้งแล้งและหนาวเย็นจากภาคใต้ของจีนมาสู่บริเวณของประเทศไทย เรียกว่า "ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ" ในระยะนี้ตามชนบทของประเทศไทยจะเป็นเวลาเก็บเกี่ยวข้าวในท้องทุ่งนา ลมที่พัดจากทิศเหนือลงใต้นี้ชาวบ้านเรียกว่า "ลมว่าว" ส่วนลมที่เล่นว่าวพัดจากทิศใต้ขึ้นเหนือในช่วงกลางฤดูร้อน เรียกว่า "ลมตะเภา" ช่วงเวลานี้ชาวนาเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จจะประดิษฐ์ว่าวต่างๆ ขึ้นสู่ท้องฟ้า ส่วนเด็กๆ ก็ว่างจากการเรียนเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคเรียนก็จะสนุกสนานเล่นว่าวที่ทำและเล่นง่ายๆ เช่น ว่าวปักเป้า ว่าวงู เป็นต้น

สันนิษฐานว่าคนไทยเล่นว่าวเป็นกีฬามาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งชักว่าวจุฬา อีกฝ่ายหนึ่งชักว่าวปักเป้า และเล่นคว้ากัน ฝ่ายว่าวจุฬามีการวิ่งรอกเพื่อให้สายป่านว่าวปักเป้าติดจำปา ส่วนการพนันว่าวถือว่าเป็นเรื่องของการเพิ่มสีสันความเร้าใจ ถ้าไม่มีการพนันกันแล้วจะไม่เร้าใจผู้เล่น และผู้ชมให้ตื่นเต้นสนุกสนาน

ในสมัยสุโขทัยมีเอกสารที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเหนือว่า “ พระร่วงเจ้าทรงเล่นว่าวอย่างไม่ถือพระองค์ว่าเป็นท้าวเป็นพระยา” ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กล่าวถึงเดือนยี่พระจันทร์โคจรอยู่ในกลุ่มดาวปุษยะ (ดาวปุยฝ้ายหรือดาวรวงผึ้ง) กระจุกดาวเปิดในราศีกรกฎไว้ว่า " เดือนยี่ถึงการพระราชพิธีบุษยาภิเษก เถลิงพระโคกินเลี้ยงเป็นนักขัตรฤกษ์ หมู่นางในก็ได้ดูชุดชักว่าวหง่าว ฟังสำเนียงเสียงว่าวร้องเสนาะลั่นฟ้าไปทั้งทิวาราตรี"

สมัยกรุงศรีอยุธยา การเล่นว่าวมีปรากฏในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวไว้ว่า "...ว่าวของพระเจ้ากรุงสยามปรากฏในท้องฟ้าทุกคืนตลอดระยะเวลา 2 เดือนในฤดูหนาว..." และยังกล่าวว่า "...ว่าวเป็นกีฬาที่เล่นอยู่ทั่วไปในหมู่ชาวสยาม" ในกรุงศรีอยุธยามีการเล่นว่าวกันมากถึงกับมีกฎมณเฑียรบาลห้ามมิให้ประชาชนเล่นว่าวทับพระราชวังที่เมืองละโว้ ในเวลากลางคืนรอบพระราชนิเวศน์จะมีว่าวต่างๆลอยอยู่ ว่าวนี้ติดโคมส่องสว่างและลูกกระพรวนส่งเสียงดังกรุ๋งกริ๋ง ในสมัยพระเพทราชาได้ยกทัพไปปราบพระยายมราชเจ้าเมืองนครราชสีมาซึ่งเป็นกบฏ เข้าตีหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ พระองค์ชอบการเล่นว่าว จึงใช้ว่าวจุฬาผูกหม้อดินดำชักขึ้นข้ามกำแพงเมือง แล้วจุดไฟชนวนให้ตกใส่บ้านเรือนภายในกำแพงเมือง เกิดไฟไหม้โกลาหล จึงสามารถเข้าตีเมืองนครราชสีมาได้สำเร็จ เมื่อถึงปลายกรุงศรีอยุธยามีข้าศึกสงคราม บ้านเมืองไม่สงบ การเล่นว่าวจึงซบเซาไป

สมัยรัตนโกสินทร์ ปรากฏหลักฐานว่าในสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเล่นว่าวจุฬาที่สนามข้างวัดพระแก้วแข่งขันกับว่าวปักเป้าของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ที่ท้องสนามหลวง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5 การเล่นว่าวเริ่มคึกคัก มีสนามเล่นว่าวเกิดขึ้นหลายแห่ง สุดท้ายจึงมาปักหลักเล่นว่าวกันที่ทุ่งพระเมรุหรือท้องสนามหลวง

นอกจากนี้ยังมีการจัดเทศกาลว่าวนานาชาติตามเมืองท่องเที่ยวเช่น หัวหิน ชะอำ พัทยา เป็นประจำทุกปี ทำให้การเล่นว่าวมีสีสันตระการตายิ่งขึ้น

ความนิยมเล่นว่าวมีปรากฏในวรรณคดีเรื่องสุวรรณหงส์ พระสุวรรณหงส์พบผอบทองเสี่ยงทายหาคู่ของนางเกศสุริยงลอยน้ำมา ก็อยากจะพบนาง จึงทำว่าวขนาดใหญ่ผูกสายป่านชักขึ้นสู่ท้องฟ้า เสี่ยงทายให้ว่าวลอยไปตกที่เมืองของนางเกศสุริยง สายป่านไปพันกับยอดปราสาท พระสุวรรณหงส์จึงไต่สายป่านเข้าไปพบนางเกศสุริยงในเมืองได้

ในนิทานพื้นบ้านเรื่องแก้วหน้าม้า พระปิ่นทองได้ออกมาเล่นว่าวนอกวัง ลมแรงมากทำให้ว่าวของพระปิ่นทองหลุดมือและปลิวไปตามลม นางแก้วหน้าม้าเก็บว่าวได้ พระปิ่นทองต้องให้สัญญาว่าจะรับนางเข้าวังไปเป็นมเหสีจึงจะยอมคืนว่าวให้ พระปิ่นทองจำใจรับข้อตกลงของนางแก้วหน้าม้า แต่ก็พยายามกลั่นแกล้งนางต่างๆนานาเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้

ในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่ นำเอาการแข่งขันว่าวจุฬาว่าวปักเป้ามาใช้บรรยายในบทอัศจรรย์ระหว่างพระอภัยมณีกับนางผีเสื้อสมุทร ดังนี้

เกิดกุลาคว้าว่าวปักเป้าติด
กระแซะชิดขากบกระทบเหนียง
กุลาส่ายย้ายหนีตีแก้เอียง
ปักเป้าเหวี่ยงยักแผละกระแซะชิด
กุลาโคลงไม่สู้คล่องกระพร่องกระแพร่ง
ปักเป้าแทงตะละทีไม่มีผิด
จะแก้ไขให้หลุดสุดความคิด
ประกบติดตกผางลงกลางดิน

สำนวน " สายป่านสั้น " เป็นสำนวนที่มาจากการเล่นว่าวจุฬาคว้าปักเป้า ซึ่งว่าวจุฬาต้องมีสายป่านยาวจึงจะคว้าสะดวก และเมื่อติดปักเป้าแล้วจะผ่อนสายเล่นคลุกปักเป้าให้เสียท่าอย่างไรก็ได้ ถ้าสายป่านสั้นก็จะทำอะไรเช่นนี้ไม่ได้ เปรียบเทียบถึงการมีเงินน้อยทุนน้อย

สำนวน "สายป่านสั้น" หมายถึง มีเงินทุนหมุนเวียนน้อย ทำให้ขาดสภาพคล่อง ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจต้องปิดตัวลง

ข้อคิดที่ได้จากสำนวน "สายป่านสั้น" การเริ่มลงทุนในกิจการต่างๆควรเริ่มจากกิจการเล็กๆก่อน อย่าเพิ่งเริ่มใหญ่โตเกินตัว หากกิจการไปได้ดีจึงค่อยๆขยับขยายขึ้น เพราะถ้าสายป่านไม่ยาวพอหรือมีเงินหมุนเวียนไม่มากพออาจจะไปไม่รอด การจะประสบความสำเร็จนอกจากต้องมีสายป่านที่ยาว ยังขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความสามารถ จังหวะและโอกาสดีๆอีกด้วย

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
 

หมายเลขบันทึก: 692374เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2021 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท