ความสัมพันธ์ทางสังคม​ กับการสร้างเสริมสุขภาพ


“ความสัมพันธ์ทางสังคมมีอิทธิพลต่อความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เทียบเท่าปัจจัยเสี่ยงสำคัญสองอย่างคือ การสูบบุหรี่และการดื่มสุรา ทั้งยังมีอิทธิพลสูงกว่าปัจจัยเสี่ยงสำคัญบางอย่าง เช่น การมีกิจกรรมทางกายและโรคอ้วน”

ข้อความข้างต้นนี้เป็นข้อสรุปจากผลมาจากการศึกษาทบทวนของ​ Holt - Lunstad et al. (1) รายงานดังกล่าวนี้มาจากการทบทวนผลการศึกษา148 ชิ้น ที่ครอบคลุมผู้เข้าร่วมรวม 308,849 คน และมีระยะเวลาติดตามเฉลี่ย 7.5 ปี พบว่าผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี มีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่า (หรือมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า) ผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่ดี เฉลี่ยร้อยละ 50

ตัวชี้วัดความสัมพันธ์ทางสังคมที่แต่ละรายงานใช้ มีหลากหลายตามประเภท ดังนี้

1. ความสัมพันธ์ทางสังคมเชิงหน้าที่ (Functional social relationship) แบ่งเป็น 3 ประเภทย่อยคือ

1.1 การได้รับความเกื้อหนุนทางสังคม (Received support) หมายถึงการได้รับความเกื้อหนุนทางสังคมด้านอารมณ์ ข้อมูลข่าวสาร สิ่งที่จับต้องได้ หรือทำให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

1.2 การรับรู้ความเกื้อหนุนทางสังคม (Perception of social support) – การรับรู้ว่าจะได้รับความเกื้อหนุนหากมีเหตุจำเป็น

1.3 การรับรู้ความเหงา (Perception of loneliness) – ความรู้สึกโดดเดี่ยว ถูกแบ่งแยก ความรู้สึกว่าไม่ใช่ส่วนหนึ่่งของสังคม

2. ความสัมพันธ์ทางสังคมเชิงโครงสร้าง (Structural social relationship)

2.1 การอยู่คนเดียว (Living alone) - เทียบกับอื่นๆ

2.2 สถานภาพสมรส (Marital status) – สมรส เทียบกับอื่นๆ

2.3 การแบ่งแยกทางสังคม (Social isolation) – การขาดการติดต่อสื่อสารและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม และการมีเพื่อนสนิท

2.4 เครือข่ายทางสังคม (Social networks) – ขนาดของเครือข่าย และความถี่ของการพบปะ

2.5 ความยึดโยงทางสังคม (Social integration) – การมีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือความสัมพันธ์ทางสังคม และความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งและมีบทบาทในสังคม

2.6 ตัวชี้วัดที่ซับซ้อนของความยึดโยงทางสังคม (Complex measure of social integration) – ตัวชี้วัดเดี่ยวที่ประเมินความยึดโยงทางสังคมในหลายองค์ประกอบ เช่นสถานภาพสมรส ขนาดของเครือข่าย และการมีส่วนร่วมในเครือข่าย

3. ความสัมพันธ์ทางสังคมรวมทั้งเชิงโครงสร้างและเชิงหน้าที่

ที่แสดงไว้ข้างต้นว่า ผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีมีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่า (หรือมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า) ผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่ดี ถึงร้อยละ 50 เป็นอัตราเฉลี่ย หากพิจารณาจากตัวชี้วัดที่เลือกใช้ต่างกันจะได้ผลต่างกัน ดังนี้

1. การได้รับความเกื้อหนุนทางสังคม – ลดอัตราการเสียชีวิตได้ร้อยละ 22

2. การรับรู้ความเกื้อหนุนทางสังคม – ลดอัตราการเสียชีวิตได้ร้อยละ 35

3. ความเหงา – เพิ่มอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 45

4. การอยู่คนเดียว – เพิ่มอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 19

5. สถานภาพสมรส – ลดอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 33

6. การแบ่งแยกทางสังคม – เพิ่มอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 40

7. เครือข่ายทางสังคม - ลดอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 45

8. ความยึดโยงทางสังคม – ลดอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 52

9. ตัวชี้วัดที่ซับซ้อนของความยึดโยงทางสังคม - ลดอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 91

10. ความสัมพันธ์ทางสังคมรวมทั้งเชิงโครงสร้างและเชิงหน้าที่ - ลดอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 47

ดังนั้น ในการดำเนินโครงการจึงควรพิจารณากิจกรรมสร้างความสัมพันธ์และตัวชี้วัดให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี ประเด็นที่ควรพิจารณาต่อไป คือการนำแนวคิดเรื่องการความสัมพันธ์ทางสังคมมาใช้กับการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสม

สังคมมนุษย์มีองค์ประกอบที่สำคัญ  (2)  ดังนี้

1. ประชากร จะต้องมีจำนวนตั้งแต่ 2 ขึ้นไป สังคมที่มีขนาดเล็กที่สุดคือ ครอบครัวที่มีพ่อ-แม่ หรือ พ่อ-แม่-ลูก ในขณะที่ชุมชนหรือหมู่บ้านจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นอำเภอ จังหวัด ภาค ประเทศ ตลอดจนสังคมโลก ที่มีประชากรอาศัยอยู่ร่วมกัน

2. ความสัมพันธ์ ประชากรหรือสมาชิกในสังคมนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

3. พื้นที่หรืออาณาเขต คนในสังคมจะอาศัยอยู่ในบริเวณแห่งใดแห่งหนึ่ง พื้นที่อาจมีขนาดจำกัด เช่น บริเวณบ้านของครอบครัวหนึ่ง หรือบริเวณกว้างขวางเป็นอำเภอหรือจังหวัดโดยไม่ถูกจำกัดพื้นที่ เช่น การสื่อสารระหว่างบุคคลทางอินเทอร์เน็ต

4. การจัดระเบียบทางสังคม การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น สมาชิกจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือบรรทัดฐานที่ควบคุมตามตำแหน่งสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกแต่ละคน บรรทัดฐานทางสังคมจะมีระบบแบบแผน เป็นที่ยอมรับและเข้าใจร่วมกันของคนในสังคม เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข

5. การมีวัฒนธรรมของตนเอง เมื่อมนุษย์มาอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เป็นเหล่าภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกันทั้งทางกายภาพและประวัติศาสตร์ พวกเขาก็สร้างวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีขึ้นเพื่อตอบเสนอต่อความต้องการ ก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของตนเอง

จะเห็นได้ว่าครอบครัวเป็นหน่วยของสังคมขนาดเล็กที่สุด และหมู่บ้านซึ่งประกอบด้วยครอบครัวประมาณ 150-300 ครัวเรือน สังคมหมู่บ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท มีขนาดพอเหมาะที่คนจะรู้จักคุ้นเคยกันและมีปฎิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพราะมีพื้นที่จำกัดชัดเจนและมักจะมีวัฒนธรรมของตนเอง เหมาะแก่การสร้างความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ดังเช่นที่ โครงการชุมชนน่าอยู่ พยายามนำมาใช้ประโยชน์ จะเห็นได้ว่ามีการใช้แนวคิดการจัดระเบียบทางสังคม กันอย่างแพร่หลาย ในชื่อต่างๆ เช่น สัญญาใจ กติกา ข้อตกลง ฯลฯ จึงน่าสนใจที่จะใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางสังคมให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ความสัมพันธ์ทางสังคมยังมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความสุข ดังจะเห็นได้จากรายงานความสุขโลก (3) ที่แสดงให้เห็นว่าคะแนนความสุขมีความสัมพันธ์กับปัจจัยหกประการได้แก่ ผลผลิตมวลรวมต่อคน ความเกื้อหนุนทางสังคม อายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาพดี เสรีภาพ ความเอื้ออาทร และความปราศจากคอรัปชั่น จากการวิเคราะห์พบว่า ความเกื้อหนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์กับคะแนนความสุขมากที่สุด และความเกื้อหนุนทางสังคมนี้คือ การรับรู้ความเกื้อหนุนทางสังคม เพราะประเมินด้วยคำถามว่า “ถ้าท่านประสบความยากลำบาก ท่านมีญาติหรือเพื่อนที่ท่านจะพึ่งได้หรือไม่? (ขอให้ตอบว่า “มี” หรือ “ไม่มี”) ด้วยเหตุนี้จึงคาดหวังได้ว่่า โครงการชุมชนน่าอยู่จะนำไปสู่เป้าหมาย “ทุกคนในชุมชนมีความสุขเพิ่มขึ้น” และเป้าหมาย “ครอบครัวอบอุ่นเพิ่มขึ้น” ถ้ามีกิจกรรมในครอบครัวเพิ่มขึ้น

การสร้างเสริมสุขภาพในบริบทอื่นๆ ที่น่าจะเน้นเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคม ได้แก่ การสร้างเสริมสุขภาพในที่ทำงานหรือสถานประกอบการ โรงเรียน และชมรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชมรมผู้สูงอายุ รวมทั้งบริบทอื่นๆที่มีโอกาสเกิดปฎิสัมพันธ์ทางสังคมสูง

เอกสารอ้างอิง

(1) Holt-Lunstad J, Smith TB, Layton JB (2010) Social Relationships and Mortality Risk: A Meta-analytic Review. PLoS Med 7(7): e1000316. https://doi.org/10.1371/journa...

(2) ขวัญฤทัย อนุสนธฺิ์ https://sites.google.com/site/...

(3) World Happiness Report 2000. https://www.worldhappiess.report/archive    

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

23 ตุลาคม 63

หมายเลขบันทึก: 684690เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2020 17:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2020 09:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท