สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก ๓. สู่การสร้างผลลัพธ์การเรียนรู้สูงในทุกด้าน



บันทึกชุด สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุกนี้    เขียนเพื่อชี้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า active learning (ที่ในบันทึกชุดนี้ใช้คำว่า การเรียนรู้เชิงรุก) แนวทางหนึ่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกนักเรียนให้เรียนรู้จากการปฏิบัติตามด้วยการคิดที่เรียกว่า การใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection)    ที่นำไปสู่การฝึกทักษะการเรียนรู้ที่นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง (self-directed learning) เป็น    ผ่านกระบวนการ สานเสวนา (dialogue) ระหว่างนักเรียนกับครู และระหว่างนักเรียนกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน    เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สนุกเร้าใจ (student engagement)    กระตุ้นสมองให้เจริญงอกงาม   และสร้างพัฒนาการรอบด้านตามแนวทางของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑    เป็นบันทึกที่เขียนขี้นจากการตีความหนังสือและรายงานวิจัยของศาสตราจารย์ Robin Alexander    นักวิจัยผู้ยิ่งใหญ่ด้านการศึกษาของอังกฤษ    สังกัดมหาวิทยาลัย  Warwick  และมหาวิทยาลัย Cambridge     คือหนังสือ A Dialogic Teaching Companion (2020) (๑)  และรายงานวิจัย Developing  dialogic teaching : genesis, process, trial (2018) (๒)    บันทึกนี้ใช้คำไทยว่า “สอนเสวนา” ในความหมายของ dialogic teaching

ผมตีความว่า แก่นคุณค่าของการสอนแบบสานเสวนา (dialogic teaching) คือการงอกงามความเป็นมนุษย์ผู้ก่อการ (agentic persons) ทั้งที่ตัวศิษย์และตัวครู    เป็นการสร้างบุคลิกหรือคุณลักษณะของความเป็นผู้ก่อการ ที่มีทั้งความรู้ (knowledge), ทักษะ (skills), เจตคติ (attitude), และคุณค่า (values)    เพื่อความอยู่ดีมีสุข (สุขภาวะ) ของตนเอง ครอบครัว ชุมชน ประเทศ และโลก      

ซึ่งหมายความว่า การสอนแบบสานเสวนา สร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับสูงในทุกด้าน    พิสูจน์โดยโครงการทดลองแบบ RCT (randomized control trial) ในอังกฤษ สนับสนุนโดย EEF (Equity Education Fund)  ระหว่างปี ค.ศ. 2014 – 2017    โดยการทดลองใช้เวลาเพียง ๒๐ สัปดาห์   พบว่าผลลัพธ์การเรียนรู้ด้านภาษา (อังกฤษ)  วิทยาศาสตร์  และคณิตศาสตร์ ในนักเรียนชั้นประถมศึกษากลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมถึงเท่ากับการเรียนรู้ ๒ เดือน    หรือกล่าวใหม่ว่าการเรียนรู้ที่เกิดจากการสอนแบบสานเสวนา เป็นเวลา ๔.๗ เดือน     เท่ากับการเรียนรู้จากการสอนแบบเดิม ๖.๗ เดือน  

เป็นทั้งการฝึกนักเรียนและการฝึกครู

การสอนแบบสานเสวนา โดยใช้ กรอบปฏิบัติการสานเสวนาเพื่อเรียนรู้ (ที่จะนำเสนอในตอนต่อๆ ไป)    ให้ผลทั้งเป็นการพัฒนาวิธีจัดการเรียนการสอน (epistemic development)  หวังผลที่การเรียนรู้ของนักเรียน    และเป็นการพัฒนารูปแบบของการพัฒนาครูประจำการ (professional development)  หวังผลที่การเรียนรู้ต่อเนื่องของครู

โปรดสังเกตว่า กรอบปฏิบัติการสานเสวนาเพื่อเรียนรู้ ซึ่งเป็นเรื่องหลักของบันทึกชุด สอนเสวนาสู่การเรียนรู้ที่ลึกและเชื่อมโยงนี้    ให้ผลต่อการพัฒนาถึง ๔ เป้าหมาย   คือพัฒนานักเรียน  พัฒนาครู  พัฒนาวิธีจัดการเรียนการสอน  และพัฒนาวิธีพัฒนาครูประจำการ  

ใช้ทั้งการตั้งคำถามและขยายประเด็น

สอนเสวนา หรือการสอนแบบสานเสวนาเริ่มต้นที่คำถาม (questioning)    แต่ไม่ได้จบที่การได้คำตอบ    แต่ใช้การขยายประเด็น (extension) จากคำตอบไปสู่การเรียนรู้ที่กว้างขวางและลุ่มลึก    ผ่านทั้งการสานเสวนา การค้นคว้า และปฏิบัติการเพื่อเรียนรู้ในสถานการณ์จริง   

มาตรการบูรณาการ

การเรียนแบบสานเสวนาใช้ได้กับการเรียนทุกสาระวิชา ทุกเป้าหมายการพัฒนานักเรียน    เพราะการตั้งคำถามไม่มีพรมแดนสาระวิชา   และคำถามที่ดีเชื่อมโยงสู่เรื่องราวในชีวิตจริง    การเรียนแบบสานเสวนาจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งของการเรียนรู้แบบบูรณาการ

มีหลักฐานจากการวิจัยที่อังกฤษระหว่างปี ค.ศ. 2014 – 2017 ว่าการทดลองใช้ กรอบปฏิบัติการสานเสวนาเพื่อเรียนรู้ให้ผลยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมทั้งด้านภาษา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์  

จุดคานงัดอยู่ที่ขั้นตอนที่สาม และคำตอบที่ไม่ได้ถาม

หนังสือเรียกขั้นตอนที่สามว่า the third turn    โดยขั้นตอนที่ ๑ ของการสอนแนวเดิมคือการตั้งประเด็นหรือตั้งคำถาม ( I – initiation)   ตามด้วยคำตอบ หรือการตอบสนองของนักเรียน (R – response) เป็นขั้นตอนที่ ๒    ซึ่งในการสอนแบบ IRE/IRF (initiation – response – evaluation/feedback)    ขั้นตอนที่ ๓ จะเป็นการเฉลยหรือให้คำแนะนำป้อนกลับสั้นๆ    เป็นอันจบหนึ่งบทเรียนย่อย ซึ่งอาจใช้เวลาเพียงสองสามนาที    ผลของการเรียนรู้เกือบทั้งหมดเน้นที่ความรู้หรือความจำ        

แต่ในสอนเสวนา ขั้นตอนที่ ๓ จะถูกครูตั้งประเด็นเสวนาต่อ    เพราะในขั้นตอนที่ ๒ ครูจะให้นักเรียนบอกคำตอบที่แตกต่างกัน    เมื่อนักเรียนคนที่ ๑ ให้คำตอบ    ครูกล่าวว่า “ใครมีคำตอบที่ต่างจากนี้บ้าง”    “คำถามนี้ตอบได้หลายแบบ  จุดสำคัญอยู่ที่ข้อมูลหลักฐานสนับสนุน และคำอธิบาย”    ขั้นตอนที่ ๓ จะถูกเปลี่ยนเป็นการเรียนแบบสานเสวนา (dialogic learning)     ซึ่งในเหตุการณ์จริงนักเรียนอาจเสวนาโต้แย้งกันอย่างสนุกสนาน    บรรยากาศในห้องเรียนจะดึงดูดนักเรียนทุกคนเข้าร่วม (student engagement) โดยอัตโนมัติ

ที่จริงการสอนเสวนาเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนที่ ๑ (initiation)  ที่ครูตั้งคำถามปลายเปิด    หรือที่ในหนังสือเรียกว่า authentic question (คำถามที่มีคุณค่าแท้จริง)     เพื่อเปิดช่องให้นักเรียนตอบได้หลายคำตอบ    และเปิดช่องให้เกิดการสานเสวนาในขั้นตอนที่ ๓ ได้มากมายหลากหลายประเด็น    เกิดการเรียนรู้ที่ซับซ้อน

ในสภาพจริง นักเรียนอาจให้คำตอบไม่ตรงกับคำถาม    เพราะเรื่องที่กำลังเรียนรู้หรือทำความเข้าใจอยู่นั้นมีความซับซ้อนหลายแง่มุม    นักเรียนอาจจับแง่มุมอื่นเอามาตอบ    เป็นโอกาสให้ครูได้ชี้ให้เห็นว่านักเรียนผู้นั้นรู้เรื่องนั้นในแง่มุมที่ต่างออกไป    และชวนทำความเข้าใจแง่มุมนั้นเพื่อขยายการเรียนรู้ให้กว้างยิ่งขึ้น    เป็นการฝึกให้นักเรียนมองเรื่องต่างๆ อย่างเชื่อมโยง      

ทักษะที่สำคัญของครูคือ เมื่อนักเรียนตอบ    ครูมองเห็นความคิดในสมองของนักเรียน ว่ากำลังคิดอะไรอยู่ (visible teaching) และใช้ข้อมูลนั้นคิดตั้งคำถามต่อ    เพื่อใช้คำถามนั้นกระตุ้นการคิดต่อเนื่องของนักเรียน    หรือกระตุ้นให้นักเรียนค้นหาข้อมูลนำมาสนับสนุนคำพูดของตน    ซึ่งในอึดใจต่อมา นักเรียนอาจขอแก้คำพูด  “ผม/หนูขอแก้คำตอบครับ    เพราะค้นดูแล้วที่ ... บอกว่า ...   ที่ผม/หนูตอบจึงผิด    ขอแก้คำตอบเป็น ...  โดยมีข้อมูลหลักฐานคือ ...”    ในเวลาสั้นๆ นักเรียนได้เรียนรู้วิธีตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลประกอบการคิดและแสดงข้อคัดเห็น    และเรียนรู้วิธีสานเสวนาอย่างมีข้อมูลหลักฐานประกอบ

Feed forward

นี่คือประเด็นสำคัญยิ่งของบทบาทครู ในการสอนเสวนา     คือต้องเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนในกระบวนการ IRF (initiation – response – feedback)   โดยเปลี่ยนตัว F จาก feedback   เป็น feed forward    ซึ่งหมายความว่า ในการสอนแบบเดิม เมื่อนักเรียนตอบ    ครูพูดโดยใช้คำพูดที่ชวนนักเรียนคิดย้อนกลับ (think back) ไปตรวจสอบว่าคำตอบของตนถูกหรือผิด    แต่ในการสอนแบบสานเสวนา ครูใช้คำพูดที่ชวนนักเรียนคิดไปข้างหน้า (think forward) ว่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่กำลังเรียนนั้นมันมีเรื่องราวต่อเนื่องอีก    ซึ่งอาจเป็นเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างสาระในวิชาภาษา กับสาระทางวิทยาศาสตร์    หรือเป็นการเชื่อมโยงประเด็นเชิงทฤษฎี  เข้ากับเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในโรงเรียน  หรือในข่าวที่ฮือฮากันอยู่ในช่วงนั้นพอดี   

ครูต้องหาโอกาสใช้ feed forward เพื่อเชื่อมโยงประเด็นการเรียนรู้สู่ชีวิตจริงของนักเรียน    การเรียนรู้ก็จะมีชีวิตชีวา    และนักเรียนเห็นคุณค่าว่าบทเรียนนั้นมีคุณค่าต่อตนอย่างไร    ช่วยให้นักเรียนสนใจการเรียน (student engagement)  

ใช้พลังรวมหมู่

พลังรวมหมู่ (power of the collective) เป็นกลไกที่บรรจุอยู่ในวิธีการสอนเสวนา    เพราะเท่ากับนักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา ทั้งในกลุ่มใหญ่ทั้งชั้น และในกลุ่มย่อย    หนังสือบอกว่า ปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียนใช้ ๓ หลักการคือ  (๑) รวมหมู่ (collectivity),  (๒) ต่างตอบแทน (reciprocity),  และ (๓) สนับสนุนกัน (supportiveness)    ซึ่งจะเป็นกำลังใจให้นักเรียนไม่กลัวความเสี่ยง    และไม่กลัวผลที่จะเกิดตามมา     เนื่องจากรู้สึกว่าชั้นเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย   

ครูใช้คำพูดที่ช่วยเปิดทางหรือชี้ทาง (scaffold) ให้นักเรียนเข้าถึงหลักการ และกรอบความคิดได้ง่ายขึ้น     โดยหนังสือแนะนำว่า ครูพึงทำตัวเป็นนักปฏิบัติการสร้างสรรค์ (creative practitioner)    สบายใจที่จะปล่อยให้มีบรรยากาศเงียบเป็นช่วงๆ    และส่งเสริมให้มีการสับบทบาท    คือแทนที่ครูเป็นผู้ตั้งคำถาม กลับมอบหมายหรือเปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นผู้ตั้งคำถามเปิดประเด็นเรียนรู้    

ข้อแตกต่างของกิจกรรมในชั้นเรียนที่ใช้การสอนเสวนากับชั้นเรียนที่สอนแบบเดิม

ในการทดลองเปรียบเทียบการสอนเสวนากับกลุ่มควบคุมที่สอนแบบเดิม    โดยการวิจัยแบบ RCT ของอังกฤษ ระหว่างปี ค.ศ. 2014 – 2017 ที่ให้ผลสรุปว่า การทดลองใช้เวลา ๒๐ สัปดาห์  นักเรียนกลุ่มทดลองมีผลการเรียนล้ำหน้ากลุ่มควบคุมเป็นเวลา ๒ เดือน    ทีมวิจัยเอาข้อมูลมาวิเคราะห์หาข้อแตกต่างในชั้นเรียน ระหว่างการสอนทั้ง ๒ แบบ    ได้ข้อสรุปความแตกต่างสำคัญ ๕ ประเด็น คือ พบว่าการสอนแบบสานเสวนา

  • มีดุลยภาพระหว่างการใช้คำถามปลายปิด กับคำถามปลายเปิด     ครูกลุ่มสอนแบบสานเสวนาใช้คำถามปลายเปิดมากกว่าครูกลุ่มสอนแบบเดิม
  • มีการเปลี่ยนรูปแบบของการพูดของครู    โดยมีเวลาให้นักเรียนคิด   ครูพูดทบทวนความหมายของคำพูดของนักเรียน    เปลี่ยนคำพูดของนักเรียนให้เข้าใจง่ายหรือชัดเจนขึ้น    “ครูคิดว่า เธอต้องการพูดว่า.... ใช่ไหม”  “ครูเดาว่า เธอคิดว่า....”    หรือขอให้นักเรียนพูดใหม่ โดยให้หาวิธีพูดที่เข้าใจง่ายขึ้น    “พูดใหม่อีกทีได้ไหม”    “สมชาย ช่วยพูดคำที่สมศรีตอบด้วยคำพูดของเธอเองได้ไหม”    ถามหาข้อมูลหลักฐานสนับสนุนคำพูดของนักเรียน    “ทำไมเธอจึงคิดอย่างนั้น”  “หลักฐานยืนยันคำตอบของเธอคืออะไร”     ท้าทายความน่าเชื่อถือของคำตอบของนักเรียน และให้นักเรียนช่วยกันยืนยันความถูกต้อง     “เรื่องราวจะดำเนินไปเช่นนั้นเสมอไปหรือไม่”    “หาก....  เหตุการณ์จะดำเนินไปอย่างไร”    “คำตอบของเธอเป็นจริงเสมอไปหรือไม่”     “มีสถานการณ์ใดบ้างที่คำตอบนี้จะไม่เป็นจริง”
  • มีดุลยภาพระหว่างการถามความจำ (recitation) กับการสานเสวนา (dialogue)    ครูใช้คำถามปลายเปิดมากขึ้นอย่างชัดเจน
  • มีดุลยภาพระหว่างคำพูดของนักเรียนแบบตอบสั้นๆ กับพูดแบบมีการขยายความ     คำตอบสั้นๆ มักเป็นการตอบคำถามปลายปิดที่เน้นดูว่าตอบถูกหรือผิด     ส่วนคำตอบยาวมักเป็นคำตอบต่อคำถามปลายเปิด    ที่นักเรียนให้คำตอบพร้อมข้อมูลหลักฐานสนับสนุนหรืออ้างอิง    และมีคำอธิบายการคิดหรือให้เหตุผล    การสอนแนวสานเสวนามุ่งให้มีคำตอบแบบขยายความเพิ่มขึ้น      
  • รูปแบบการพูดของนักเรียน    พบว่า นักเรียนในกลุ่มเรียนแนวสานเสวนา ให้คำอธิบายที่สะท้อนการคิดระดับสูงเพิ่มขึ้น   ทั้งที่คำอธิบาย  การวิเคราะห์  การโต้แย้ง  และการตัดสิน     รวมทั้งคำพูดมีลักษณะสานเสวนาเพิ่มขึ้น  

โปรดสังเกตว่า หนังสือเล่มนี้ไม่แนะนำให้ครูและโรงเรียนสร้างการเปลี่ยนแปลงภายใต้แนวคิดขาวกับดำ  หรือถูกกับผิด     และมุ่งใช้เฉพาะการสอนสานเสวนา    แต่แนะนำให้ใช้แนวคิดใช้ทั้งสองแนว (แนวเก่ากับแนวสอนเสวนา) ในสัดส่วนที่เหมาะสม    โดยมีการเก็บข้อมูลนำมาร่วมกันวิเคราะห์เพื่อการเรียนรู้ของครู   

นักเรียนทุกคนเป็นผู้ปราดเปรื่อง

ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า การสอนแนวสอนเสวนา อยู่บนสมมติฐานว่า นักเรียนทุกคนเป็นผู้ปราดเปรื่อง    มีความคิดเป็นของตนเอง    หากครูจัดพื้นที่เรียนรู้ที่นักเรียนรู้สึกปลอดภัย    และมีโจทย์การเรียนรู้ที่นักเรียนสนใจ    ความปราดเปรื่องของนักเรียนทุกคนจะถูกปลดปล่อยออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ

เท่ากับการสอนแนวสอนเสวนา ใช้หลักการ high expectation, high support โดยปริยาย    หลักการนี้จะช่วยลดความไม่เสมอภาคทางการศึกษาในชั้นเรียนได้    โดยที่ความไม่เสมอภาคนี้เกิดจากท่าที (หรือคำพูด) ที่ครูกระทำโดยไม่รู้ตัว  ว่าครูไม่คาดหวังว่านักเรียนกลุ่มด้อยโอกาสจะมีผลการเรียนที่ดี    ในการสอนแนวสอนเสวนา ครูสามารถใช้กระบวนการเป็นตัวบอกโดยนัย ว่านักเรียนทุกคนเป็นผู้ปราดเปรื่อง    สามารถให้ข้อคิดเห็นที่มาจากความคิดของตนเองได้    สร้างสภาพที่นักเรียนทุกคนมีความคาดหวังสูง (high expectation) ต่อตนเอง    อันเป็นจุดเริ่มต้นสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับสูง (๓)  (๔)    โดยนักเรียนกล้าคาดหวังสูง เพราะกระบวนการสอนแนวสอนเสวนาช่วยยืนยันว่า ครูพร้อมให้การสนับสนุนสูง (high support) ด้วย

วิจารณ์ พานิช

๑๖ เมษายน ๒๕๖๔   ปรับปรุง ๒๓ และ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๔

        

หมายเลขบันทึก: 690566เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2021 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2021 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท