ฝึกทำหน้าที่ PPC โครงการคนไทย ๔.๐ : ๒. การจัดการแนว High Performance



ต่อจากบันทึกที่แล้วนะครับ    แต่บันทึกนี้เป็นเรื่องการจัดการ    จากการอ่านเอกสาร ผลการดำเนินงานปีที่ ๑   การดำเนินการกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย    ของหน่วยบริหารจัดการและส่งมอบผลลัพธ์ (ODU) แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม    แผนงานคนไทย ๔.๐   โดย นายจักรี เตจ๊ะวารี   สถาบันวิจัยสังคม  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  

  อ่านแล้วผมคิดว่า คุณจักรี ได้ฝึกฝนด้านการจัดการงานวิจัยแบบพุ่งเป้า เพื่อการขับเคลื่อนสังคมอย่างดีมาก    วช. น่าจะได้ถอดความรู้จากคุณจักรี ทำเป็นเอกสารไว้  

เป็นรายงานที่น่าอ่าน เพราะอ่านง่าย    ดูจาก infographic สองหน้าที่ปะหน้าแฟ้มรายงานก็เห็นภาพรวมทั้งหมดของงานใน ๑ ปี    งบประมาณ ๘๕ ล้านบาท (ที่จะใช้ใน ๒ ปี) ใช้ในโครงการวิจัย ร้อยละ ๗๘   งบขับเคลื่อนร้อยละ ๑๒    ค่าบริหารร้อยละ ๑๐   น่าจะเป็นสัดส่วนการใช้จ่ายเงินสนับสนุนการวิจัยที่ดี   

งานวิจัยที่สนับสนุนแยกเป็น ๗ กลุ่ม  ได้แก่ (๑) อนาคตศึกษา  (๒) นวัตกรรมทางสังคม  (๓) นโยบายสาธารณะ  (๔) Big data & ดัชนีสังคม  (๕) การศึกษา & การเรียนรู้ตลอดชีวิต  (๖) ความเชื่อ & คุณธรรม  (๗) กลุ่มส่องโลกปริทรรศน์   โดยที่ ๒ กลุ่มแรกจัดเป็นงานด้านผลลัพธ์ (outcome) ต่อสังคม    กลุ่มที่ ๓ – ๕ เป็นงานพัฒนาโครงสร้างสังคม (structure)     กลุ่มที่ ๖ เป็นงานด้านใน หรือจิตวิญญาณความเชื่อของคน (belief)    กลุ่มที่ ๗ ทำหน้าที่พัฒนาประเด็นวิจัย พร้อมกับขับเคลื่อนประชาคมวิจัย และสังคมไทย     

งานสื่อสารสังคมผ่านทาง ออนไลน์ มีเว็บไซต์  www.khonthai4-0.net   และ FB Khonthai4.0    สำหรับใช้สื่อสารกับนักวิจัย และต่อคนทั่วไป    ทำได้ดีมาก  

ที่น่าชื่นชมคือ มีการจัดการในลักษณะเชิงรุกและยืดหยุ่น    ซึ่งต้องชื่นชมทาง วช. หน่วยให้ทุน ที่ให้ความยืดหยุ่นแก่ ODU และ PC มาก    ทำให้การจัดการทำในลักษณะที่ผมถือว่าเป็นนวัตกรรมในการจัดการงานวิจัย    คือมีโครงใหญ่ของแผนงาน    แต่ยังไม่มีโครงการวิจัยและนักวิจัยตายตัว    ทำไปสร้างโจทย์ไป และหานักวิจัยที่เหมาะสมไป    รวมทั้งสื่อสารสังคมและหาแนวร่วมไป    คงจะหา PC ที่กล้าทำงานแบบนี้ และทุ่มเททำงานแบบนี้จนสำเร็จได้ยาก    ดังนั้น วช. จึงน่าจะถอดบทเรียนวิธีจัดการทั้งของ PC  และ ODU    สำหรับเอาไว้ใช้งานในอนาคตต่อไป

นึกขึ้นได้ว่า ผมได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการประเมิน วช.   จึงตั้งใจจะประเมินกระบวนการเรียนรู้ของ วช.   ว่ามีการถอดบทเรียนวิธีจัดการงานวิจัย ของ Spearhead Program ต่างๆ อย่างไรบ้าง   

อ่านรายงานแล้ว ผมบอกตัวเองว่า นี่คือตัวอย่างของการบริหารงานวิจัยแบบใช้ OKR (Objective – Key Result)    ที่ช่วยความคล่องตัว    และเปิดโอกาสให้ผู้บริหารทำงานสร้างสรรค์ได้ในสถานการณ์ที่คาดเดาล่วงหน้ายาก    เป็น HPO (High Performance Organization) เล็กๆ    ตรงกันข้ามกับ Taylorism หรือ Bureaucratic Organization ที่ถือว่าล้าหลัง    ที่เป็นเรื่องใหญ่มากของราชการไทย   

ทำให้ผมเกิดแนวความคิดว่า จะเสนอให้เชิญ ศ. ดร. มิ่งสรรพ์ มาเล่าวิธีจัดการงานวิจัยระดับโปรแกรม แนว OKR ให้แก่ที่ประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อน อววน.   ที่มี รศ. ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน เป็นประธาน        

อย่างไรก็ตาม เมื่อผมเข้าเว็บไซต์ของโครงการ www.Khonthai4-0.net เพื่อหารายงานผลการวิจัยตามในรายงานผลการดำเนินการปีที่ ๑ ของโครงการ   พบว่าเอกสารกลับเป็นรายงานเก่าๆ ของโครงการที่ไม่เกี่ยวกับ Spearhead Program คนไทย ๔.๐    ทำให้เกิดข้อเสนอแนะว่า วช. ควรกำหนดรูปแบบรายงานผลงานหรือความก้าวหน้า ให้มีลิ้งค์ไปยังเอกสารรายงานหรือผลงานตัวจริง    ให้ผู้ประเมินและกรรมการอำนวยการแผนงานเข้าไปอ่านได้    เพราะอ่านเฉพาะสรุปรายงานมักมองระดับคุณภาพของผลงานแต่ละชิ้นไม่ออก       

ผมสรุปกับตัวเองว่า    ผลงานของ ODU นี้ใน ๑ ปี ในภาพรวมจัดได้ว่าดีมาก    แต่ยังไม่เห็นผลงานของโครงการวิจัยย่อยแต่ละโครงการ ว่าจะมีคุณภาพสูงแค่ไหน   มีผลงานที่ถือได้ว่าคุณภาพสูงสักร้อยละเท่าใด    ODU และ PC ควรร่วมกันกำหนดรูปแบบของหลักฐานที่จะบอกได้ว่า ผลงานของแต่ละโครงการวิจัยมีคุณภาพในระดับใด    ก่อผลกระทบต่อการพัฒนา คนไทย ๔.๐ เพียงใด    

วิจารณ์ พานิช

๒๙ มี.ค. ๖๓   ปรับปรุง ๓๑ มี.ค. ๖๓

         

หมายเลขบันทึก: 677094เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2020 17:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2020 17:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท