ทะเลสาบในคราบน้ำตาของความจริง ความฝัน และความทรงจำ พร้อมกับปัญหาที่ถูกลืมเลือน


“วลีห่มฟ้าคาราโอเกะอันแวววาว

ทำให้อนิลต้องยิ้มออกมา

ไม่ใช่กับทางช้างเผือกที่พร่างผ่านจักรวาลอ้างว้าง

ตรงหน้า แต่กับตัวเอง

...ที่รอดตายจากเดียวดายเหว่ว้า

มาจนกระทั่งได้พบยิหวา”

         ประโยคเด่นที่ได้รับการบรรจุอยู่ในปกท้ายข้างต้นของหนังสือนวนิยายเล่มนี้สามารถบอกเล่าเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในหนังสือนวนิยายเล่มนี้ได้เป็นอย่างดี หากคุณที่จะเลือกอ่านหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งแล้ว คุณจะดูจากอะไร ถ้าคุณยังไม่รู้จักแม้แต่เรื่องคร่าว ๆ ของหนังสือนั้นแม้แต่น้อย โดยปกติแล้วคนส่วนใหญ่จะดูจากหน้าปกที่สวยงามของหนังสือ และอีกอย่างที่พลาดไม่ได้ก็คือราคา ซึ่งหนังสือมีราคาบอกไว้อยู่เสมอในแถบราคาในส่วนของปกท้าย ถึงแม้ว่าจะดูปกหรือราคาก็แล้วเชื่อเหลือเกินกว่าครึ่งของคนชอบอ่านหนังสือ       มักจะเปิดดูเนื้อหาในหนังสืออย่างเลี่ยงไม่ได้ แล้วถ้าผมให้ข้อแม้คุณอีกหนึ่งว่าถ้าหนังสือเล่มนั้นถูกห่อด้วยพลาสติกสีใสแบบปิดสนิท คุณจะทำอย่างไร? ที่ผมกล่าวมายืดยาวถึงเพียงนี้ผมเพียงแค่ต้องการจะบอกกับคุณว่าประโยคที่อยู่หลังปกหนังสือ ส่วนใหญ่จะนำมาจากเนื้อเรื่องในหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นส่วนบทสนทนา หรือเรื่องราวสั้น ๆ เพื่อชวนให้ผู้อ่านติดตาม ฉะนั้นประโยคที่ได้รับการบรรจุไว้ในปกท้ายของหนังสือสำคัญมากที่ผู้อ่านควรอ่านก่อน เพื่อเป็นกุญแจนำไปสู่เรื่องราวหรือไม่ก็อาจสร้างความฉงนให้ผู้อ่านเกิดความต้องการในการหาคำตอบ ประโยคที่กล่าวถึงในข้างต้นได้บอกเล่าผู้อ่านแล้วว่าเรื่องนี้มีตัวละครหลักอยู่สองตัวละครคือ ยิหวา กับ อนิล 

          “ทะเลสาบน้ำตา” นวนิยายกึ่งแฟนตาซี “ผลงานลำดับที่ 3 ของ วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์สองสมัยใจหาย วาบไหว ชวนให้น้ำตาออกเดินทาง” คำกล่าว (อ้าง) ที่อยู่ในส่วนปกหลังบอกถึงผลงานของนักเขียนรางวัลซีไรต์ วีรพร นิติประภา ได้เป็นอย่างดี หากสังเกตที่ผู้วิจารณ์วงเล็บคำว่า “อ้าง” ไว้ด้านหลังนั้นผู้วิจารณ์เองสงสัยในประโยคที่ว่า “ชวนให้น้ำตาออกเดินทาง” หมายความได้ในสองทางคือทางแรกคือเรื่องเศร้ามากจนทำให้ผู้อ่านร้องไห้ หรือในทางที่สองคือ อ่านยากและยังจับใจความได้ยาก จนผู้อ่านแทบร้องไห้กันเลยที่เดียว เหตุที่ผู้วิจารณ์กล่าวแบบนี้เนื่องจากเคยมีประสบการณ์อ่านนวนิยายซีไรต์ 2558 ซึ่งเป็นนวนิยายเล่มแรกของชีวิตที่ผู้วิจารณ์คิดที่จะอ่าน ในช่วงนั้นมีความทรงจำลาง ๆ ว่าแม่ของผู้วิจารณ์ซื้อมาสองเล่ม คือ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต (นวนิยายที่ได้รางวัลซีไรต์) กับ เนรเทศ และด้วยรางวัลที่การันตี ผู้วิจารณ์จึงเลือกอ่านไส้เดือนตาบอดในเขาวงกตก่อน หากทุกคนที่เคยได้ลองอ่านด้วยตัวเรื่องมีความซับซ้อนของวิธีการเล่า การใช้ประโยค และการตัดต่อ จึงยากต่อการอ่านและตีความหรือจับใจความ ทำให้ผู้วิจารณ์ยังอ่านเรื่องนี้ไม่จบจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นเรื่อง “ทะเลสาบน้ำตา” ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้วิจารณ์เลือกที่จะอ่านแล้วนั้น จึงมีความกังวลใจไม่น้อย เมื่อเห็นชื่อนักเขียนคนนี้

          “ทะเลสาบน้ำตา” เรื่องราวเส้นทางชีวิตอันร้าวรานของเด็กกึ่งหญิงกึ่งชายสองคน ทั้งสองไม่เคยเห็นหน้า หรือรู้จักกันมาก่อน แต่โชคชะตาทำใหพวกเขามีบางอย่างที่คล้ายกันอย่างหน้าประหลาดและได้มาพบกัน เรื่องราวเริ่มต้นจากเด็กผู้หญิงกึ่งชาย “ยิหวา” ที่อาศัยอยู่ในตึก “พิลึกพิลั่น” ซึ่งเธอเป็นคนตั้งชื่อมันเอง ในห้องสีม่วงอมเทาหมอกยามอัสดงบนชั้นเจ็ด เธออยู่คนเดียวในห้องอันเปล่าเปลี่ยวนี้ตั้งแต่แม่ของเธอหนีจากเธอไปโดยทิ้งข้อความไว้บนกระดาษแผ่นหนึ่งว่า “รออยู่นี่นะหวา อย่าไปไหนทั้งนั้น ฉันจะไปตามหาความรัก ..เดี๋ยวมา” (วีรพร นิติประภา, 2563, หน้า 33) เด็กผู้หญิงผู้โดดเดี่ยวในห้องที่ว่างเปล่าดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินเพียงน้อยนิดจากคนที่เป็นหนี้แม่ของเธอที่เอามาให้เธออย่างไม่ขาด จากความเปลี่ยวเหงาเธอจึงเริ่มหาเพื่อนจากการตั้งชื่อให้ต้นไม้ เช่น คุณลุงต้นไทร ซึ่งเธอนับเป็นญาติผู้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาอยู่บริเวณระเบียงห้องของเธอ ก่อนที่จะมีสองคนแม่ลูกและก่อนที่แม่จะหนีเธอไปตามหาความรัก ก่อนหน้านี้ครอบครัวของยิหวาเคยสมบูรณ์และมีความสุข แม่ของยิหวามียิหวาตั้งแต่ตอนที่เธออายุ 14 ปี และพ่อของเขาอายุ 17 ปี พ่อของเธอมีอาชีพทำต้นไม้แคระขายซึ่งได้มาเรียนมาจากคุณปู่ แต่เมื่อยิหวาอายุได้เพียง 2 ขวบ พ่อของเธอก็จากเธอไปอย่างไม่มีวันกลับ แม่และเธอรู้อีกครั้งตอนที่ร่างของพ่อเธอได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของต้นไทรไปแล้วอยู่บริเวณระหว่างริมผา จากนั้นหลายปีแม่เธอก็เริ่มโหยหาความรักจากชายอื่น และมักพูดกับยิหวาเสมอว่า “ถ้าฉันไม่มีแก” (วีรพร นิติประภา, 2563, หน้า 12) และหลังจากนั้นแม่ก็หนีเธอไปตามหาความรักอย่างที่เธออ้างและไม่กลับมาอีกเลย แต่ยิหวาก็ไม่ได้โดดเดี่ยวจนเกินไปหากแต่มีสมาคมลับใต้ต้นชงโคซึ่งประกอบไปด้วย คุณยายไลลา ห่านปุยฝ้าย กับแมวโบ๋แบ๋ คอยมาพบกันอยู่เสมอที่ใต้ต้นชงโค

          อนิล เด็กผู้ชายกึ่งหญิง เหตุที่กล่าวไปอย่างนี้เพราะอนิลมีใบหน้าคล้ายแม่ของเขามาก อนิลเคยอยู่กับแม่ของเขาซึ่งทำงานที่โรงละคร และแม่ของเขาก็มักจะนำเขามาที่โรงละครด้วยเสมอ อนิลตื่นตาตื่นใจกับโคมไฟที่ห้อยระย้าอยู่กลางโรงละครอย่างไม่เบื่อหน่าย ในคืนหนึ่งเขาได้ยินเสียงพ่อและแม่ของเขาทะเลาะกันแล้วพ่อก็ทำร้ายแม่กับอนิล จนในที่สุดพ่อก็เหวี่ยงแล้วขังแม่ไว้นอกบ้านจากนั้นอนิลก็ได้ยินเสียงแม่ร้องเรียกจนหลายวันผ่านไปเขาก็ไม่ได้ยินเสียงแม่และไม่เคยเห็นหน้าแม่อีกเลยนับจากนั้น หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพ่อก็พาเขาไปอยู่ที่บ้านป้าซึ่งป้าก็มีลูกอยู่แล้ว 3 คน ป้าดูแลอนิลดีทุกอย่างแต่น่าแปลกที่เขารู้สึกว่าเขาไม่มีตัวตนในบ้านหลังนี้ ยามที่เขารู้สึกว่าเขามีตัวตนมีเพียงแค่เวลาลูก ๆ ของป้าแกล้งเขาอย่างรุนแรง และตอนที่ป้าไปตามเขาเวลาเขาเล่นอยู่ริมทะเลในวันที่ฝนตกจนเปียกปอน จากนั้นเขาก็มีเพียงแค่ลังที่ขึ้นราเก่า ๆ ที่เป็นที่ให้ความอบอุ่นและความปลอดภัยให้แก่เขา และนกสีดำตัวหนึ่งที่มักบินมาพูดประโยคเดิมทุก ๆ วันว่า...โลกกว้าง... หลังจากนั้นพ่อก็มารับอนิลกลับไปอยู่กับพ่อและภรรยาใหม่ของพ่อ แต่ความรู้สึกก็เหมือนเดิมคือเขารู้สึกไม่มีตัวตนและโหยหาหาแม่อยู่ตลอดเวลา จากนั้นเขาก็ตัดสินใจหนีออกจากบ้าน

          ในที่สุดอนิลก็เดินทางรอนแรมมาพบกับยิหวา ณ บริเวณใต้ต้นชงโค และที่อาศัยใหม่ของอนิลก็คือท่อที่ถูกทิ้งอยู่บริเวณนั้นแล้วอนิลก็ได้เป็นสมาชิกสมาคมลับใต้ต้นชงโคไปโดยปริยาย เมื่อคุณยายไลลาเห็นว่าอนิลอาศัยอยู่ที่ท่อเธอจึงเย็บที่นอนให้ด้านหนึ่งเป็นที่ปิดฝาท่อพอดี เพื่อกันแดดและฝนให้อนิล จากนั้นเรื่องราวของชีวิตอนิลและยิหวาก็ได้รับการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนกันทำให้ทั้งคู่สนิทกันอย่างรวดเร็ว วันหนึ่งทั้งคู่เข้าไปในเมืองกระจกและได้พบกับครอบแก้วที่ครอบป่าเอาไว้ภายใน ทั้งคู่ได้หลงเข้าไปในครอบแก้วนั้นหาทางออกไม่ได้ ต่างคนต่างหากันไม่เจอ แล้วก็พบว่าป่านั้นได้เปลี่ยนไปตามความทรงจำที่เขาทั้งคู่เคยพบเจอมา จากนั้นทั้งคู่ก็มาพบกันที่เก้าอี้ขาหักที่เคยตั้งอยู่ที่ใต้ต้นชงโค แต่บัดนี้กลับมาอยู่ตรงหน้าเขาแล้ว จากนั้นเสียงฝีเท้าคุณตากำธรก็ทำให้ยิหวาและอนิลออกมาจากความทรงจำเหล่านั้น อนิลและยิหวาต่างก็ได้พบแม่ แต่อนิลได้แม่กลับมาอยู่ด้วย แต่ยิหวาพบเพียงแค่เห็นสวนกันแต่แม่กลับจำยิหวาไม่ได้ หรือบางทีเธออาจไม่ต้องการยิหวาอีกแล้ว จากนั้นยิหวาก็กลายเป็นลูกของแม่อนิลไปอีกคน

 

สัมผัสใจในตัวละคร

ระหว่างยิหวาและอนิล ผู้วิจารณ์วิเคราะห์ได้ว่าผู้เขียนสร้างตัวละครทั้งสองเป็นตัว ๆ เดียวกันโดยเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เมื่อประกอบตัวละครเข้าด้วยกันก็จะทำให้เรื่องต่าง ๆ สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ตัวละครทั้งสองล้วนแล้วแต่เป็นตัวละครแบบกลม หรือตัวละครที่มีหลายลักษณะ กล่าวคือมีพัฒนาการทางอารมณ์และสติปัญญาตามช่วงวัยที่ตัวละครทั้งสองกำลังเติบโต ตัวละครทั้งสองมีเส้นทางชีวิตเส้นเดียวกัน เนื่องจากเมื่อผู้อ่านได้สัมผัสตัวละครแล้วนั้นผู้อ่านจะสามารถสัมผัสได้ว่า ตัวละครแต่ละตัวต่างก็ถูกหล่อหลอมจากสถาบันครอบครัวที่แตกร้าวรานจนยากเกินที่จะแก้ไข แต่ทั้งสองก็อาจมีจุดเริ่มต้นและจุดจบของเรื่องราวชีวิตที่แตกต่างกัน ในจุดเริ่มต้นของของยิหวานั้นเธออยู่กับแม่เพราะพ่อของเธอได้ตายจากไป ส่วนอนิลนั้นได้อยู่กับแม่เพราะเกิดจากความรุนแรงในครอบครัวจนนำไปสู่การอย่าร้างแล้วพ่อก็มีครอบครัวใหม่ ปัญหาสังคมที่เราเห็นได้จากครอบครัวทั้งสองของยิหวาและอนิลคือปัญหาของสถาบันครอบครัว

 ยิหวา เกิดจากความไม่พร้อมของทั้งพ่อและแม่ เพราะทั้งสองอายุยังน้อยแม่ของยิหวามียิหวาตอนที่ยังใช้คำนำหน้ายังเป็นเด็กหญิงเสียด้วยซ้ำ ผู้วิจารณ์เชื่ออย่างสนิทใจเลยว่าพ่อและแม่ของยิหวานั้นรักกันแต่ความรักของแม่นั้นอาจไม่เอื้อเฟื้อมาถึงยิหวา ในเรื่องราวแสดงให้เห็นถึงเพียงความรักของพ่อเท่านั้นที่มีให้แก่ยิหวา ดังประโยคที่ว่า “ในวันที่ยิหวาเกิด พ่อเป็นคนตั้งชื่อให้ ยิหวา...แปลว่า ดวงชีวิต ลูกเป็นทั้งดวงใจและดวงชีวิตของพ่อ พ่อกระซิบ” (วีรพร นิติประภา, 2563, หน้า105) ความรักที่ไม่พร้อมของแม่และไม่มีเอื้อเฟื้อให้แก่ยิหวา เมื่อความรักหนึ่งเดียวตายลง แม่ของยิหวาเธอก็พร้อมที่จะโหยหาความรักใหม่ ด้วยเธอยังสาวยังสวยและในวัยรุ่นมักมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและเอสโตรเจน (Testosterone & Estrogen) ทั้ง 2 เป็นฮอร์โมนเพศที่ทำให้เกิดความต้องการทางเพศและพัฒนาการทางร่างกายที่เกี่ยวข้องกับเพศไหลเวียนพุ่งพล่านอยู่ทั่วทั้งร่างกาย ทำให้แม่ยิหวายากที่จะตระหนักในภาระหน้าที่ที่เธอต้องแบกรับ ความเป็นแม่ของคนเรานั้นมักมาพร้อมกับวุฒิภาวะ ในเหตุการณ์ของยิหวานี้แม่ของเธอยังไม่ถึงภาษาทางกฎหมายที่เรียกว่าการบรรลุนิติภาวะเสียด้วยซ้ำ จึงทำให้เกิดปัญหาครอบครัวตามมา ยิหวาสะท้อนอะไรในสังคมในปัจจุบัน ? หากถามผู้วิจารณ์แล้วนั้นขอสะท้อนว่าสิ่งที่สะท้อนจากตัวละครยิหวานั้น เป็นเรื่องของปัญหาสังคมในเรื่องปัญหาการท้องก่อนวัยอันควร การมีบุตรโดยยังไม่พร้อม การไม่ได้รับความรู้เรื่องการป้องกันหากมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดปัญหาเด็กทารกถูกทิ้ง การทำแท้ง เด็กเติบโตโดยสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี และสิ่งที่เห็นชัดที่สุดของผลที่ครอบครัวไม่สมบูรณ์ก็คือเด็กขาดความอบอุ่น สิ่งเหล่านี้เราสามารถเห็นได้จากข่าวทั้งในหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ แม้แต่โลกแห่งใยแก้วบนโทรศัพท์มือถือของเราเอง กฎหมายการทำแท้งเสรีสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ ? ประเด็นดังกล่าวถูกพูดถึงกันเป็นวงกว้างในสังคมปัจจุบัน ก่อนจะพูดถึงประเด็นนี้ผู้วิจารณ์ขอบอกผู้อ่านบทวิจารณ์นั้นหัวเสรีโดยแท้ หากแต่กฎหมายทำแท้งเสรีผู้วิจารณ์กลับไม่เห็นด้วย ที่กล่าวว่าศีลธรรมอันดีไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อันนี้ผู้วิจารณ์เห็นด้วย เพราะในโลกแห่งความรวดเร็วของข้อมูลข่าวสาร ทำให้การตัดสินใจใด ๆ เป็นไปด้วยความเร่งด่วนดังนั้นศีลธรรมคงเดินทางช้าไปเหมือนกับนั่งรถประจำทางที่ไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ แต่การแก้ปัญหาด้วยการทำแท้งเสรีดูเหมือนจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ก่อนที่จะไปถึงปลายเหตุเราลองแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างจริง ๆ จัง ๆ ที่กล่าวกันว่า “เปิดอกคุยเรื่องเพศ” ดูเหมือนว่าสังคมจะยังไม่เอาจริงเอาจังกันสักเท่าไหร่ หรือเราอย่างไม่เริ่มเสียด้วยซ้ำ หรือว่ามีเพียงแต่ความคิด ก่อนที่จะเลยเถิดไปโทษต้นตอถึงขนบธรรมเนียมประเพณีที่ทำให้เรื่องบางเรื่องของสังคมไทยแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนความคิดของคนในสังคมที่ยากแล้วนั้น ผู้วิจารณ์ขอกล่าวว่าในความคิดของตนเองว่า การทำแท้งหากเปิดเป็นเสรีแล้วเราก็คงผิดหลักมนุษยธรรมซึ่งขัดกับหลักการสำคัญของประชาธิปไตย ถึงแม้กฎหมายจะคุ้มครองเด็กที่มีชีวิตหลังคลอดออกมาแล้ว แต่เชื่อเหลือเกินว่าลึก ๆ แล้วในความเป็นมนุษย์ของทุกคนเห็นทุกชีวิตมีค่าเสมอ ชีวิตของยิหวาก็เช่นกันหากเด็กที่เกิดมาเพราะปัญหาของสังคม ความผิดไม่ได้อยู่ที่ตัวของเด็กหากแต่เป็นสังคมที่ผิด เขาควรเกิดมาพร้อมกับครอบครัวที่อบอุ่นแต่สังคมกลับให้เขาไม่ได้ ยิหวาจึงเป็นตัวละครที่ผู้เขียนรังสรรค์ออกมาได้เป็นอย่างดีทีเดียว

อนิล ตัวละครเอกอีกตัวที่สำคัญภายในเรื่องจากที่กล่าวไปข้างต้นนั้นว่า “อนิลและยิหวามีเส้นทางชีวิตเดียวกันต่างคนต่างก็เป็นครึ่งหนึ่งของกันและกัน” เพราะว่าทั้งคู่มีปัญหาครอบครัวเช่นเดียวกันแต่ต่างกันตรงที่ว่า ยิหวามีสมาคมลับคอยปรึกษาเรื่องต่าง ๆ แต่อนิลเองเขามีเพียงแค่แม่ของเขาเท่านั้นที่ทำให้เขารู้สึกมีตัวตน เรื่องราวของอนิลเริ่มต้นด้วยความร้าวฉานภายในครอบครัว ซึ่งก็คือการอย่าร้างของพ่อกับแม่ และความรุนแรงภายในครอบครัวที่พ่อได้ทำต่อแม่ของอนิลเอง ตัวละครนี้ผู้เขียนต้องการสะท้อนปัญหาอีกอย่างของสถาบันครอบครัว ซึ่งก็คือความรุนแรงภายในครอบครัวซึ่งนำไปสู่การอย่าร้างของครอบครัวหลาย ๆ ครอบครัว ปัจจุบันความรุนแรงในครอบครัวยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นด้วยภาวะเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่ย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ ทำให้ความเครียด ความขัดแย้งของคนในสังคม หรือแม้แต่ในครอบครัวยิ่งไร้การควบคุมและเกิดปัญหาขึ้นอย่างไม่ลดละ บ้างครั้งอาจร้ายแรงถึงการก่ออาชญากรรม สำหรับประเทศไทย สถิติในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม ปี 2561 มีความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นกับเด็กและสตรี สูงถึง 83.6% เฉลี่ยมากถึง 5 คนต่อวัน  (มยุรา ยะทา, 2563) ปัญหาความรุนแรงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตัวละคร อนิล เป็นอย่างมากความเครียด ความกลัว ความหว่าเว้กำลังเข้าปกคลุมชีวิตของเขาอย่างเลี่ยงไม่ได้  “พ่อหันกลับ หยุดนิ่ง แล้วก็สาวเท้าปรี่ตบหน้าแม่อย่าแรงจนหน้าแม่พลิกหัน” (วีรพร นิติประภา, 2563, หน้า 39) “พ่อกระชากแขนเหวี่ยงอนิลออกห่างอีก” (วีรพร นิติประภา, 2563, หน้า 40) “ก่อนจะตามเอาเท้าถีบยันเธอจนล้มกอง” (วีรพร นิติประภา, 2563, หน้า40) จากประโยคดังกล่าวทำให้ผู้วิจารณ์เกิดจินตนาการร่วมได้เป็นอย่างดีถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวของอนิล จนเกิดคำถามในใจว่ายังมีความเป็นคนอยู่หรือเปล่า? ผู้เขียนพยายามให้ผู้อ่านเป็นเสมือนหนึ่งบุคคลที่สามที่กำลังดูการทะเลาะกันของครอบครัวนั้นอยู่โดยที่ผู้อ่านมิอาจห้ามหรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ สิ่งที่ทำได้เพียงคับแค้นใจแทนตัวละครเท่านั้น การเป็นบุคคลที่ 3 สะท้อนภาพอย่างไรกับปัญหาสังคม? “เรื่องของคนในครอบครัวคนอื่นไม่เกี่ยว” “เรื่องของผัว ๆ เมีย ๆ เราคนนอกอย่าไปยุ่งเลย” คำพูดดังกล่าวเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นทุกครั้งหากเกิดปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัวด้วยที่ทุกคนตระหนักว่ามันไม่ใช่เรื่องของเรา บางครั้งเราอาจจะต้องเสียชีวิต ๆ หนึ่งไปโดยที่เราไม่ช่วยเหลือสิ่งใดเลยทั้งที่มีโอกาส ความรุนแรงภายในครอบครัวไม่ใช่เรื่องของคนอื่น หากแต่เป็นเรื่องของพวกเราทุกคนที่พบเห็น ไม่ควรนิ่งเฉยต่อพฤติกรรมพวกนี้ ส่งผลอย่างไรต่ออนิล? อนิลกลายเป็นเด็กขาดความอบอุ่น โหยหาความรักจากผู้เป็นแม่อยู่ตลอดเวลา ต้องการที่จะมีตัวตนในสายตาของคนอื่น ๆ ดังประโยคที่ว่า “ปล่อยเด็ก ๆ ที่ไม่เคยนับอนิลเป็นน้องเป็นญาติทำอะไรกับตัวเองก็ได้ตามใจชอบ...อนิลมีตัวตน” (วีรพร นิติประภา, 2563, หน้า 61) อนิลน้อมรับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับตัวเองเพื่อแลกมากับการมีตัวตนอยู่บ้างในสายตาคนอื่น อนิลจึงเป็นตัวละครอีกครึ่งหนึ่งที่เสริมเรื่องให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นสะท้อนปัญหาครอบครัวได้อย่างเด่นชัดทีเดียว

โดยสรุปแล้วตัวละครยิหวาและอนิลผู้เขียนสร้างขึ้นเพื่อให้เห็นสภาพของเด็กที่ครอบครัวมีปัญหาทั้งในด้านจิตใจ ชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อจิตใจ และนวนิยายเรื่องนี้ผู้เขียนได้แสดงจุดจบของตัวละครอยู่ 2 แบบ คือ แบบที่ 1 แบบอนิล ในตอนท้ายเรื่องอนิลได้พบกับแม่ของตนและได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งเป็นการจบแบบสุขนาฏกรรม และแบบที่ 2 แบบยิหวา ในบทที่ 29 ลูกที่ถูกลืม “แม่...ยิหวาแหกปากร้องลั่นอย่างดีใจ แต่ผู้หญิงคนนั้นกลับหยีตาเงยมองวาบแวบ แล้วเดินผ่านไปโดยไม่แม้แต่จะหยุด” (วีรพร นิติประภา, 2563, หน้า 217)  ยิหวาได้เพียงแค่พบแม่ผ่าน ๆ แม่เองดูเหมือนจำเขาไม่ได้หรือบางทีก็อาจลืมเขาอย่างที่ตั้งใจไปแล้วในประโยคตอนต้นที่แม่ของยิหวาชอบพูดว่า...ถ้าฉันไม่มีแก... ซึ่งประโยคนี้คอยหลอกหลอนยิหวามานาน แต่เธอเองก็พยายามคิดไปในทางบวก การผสมผสานจุดจบของตัวละครแต่ละตัวของผู้เขียนนับว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับผู้วิจารณ์เป็นอย่างมาก เพราะน้อยครั้งที่นวนิยายจะจบแบบสองแบบภายในหนังสือเล่มเดียว

เรื่องเล่าในสัญญะของตัวละครอื่น ๆ

นกฟลามิงโก ตัวละครสัตว์ที่สื่อถึงสัญลักษณ์ของรักแท้หนึ่งเดียวอันเป็นนิรันดร์ เป็นภาพแทนแห่งรักแท้ของแม่ที่มีต่อลูกและความรักของชายหนุ่มกับหญิงสาว ในเรื่องนี้นกฟลามิงโกที่ยิหวาเห็นบ่อย ๆ จากห้องของตัวเอง หรือยืนอยู่ในทะเลสาบน้ำตาในครั้งที่ยิหวาหลุดเข้าไปในครอบแก้วป่าดึกดำบรรพ์ นกฟลามิงโก คือสิ่งที่ยิหวาจินตนาการว่ามีอยู่จริงซึ่งก็เหมือนความรักของแม่ที่ยิหวาจินตนาการไปเองว่ามันยังคงอยู่ แต่แท้จริงแล้วมันสาบสูญตั้งแต่แม่ของเธอหนีจากไป อาจกล่าวได้ว่านกฟลามิงโกเป็นภาพแทนความต้องการยิหวานั่นก็คือ ความรักจากแม่ของตนที่ยิหวายังรอคอยจนในหน้าสุดท้าย ย่อหน้าสุดท้าย และข้อความสุดท้ายที่ยิหวาฝากถึงแม่ “ ใต้ขนนกฟามิงโกสีชมพูพลิกพลิ้วเดียวดาย ที่ยิหวาเอามาผูกห้อยไว้กับกิ่งเพื่อเตือนความจำ หากแม่จะเผอิญผ่านมา...สักวัน ว่าเมื่อนานแสนนาน เคยมีนกฟลามิงโกตัวหนึ่งหนีออกมาจากความฝัน...ของลูกที่ถูกลืม”(วีรพร นิติประภา, 2563, หน้า 219) นอกจากนั้นนกฟลามิงโกยังเป็นตัวแทนของความรักระหว่างครูตากำธรและคุณยายไลลาที่รอคอยกันและกันมานานหลายปีจนในที่สุดก็พบว่าคนที่ตนรักอยู่ใกล้แค่เพียงเอื้อมมือ เช่นเดียวกับอนิล อนิลก็มีความหวัง ความฝัน ความต้องการเช่นเดียวกันซึ่งปรากฏในสัญลักษณ์ของ “นกหัวตั้ง” ที่อนิลคิดว่านกพูดกับเขาว่า...โลกกว้าง... และในที่สุดเขาเลือกที่จะเผชิญโลกกว้างด้วยตัวของเขาเอง ตัวละครที่สำคัญก็คือ “จุ่นจะริดิด” เพื่อนที่ยิหวาหรือแม่มักบอกว่าเป็นเพื่อนในจินตนาการของเธอ แต่แท้จริงแล้ว “จุ่นจะริดิด” คือเธอในตอนโตขึ้นหรือคือเธอในตอนนี้เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นเอาไว้ผู้วิจารณ์จะกล่าวในบทสรุปในหัวข้อต่อไป

 

ฉากแห่งสัญญะในเรื่องราว

เมืองกระจก ตัวแทนสัญญะแห่งความฝัน และครอบแก้วป่าดึกดำบรรพ์ ตัวแทนสัญญะแห่งความทรงจำ ในเรื่องราวที่เกิดขึ้นป่าดึกดำบรรพ์ซึ่งเป็นสัญญะแห่งความทรงจำถูกพันธนาการด้วยครอบแก้วทำให้ผู้คนในเมืองกระจกมุ่งหาเพียงความฝัน แต่กระจกบางบานก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของมันที่จะต้องสะท้อนความจริงออกมาให้ผู้ที่ส่องเห็นสิ่งที่เป็นอยู่ แต่มันกลับสะท้อนความฝันอันหลอกลวงเพื่อล่อให้ผู้คนเข้าไปยังเมืองกระจก ติดอยู่ในกับดักแห่งความฝันหลงลืมความทรงจำที่แม่ของยิหวาตกเป็นเหยื่อของเมืองกระจกแห่งนี้ไปเสียแล้ว จากประโยคที่ว่า “ถ้าไม่มียิหวาแม่จะ...แต่งตัวตัวสวย ๆ /มีผู้ชายรวย ๆ มารัก/อยากไปเที่ยวไหนก็ไป/อยากกินอะไรก็ได้กิน/ได้อยู่เมืองกระจกแทนที่จะต้องมาจมปลักอยู่ที่ตรอกซอมซ่อบ้าๆ นี่” (วีรพร นิติประภา, 2563, หน้า 34) ความฝันที่เพ้อฝันดูเหมือนจะเป็นเหยื่อชั้นดีที่จะทำให้คนติดกับดักแห่งฝันที่หลอกลวง ในท้ายเรื่องเมืองกระจกได้แตกออกร้างราผู้คนแต่เต็มไปด้วยต้นไม้จากครอบแก้วป่าดึกดำบรรพ์ นั่นก็เป็นสัญลักษณ์ที่ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าความฝันในเรื่องได้ลดลงและสูญหายไปแล้ว แต่ความทรงจำต่าง ๆ ได้กลับเข้ามาแทนที่ จากประโยคที่ว่า “นอกจากนั้นคุณป้ายังทำงานวิจัยส่วนตัวว่าด้วยความสัมพันธ์ของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของความทรงจำกับมวลที่หดหายไปของความฝัน” (วีรพร นิติประภา, 2563, หน้า 213) จากตัวอย่างประโยคผู้เขียนแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างความฝันและความทรงจำที่แปรผกผันกัน เมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดมากเกินพอดีก็จะทำให้เกิดการขาดสมดุลระหว่างกันและกัน ดังนั้นทั้งความฝันและความทรงจำควรมีปริมาณที่เท่ากันเพื่อที่จะได้รู้ว่าเราเป็นใครมาจากไหนในความทรงจำ และทางไหนที่เรากำลังก้าวไปในเส้นทางแห่งความฝัน เพื่อที่จะได้ไม่ติดกับดักแห่งความฝันและความทรงจำจนทำให้บางคนคลุ้มคลั่ง จมปลักอยู่แห่งความทรงจำในอดีต ดังประโยคที่ว่า “มันก็กลายเป็นความหวาดหวั่น ตื่นตระหนก อลหม่านขึ้น บางคนถึงกับคลุ้มคลั่งเสียสติไปเพราะไม่อาจแยกความจริงกับความทรงจำ หรือความฝันกับทรงจำ”(วีรพร นิติประภา, 2563, หน้า 197) บางคนมุ่งหน้าไปตามความฝันจนหลงลืมความจริงในสิ่งตนเป็น และแสดงให้เห็นว่าทุกคนในเมืองนี้ต่างก็เป็นโรคเลือนลืม คือ ลืมความจริง อีกอย่างของความหมายที่สัญญะนี้ซ่อนอยู่นั้นก็คือความเลื่อมล้ำของคนในสังคมระหว่างตรอกซอมซ่อที่ยิหวาอยู่กับเมืองกระจก และทะเลสาบน้ำตา ที่มีนกฟลามิงโกยืนอยู่กลางทะเลสาบ สัญญะนี้เป็นของชื่อเรื่องรวมกับฉากในเรื่องด้วย ความหมายก็คือ ไม่มีความรักใดที่ไม่เสียน้ำตา...

เรื่องราวของยิหวาและอนิลที่ต้องเกิดมาบนโลกใบนี้พร้อมกับปัญหาครอบครัวที่ไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้เขากลายเป็นจำเลยที่ต้องรับผิดชอบชีวิตของตัวเองอย่างเลี่ยงไม่ได้ ผ่านเวลาชีวิตที่ดำเนินไปพร้อมกับการเติบโตขึ้นของคนทั้งสอง ที่ต้องแบกรับความทรงจำที่ปวดร้าวและความฝันในการมีชีวิตอยู่ หากยิหวาและอนิลก้าวข้ามความทรงจำที่ปวดร้าวและโหดร้ายไปไม่ได้ ชีวิตของทั้งสองก็คงไม่มีวันก้าวข้ามความเป็นเด็กได้ และก็จะกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาของสังคมต่อไป แต่ยิหวาและอนิลก็ทำได้จากประโยคของอนิลที่กล่าวว่า “อนิลรู้แล้วว่าการเติบโตไม่ใช่การรู้สึกเจ็บน้อยลงแต่อย่างใด แต่คือการเข้าใจความเจ็บปวด...ไม่ว่ารวดร้าวแค่ไหนก็ตาม...จะผ่านไป” (วีรพร นิติประภา, 2563, หน้า 210) ส่วนยิหวาทำให้ภาพจินตนาการของ “จุ่นจะริดิด” กลายเป็นเธอในตอนนี้ และเธอก็เลือกที่จะดำเนินชีวิตต่อไปกับครอบครัวใหม่ของอนิลกับแม่ของเขา พวกเขาโตขึ้นแล้ว สามารถรับรู้และจัดการความเจ็บปวดที่ฝังรากลึกมาในอดีตได้แล้ว ลักษณะของตัวละครและพัฒนาการของตัวละครที่ผู้เขียนสร้างขึ้นนับว่ามีความสมบูรณ์แบบ

“ทะเลสาบน้ำตา” ถือเป็นเรื่องที่น่าอ่านและอ่านสนุกอย่างที่ผู้วิจารณ์ไม่คาดคิดมาก่อน ทำให้ผู้วิจารณ์อยากกลับไปอ่าน “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ให้จบเสียสักที “ทะเลสาบน้ำตา” นี้ถือเป็นเรื่องที่สะท้อนปัญหาครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันพื้นฐานและสำคัญที่สุดในทุก ๆ สถาบันได้เป็นอย่างดี เรื่องราวที่สะท้อนก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ทันสมัย เพราะปัญหาของสถาบันครอบครัวยังมีให้เห็นอยู่ทุกยุคทุกสมัยและก็จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นโดยไม่มีท่าทีที่จะหยุดลง ดังนั้นนวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้วิจารณ์แนะนำว่าทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยควรอ่าน โดยเฉพาะคนที่กำลังจะเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ยิ่งควรอ่าน เพื่อที่จะได้เตรียมความพร้อมในการมีบุตร ในเรื่องข้อที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น การใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว การทะเลาะวิวาท เป็นต้น และโดยเฉพาะเยาวชน ในเรื่องของการท้องก่อนวัยอันควร เพื่อที่จะได้เข้าใจความความรู้สึกของเด็ก และมีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นวนิยายเล่มนี้นับว่ารังสรรค์ตัวละคร ฉาก รวมไปถึงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในเรื่องทีและกำลังรอให้ผู้อ่านไปตีความอยู่มากมายที่นอกเหนือจากผู้วิจารณ์ได้วิจารณ์ได้อย่างยอดเยี่ยมของทุกกระบวนการรังสรรค์นวนิยาย

 

 

 

 

อ้างอิง

 

วีรพร นิติประภา. (2563). ทะเลสาบน้ำตา : สํานักพิมพ์ อาร์ตี้เฮาส์.

มยุรา ยะทา. (2563). ความรุนแรงในครอบครัว คือภัยเงียบในวิกฤติ ‘โควิด-19’. ค้นหาเมื่อ 

27  กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/873526

 

หมายเลขบันทึก: 691056เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2021 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2021 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท