ประวัติการศึกษาไทย : การเปลี่ยนหนังสือแบบเรียน หลักสูตร และการสอบไล่(16)


      กักตัวอยู่กับบ้านตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด มีเวลาได้อ่านหนังสือหลายเล่ม
“ประวัติการศึกษาไทย” ของอาจารย์พงศ์อินทร์  ศุขขจร อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยครูจันทรเกษม เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่าน ซึ่งท่านเขียนเล่าเรื่องการศึกษาของไทยไว้เมื่อ พ.ศ.2512  ทำให้เข้าใจเรื่องการศึกษาบ้านเราได้มากขึ้น  ผมเกรงว่าหนังสือเล่มนี้จะสูญหายไป ก็เลยนำข้อเขียนของท่านมาแบ่งปันกันอ่าน โดยเลือกเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆมานำเสนอ และแบ่งเป็นตอนๆไปครับ
               --------------------------

    เมื่อตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นใหม่ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 แบบเรียนที่ใช้ศึกษาแบบเป็นมาตรฐานคือหนังสือชุด  6  เล่ม  ของพระยาศรีสุนทรโวหาร  ซึ่งนักเรียนจะต้องใช้เวลาเรียนอย่างน้อย  3  ปี  จึงจะเรียนจบทั้ง 6 เล่ม เป็นเหตุให้ต้องเสียเวลาเรียนมากเกินไป  กรมศึกษาธิการจึงได้คิดเรียบเรียงแบบเรียนขึ้นใหม่เพื่อย่นเวลาให้น้อยเข้า ให้นักเรียนเรียนจบภายในหนึ่งปีหรือปีครึ่งเป็นอย่างช้า  จะได้เอาเวลาไปศึกษาเล่าเรียนวิชาอื่นที่มีเพิ่มขึ้นใหม่ในหลักสูตร  หนังสือที่แต่งขึ้นใหม่นี้ชื่อหนังสือแบบเรียนเร็ว มีแบ่งเป็น 3 เล่ม  พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร(ต่อมาคือสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ)ทรงเรียบเรียงขึ้นในระหว่างที่ทรงผนวชและจำพรรษาอยู่ที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ บางปะอิน  ได้ทรงหาวิธีให้นักเรียนจำตัวอักษรได้ง่ายขึ้น  โดยใช้คำที่เด็กเคยได้รู้ได้เห็นเข้ามาประกอบเช่น  ก  ไก่  ข  ไข่  ด  เด็ก  ต  เต่า  เป็นต้น 

     ส่วนหนังสือแบบเรียน เร็วนั้น เมื่อเรียนตัวอักษรและสระแล้วก็แต่งเรื่องโดยใช้อักษรและสระที่เรียนมาแล้ว  ผูกเข้าเป็นเรื่องราวร้อยแก้วไม่ใช่กาพย์กลอนเหมือนหนังสือแบบเรียนเดิม  เพราะเห็นว่าถ้าผูกเป็นคำร้อยกรองแล้วเด็กมักจะอ่านและจำกันเป็นแบบนกแก้วนกขุนทอง  เพราะคำร้อยกรองจำง่าย  เด็กมักจะอ่านคล่องปาก  แต่จำตัวไม่ใคร่ได้   เมื่อจบแม่หนึ่งหนึ่งก็ผูกเป็นเรื่องราวให้เด็กอ่าน และโดยเหตุที่เด็กมักจะสนใจในเรื่องที่ตื่นเต้นสนุกสนาน ยิ่งตัวละครมีลักษณะที่น่าขบขันเด็กก็ยิ่งชอบ  เพราะฉะนั้นองค์ผู้นิพนธ์ จึงผูกเรื่องสนุกๆและตัวละครมีบุคลิกลักษณะแปลๆเป็นเครื่องล่อใจให้เด็กอยากอ่าน  เช่น  “หนูหล่อพ่อเขาพาไปดูหมีที่นาตาหมอหลอ”  คำว่าหลอทำให้เด็กหลับตานึกถึงภาพคนฟันหรอ  หรือ  “ตาหวังหลังโกงแกไปที่โรงหมู”  หรือ  “หนูแหวนแขนอ่อนบ้านอยู่บางเขน”  ดังนี้เป็นต้น

      เมื่อได้เปลี่ยนหนังสือแบบเรียนแล้ว  หลักสูตรสำหรับการสอบไล่ก็ต้องแก้ไขด้วย  เดิมมีการสอบไล่ปีละครั้ง  เห็นว่าทำให้นักเรียนเสียเวลานานเกินไป  จึงจัดให้มีการสอบปีละ 2 ครั้งตั้งแต่พ.ศ. 2434 เป็นต้นมา  และเพิ่มวิชาความรู้ภาษาไทยให้สูงขึ้นอีก  แทนที่จะเป็น  2  ประโยคให้เป็น  3  ประโยคเสีย  เป็นประโยค  1  ประโยค  2  ประโยค  3  วิชาที่จะสอบไล่มี เขียน  อ่าน  คัด  เรียงความ  ย่อความ  แต่งจดหมาย  ไวยกรณ์  เลขลูกคิด  และบัญชี   ส่วนโรงเรียนภาษาอังกฤษนั้นมีโรงเรียนหลวงและโรงเรียนราษฎร์ของพวกสอนศาสนาเรียนเป็นภาษาอังกฤษล้วน  มีแบ่งเป็น 6 ชั้นวิชาที่จะสอบไล่มี  อ่าน  เขียน  คัด  แปล  ไวยากรณ์  เรียงความ  ภูมิศาสตร์  และเลข  สำหรับชั้น 6 ให้เรียนประวัติศาสตร์ต่างประเทศ  ความรู้เกี่ยวกับพาณิชยการ  ดาราศาสตร์  และสรีระศาสตร์  

     ผู้ใดสำเร็จการศึกษาเพียงชั้นประโยค 2 ของโรงเรียนภาษาไทยหรือสำเร็จชั้น 4 ของโรงเรียนภาษาอังกฤษ  ผู้นั้นได้เป็นอิสระแก่ตัวพ้นจากหมวดหมู่สังกัดกรม ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับราชการตามกฎหมายเดิมทุกประการ

     คำว่าโรงเรียนภาษาไทยหรือโรงเรียนภาษาอังกฤษนั้น  หมายความว่าเรียนแต่ไทยหรืออังกฤษล้วนๆ  มีโรงเรียนเดียวเท่านั้นที่เรียนทั้งไทยและอังกฤษคือ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ  ต่อมาภายหลังจึงได้ค่อยๆแทรกภาษาอังกฤษเข้าไปในโรงเรียนภาษาไทยทีละน้อยๆ

      --------------------                    

เพิ่มเติม

ผมได้ไปสืบค้นเรื่องนี้เพิ่มเติม  พบว่า

  แบบเรียนเร็ว  มี 3 เล่ม คือ
  แบบเรียนเร็ว เล่ม ๑ เป็นหนังสือสอนอ่าน เริ่มตั้งแต่ตัวพยัญชนะ การประสมสระ การอ่านคำง่าย ๆ ตั้งแต่คำ ๆ เดียว คำหลายคำ จนถึงการอ่านประโยค

แบบเรียนเร็ว เล่ม ๒ เป็นหนังสือสอนอ่าน เขียน และการใช้คำ มีตัวอย่างคำที่ใช้ไม้ม้วน ไม้มลาย คำที่ใช้ตัว ฆ ญ ณ ธ คำการันต์ และคำพ้อง

 แบบเรียนเร็วเล่ม ๓ แบ่งออกเป้ฯ ๓ ภาค คือ
   ภาคที่ ๑ ว่าด้วยชนิดต่าง ๆ ของคำ แบ่งคำออกเป็น ๗ ชนิด คือ คำชื่อ คำกริยา คำคุณ คำวิเศษณ์ คำต่อ คำออกเสียง และคำแทนชื่อ ประโยคคือ การนำคำหลาย ๆ คำมารวมกันแล้วได้ความ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนบ้าง ๓ ส่วนบ้าง

ภาคที่ ๒ ว่าด้วยวิธีแต่งประโยค คำแต่งจะแต่งได้ทั้งส่วนชื่อผู้ทำ ส่วนกริยาและส่วนชื่อผู้ถูกทำ นอกจากจะนำคำมาแต่งได้แล้ว ยังผูกเป็นประโยคความรวมก็ได้

ภาคที่ ๓ เป็นภาคเก็บใจความ วิธีเก็บ คือ ลดคำที่นำมาแต่งออกเสียให้เหลือแต่ความสำคัญ    

      ต่อมา พ.ศ.2477 หลวงดรุณกิจวิทูร และนายฉันท์ ขำวิไล ได้แต่งหนังสือแบบเรียนเร็วใหม่ เล่ม 1 ซึ่งได้รับการยกย่องว่า เป็นแบบเรียน ที่แสดงถึงภูมิปัญญาการสอนอ่านภาษาไทย ทำให้เด็กสามารถอ่านหนังสือไทยได้แตกฉาน โดยใช้กระบวนการสอนอ่านจากส่วนย่อยไปหาส่วนรวม คือ เรียนรู้จากพยัญชนะ สระ การประสมอักษร การสะกดคำ แจกลูก ผันอักษร แล้วจึงฝึกอ่านเป็นคำ ข้อความ และเรื่องราว วิธีสอนนี้ช่วยให้เด็กอ่านออก เขียนได้ อย่างเข้าใจ และรวดเร็ว
  หลายคนอาจยังจำข้อความต่อไปนี้ได้ เช่น
    "ป้ากะปู่  กู้อีจู้"  "อีกาตาดี"

หมายเลขบันทึก: 677093เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2020 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2020 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท