เดือนปล่อยผี: อาหารการกินและการทำบุญเลี้ยงผีในภาพภาพยนตร์


#ความเรียง #บทความภาพยนตร์
เดือนปล่อยผี: อาหารการกินและการทำบุญเลี้ยงผีในภาพภาพยนตร์

ในภาพยนตร์ไทยเรื่องอาปัติ หรือเปรตอาบัติ ได้มีฉากที่ทำให้เราเห็นในพิธีกรรมของผู้คนที่อยู่ในต่างจังหวัด เป็นวิธีการที่กระทำในช่วงก่อนฟ้าสาง ผู้คนเดินถือกระทงอาหารที่ปักด้วยธูปเทียนไปวางไว้ตามทางเดิน ตามโคนต้นไม้ หลังจากที่พนมมือขึ้นบอกกล่าว ก็มีเสียงกรีดร้องเสียงดังเสียดหูดังขึ้นไปทั่วป่า เข้าใจว่านั่นคือเสียงของเปรตที่มารับส่วนบุญและอาหารนั้นไป

ในภาพยนตร์เรื่อง 5 แพร่งตอนหลาวชะโอน เราจะเห็นว่าผู้คนนำอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาวหวาน อาหารแห้งและขนมไปวางไว้ตามพื้นดิน เณรที่ไปบวชในวัดป่า เกิดอาการหิวตอนดึกก็เอาอาหารจากที่วางนั้นมากิน โดยที่ไม่รู้ว่าผู้คนวางอาหารไว้กับพื้นทำไม พระเอกจังหวะหนึ่งก็คือหนังทำให้เห็นพิธีกรรมการชิงเปรต เลยที่มีคนปีนขึ้นไปบนเสาไม้สูงที่เรียกว่าหลาวชะโอนแล้วก็โปรย โยน หว่าน ก็แล้วแต่จะเรียกลงมาด้านล่าง และรวมถึงที่เณรเห็นเปรตตัวสูงใหญ่เดินมากินของบนหลาวชะโอนด้วย

ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนั้น เป็นภาพยนตร์สยองขวัญที่สะท้อนให้เห็นถึง ผู้คนที่มีชีวิตอยู่ได้อุทิศอาหารให้กับ เทวดา ดวงวิญญาณ ของญาติผู้ล่วงลับ ผีไม่มีญาติ หรือบรรดาเปรตทั่วไป ถือว่าเป็นการทำบุญทำกุศลครั้งใหญ่ แต่ถ้าตัดเรื่องภูตผีปีศาจออกไปแล้ว นี่ก็เป็นสิ่งที่แสดงน้ำใจของผู้คนในการแบ่งปันอาหารให้กับผู้คนทั่วไปอีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วปีนึงจะทำสักครั้งหนึ่ง แล้วก็กำหนดเวลาในช่วงหลังจากการเก็บเกี่ยวพืชผล เพราะเป็นช่วงที่ มีอาหารเยอะแบบเหลือกินเหลือใช้ มีเงินมีทองจากการค้าขายผลผลิดนั้น

ในช่วงเดือน 9 หรือเดือน 10 ของไทย นับว่าเป็นช่วงที่ หลังจากที่เก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารแล้ว เป็นช่วงที่เกี่ยวข้องกับคติความเชื่อเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านช่วงฤดูกาล ซึ่งไทยเรานั้นรับมาจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง ผู้คนก็จะนำผลผลิตแรกเก็บเกี่ยวนั้นไปถวายให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทวดา ถือว่าเป็นการตอบแทนที่ดลบันดาลให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ดลบันดาลให้ผลผลิตทั้งหลายออกลูกออกผลตามต้องการ และทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์

นอกจากจะถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทวดาแล้ว ก็ยังนำพืชพันธุ์ธัญญาหารนั้นไปมอบให้กับดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับด้วย ไม่ว่าจะเป็นญาติหรือวิญญาณเร่ร่อนทั่วไปให้ได้กินอาหารอย่างดีในช่วงฤดูกาลหลังจากการเก็บเกี่ยวด้วยเช่นกัน

ในช่วงนี้ก็เชื่อว่า ประตูกั้นระหว่างโลกมนุษย์กับโลกวิญญาณนั้นจะถูกเปิดออก อนุญาตให้เหล่าผีมาหาญาติของพวกเขา ให้ได้รับบุญได้รับกุศลที่พวกญาติได้ทำให้ รวมถึงผีไม่มีญาติที่ตลอดทั้งปีนั้นไม่เคยได้รับส่วนบุญจากญาติของตนเองเลย ก็สามารถมารับส่วนบุญจากผู้คนทั่วไปที่ทำบุญให้อีกด้วย

อาหารที่นำไปถวายหรือมอบให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดา ผีบรรพบุรุษ หรือผีทั่วไปนั้นนอกจากจะเป็นพืชพันธุ์ธัญญาหารที่ผลิตได้ตามแต่ละภูมิภาค มีทั้งอาหารที่ไม่ได้ดัดแปลงคือพืชพันธุ์ผลไม้หรือเนื้อสัตว์ และก็ยังเป็นอาหารที่ได้รับการปรุงแต่งทั้งคาวและหวานด้วย ไม่ได้มีกำหนดอะไรตายตัวนัก ประมาณว่าคนชอบกินอะไร ผีก็ชอบกินแบบนั้น และยังมียาสูบ หมากพลู เหล้า ประกอบด้วยตามแต่กำลัง

ยกตัวอย่างเช่นในภาคอีสาน จะมีพิธีสารทไทยหรือที่เรียกว่า บุญเดือน 9 หรือ บุญข้าวประดับดิน ซึ่งต้องทำให้เสร็จสิ้นในเดือน 9 หรือวันแรม 14 ค่ำ ชาวบ้านก็จัดหาอาหารคาวหวานพร้อมกับหมากพลูบุหรี่ห่อใบตองทำเป็นทรงคล้ายข้าวต้มมัด หรือห่อข้าวน้อยที่มัดหัวท้าย หรืออาจใช้กาบต้นกล้วยมาทำเป็นกระทรงทรงสี่เหลี่ยมก็ได้ ตามแบบที่เราเห็นในหนังเรื่องอาปัตินั่นแหละ ในช่วงคืนนั้นราวตีสามถึงตีห้า ชาวบ้านจะนำหอข้าวไปวางไว้กับพื้นดินบ้าง โคนต้นไม้บ้าง บนกำแพงวัดบ้าง ข้างโบสถ์ข้างเจดีย์บ้าง หรือแม้แต่ตามทางเดิน แล้วก็จุดธูปเทียนเรียกดวงวิญญาณที่ล่วงลับให้มารับอาหารนี้ไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการอุทิศให้กับผีหรือเปรตที่อยู่ในพื้นที่ราบนั่นเอง แต่หากจะอุทิศให้ผีที่เป็นญาติหรือบรรพบุรุษก็เชื่อว่าจะได้รับอาหารหรือส่วนบุญผ่านพระสงฆ์ที่ชาวบ้านนำอาหารไปถวายให้กับพระนั่นเอง คติความเชื่อเรื่องเปรตหรือผีในพื้นที่ราบนั้นปรากฏมาตั้งแต่ในคัมภีร์ไตรภูมิกถา ได้กล่าวว่า "...เปรตลางจำพวกอยู่แทบที่ราบ แลยอมกินอันราบ เป็นอาหารเลี้ยงตนเขา..."

คติความเชื่อเรื่องการให้ทานแก่หรือญาติผู้ล่วงลับนั้นยังเกี่ยวข้องกับเรื่องราวในพุทธประวัติ ตอนที่พระเจ้าพิมพิสารถวายอาหารแด่พระพุทธเจ้าเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับด้วย

ส่วนในภาคใต้จะจัดพิธีเลี้ยงเทวดา หรือผี หรือเปรตในช่วงเดือนสิบ เรียกว่าพิธีสารทเดือนสิบ จัดช่วงวันแรม 1 ค่ำถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ก็จะมีคติความเชื่อเดียวกันเรื่องผีบรรพบุรุษได้กลับมาหาญาติที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อมารับส่วนบุญเช่น และการมอบอาหารให้กับผีญาติบรรพบุรุษหรือ ถวายอาหารให้กับเทวดาทั้งหลาย ก็แล้วแต่ตามสะดวก ซึ่งเป็นความเชื่อเช่นเดียวกันกับทางภาคอีสาน

เมื่อถึงช่วงเวลานี้ ลูกหลานที่ไปทำงานอยู่ต่างแดนก็จะกลับมารวมกัน แล้วทำบุญนี้พร้อมหน้าพร้อมตากัน บางบ้านก็ปูเสื่อวางไว้กับพื้น เอาอาหารตามมีมาวางไว้อย่างเรียบง่าย ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาว อาหารหวาน ข้าวสารอาหารแห้ง กะปิ น้ำปลา เครื่องปรุงรสต่าง ๆ โดยมากแล้วอาหารที่ต้องมีเช่นขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมไข่ปลา แล้วก็ทำพิธีถวายหรือมอบอาหาร จากนั้นเหล่าญาติก็ทำทีว่าแย่งอาหารนั้นกัน อาหารที่หลังจากถวายหรือมอบแล้วก็เชื่อว่าจะกลายเป็นยา ก็ถือว่าเป็นพิธีกรรมแบบง่าย ๆ ที่บ้านของตนเอง

แต่บางที่ก็สร้างความตื่นเต้นและการสร้างความสนุกสนานให้กับงาน ก็จะตั้งร้านเปรต หรือ หลาเปรต หรือ หลาวชะโอน ชื่อที่เราได้ยินจากหนังเรื่อง 5 แพร่งนั่นแหละ  ก็คือต้นปาล์มชนิดหนึ่งตั้งเอาไว้ ด้านบนสุดวางแผ่นไม้ขนาดพอเหมาะเพื่อนำอาหารขึ้นไปวางไว้ด้านบน ก็จะมีการโยงสายสิญจน์ไปที่พระสงฆ์เพื่อทำถวาย จากนั้นหนุ่ม ๆ ที่มีเรี่ยวแรงก็จะแข่งกันปีนขึ้นไปด้านบน ใครขึ้นไปได้ก็จะโปรย โยน หว่าน ก็แล้วแต่จะเรียกลงมาด้านล่าง ผู้คนก็จะแย่งอาหารนั้นไป

การนำอาหารวางไว้ด้านบนหลาวชะโอนนั้น เพราะส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อว่าเปรตบ้างพวกมีลักษณะสูงใหญ่ หากินอยู่ในที่สูงหรือต้นไม้ ดั่งเช่นที่ไตรภูมิกถาได้กล่าวว่า "...เปรตลางจำพวกไปแฝงอยู่บนต้นไม้.." ก็เข้าใจว่าหากินอยู่บนต้นไม้นั้น และด้วยในลักษณะที่มีความตัวสูงใหญ่ก็ต้องกินอะไรที่มันอยู่บนที่สูง ดังนั้นคนเป็นจะทำอาหารให้เปรตกินก็ต้องเอาวางไว้ที่สูงนั่นแหละ

ส่วนอาหารที่ภาคใต้นิยมทำเลี้ยงเปรตและมีความสำคัญมากที่สุดชนิดหนึ่งคือขนมลา ทำจากส่วนผสมของแป้งข้าวเจ้าและน้ำผึ้งเป็นหลัก แล้วทำให้เป็นเส้นเล็ก ๆลักษณะคล้ายเส้นด้ายวางซ้อนทับกันเป็นแพ เพราะมีความเชื่อว่าถ้าได้ให้ขนมนี้กับเปรตที่มีลักษณะปากเท่ารูเข็มก็จะสามารถกินขนมลานี้ได้ ดังเช่นที่ไตรภูมิกถาได้กล่าวว่า "เปรตลางจำพวกตัวเขาใหญ่ ปากน้อยเท่ารูเข็มนั้นก็มี.." และเนื่องจากการนำขนมลามีลักษณะเป็นแผ่นก็เชื่อว่า ขนมลาจะกลายเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์นุ่งห่มร่างกายของผีและเปรตเหล่านั้นได้ด้วย

การจัดพิธีบุญเดือนเก้าหรือสารทเดือนสิบ ทำขึ้นใน สังคมเกษตรกรรมที่ได้เก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารแล้วก็จะมีการเฉลิมฉลองกัน เหล่าญาติพี่น้องที่อยู่ต่างจังหวัดก็จะมารวมตัวกัน ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกัน ร่วมกันกินอาหารที่ได้จากผลผลิต

และนี่เองก็เลยกลายเป็นกุศโลบายที่ว่าเหล่าบรรดาญาติผู้ล่วงลับนั้นก็สามารถเดินทางจากโลกหลังความตายมาสู่โลกของคนเป็นได้ด้วยในช่วงเวลานี้ได้ด้วย เพื่อมาหาญาติของเขาที่ยังคงมีชีวิตอยู่ด้วยเช่นกัน

อาหารที่ใช้เลี้ยงเทวดา ผีหรือเปรต ก็นำมาเลี้ยงคนต่อได้ แจกจ่ายคนทั่วไปได้ นับว่าได้ประโยชน์หลายต่อ

และอาหารที่ทำเลี้ยงเทวดา ผีหรือเปรตนั้นก็เป็นอาหารที่ผู้คนในแต่ละชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นกินกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ในช่วงเวลาที่พิเศษแบบนี้ อาจจะมีอาหารที่ทำมาจากวัตถุดิบที่มีราคาหน่อย ก็เพราะเมื่อนำผลผลิตของตัวเองไปขายแล้วก็จะมีเงิน จึงสามารถซื้อวัตถุดิบราคาสูง หล่านั้นมาทำอาหารกินกันในหมู่ญาติพี่น้องได้นั่นเอง

ดังนั้นหากศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับพิธีกรรม ประเพณีสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นของชนชาติไหน เชื้อชาติไหนก็ตาม ก็ล้วนแต่มีกุศโลบายที่เกี่ยวข้องกับการยึดโยงผู้คนเอาไว้ด้วยกันแทบทั้งสิ้น อีกทั้งยังสะท้อนวิถีชีวิตการทำมาหากินและการกินของผู้คนเอาไว้ด้วย หาใช่เรื่องงมงาย เรื่องเทวดาเรื่องภูตผีปีศาจเพียงอย่างเดียวไม่

เรื่องคติความเชื่อเกี่ยวกับอาหารการกิน โดยเฉพาะอาหารที่เกี่ยวข้องกับพิธีการแห่งการเปลี่ยนผ่านชีวิต นั้นมีมากหากขยันก็จะนำมาเขียนเล่าไว้ในโอกาสครั้งต่อไปในอนาคต

วาทิน ศานติ์ สันติ 
31 สิงหาคม 2564

ภาพบุญข้าวประดับดินจากภาพยนตร์ อาปัติ
ภาพพิธีชิงเปรตจากภาพยนตร์ 5 แพร่งตอนหลาวชะโอน

หมายเลขบันทึก: 692237เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2021 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2021 09:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท